บ้าน – ริมทาง – รถไฟ อนาคตที่อยู่อาศัยข้างรางไม้หมอน

ปัญหาชุมชนบนที่ดินของการรถไฟฯ เป็นปัญหายืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ และวันจันทร์สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมในทุกปี คุณผู้อ่านจะได้เห็นขบวนประชาชนเดินทางไปเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยของพวกเขากับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา เยียวยา โดยเฉพาะกรณีที่มีชุมชนจำนวนไม่น้อยถูกการรถไฟฯ ฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดินราชการ

รู้ว่าผิด แต่ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก… พวกเขาเป็นคนจนเมือง ไร้โอกาสในการมีที่อยู่อาศัยมั่นคง การเข้ามาอยู่ในที่ดินริมทางรถไฟ จึงเป็นหนทางที่อย่างน้อยก็ ‘ไม่เร่ร่อน ไร้บ้าน’ ในเมื่อรัฐประกาศว่า ‘จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และ ‘ทุกคนต้องมีบ้านอยู่’ นโยบายของรัฐมีวิธีไหนบ้างที่จะเอื้ออาศัยให้พวกเขาได้อยู่ริมทางรถไฟอย่างถูกกฎหมาย ชวนอ่านคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

ชุมชนบนที่ดินการรถไฟ อยู่ตรงไหนบ้าง?

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดินในกรรมสิทธิ์ ทั้งหมด 234,976.89 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินสำหรับการใช้งาน เพิ่มการเดินรถ 198,647.71 ไร่ ที่ดินสำหรับการพัฒนาเชิงพานิชย์ 36,302.18 ไร่ และในพื้นที่ทั้งหมดมีชุมชน อาศัยอยู่ร่วมด้วย 873 ไร่ 27,096 หลัง ในพื้นที่ 35 จังหวัด

ดังที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายรถไฟ 5 ภาค สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยจากโครงการพัฒนาในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับการแขวงบำรุงทางการรถไฟแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 27,096 หลังคาเรือน 346 ชุมชน ใน 35 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ดังนี้

ผู้ได้รับผลกระทบ
(หลังคาเรือน)
ชุมชนจังหวัด
ภาคเหนือ86537 8
ภาคใต้ 3,51061 5
ภาคกลาง-ตะวันตก1,681 29 8
ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5,900 48 5
ภาคใต้ 15,140 171 9

สำหรับชุมชนที้ได้รับสัญญาเช่าถูกกฎหมายจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วทั้งหมด 51 ชุมชน แบ่งเป็น ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 12 ชุมชน ภาคเหนือ จำนวน 1 ชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17 ชุมชน ภาคใต้ จำนวน 21 ชุมชน

มติ ครม. เปิดโอกาสให้ชุมชนอยู่อย่างถูกกฎหมาย

เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติ ที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงได้ยื่นข้อเสนอถึงคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2562

และในคราวประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ประชุมได้สรุปผลการพิจารณาแนวทางแก้ไขตามข้อเรียกร้อง จำนวน 15 กรณี เฉพาะในส่วนของการแก้ไขปัญหาบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. คณะรัฐมนตรีมีมติให้ รฟท. ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศ
  2. คณะรัฐมนตรีมีมติให้ รฟท. ใช้มติอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเป็นแนวทางการแก้ปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ถูก รฟท. ฟ้องร้องหรือดำเนินคดี ให้สามารถเช่าที่ดินเดิมที่อาศัยอยู่ในลักษณะสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราว ระยะเวลา 1 ปี ในอัตราค่าเช่า 20 บาท ต่อตารางเมตรต่อปี หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็วให้ รฟท. ไปแถลงต่อศาลเพื่อชะลอการดำเนินคดีระหว่างดำเนินการทำสัญญาเช่าชั่วคราว กรณีคดีสิ้นสุดแล้ว ให้ รฟท. จัดหาพื้นที่รองรับใกล้เคียงกับชุมชน ระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่
  3. ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดบเร่งด่วน เพื่อเป็นโครงการรองรับประชาชนที่ได้จากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ประชาชนคนจนเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยโดยเทียบเคียงมติคณะรัฐมนตรี กรณีการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนริมคลองและการพัฒนาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2559 คือมีการอุดหนุนงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และอุดหนุนที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 80,000 บาท และงบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส ครัวเรือนละ 80,000 บาท
  4. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบรายชื่อชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการตามข้อเสนอของ ขปส. และมอบหมายให้ รฟท. ไปหารือร่วมกับ ขปส. เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหารายกรณีไปตามมติคณะกรรมการรถไฟ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2543
  5. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ตามหน้าที่และอำนาจ
บ้าน

ผลความคืบหน้า จากข้อเรียกร้องวันที่อยู่อาศัยโลก ’65

โดยวันที่อยู่อาศัยโลก 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และภาคี ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอ ขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนนโยบายและงบประมาณจากรัฐ ผ่านการดำเนินงานร่วมระหว่างประชาชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ทั้งการจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาชุมชน ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้กับชุมชนทั้งหมด

ตั้งกรอบงบประมาณในการดำเนินงาน 9,478,180,800 บาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยและกระบวนการพัฒนาและการบริหารจัดการ เฉลี่ยครัวเรือนละ 89,800 บาท เพื่อดำเนินการปรับพื้นที่ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ งบฯ สนับสนุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท เพื่อช่วยเหลือในการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราว รวมถึงการรื้อย้ายที่อยู่อาศัยเก่า งบประมาณสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสร้างบ้านใหม่ ซื้อที่ดินใหม่ พร้อมสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เฉลี่ยไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท

ในวันเดียวกันนั้น จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงนามเห็นชอบข้อเรียกร้องโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยดังข้างต้นแล้ว แม้ว่าภาคประชาสังคมจะมองว่าเป็นความล่าช้าในการดำเนินงาน เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวควรถูกดำเนินงานตาม มติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ ปี พ.ศ.2562 แล้วแต่อย่างน้อยก็ถือเป็นความคืบหน้าที่น่ายินดี

‘บุญร่มไทร’ โอกาสใหม่ชุมชนคนจนเมือง

ยกตัวอย่าง เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบและมีความพยายามแก้ไขปัญหาแล้ว คือ กม. 11 เขตบางซื่อ ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธิน ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา และชุมชนหมอเหล็ง เขตมักกะสัน มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ

ด้านชุมชนจึงได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง มีการออมเงินผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ เข้าขอเจรจาไกล่เกลี่ยคดีความกับการรถไฟฯ และขอให้การรถไฟจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้บนที่ดินของการรถไฟฯ ต่อมาการรถไฟฯ จึงได้จัดสรรพื้นที่บริเวณริมบึงมักกะสันให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณจึงยังไม่สามารถก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ได้ทันที ต้องรอการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากการเคหะแห่งชาติ หากได้รับแล้วก็จะดำเนินการสร้างที่พักอาศัยต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวบ้านที่ชุมชนบุญร่มไทรได้เริ่มรื้อย้ายบ้านเรือนบางส่วนแล้ว และย้ายไปอยู่บ้านพักชั่วคราวแล้ว เพื่อให้การรถไฟฯ ได้ใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ตามประสงค์

วาระเร่งด่วน! รับรองสิทธิชุมชน

คมสันต์ จันทร์อ่อน ฝ่ายเลขา เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนบนที่ดินการรถไฟยังไม่ทราบเรื่องมติ ครม. ว่ามีนโยบายในการให้ชุมชนสามารถเช่าที่การรถไฟฯ อย่างถูกกฎหมายได้ ดังนั้นจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ในส่วนของสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้เข้าร่วมกระบวนการและมีโอกาสสร้างที่อยู่อาศัยมั่นคง

“ที่ดินทุกแปลงต้องมีการคุยกันว่าสามารถเช่าได้หรือไม่ได้ เพราะบางพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการพัฒนาของรัฐ ก็ต้องพูดคุยเจรจากันแปลงต่อแปลงทุกกรณีไป อย่างที่ผ่านมา 28 ปีเช่าได้แค่ ราวๆ 50 สัญญา เท่ากับว่าตกเฉลี่ยปีละไม่กี่สัญญา มีกระบวนการที่ต้องใช้เวลาดำเนินงานมาก สิ่งที่ทำให้มันยากคือการรถไฟมองที่ดินเป็นมูลค่า ถ้ามองในมิติสังคมชุมชนไม่ต้องย้ายไปไหนเลย เพียงแค่ทำสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย เขาก็จะได้ไปของบประมาณปรับปรุงที่อยู่อาศัยไม่ให้เป็นสลัม แต่ถ้าโครงการไหนต้องย้ายออกจริงๆ พี่น้องก็ไม่ได้ขัดขวาง ก็ดูพื้นที่อื่นร่วมกัน”

คมสันต์ จันทร์อ่อน ฝ่ายเลขา เครือข่ายสลัม 4 ภาค

คมสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการจะไม่ยากและใช้เวลาดำเนินการเร็วขึ้น หากทั้งสองฝ่ายเปิดใจคุยกัน ทั้งฝ่ายชุมชนไม่ยืนกรานกระต่ายขาเดียวจะอยู่ที่เดิม และรถไฟก็ไม่กระต่ายขาเดียวว่าชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ไป ยกตัวอย่างที่ จ.ขอนแก่น มีการทำสัญญาเช่าที่แล้ว และทับซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มาทีหลัง สุดท้ายก็ต้องย้ายออก เขาก็พร้อมย้าย แต่ก็ต้องดูพื้นที่รองรับร่วมกัน เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ที่ จ.ขอนแก่นให้ความร่วมมือดี สำรวจพื้นที่ด้วยกัน ก็สามารถตกลงแก้ไขปัญหากันได้ภายในระยะเวลา 1 ปี เท่านั้น

“เรื่องเร่งด่วนคือการทำมติ ครม. ให้เป็นรูปธรรม คือการรับรองชื่อชุมชน ตอนนี้รับรองแล้วกับ พอช.​ รฟท. แต่ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าบอร์ดการรถไฟฯ เพื่อให้บอร์ดการรถไฟรับรองรายชื่อของชุมชนที่เสนอไป แล้วจะได้เสนอกับ ครม. อีกครั้งว่าได้ดำเนินการตามที่ ครม.มอบหมายเรียบร้อยแล้ว … อยากชี้แจงให้สังคมทราบว่าชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะมายึดที่ดินของการรถไฟฯ หรือยึดที่หลวงแบบฟรีๆ เขาก็อยากจะเช่าที่ตามกฎหมายเพียงแต่ช่องทางเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร นายสถานีต่างๆ ที่มีชุมชนอยู่ใกล้เคียงถ้าทราบมตินี้แล้วก็เชิญชวนชุมชนเข้ามาเช่าที่ดินได้เลย ไม่ต้องรอให้ภาคประชาชนดำเนินการเอง”

คมสันต์ จันทร์อ่อน ฝ่ายเลขา เครือข่ายสลัม 4 ภาค

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

307 ชุมชนรถไฟฯ ขอความชัดเจนสัญญาเช่า “วันที่อยู่อาศัยโลก”

บุญร่มไทร โอกาสใหม่ชุมชนคนจนเมือง

พม. เห็นชอบ แผนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ 9 พันล้าน

8 เรื่องเร่งด่วน แก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยให้คนจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์