นับถอยหลังปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตใหญ่ 16 ล้านโดส

ศาสตราจารย์แพทย์ 2 สถาบัน “ศิริราช – จุฬาฯ” ยัน วัคซีนซิโนแวค–แอสตราเซเนกา ประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ายี่ห้ออื่น ย้ำ ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ปลุกความมั่นใจคนไทยรับข่าวสารถูกต้อง สมัครใจฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมาย 70% ภายในปี 64

ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน​ ตั้งแต่เริ่มระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน​ มาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีแนวโน้มลดลง…

การจัดหาวัคซีนเป็นความหวัง​ที่จะคืนความปกติให้กลับมา เพราะอาจต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่สามารถที่จะแบกรับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นได้อีกแล้ว

วัคซีนโควิด-19” เป็นประเด็นที่พูดที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง มีความคิดเห็นที่แตกต่างในหลายมิติ ทั้งมิติด้านการเมือง สังคม วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

8 พฤษภาคม 2564 เป็นครั้งแรก ที่ 4 สำนักข่าว คือ ThaiPBS, The Active, Hfocus  และ The Reporter ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ Virtual Policy Forum  “นับถอยหลัง 16 ล้านคนฉีดวัคซีนโควิด-19” กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อฟังข้อมูลที่ชัดเจน​จากผู้กำหนดนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19​ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงที่มีการกระจายวัคซีน คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลสมุทรสาคร​ พร้อมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา​ ที่มาตอบคำถาม​ เรื่องความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนและความกังวลจากผลข้างเคียง

วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มาเร็วที่สุด​

รวดเร็ว​ ปลอดภัย​ มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม คือ หลักการกระจายวัคซีน​เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 50 ล้านคน​ ภายในปี 2564​ คิดเป็น​ 70% ของประชากรเพื่อ​สร้างภูมิ​คุ้มกัน​หมู่​

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 อธิบายถึง​ ระบบการจัดสรรวัคซีน​ประกอบด้วย 3 ส่วน​

1.​ การนำเข้าวัคซีน​ ภายในปีนี้จะมีซิโนแวค 2.5 ล้านโดสบวกกับในอนาคตอีกจำนวนหนึ่ง​ แอสต​ราเซเนกา 61 ล้านโดส​ และวัคซีนทางเลือกจากเทคโนโลยีไวรัสเวกเตอร์ ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุต​นิก​ รวมทั้ง วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา 2.​ เพิ่มศักยภาพด้วยการกระจายวัคซีน ประกอบด้วย โรงพยาบาล 1,200 แห่งทั้งรัฐและเอกชน, ศูนย์การค้า​ และหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุก เช่น โรงงานสถานประกอบการต่าง ๆ และ​ 3. จัดลำดับความสำคัญ ในการฉีดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม​ คือ กลุ่มอายุ​ของประชากร กลุ่มอาชีพ​ และกลุ่มพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่โรคระบาดและพื้นที่เศรษฐกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังเผชิญกับโจทย์หลายด้านในการกระจายวัคซีน​ ทั้งการจัดหาวัคซีนล่าช้าเกินไปหรือไม่​ และไม่กระจายความเสี่ยง​

โจทย์ที่ตามมาคือความมั่นใจของประชาชนต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่​ สามารถป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น​ และผลข้างเคียงที่จะตามมา

นพ.โสภณ​ เมฆธน​ ผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารนโยบายควบคุมโรคติดต่อในอดีต กลับมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี และรับหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19ยืนยันอีกครั้งว่า ณ เวลานี้ “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มาเร็วที่สุด” แต่ก็ยอมรับว่าแผนกระจายวัคซีน ในระยะแรกตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -​ พฤษภาคม เป็นวัคซีนที่มีจำกัด นำเข้ามาแบบฉุกเฉิน มีการปรับแผนโดยตลอดให้สอดรับกับสถานการณ์ ทั้งเพื่อตัดวงจรระบาด และเพื่อฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่ท่องเที่ยว การปรับแผนในช่วงเวลาที่ผ่านมา​ กระทบต่อแผนการจัดสรรวัคซีนเดิมที่วางเอาไว้ก่อนหน้านี้

ประสบการณ์ 3 จังหวัด สู่การกระจายวัคซีนทั่วประเทศ

การระบาดระลอก 2 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เริ่มมีวัคซีนนำเข้ามาแล้ว การควบคุมโรคด้วยวัคซีนจึงเป็นมาตรการที่นำมาใช้กับพื้นที่ระบาดในช่วงเวลานั้น การสรุปบทเรียนและผลที่เกิดขึ้นจากการควบคุมโรคด้วยวัคซีนจึงอาจเป็นคำตอบล่วงหน้าสำหรับการปูพรมฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร ตามแผนเดือนกุมภาพันธ์จะได้รับวัคซีนซิโนแวค​ 3 รอบรวม 230,000 โดส แต่ปัจจุบัน (พ.ค.) ได้รับจัดสรรรวมเพียง 177,840  โดส​ เท่านั้น​ นพ.อนุกูล​ ไทยถานันดร์​ ผอ.รพ.สมุทรสาคร​ เปิดเผยข้อมูลการกระจายวัคซีน สะท้อนให้เห็นถึงแผนกระจายวัคซีนเดิมที่เน้นความสำคัญมาที่จังหวัดสมุทรสาครในฐานะศูนย์กลางการระบาดรอบ 2 จากคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง แต่ภายหลังศูนย์กลางการระบาดถูกย้ายมาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วัคซีนที่มีจำกัดถูกดึงไปใช้ เพื่อตัดวงจรระบาดในช่วงเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 แห่งคือบางแค ทองหล่อ และชุมชนคลองเตย

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครระบุว่า ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร เฉพาะประชากรไทยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้ว 105,083 คน​ คิดเป็น​ 12.48% ซึ่งในพื้นที่ ยังมีแรงงานข้ามชาติเป็นประชากรแฝง หากต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่​ ต้องฉีดครอบคลุมไปด้วย

ขณะเดียวกันพบว่า​ การฉีดวัคซีนแบบสมัครใจนั้น แม้บุคลากรทางการแพทย์จะฉีดได้ถึง 93% แต่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน​ หรือ อสม.​ กลับสมัครใจฉีดเพียง 54%​ อาจเป็นอุปสรรคในการกระจายวัคซีน จึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจโดยอาศัยผู้นำชุมชน

เช่นเดียวกับจังหวัดชลบุรีที่รับวัคซีนประมาณ 60, 000 โดส​ ปัจจุบันฉีดไปแล้ว 30,000​ โดส เริ่มฉีดไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งใน​ 3​ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในการระบาดระลอกที่ 3 พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี  ยอมรับว่าช่วงแรกบุคลากรทางการแพทย์ไม่อยากฉีดวัคซีนถึง 43% เพราะความไม่มั่นใจ และต้องการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา ปัญหานี้จึงต้องนำมาวิเคราะห์เป็นรายบุคคลว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนมีเหตุผลจากอะไร​ และสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด​ แต่ยังยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ และเพื่อรณรงค์การฉีดวัคซีนให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น จึงให้มี​ “มิสเตอร์วัคซีน” ในการให้คำแนะนำกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการกระจายวัคซีน​ล็อตใหญ่ในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่จังหวัดภูเก็ต​ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีน​ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า โดยเฉพาะ​โครงการภูเก็ต sandbox ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว 1 กรกฎาคมนี้ นพ.เฉลิมพงษ์​  สุคนธผล​ ผอ.รพ.วชิร​ะภูเก็ต​ ระบุเป้าหมาย การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70% ของ​จังหวัด​ภูเก็ต​ หรือฉีดครบ 1 ล้านโดส ภายในกลางเดือนมิถุนายน

นพ.เฉลิมพงษ์​ ยืนยันว่า จังหวัดภูเก็ตสามารถ ฉีดวัคซีนได้สูงสุดถึงวันละ 15,000  คนต่อวัน ซึ่งไม่ยากที่จะทำตามแผนฉีดวัคซีน​ให้ครอบคลุม​ประชากร 70% ของจังหวัดแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้วัคซีนที่เหลือมาทันก่อนกลางเดือนมิถุนายนนี้ หรือไม่

ปูพรมฉีดแอสตราเซเนกาเข็มแรก​  กระตุ้น​ภูมิคนไทยให้มากและเร็วที่สุด​

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด” เป็น​ Key  Massage ที่รัฐบาลพยายามสื่อสารกับประชาชน ​ เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์​ เรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าน้อยตัวเลือกจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง แต่คำถามถึงประสิทธิภาพ รวมถึงผลข้างเคียงที่ตามมานั้น ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์​ จุฬาฯ​ พยายามย้ำด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์​ ที่ระบุชัดเจนว่า วัคซีนซิโนแวค และ​ แอสตราเซเนกา สามารถ​สร้างภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อเทียบกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดย แอสตราเซเนกา เพียงเข็มเดียวก็สามารถสร้างภูมิต้านทานหลังฉีดไป 1 เดือน​ ถึง 98% ขณะที่ ซิโนแวคหลังฉีด 2 เข็ม 1 เดือนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ถึง 99.4% ถือว่าประสิทธิภาพไม่ได้แย่ไปกว่าวัคซีนไฟเซอร์

“ในอเมริกาเองแม้จะเป็นยี่ห้อ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่เราคลั่งไคล้กัน ฉีดแล้วเป็นโควิดไป 9,000 กว่าคน เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าวัคซีนตัวไหนฉีดแล้วก็ยังเป็นโควิดได้ จุดประสงค์ในการฉีดวัคซีนก็คือลดความรุนแรงของโรค”

ศ. นพ.ยง บอกว่า วัคซีนซิโนแวคทั่วโลกมีการฉีดแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส เป็นจำนวนเยอะพอสมควร ไทยซื้อมาเสริมในยามที่วัคซีนอื่นยังไม่มีจริง ๆ ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่​ ที่ผลิตในไทย​ โดย บริษัท สยามไบโอไซ​เอน​ซ์​ จะทยอยส่งมอบเดือนมิถุนา​ยน จะแสดงถึงความสามารถในการฉีดเพื่อสร้างภูมิ​ต้านทาน​แม้เพียงเข็มแรก​ ยกตัวอย่าง​ ประเทศอังกฤษเดิมวัคซีนแอสตราเซเนกา กำหนดระยะห่างของการฉีดไว้ 3-4 อาทิตย์ ในเมื่อวัคซีนมีจำกัด ก็ปูพรมไปก่อนด้วยเข็มเดียวก่อนแล้วค่อยตามเข็ม 2 ผลการศึกษาพบว่าฉีดเข็มเดียวภูมิคุ้มกันก็เกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในสกอตแลนด์ก็เห็นแล้วว่าอัตราการป้องกันโรคขึ้นไปได้ถึง 80 %

“กรณีที่ไทยมีวัคซีนจำกัดก็ต้องปูพรมในแนวกว้างก่อนแล้วค่อยตามเก็บเข็มที่ 2 วัคซีนแอสตราเซเนกา ระยะห่างของ 2 เข็ม ฉีดให้ห่างกันได้ตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน สมมติฉีดได้เดือนละ 10 ล้านคน ก็ได้แล้ว 30 ล้านคน เดือนที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ก็เก็บเข็ม 2 กับเพิ่มเข็ม 1 โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น”

ขณะที่ ศ. พญ.กุลกัญญา​ โชคไพบูลย์กิจ​ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่าอัตราการเกิดอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดหลังฉีดแอสตราเซเนกา​ ซึ่งเป็นล็อตใหญ่ของไทย​ เทียบกับโอกาสการเข้า ICU ถือว่าต่างกันมาก​ และการฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่า อย่างเห็นได้ชัด

ศ. พญ.กุลกัญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลสรุปเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละชนิดจากการศึกษาระยะที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สปุตนิก วี ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ทุกชนิดป้องกันป่วยหนักได้ 100 % สิ่งที่แตกต่างกันคือข้อมูลประสิทธิภาพของการป้องกันการป่วย ซึ่งหมายถึงป่วยเบา ป่วยปานกลาง

ในประเทศไทยจากที่ฉีดมาแล้วประมาณ 1.6 ล้านโดส พบแพ้รุนแรงจากซิโนแวคประมาณ 1.2 ต่อ 100,000 แอสตราเซเนกา ประมาณ 1.6 ต่อ 100,000 แต่ตัวเลขนี้ยังไม่นิ่งเพราะจำนวนฉีดที่แท้จริงยังไม่นิ่ง รวมทั้งเมื่อฉีดมากไปเรื่อย ๆ ปัญหาเหล่านี้จะพบน้อยลง เนื่องจากการวินิจฉัยช่วงต้นอาจจะมีความคลุมเครือ

ศ. พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนแรงมักจะรายงานจากวัคซีนซิโนแวคที่ใช้ไปประมาณ 1.5 ล้านโดส พบไม่ถึง 10 % แต่ถ้าเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งจะเป็นวัคซีนส่วนใหญ่ จะพบอาการเหล่านี้สูงกว่านี้มาก แต่ทั้งหมดไม่มีอันตรายและหายเป็นปกติ

“ที่กล้าพูดเช่นนี้เพราะทุกเคสที่มีการรายงานเข้ามาว่ามีอาการเหล่านี้จะมีการตรวจสอบสวนโรคอย่างละเอียด มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมองตรวจสอบอย่างละเอียดและพบว่าไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นจริง แต่บางครั้งเป็นอาการที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่ออาการทั่วไป ซึ่งบางคนมีการตอบสนองแรง”

แพทย์หญิงผู้คร่ำหวอดในวงการโรคติดต่อ เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนเป็นปัจจัยสำคัญต่อแผนกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ ท่ามกลางกระแสข่าว ในโซเชียลมีเดียที่ไปอย่างรวดเร็วถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ขณะที่หลังจากมีข้อพิสูจน์ทราบที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน สื่อมวลชนกลับไม่เสนอข่าวกรณีดังกล่าว ทำให้ประชาชนหวาดกลัวและเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น เช่นเดียวกับ ศ. นพ.ยง ที่แสดงความเป็นห่วงการรับข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนของคนไทย ที่อาจจะต้องพิจารณาให้ดีว่าข้อมูลไหนเป็นความจริงหรือความเห็น ปัจจุบันพบว่าข่าววัคซีนมีความจริงเพียง 20% ที่เหลือเป็นความเห็น ซึ่งการนำเสนอข่าวไม่ควรใส่ความเห็นเพราะในความเห็นมักมีอคติปะปนอยู่ด้วย

บทส่งท้าย​

การฉีดวัคซีนโควิด-19 กับประชาชนไทยทั้งประเทศนับเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันความรู้สึกของประชาชนที่ยังไม่มั่นใจก็เป็นสิ่งที่จะมองข้ามความสำคัญไม่ได้ โดยนำคำถามและข้อสงสัยที่จะต้องตอบให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะฉีดวัคซีนด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกัน​หมู่ เพราะการฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นประโยชน์ส่วนตัว​ แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวม ทั้งช่วยตัดวงจรระบาด​ ช่วยลดภาระระบบสาธารณสุข​ และสำคัญ​ที่สุดคือฟื้นเศรษฐกิจ ให้กลับคืนมา เพื่อลดความสูญเสียที่จะกลายเป็นแผลเป็นในมิติเชิงสังคมโดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง