ย้อนอดีต เส้นทางที่ไม่ได้เลือก: กะเหรี่ยงแก่งกระจาน

หากเป็นไปตามกฎหมาย ตามที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุ ข่าวชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานจำนวนหนึ่ง เดินเท้าเข้าป่าใหญ่เมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 อาจถือเป็นความผิด ฐาน บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

แต่ชาวบ้านมีคำอธิบายว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะหวังหนีความอดอยาก กลับไปที่ ใจแผ่นดิน พื้นที่ที่พวกเขาเคยถูกอพยพออกมา เพราะอย่างน้อย ที่นั่นยังมีที่ดินให้ปลูกข้าวและหากินตาม วิถีกะเหรี่ยง พาให้ชีวิตอยู่รอดไปได้ ในวันที่โลกข้างนอกเผชิญวิกฤตหนักหน่วง

แต่ไม่ว่าจะมีคำอธิบายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร คำถามหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้จะกลายเป็น เงื่อนไขใหม่ ที่ทำให้ปัญหา ความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กับ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่ ดูเหมือน จะคลี่คลายลง หรืออย่างน้อยก็ไม่เห็น ความรุนแรง เหมือนครั้งเหตุการณ์ เผาบ้านและยุ้งข้าว ของชาวกะเหรี่ยง เมื่อปี 2554 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดหาทางออกที่ดีที่สุด The Active ชวนย้อนอดีตลำดับเรื่องราวที่คนกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน ที่ไม่แม้แต่จะสามารถกำหนดทางเดินของตัวเองได้ ตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเขาถูกบันทึกตัวตนครั้งแรกที่บ้านใจแผ่นดิน ก่อนที่บ้านของพวกเขา จะกลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปี 2524

นำมาสู่การอพยพและความรุนแรงเมื่อปี 2554 ที่สร้างรอยร้าวลึก จนยากประสานระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ และยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุ ฆาตกรรม “อ.ป๊อด” ทัศน์กมล โอบอ้อม และ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ มาจนถึงความพยายามประสานรอยร้าว ด้วย โครงการสำรวจการถือครองที่ดิน ภายใต้กฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คำตอบที่เกิดขึ้นก็ไม่ควร จะหวนกลับไปสู่ความรุนแรง และ บังคับใช้กฎหมาย ด้วยเคารพต่อ สิทธิ ที่พวกเขามี อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ

พ.ศ. 2493       

ปรากฏภาพ “ปู่คออี้” หรือ โคอิ มีมิ และกำนันตำบลสวนผึ้ง บริเวณหน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี

พ.ศ. 2512       

สมาชิกชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย (บน) และใจแผ่นดิน ได้รับเหรียญชาวเขาที่ทางราชการออกให้

พ.ศ. 2516       

แผนที่ทหาร 1:50,000 ปรากฏหมู่บ้านบางกลอยและบ้านใจแผ่นดิน มีบ้านเรือนกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งยังปรากฏเส้นทางสัญจรในแผนที่ด้วย

พ.ศ. 2524       

มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้กันพื้นที่หมู่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยออกจากเขตอุทยานฯ

พ.ศ. 2531       

มีการสำรวจและทำทะเบียน ชร.ชข โดย ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.กาญจนบุรี ปรากฏชื่อหรือต้นตระกูลของกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และเป็นเอกสารยืนยันว่า มีชุมชนกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบางกลอยและใจแผ่นดินจริง

พ.ศ. 2535       

หน่อสะ และ หน่อแอะ ซึ่งเป็นบุตรชายของปู่คออี้ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในการค้นหา ตชด. ซึ่งเกิดการปะทะกับกองกำลังตามแนวชายแดนและสูญหาย ระหว่างปฏิบัติยุทธการนเรศวรบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

พ.ศ. 2539       

เริ่มโครงการอพยพราษฎรบริเวณบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน บางครอบครัวถูกอพยพลงมาที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ด้านล่าง ใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บางส่วนอพยพไปหมู่บ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือในการเจรจากับชาวบ้านจาก “ทัศกมล โอบอ้อม” หรือ อ.ป๊อด ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและบ้านใจแผ่นดิน

พ.ศ. 2542       

  • ชาวบ้านที่ไม่ได้อพยพลงมา ยังคงตั้งถิ่นฐานและทำกินที่บ้านบางกลอยบน
  • ขณะที่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ตกลงไว้กับกะเหรี่ยงที่อพยพลงมา ไม่ได้รับการสานต่อ จนเกิดปัญหาตามมา เช่น กะเหรี่ยงที่อพยพลงมาไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน, ที่ดินซึ่งจัดให้ มีข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดินเดิม และไม่สามารถเข้าทำกินได้, ที่ดินไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากขาดน้ำ ดินไม่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตซึ่งกะเหรี่ยงคุ้นเคยกับการทำไร่หมุนเวียน, ไม่ได้รับการสนับสนุนข้าวสารเป็นเวลา 3 ปี ตามที่รัฐเคยให้สัญญาไว้กับชาวบ้าน

พ.ศ. 2542 – 2552       

ช่วง 10 ปีนี้ ชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมา ทนความยากลำบากไม่ไหว จึงกลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ดำรงวิถีชีวิตปกติตามวิถีกะเหรี่ยง โดยเป็นที่รับรู้ของทั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยงานด้านปกครอง และหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยตลอด ว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้

พ.ศ. 2552       

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

พ.ศ. 2553       

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้การนำของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เริ่มปฏิบัติการผลักดันกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน

  • ครั้งที่ 1 เดือน เม.ย. 2553 ผลักดันและขับไล่ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดิน พรุระกำ และบางกลอยบนอีก 12 จุด
  • ครั้งที่ 2 เดือน มิ.ย. และ เดือน ส.ค. 2553 มีการเผาบ้าน ยุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยง

พ.ศ. 2554       

ปฏิบัติการผลักดันชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน โดยการเผาบ้านและยุ้งข้าวยังดำเนินมาต่อเนื่อง

  • ครั้งที่ 3 เดือน พ.ค. 2554 เผา ทำลายบ้านและยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง จำนวน 98 หลัง พร้อมยึดทรัพย์สิน
  • ครั้งที่ 4 เดือน มิ.ย. 2554 เผาและทำลายบ้านและยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง ยึดทรัพย์สิน เช่น มีด แห เคียว เกลือ และเครื่องดนตรีกะเหรี่ยง (เตหน่า)
  • ครั้งที่ 5 เดือน ก.ค. 2554 ระหว่างปฏิบัติการ เกิดอุบัติเหตุ เฮลิคอปเตอร์ ตก 1 ลำ และตกตามมาอีก 2 ลำ ระหว่างการเข้าช่วยเหลืออุบัติเหตุลำแรก

ต่อมา เดือน ส.ค. 2554 ตัวแทนชาวบ้านกะเหรี่ยง เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีการถูกเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนและเผาทำลายทรัพย์สิน

วันที่ 10 ก.ย. 2554 ทัศกมล โอบอ้อม แกนนำร้องเรียนความเป็นธรรมให้แก่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกยิงเสียชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานจนออกหมายจับ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น กับพวกอีก 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทุกคนให้การปฏิเสธ และต่อมาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักพอ มีเพียงแต่คำบอกเล่า ที่ฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้อง (คดีสิ้นสุดเมื่อ 16 ก.พ. 2559)

วันที่ 4 ม.ค. 2554 ครม. มีมติเห็นชอบการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเสนอ

พ.ศ. 2555       

ปู่คออี้ กับพวก รวม 6 คน เป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจากกรณีการเผาบ้านและยุ้งข้าว ยื่นฟ้องศาลปกครอง

พ.ศ. 2556       

ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 35 มีมติเห็นชอบให้บรรจุพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ตามที่ไทยได้เสนอเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

พ.ศ. 2557       

  • ศาลปกครองนัดไต่สวน โดย พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ร่วมกับชาวบ้านเดินทางขึ้นไป เตรียมข้อมูลการไต่สวนศาลปกครอง

ต่อมา วันที่ 18 เม.ย. 2557 บิลลี่ ถูก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ควบคุมตัว ข้อหามีน้ำผึ้ง 6 ขวด ก่อนเจ้าหน้าที่ระบุว่าปล่อยตัวไประหว่างทาง แต่ บิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่ตอนนั้น

พ.ศ. 2558       

วันที่ 28 มิ.ย. – 8 ก.ค. 2558 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ณ กรุงบอนน์ สหพันธรัฐเยอรมนี โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้ประเทศไทยทำข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นความกังวลต่อสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน และข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นสถานะปัจจุบันของสปีชีส์ที่สำคัญในพื้นที่ เพื่อยืนยันคุณค่าและความโดดเด่นในระดับสากลของพื้นที่นี้

พ.ศ. 2561       

  • วันที่ 12 มิ.ย. 2561  ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ โคอิ หรือ คออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดในคดีนี้ ประกอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการที่มีความรุนแรงกระทำต่อสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม การเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรง กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วันที่ 5 ต.ค. 2561 โคอิ หรือคออี้ มีมิ หรือ ปู่คออี้ วัย 107 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โดยญาตินำศพกลับไปทำพิธีที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย
  • วันที่ 6 ธ.ค. 2561 ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 6 คน มารับเงินชดใช้ค่าเสียหายในคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คนเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท

พ.ศ. 2562       

  • วันที่ 3 ก.ย. 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงความคืบหน้าคดีการสูญหายของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอำเภอแก่งกระจาน นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปกว่า 5 ปี พบว่ามีหลักฐานเป็นกระดูกอยู่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งดีเอ็นเอยืนยันว่าตรงกับแม่ของนายพอละจี
  • อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เริ่มทำการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎร ตามโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดให้สำรวจการถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้

พ.ศ. 2563       

เดือน ก.ค. 2563 จากข้อมูลผลการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทั้งหมด 1,821,687.84 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมาย 38,999.99 ไร่ สามารถสำรวจได้ 36,945.12 ไร่ (คิดเป็น 94.73%) คงเหลือที่ยังไม่ได้สำรวจ 2,054.87 ไร่

ในจำนวนพื้นที่คงเหลือที่ยังไม่ได้สำรวจ 2,054.8764 ไร่ แยกเป็น 1,917.17 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ราษฎรมีความประสงค์ให้อุทยานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชนในรูปแบบแปลงรวม โดยขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกับชุมชน ทำการรังวัดแนวเขตพื้นที่ป่าใช้สอย พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าพิธีกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

อีกส่วนคือพื้นที่ที่ชุมชนไม่เข้าสู่การสำรวจ โดย อุทยานฯ ได้ขีดเส้นเขตรอบนอกที่ดินดังกล่าวไว้ตามแนวทางที่กรมอุทยานแห่งชาติกำหนดไว้ ได้แก่ บ้านลิ้นช้าง บ้านท่าเสลา และบ้านพุน้ำร้อน ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และบ้านห้วยยาง ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

17 ธ.ค. 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกครั้งที่ 2/2563 เตรียมเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการมรดกโลกเป็นครั้งที่ 4 ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกป่าแก่งกระจาน ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2564 ณ เมืองฝูโจว ประเทศจีน ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ยังมีความกังวล และคัดค้านการขึ้นเป็นมรดกโลกจนกว่าจะแก้ปัญหาที่ทำกินและสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง

พ.ศ. 2564       

วันที่ 15 ม.ค. 2564 มีรายงานข่าว ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ไม่ต่ำ 32 คน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เดินเท้าเข้าป่าใหญ่ เพื่อกลับไปยังพื้นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ขณะที่อุทยานฯ ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามขึ้นไปทันทีที่ทราบข่าว


Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์