‘สำรับชาติพันธุ์’ ความมั่นคงหลากหลาย บนความหวัง ‘กฎหมายชาติพันธุ์’

สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  ร่วมกับ Thai PBS, The Active และภาคีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะเนื่องใน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565” ภายใต้หัวข้อ “สานพลังคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง”

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ การฉายสารคดี ‘สำรับชาติพันธุ์’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์จากบนดอยสูง ถึง ท้องทะเล ที่ดำรงวิถีวัฒนธรรมบนศักยภาพพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในชีวิต แต่พื้นที่ทางอาหาร และมรดกวัฒนธรรมของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมาอย่างยาวนาน  กำลังเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอคติจากกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจวิถีชาติพันธุ์ รวมถึงนโยบายรัฐที่กระทบต่อวิถีดั้งเดิม

นำไปสู่การพูดคุยในเวทีเสวนา “จากสำรับชาติพันธุ์ สู่ความมั่นคงทางอาหารคนเมือง” โดยมีตัวแทนชาติพันธุ์ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านชาติพันธุ์ ร่วมกันสะท้อนมุมมอง ต่อความมั่นคงทางอาหารที่หลากหลายของชาติพันธุ์ จะยังสามารถ คงอยู่ หรือ หมดไป ท่ามกลางการฝากความหวังไว้กับร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฯ ที่หลายฝ่ายช่วยกันผลักดัน  

สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ระบุว่า สารคดีสำรับชาติพันธุ์ ทำให้เห็นวิถีการทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีการใช้ชีวิตอย่างปราณีต ตั้งแต่คัดเมล็ดพันธุ์ หว่านข้าวปลูกพืช ไปจนถึงเก็บเกี่ยว เป็นวิถีของพี่น้องชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยทุกชนเผ่า เป็นความมั่นคงทางอาหารที่มีความสำคัญมากกว่าความมั่นคงใด ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องพืช ผัก ข้าว แต่หมายถึงสัตว์น้ำในทะเล นี่คือภาพรวมความมั่นคงทางอาหารในความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์

ความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นวิถีความเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในจักรวาลนี้ เพราะฉะนั้นมิติความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิของการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าและทะเล เป็นเครื่องมือช่วยให้อยู่สังคมได้อย่างปกติสุข แต่การจำกัดสิทธิต่าง ๆ อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถแสดงศักยภาพ และดำรงวิถีวัฒนธรรมที่เป็นความมั่นคงได้

“ความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ได้หมายความแค่กินอิ่มนอนอุ่น แต่คือความเกื้อกูล การแบ่งปัน ความสัมพันธุ์ที่มองโลกทั้งผอง  ถ้าตราบใดเรายังมีความมั่นคงทางอาหาร นั่นหมายความว่า ป่าอุดมสมบูรณ์ น้ำอุดมสมบูรณ์ ทะเลมีปลาอุดมสมบูรณ์ แต่ตราบใดที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ศักยภาพตนเองในการรักษาความมั่นคงทางอาหารได้ ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในสังคมได้”

นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์  ยังเชื่อว่า ที่ผ่านมาการออกกฎหมายต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต บริบทสังคมที่ชาติพันธุ์ดำรงอยู่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองและฝ่ายต่าง ๆ ช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นกลไกที่จะทำให้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยสามารถดำรงอยู่ในสังคมโลกได้อย่างปกติสุข และเกิดความยั่งยืน

อรวรรณ หาญทะเล เครือข่ายชาติพันธุ์ภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า สารคดีสำรับชาติพันธุ์ สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เมื่อก่อนชาวเลทั้ง 5 จังหวัด มีพื้นที่ข้าวไร่ มีพื้นที่ทะเลหมุนเวียน แต่ปัจจุบันทุกคนได้เห็นแล้วว่า พื้นที่ทั้งหมดไม่ว่า จะพื้นที่จิตวิญญาณ ที่อยู่อาศัย พื้นที่อาหารของชาวเล กลายเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ และนายทุน วีถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน

เมื่อก่อนอาหารของชาวเล ไม่ต้องใช้เงิน แค่แลกเปลี่ยนกัน เอาปลาไปแลกกับสมุนไพร เอาปลาไปแลกกับเสื้อผ้า แต่ทุกวันนี้ ทุกอย่างเป็นเงินหมด ปัจจุบันชาวเลไม่มีที่ปลูกข้าว ต้องซื้อ ต้องเอาปลาไปแลก จากที่เคยตัดไม้ในป่ามาทำเรือ ทุกวันนี้ต้องซื้อไม้แผ่นหนึ่งก็ 600 บาท ซ่อมเรือก็แพงมาก ลำนึง 50,000 – 100,000 บาท ต้องเอาเงินซื้อของทุกอย่าง ต่างจากเมื่อก่อนสามารถเก็บสมุนไพรมาต้มยาได้ ดังนั้นศักยภาพที่พวกเขามี ถ้าไม่รีบแก้ไข หรือต้องรอฟังนโยบายรัฐมาช่วยอย่างเดียว ไม่มีทางสำเร็จ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวเลถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน ที่ดินกลายเป็นของนายทุน ตอนนี้ชีวิตย่ำแย่มาเรื่อย ๆ

“เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตคนอยู่ได้ แต่ข้าวปลาอาหารพวกนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตผู้คนในชุมชนในสังคมได้ แต่รัฐกลับลืมระบบคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร รัฐกลับไปมองแต่เรื่องการสร้างพื้นที่สร้างความสะดวกสบาย ลืมรากฐานสังคม ลืมความจำเป็นที่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ที่เขามีความต้องการกับวิถีที่เขามีความสุข”

อรวรรณ ยืนยันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ นอกเหนือจากประชาชนคนอื่น แต่พวกเขาขอแค่สิทธิที่พึงมี เพื่อให้มีพื้นที่ดำรงวิถีชีวิต ไม่เช่นนั้นพื้นที่ทำกิน วิถีวัฒนธรรมจะหายไป จะล่มสลายไป จึงขอให้รัฐบาลเร่งบรรจุกฎหมายเพื่อหนุนเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์

สำหรับ มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ ) บอกว่า ชนชั้นกลางที่รู้จัดกันต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากเกษียณแล้ว อยากเลี้ยงปลา ปลูกผักกินเอง และนี่คือความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ความปรารถนาของมนุษย์เงินเดือน ความปรารถนาของคนทุกคน ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หาเงิน ผ่อนบ้าน 40 ปี แล้วอยากไปมีชีวิตสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งถือว่าสารคดีสำรับชาติพันธุ์ เป็นคำตอบ เพราะพี่น้องชาติพันธุ์ไม่ต้องรอ 40-50 ปี พวกเขาก็ใช้วิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ปลา แม่น้ำ เมล็ดพันธุ์ อยู่กับอาหารตามฤดูกาล  วิถีชีวิตชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม เป็นวัฒนธรรมของอาเชียอาคเนย์ด้วย นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นต้นทุนทางธรรมชาติ เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่สำคัญเป็นอัตลักษณ์ของคนซีกตะวันออก

“ผมอย่างเริ่มแบบนี้ ในฐานะเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกว่า เก็บพันธุ์ข้าวเอาไว้ เก็บพันธุ์เผือกเอาไว้ เก็บพันธุ์มันเอาไว้ เก็บให้ครบ 30 กระบุง แร้นแค้นยังไงเราไม่กลัว และบทพิสูจน์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น คือกรณีโควิด ที่พี่น้องชาติพันธุ์เกือบทุกหมู่บ้าน พี่น้องชาวปกาเกอะญอ บอกว่าพวกเขาสามารถอยู่ได้ 2 ปี โดยไม่ออกจากบ้านขอให้มีแค่เกลือ ผมคิดว่านี่คือบทพิสูจน์”

ส.ส.ชาติพันธุ์ ยังมองว่า เมื่อสังคมมีความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม รัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ก็เขียนไว้ชัดเจน ต้องให้การปกป้อง คุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ และประเทศไทยไปลงนามว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในระดับสากลด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ต้องผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นกฎหมายจากทุกฝ่ายถึง 5 ฉบับ โดยมีหลักการสำคัญสอดคล้องกันให้ชาติพันธุ์ มีสิทธิและสามารถดำรงวิถีวัฒนธรรม

ไม่ต่างจาก อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยาวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ 3 เรื่อง หลังจากดูสารคดีสำรับชาติพันธุ์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคน และกลุ่มชาติพันธุ์ กับธรรมชาติ และตัวแปรที่ 3 คือ อำนาจของรัฐ ที่พยายามจะจัดการความสัมพันธ์ที่อยู่กันมาอย่างสมเหตุสมผล แต่พอมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดการทุกอย่างโกลาหลไปหมด

“เขาเคยจับปลาได้ ก็จับปลาไม่ได้ เคยปลูกข้าวได้สบาย ๆ วันดีคืนดีก็ปริมาณลดลง การจะทำไร่ เผาเตรียมพื้นที่ เผาไร่ก็ทำได้ยากขึ้น อันนี้คือความสัมพันธ์ที่มันเคยสมดุลมาก่อนแล้ว แต่พอมีตัวแปรที่ 3 คือ อำนาจรัฐ ก็รวนไปหมด การใช้อำนาจรัฐที่จัดการอย่างไม่เข้าอกเข้าใจ มันทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สูญเสียศักยภาพในการที่จะพึ่งตนเองไปได้”

อภินันท์ เชื่อว่า โอกาสที่จะช่วยพี่น้องชาติพันธุ์ได้ คือการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตชาติพันธุ์ แม้จะไม่ตอบโจทย์ทุกอย่าง ไม่ได้จบแค่ในกฎหมายฉบับเดียว แต่เมื่อมีหลายส่วนร่วมกัน โดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ ต้องเข้ามาเสริม

“ในสารคดีสำรับชาติพันธุ์ ช่วงที่น้องคนหนึ่งบอกว่า ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็ยังกลับมาที่บ้านได้ ตอนนี้คำถามที่ผมอยากถาม ว่า แล้วบ้านของชาติพันธุ์อยู่ตรงไหน บ้านของพี่น้องอยู่ตรงไหน ถ้าจะว่าไปแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ กำลังทำให้เขามีบ้านของเขา พื้นที่ของเขาได้รับการคุ้มครอง และเป็นกลไก ที่จะทำให้มันเกิดรูปธรรม ไม่ใช่กฎหมาย พิเศษ เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ แต่คือการคุ้มครองชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ให้ได้รับประโยชน์เท่าเทียมคนอื่น ๆ ในสังคม เพื่อเป็นพลังพัฒนาประเทศต่อไป”

เช่นเดียวกับ พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เห็นว่า สารคดีสำรับชาติพันธุ์ ทำให้เห็น 3 เรื่องสำคัญ ประเด็นแรก คือ วิถีชีวิต การอุปโภค บริโภค ของพี่น้องชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง มีลักษณะพึ่งพาฐานทรัพยากรเป็นหลัก ประเด็นที่สอง คือ ชุมชนที่เป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีค่านิยม และให้คุณค่ากับอาหารที่เขาผลิตเอง ไม่ใช่การออกไปซื้อข้างนอก ไม่ต้องการขอรับบริจาค เพราะคุณค่าที่แท้จริง คือการที่พวกเขามีอำนาจในการกำหนดทิศทางการผลิตอาหารเอง  ประเด็นที่สาม เห็นว่า กฎหมายหรือนโยบาย ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการพึ่งพิงฐานทรัพยากรและการผลิตอาหาร ก็จะกระทบต่อต้นทุนพื้นฐานและต้นทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

ชัดเจนอย่าง กรณีชาวกะเหรี่ยง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ที่เคยทำกินในพื้นที่ตนเองมาอย่างยาวนาน จนมาถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินคดี และศาลตัดสินจำคุก หรือ กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ตามวิถีดั้งเดิม   

ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อุตส่าห์ดูแลพื้นที่แหล่งความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่าเป็นปอดของคนทั้งประเทศ แต่พวกเขากำลังเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น เหมืองแร่ถ่านหินที่อมก๋อย, โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นบนฐานที่มองว่าทรัพยากรเป็นของรัฐ เป็นของชนชั้นนำ เกิดบนฐานที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ด้อยกว่า คำถามคือโครงการแบบนี้จะเกิดได้หรือไม่ในพื้นที่ที่เขามีอำนาจลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อรอง

“การมีกฎหมายเพื่อคุ้มครอง หรือส่งเสริมสิทธิและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นฐานทางนโยบายขั้นแรก ที่ทำให้ชุมชนมีเครื่องมือจัดการพื้นที่ รวมกลุ่มพัฒนาอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม สร้างความร่วมมือกับภาคีทางสังคมอื่น ๆ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ตื่นตัว กลับมานึกถึงสิทธิของตัวเอง กล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงตนเป็นชาติพันธุ์ ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม ทลายมายาคติที่กดทับ”

ขณะที่ พัฒนะ จิรวงศ์  ผู้กำกับหนังสารคดี อธิบายถึงสารคดีที่พูดถึงชาติพันธุ์ ในยุคแรก ๆ นั้น พบว่า นำเสนอความน่าตื่นตาตื่นใจให้คนเมืองได้เห็น ต่อมาก็เป็นดาบสองคม คือ จริง ๆ มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เอากลุ่มชาติพันธุ์มาทำด้วยความเข้าใจผิด มาเห็นเป็นเรื่องตลกสนุกสนาน ในฐานะตัวแทนผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก็ต้องขอโทษพี่น้องชาติพันธุ์ในหนังที่ผ่านมา ที่นำเสนอมุมดังกล่าว แต่เชื่อว่านับจากนี้ความรู้เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ จะถูกพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจากศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และทุกคนที่จะช่วยกัน เมื่อเรื่องชาติพันธุ์อยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องสร้างอะไรบางอย่างให้เข้าใจว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี ซึ่งไม่มีไรจะเข้าใจง่ายกว่า ให้คนในเมืองเข้าใจความรู้สึก อันนั้นคือความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ภาพยนตร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อสารเรื่องนี้ได้

“เหมือนผมเข้ามาอยู่ในบ้านของพี่น้องชาวเล พี่น้องบนดอย และเหมือนได้นั่งดูหนังกัน จังหวะอาหารก็มีเสียงซีดซ้าด มันน่ากินอะไรอย่างงี้ ผมก็รู้สึกแบบนั้น และผมว่ามันกลมกล่อมจะมีความรื่นเริงอะไรบางอย่าง ด้วยเสียงดนตรีประกอบ ผมก็รู้สึกว่ามันสมดุลกันดี ไม่รู้สังเกตหรือไม่ อย่างชาวเลที่เสียชีวิต ก็จะมีร้องไห้ แต่ถูกเติมเต็มด้วยหยดน้ำที่มันมาจากข้าว มันคือภาพเดียวกัน ให้ความรู้สึกว่า พี่น้องบนดอย สามารถมาเติมเต็มความรู้สึกให้พี่น้องภาคใต้ได้ ผมรู้สึกหนังมันทำหน้าที่นั้น สิ่งนี้คือซอฟเพาเวอร์ชัดเจน”


Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ