ลดเหลื่อมล้ำ ฟื้นการศึกษาเร่งด่วน ก่อนประเทศล่มสลาย

ยกระดับการศึกษาในระบบให้มีทางเลือกมากกว่าแบบเดียว​​

งาน “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” ในช่วงเวทีเสวนา “ปลดล็อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา “คีย์แมน” ในแวดวงการศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง สะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะในหลายประเด็น

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในระบบการศึกษาที่มองข้ามไม่ได้ คือ โภชนาการของเด็กซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้งเรื่องค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง โดยต้องยอมรับว่า โรงเรียนใน กทม. เป็นพื้นที่รองรับพ่อแม่ที่มาจากต่างจังหวัด เข้ามาหารายได้ในเมือง เมื่อเกิดโควิด-19 พ่อแม่ย้ายกลับภูมิลำเนาก็ไม่ได้กลับเข้ามา กทม.กลุ่มนี้จำเป็นต้องติดตามกลับมา

เมื่อเข้าสู่สภาวะการเรียนแบบปกติ จำเป็นต้องสแกนเด็กเป็นรายคนว่ามีปัญหาสุขภาพหรือไม่ เมื่อดูแล้วค่อยไปดูว่ามีการเรียนที่ถดถอย (Learning loss) หรือไม่ เป็นสิ่งที่ครอบครัว และโรงเรียน ต้องทำงานร่วมกันถึงจะช่วยลดเหลื่อมล้ำได้ เวลานี้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคน สะท้อนว่าการเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่เพียงพอ เพราะปรับค่าเงินไม่สอดคล้องกับ ค่าครองชีพในปัจจุบัน ถ้าไม่เร่งทำเราจะสูญเสียเด็ก ที่เป็นกำลังสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. เป็นความหวังของการเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ ​นักเรียนทุกคนใน กทม. มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ และเชื่อมโยงอยู่กับปัญหาระดับพื้นที่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย สิ่งแรกที่ต้องคุยกัน คือ การศึกษาไม่ใช่การพัฒนาผู้เรียน แต่การศึกษาต้องมองไปถึงการพัฒนาคน

สิ่งสำคัญตอนนี้นอกจากจะคิดว่าดึงเด็กกลับสู่ระบบอย่างไร อีกแนวคิดที่ใหญ่กว่าเด็กหลุดระบบการศึกษา คือหลักสูตร เพราะการหลุดออกจากระบบหมายถึงหลักสูตร ไม่สอดคล้องกับผู้เรียนหรือไม่ ? การพยายามดึงเด็กกลับต้องมีนโยบายทางการศึกษาเพื่ม มีการศึกษาทางเลือกที่สามารถรองรับผู้เรียนที่ไม่สะดวกมาเรียนในระบบ ขณะเดียวกันก็ยกระดับการศึกษาในระบบไปพร้อมกัน ให้การเรียนรู้มีความทันสมัย และมีให้เลือกมากกว่าแบบเดียวหรือไม่ ​

“ผมคิดว่าควรมีนโยบายการศึกษาทางเลือกที่รองรับการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะอยู่ใน กทม. เป็นช่องที่ทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้ทันสมัย ให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยออกแบบการศึกษาเองได้ มีการศึกษาทางเลือก”

ขณะที่นโยบายที่จะลงไปพัฒนาครูจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ปลดล็อก ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง โดยปลดล็อก ตั้งแต่ ครู หลักสูตร สิ่งแวดล้อมโรงเรียน ปรับปรุงโปรแกรมหลังเลิกเรียน (after school) หรือ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวเด็กคนไหนมีปัญหา ก็ต้องให้คิดว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ระบุ ต้องเร่งจัดการกับนักเรียนนอกระบบให้เร็วที่สุด เพราะหากผ่านพ้นช่วงวัยเด็กไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกสิ่งที่สูญเสียกลับมาได้ การศึกษา อาจจะมีการฟื้นฟูกลับมาไม่เหมือนเดิม การซ่อมคนมีความยาก ส่งผลต่อการสูญเสียวิวัฒนาการทางสังคมทั้งหมดด้วย เพราะขาดคนที่จะมาขับเคลื่อน และแข่งขันกับอารยะประเทศ

สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือการจัดการกับงบประมาณของ กทม. หรือ กระทรวงศึกษาธิการ การปรับปรุงการเรียนการสอนจัดหลักสูตร เพราะที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการศึกษาอย่าง กสศ. ก็เคยประเมินปัญหาความรุนแรงของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามาแล้ว คาดการณ์ว่าจะการเรียนรู้ของเด็กจะถดถอย แต่กลับยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้

“งบประมาณส่วนไหนที่มีมาก แสดงว่าเป็นปัญหาที่อยากเร่งแก้ แต่ที่ผ่านมางบฟื้นฟูเด็กนักเรียน ไม่มีทุนสำหรับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา​”

​วิโรจน์ ​เล่าต่อว่าจากที่รวบรวมข้อมูลด้านทุนการศึกษา พบว่ามีการจัดสรรให้เด็กเรียน เรียนฟรีอยู่ที่ 9.9 แสนบาท และทุนนักเรียนดีเด่น 5 แสนบาท รวมแล้วอยู่ที่กว่า 1 ล้านบาท คำถามคือ เด็กที่อยากเรียนอาจจะไม่เก่งอยู่ตรงไหน ประเทศล่มสลาย คือประเทศที่ไม่มีทุนในการอุดหนุนให้เด็กที่อยากเรียน

นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างงบประมาณ​ การจัดสรรชุดลูกเสือ โดยต้องการให้กระทรวงฯ มองเห็นแก่นแท้ของการศึกษา ไม่ต้องสนใจเปลือกและสอนให้เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ เพราะงบประมาณที่ทุ่มเทไปกับประเด็นนี้สูงถึง 88 ล้านบาท และในจำนวนนี้สูงถึง 70 ล้านบาท เน้นไปที่การปรับปรุงค่ายลูกเสือ หากเกลี่ยไปช่วยเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนจะมีความคุ้มค่ามากกว่าหรือไม่

​เขายังทิ้งท้ายด้วยว่า การทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาไปให้ถึงตัวเด็กจริง ๆ จะยิ่งช่วยลดปัญหาคอรัปชั่นได้มากขึ้นอีกด้วย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในฐานะอาจารย์ ไม่ใช่แค่เด็กที่เห็นได้ชัดว่าหลุดออกจากระบบการศึกษาเท่านั้น แต่เด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาก็ไม่สามารถรับประกันคุณภาพจากการเรียนออนไลน์ได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความรับผิดชอบในการหารายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพจากโควิด-19 และการสูญเสียรายได้ของผู้ปกครอง กรณีตัวอย่างเช่น การรับรู้ข้อมูลของเด็กๆ และการติดตามดูแล มีฐานข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล, มีการเชื่อมโยงข้อมูลของครูเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่สร้างข้อจำกัดให้ครูมากจนเกินไป, และการประสานงานกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา

โดยมีข้อสำคัญสำหรับคุณครู คือ ลดงานครูลง ผู้อำนวยการและผู้ดูแลต้องส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมยกตัวอย่าง บางรักโมเดล ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการสอนของเครือข่ายครู มีการเปิดให้ครูต่าง Generation แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสอน และร่วมประสานกับสำนักงานเขตบางรัก ทดลองเบื้องต้น 5 โรงเรียน

สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้เพื่อต่อยอดจากงานวิจัยในการสื่อสารสู่สังคมในหลากหลายรูปแบบ โดยครอบคลุมความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ อาทิ “เวทีคนจนเมือง” “เวทีปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”  “เวทีคนไร้สถานะ” “เวทีคนพิการยากจน” และ”เวทีผู้สูงอายุโดดเดี่ยว”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์