ย้อนเหตุการณ์ #นักข่าวโดนจับ จากการปฏิบัติหน้าที่

กระแสเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนกลับมาเป็นที่ตื่นตัวอีกครั้ง ภายหลังการข่าวการจับกุมนักข่าว-ช่างภาพในวันที่ 12 ก.พ. 2567 ซึ่งถูกเผยแพร่โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าการนำเสนอข่าวของทั้ง 2 คน เกี่ยวโยงกับการสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อถูกคุกคามและถูกลิดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวข้อเท็จจริง ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการจับกุมและแจ้งข้อหาสื่อในคดีต่าง ๆ หลากครั้ง แม้ว่าจะมีผู้ถูกจับกุมจะอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และมีหลักฐานว่าตนเป็นสื่อก็ตาม

The Active ได้สรุป 5 เหตุการณ์นักข่าวโดนจับในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงว่าสื่อถูกจับกุมอย่างไรและในเหตุการณ์ไหนบ้าง

นักข่าวถูกจับ

16 ต.ค. 2563 – นักข่าวประชาไท ถูกจับขณะถ่ายทอดสดใน #ม็อบ16ตุลา

กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกควบคุมตัวขณะถ่ายทอดสดอยู่ฝั่งเจ้าหน้าที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ก่อนหน้านั้นมีประกาศจากเจ้าหน้าที่ว่าให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ แต่กิตติเข้าใจว่าผู้สื่อข่าวยังสามารถอยู่เพื่อรายงานสถานการณ์ได้ หลังจากนั้นไม่นาน กิตติถูกจับ โดยถูกเจ้าหน้าที่ยึดกล้องและโทรศัพท์ ถูกจับใส่สายเคเบิลรัดมือไพล่หลัง ก่อนจะนำไปตัวไปที่ สน.ปทุมวัน และนำตัวมาที่ บก.ตชด.ภาค 1

กิตติได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวกว่า 5 ชั่วโมง โดยมีโทษปรับ 300 บาท ข้อหาฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ม.368

“ยืนยันว่าการพูดความจริงหรือรายงานสถานการณ์จริงไม่ผิด เป็นเสรีภาพของสื่อมวลชนที่สามารถทำได้ แต่การปิดกั้นหรือคุกคามสื่อต่างหากที่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

กิตติ พันธภาค ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ภายหลังได้รับการปล่อยตัว

28 ก.พ. 2564 – ผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า ถูกทำร้ายร่างกายและถูกจับขณะสังเกตการณ์ใน #ม็อบ28กุมภา

บัญชา (สงวนนามสกุล) ผู้สื่อข่าวจากสำนักพิมพ์แนวหน้า ถูกทำร้ายร่างกายและจับกุมตัวระหว่างสังเกตการณ์บริเวณหน้าปั๊มเชลล์แถวกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยถูกเจ้าหน้าที่กดลงกับพื้น โดนเตะ และโดนกระบองตี แม้จะบอกว่าเป็นสื่อและมีบัตรสื่อ แต่บัญชาก็โดนจับมัดมือด้วยสายเคเบิล และถูกพาตัวไป บก.ตชด.ภาค 1 

ระหว่างถูกสอบสวน แม้จะแจ้งว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่มารายงานเหตุการณ์การชุมนุม แต่บัญชาก็โดนตั้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา ภายหลังได้รับการปล่อยตัวในชั้นตำรวจ หลังมีการแพร่ข่าวว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้สื่อข่าว 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 เม.ย. 2564 อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องบัญชาต่อศาลอาญา จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวในการชุมนุมทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกทำผิดตาม ม.215 แล้วไม่เลิก ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทนายได้ยื่นประกันตัวบัญชาด้วยเงินสดจำนวน 35,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลให้ประกันตัว ทำให้เขาไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นพิจารณาคดี

13 ก.ย. 2564 – สื่ออิสระ 2 ราย ถูกจับขณะถ่ายทอดสดใน #ม็อบ13กันยา

นักข่าวพลเมือง 2 ราย ได้แก่ ณัฐพงศ์ มาลี จากสำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News และพนิดา เอนกนวน จากเพจปล่อยเพื่อนเรา ถูกจับกุมและนำตัวไปฝากไว้คุมขังที่ สน.พหลโยธิน แม้จะมีปลอกแขนและสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนก็ตาม

ณัฐพงศ์ถูกจับกุมขณะไลฟ์ถ่ายทอดสดในเพจ ‘สำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News’ ก่อนถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้ถามบัตรสื่อมวลชนและใบขออนุญาตทำข่าว ซึ่งแม้ว่าจะแสดงบัตรแล้วก็ยังถูกถามหาบัตรอนุญาตออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. แต่เมื่อแจ้งว่ายื่นเรื่องใบอนุญาตอยู่ ตำรวจสั่งให้ณัฐพงศ์หยุดไลฟ์และจับกุมทันที 

พนิดาถูกจับกุมขณะไลฟ์ถ่ายทอดสด บริเวณด้านหน้าสำนักงานเขตดินแดง โดยได้แสดงบัตรนักข่าวสังกัด Red News TV และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นแอดมินเพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” แต่เมื่อตำรวจทราบสังกัดแล้วกลับกล่าวว่า เพจดังกล่าวคอยยั่วยุผู้ชุมนุมแล้วควบคุมตัวเธอไป

ทั้งสองคนถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิว ภายหลังศาลปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ในวันที่ 14 ก.ย. 64

6 ต.ค. 2564 – สื่ออิสระ ถูกจับระหว่างถ่ายทอดสดใน #ม็อบ6ตุลา

แอดมินนินจา สื่อมวลชนอิสระจากเพจ Live Real ถูกจับกุมระหว่างไลฟ์ถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง โดนถูกเรียกไปตรวจค้น แม้จะอ้างสิทธิ์ความเป็นสื่อมวลชนโดยแสดงปลอกแขนของ DemAll แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่เพิกเฉยและดูถูกว่าไม่ใช่สื่อมวลชน ภายหลังถูกจับกุมตัว และเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย แม้จะมีเจ้าหน้าที่บางคนเข้ามาปกป้องเพราะเห็นว่าเป็นสื่อมวลชนก็ตาม

แอดมินนินจา ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และโดนโทษปรับ 2,500 บาท

12 ก.พ. 2567 – นักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ ถูกจับจากการทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัด

นักข่าวและช่างภาพ 2 ราย ได้แก่ ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับข้อหาสนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 แม้ว่าทั้งคู่จะให้การปฏิเสธว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข้อเท็จจริงก็ตาม

จะเห็นได้ว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังศาลออกหมายจับกว่า 8 เดือน

สืบเนื่องจากกรณีที่ทั้ง 2 รายติดตามรายงานข่าวของ บังเอิญ ศิลปินอิสระ จากการก่อเหตุพ่นสีข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งภายหลังบังเอิญได้ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาด ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเงินสดจำนวน 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกัน

ทั้ง 2 ราย ถูกคุมขังที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า หลายเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นการจับกุมระหว่างการรายงานสดหรือติดตามสถานการณ์การชุมนุม โดยอาจมีการใช้ความรุนแรงหรือมัดมือด้วยสายเคเบิลควบคู่ นอกจากนี้ ในบางกรณียังแสดงให้เห็นว่าแม้มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นสื่อและไม่ได้มีพฤติกรรมแสดงออกร่วมกับผู้ชุมนุม แต่ก็ยังมีการจับกุมผู้ปฏิบัติงานนี้อยู่ดี

นอกเหนือจากเหตุการณ์การจับกุมเหล่านี้แล้ว ยังมีความรุนแรงอื่น ๆ ที่สื่อต้องพบเจอในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย (เช่น การถูกยิงด้วยกระสุนยาง) การคุกคามทางวาจา การดำเนินคดีทางกฎหมาย (เช่น การฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP) การขู่ดำเนินคดี จากการปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอข่าวเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร นำมาสู่การข้อกังวลในเสรีภาพในการรายงานของสื่อ รวมไปถึงเสรีภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด