คลองแม่ข่า ที่(ไม่)ถูกลืม

“คลองแม่ข่า” กับอนาคตของการร่วมพัฒนาเมืองเชียงใหม่

คลองแม่ข่า ในความทรงจำของคนเชียงใหม่ คือ คลองที่ไหลจากมาจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อำเภอแม่ริม ในอดีตถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำจากคลอง รวมทั้งสามารถจับปลาและปูที่อยู่ในคลองมาบริโภคได้

และเพราะเป็นคูเมืองโอบเมืองชั้นนอก ในคราวเดียวกันจึงทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรด้วย แต่เพราะเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงมีชุมชนแออัดผุดขึ้น รวมทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ส่วน คลองแม่ข่า ในการรับรู้ของผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดียไม่กี่เดือนก่อน เป็นคลองที่ถูกปรับภูมิทัศน์ สวยงาม เทียบเคียงแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของต่างประเทศ มุ่งหมายให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมือง

เวทีสาธารณะ “คลองแม่ข่าที่ถูกลืม” ที่ The Active ร่วมกับศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ชวนสะท้อนความสำคัญของการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนในชุมชน เปิดข้อมูล 4 ด้านของโอกาสการพัฒนาเมือง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนชุมชน 23 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมสรุปการสนทนาในรูปแบบ Visual Note

คลองแม่ข่า

คลองแม่ข่าในอดีตเป็นคลองระบายน้ำและใช้เพื่อการเกษตร แต่ปัจจุบันกลายเป็นคลองที่ต้องรับน้ำเสีย ร้อยละ 70 ไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งรับน้ำจากทั่วทั้ง 8 อปท. ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนริมคลองอาศัยอยู่ 21 ชุมชน 2,169 ครัวเรือน อยู่อาศัยบนที่ดินทั้งที่มีกรรมสิทธิ์ในรูปแบบมีโฉนด เช่าที่ดินราชพัสดุปีต่อปี เทศบาลฯ และที่ดินสาธารณะ บางชุมชนมีสภาพเสื่อมโทรม ขาดสาธารณูปโภคที่เหมาะสมและยังพบการบุกรุกต่อเนื่อง

การพัฒนาคลองมีมานานกว่า 10 ปี โดยตั้งใจเริ่มต้นที่การบำบัดน้ำเสียก่อนเนื่องจากมีอาการสาหัสมาก คือสิ่งที่ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการเชียงใหม่ เล่าให้ฟังในเวทีสาธารณะ เขาบอกอีกว่าปัจจุบันถือว่าดีขึ้นแต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะที่ผ่านมายังขาดงบประมาณ ติดขัดเงื่อนไขทางกฎหมาย ขณะที่การพัฒนาชุมชนริมคลองก็มีความสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากขอบเขตที่ไม่ชัดเจน การใช้ประโยชน์ที่ดินซ้อนทับหลายหน่วยงาน การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อน

การพัฒนาเมืองและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชน เรื่องนี้ ตัวแทนชุมชนริมคลองแม่ข่า บอกว่า เมืองเจริญเติบโตมากขึ้น แต่คนฐานรากไม่ได้โตตาม มีปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ โดยเฉพาะช่วงสามปีให้หลัง ถ้าหากจะต้องมีภาระการผ่อนเช่าบ้านจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ แต่หากจะปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ยินดีแต่อยากอยู่ที่เดิม ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน

ขณะเดียวกัน หลายชุมชนก็บอกว่าที่ผ่านมาพวกเขาดูแลคลองมาตลอด ทำระบบบำบัดน้ำเสีย สะท้อนว่าชุมชนไม่ได้อยู่เฉย ๆ และต้องการอยู่ในที่ดินเดิมเช่นกัน

และแม้ว่าลักษณะทางกายภาพของแต่ละชุมชนจะแตกต่าง เช่น ความเว้าโค้งของลำน้ำ บ้านไม่เหมือนกัน แต่พวกเขาก็ยินดีพัฒนา เปลี่ยนแปลง แต่ขอให้ชัดเจนเรื่องที่ดิน การเช่าที่ดิน 30 ปีเป็นเรื่องดี

“พร้อมจะปรับเปลี่ยนผ่านโครงการบ้านมั่นคง ขอให้มั่นคงเรื่องที่ดินก่อน อยากให้หยุดมองว่าเป็นผู้บุกรุก ใช้ความรุนแรง หน่วยงานท้องถิ่นมาพูดคุย อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการพัฒนา เข้าสู่ระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อลูกหลาน”

ตัวแทนชุมชนริมคลองแม่ข่า

การแลกเปลี่ยนข้อมูลในเวทีสาธารณะ ยังพบว่า ที่ผ่านมาคลองแม่ข่าได้รับการปรับปรุงจัดระเบียบอยู่แล้ว เช่น ภูมิทัศน์ น้ำเสีย ปกป้องโบราณสถาน ปกป้องการบุกรุก การใช้ที่ดินให้ถูกกฎหมาย การจัดทำแผนแม่บท การจัดการที่อยู่อาศัย การจัดการคุณภาพชีวิต และการสร้างจิตอาสาทำงานร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำตามภาระหน้าที่ ทำให้การพัฒนาภาพรวมอย่างเป็นระบบไม่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการจัดการที่อยู่อาศัยซึ่งมีความยากซับซ้อนในตัวกฎหมาย ในการจัดการที่ดิน และการใช้ประโยชน์ ภูมิทัศน์ที่สวยงามและปรับเปลี่ยนไปก่อนหน้านี้จึงเป็นเพียงการพัฒนาที่ยังไม่ครอบคลุมชุมชนริมคลอง

การพัฒนาคลองแม่ข่าตามแผนแม่บทฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ขณะนี้ จะมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองอย่างจริงจัง โดยมี พอช. และกลุ่มสถาปนิกใจบ้าน ร่วมสำรวจข้อมูลและจัดวางผังใหม่ ออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนริมคลอง ให้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง มีที่ดินทำกินและเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองให้เติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การพัฒนาคลองแม่ข่าพร้อมจัดระเบียบที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ทุกคนต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน และเห็นว่านี่คือโอกาสของการพัฒนาที่จะมาเยือนเมืองเชียงใหม่ ไพรัช โตวิวัฒน์ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ และประธานมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เห็นว่าการพัฒนาคลองแม่ข่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เห็นได้จากประสบการณ์ถนนคนเดิน จากเมืองเชียงใหม่ เคยเงียบ คนย้ายออก ที่ว่างเต็มไปหมด พอเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ปีแรก พบว่าถนนคนเดินให้เงิน 3 พันล้านบาทต่อปี

เรื่องนี้ รศ.ชูโชค ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการเชียงใหม่ เห็นด้วย ว่านี่คือโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ชุมชนอย่าพลาดโอกาส การพัฒนาคลองแม่ข่าทำมาอย่างต่อเนื่อง หลายเรื่องดำเนินการแล้วสำเร็จระดับหนึ่ง และ “ชุมชนมีสุข” เป็นเป้าหมายสุดท้ายระบุอยู่ในแผนแม่บท และจะยกไว้ในแผนฉบับใหม่อยู่แล้ว ทำ 3 เรื่องควบคู่กันไป เรื่องต้นทุนน้ำ 3-4 ปีสำเร็จแน่นอน การจัดการน้ำเสียคาดใช้เวลาหลายปี และสุดท้ายปรับปรุงคลองภูมิทัศน์ซึ่งพ่วงเรื่องที่อยู่อาศัยข้างคลองไปด้วย

ด้าน สมสุข บุญญะบัญชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย สะท้อนว่า หากคลองแม่ข่าจะเป็นหน้าบ้าน เป็นที่อวดชื่นชมของคนเชียงใหม่ได้ การพัฒนาจะไปไม่สุด ถ้าไม่แก้ที่อยู่อาศัยเพราะชาวบ้านเป็นคนดูแล รักษาคลอง ผู้คนคือจิตวิญญาณที่สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าปัญหาซับซ้อนแก้ได้ จัดการที่ดินที่ทับซ้อนกันอยู่ สร้างเศรษฐกิจภาคบริการ จัดรูปแบบที่อยู่อาศัย ให้ชุมชนมีส่วนร่วมวางแผนในกระบวนการ การจัดการน้ำ คลอง โบราณสถาน การวางแผนเศรษฐกิจชุมชนเมืองในอนาคต

สอดคล้องกับ รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รอง ผอ.ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่เห็นว่า ควรมีการบริหารสิทธิ หน้าที่ ชุมชนไหนมีความพร้อมรวมตัวกันยืนยันเงื่อนไข ตามกรอบการเคหะฯ ไม่ต้องรอเคลื่อนทั้งขบวน ใช้งบฯ ของภาครัฐเข้ามาช่วยได้

ด้าน ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่า บอกว่าการพัฒนาในโลกทุนนิยม ใครมีทุนมากกว่าก็เข้าถึงการพัฒนาได้มากกว่าแต่ว่าเมืองเป็นของทุกคน เราจะเปลี่ยนความคิดนี้ ให้โอกาสเมืองได้พัฒนาและก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา

“แม่ข่าเป็นของทุกคน ภาคธุรกิจเห็นโอกาส จะมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาคลองได้อย่างไร ทีมเชียงใหม่ประกอบทุกภาคส่วนทำได้ เมืองจะสมาร์ตมาก ๆ รักษาสมดุลของศรัทธา เศรษฐกิจ ผู้คน เมืองจะมีความหลากหลาย”

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่า

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วม 3 ชั่วโมง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม โดยคณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่า รับหน้าที่เคลื่อนโครงการนำร่อง เริ่มจากชุมชนมีความพร้อม ทดลอง 2-3 จุด ซึ่งที่ผ่านมาได้คุยกับหลายหน่วยงานมาแล้ว เห็นตรงกัน ทำให้ชุมชนเห็นโอกาส แต่ต้องฟังเสียงชุมชนก่อน เพราะไม่สามารถเลือกแทนชุมชนได้ โดยระหว่างการปรับชุมชน จะต้องหาที่อยู่รองรับชั่วคราว ลดภาระค่าเช่าบ้านของชุมชน

สอดคล้องกับนักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา ในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ที่เสนอให้ชุมชนคุยกันให้จบ จัดทำผังขึ้นมา คุยกับหน่วยงานและของบประมาณ และบรรจุไว้ในแผนแม่บทฉบับใหม่ พร้อมยืนยันว่า เรื่องงบฯ ไม่ใช่ข้อติดขัด แต่เป็นกฎหมายในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ส่วนมุมของการทำงานพัฒนาชุมชน เห็นว่าทำต้องทำคู่ขนาน มีมาสเตอร์แพลนผังรวมปรับทั้ง 20 ชุมชน ใครพร้อมเดินหน้าก่อน ออกแบบมีเอกลักษณ์ คิดรูปแบบที่ไม่แพง ที่ทุกคนร่วมจ่ายได้ สร้างบ้าน สังคม ความรัก ซึ่ง พอช . สนับสนุนการลงพื้นที่นำร่องเงินปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านได้งบทั่วไปและสินเชื่อคิดค้นเตรียมไว้แล้ว

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็ยินดีให้ความร่วมมือทุกเรื่อง จากนี้ให้ชุมชนกำหนดปัจจัยที่ต้องแก้มา พร้อมเตรียมหาที่ดินรองรับที่พักชั่วคราว โดยจะประสานการเคหะรับเรื่องให้ก่อสร้างอาคาร และกำหนดครัวเรือนที่จะย้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง