เปิด 8 นวัตกรรม HACK ใจ ความหวังใหม่ แก้ปัญหาใจให้สังคม

จบไปแล้วสำหรับ “HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” กิจกรรมที่เป็นการรวมตัวกันของเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาร่วมกันแก้โจทย์ปัญหาสุขภาพจิตในไทย บรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยน ขบคิด และต่อยอดสิ่งใหม่อันเข้มข้นตลอด 3 วันเต็ม ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ออกมาถึง 8 โพรเจกต์ ตบท้ายด้วยการนำเสนอและให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, สุวิตา จรัญวงศ์ CEO and Co-Founder Tellscore และกลุ่มเยาวชน INDY CAMP

ทีมไหน คิดค้นอะไร และเป็นไปได้แค่ไหน The Active ขอสรุป 8 โพรเจกต์ HACK ใจ ไว้ให้ฟังตรงนี้เลย

โพรเจกต์ที่ 1

ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย 

จากทีม Innovation นำโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

“เปลี่ยนป้าข้างบ้านเป็นป้าข้างใจ เปลี่ยนสังคมรอบกายให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” โพรเจกต์นี้มีแนวคิดว่า ต้องสร้างชุมชนให้มี ecosystem ในการดูแลจิตใจของคนในชุมชนได้เองก่อนผ่านการสร้างคนในชุมชนเอง เพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ หรือนิยามว่าเป็น “Buffer Community” 

การดำเนินงานจะทำร่วมกับคนในชุมชนที่มีศักยภาพหรือที่นิยามว่า “ใจฟู creator”แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. เยาวชนคนรุ่นใหม่ (Youth Agent)
  2. Social Influencer เนื่องจากตอนนี้ คนจำนวนมากไม่ได้เชื่อคำแนะนำจากหมอแล้ว แต่เชื่ออินฟลูเอนเซอร์อย่างพี่อ้อย-พี่ฉอด หรือน้าเน๊คมากกว่า คนกลุ่มนี้จึงเป็นเหมือนกาวใจที่จะเชื่อมความรู้เรื่องสุขภาพจิตกับคนในชุมชน
  3. Community Member – บ้าน วัด โรงเรียน 
  4. people with Lived Experience – กลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีประสบการณ์มาก่อนแล้ว

โดยทั้งหมดนี้ จะใช้เครื่องมือของ NIA ที่เรียกว่า “Groom – Grant – Growth”

  • Groom ประกอบด้วย mindset + mentor expert + know how + market

จะเริ่มจากปลูกฝังให้คนมี mindset ที่เข้าใจเรื่องนวัตกรรมและสุขภาวะที่ดี โดยต้องมีผู้ชาญจากหลายภาคส่วนมาร่วมทำงานชุมชน เพื่อให้นำไปสู่ know & how และสุดท้ายจะนำเคสที่ทำนวัตกรรมในชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟังเกิดเป็นการส่งต่อในตลาดความรู้ในวงกว้าง

  • Grant ซึ่งนวัตกรรมเป็นได้มากกว่าเทคโนโลยี แต่เป็นได้ทั้ง product service และ process ซึ่งต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบทางการเงินด้วย
  • Growth คือการเกิด ecosystem ทางสุขภาพจิตที่ดี และกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม

งบประมาณสนับสนุนโพรเจกต์นี้ 10% จะมาจากงบประมาณด้าน Social Innovation จาก NIA ส่วนที่เหลือจะมาจาก partner

โดยการเข้าถึงและทำให้ชุมชนมมีส่วนร่วม จะเริ่มจากการโพรโมตว่าเราสามารถทำอะไรบ้าง หรือมีสิ่งใดที่คนในชุมชนกำลังทำงานอยู่แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่จะเข้าสนับสนุน และหากมีเยาวชนในชุมชนที่สนใจจะทำงานร่วมกันก็พร้อมจะสนับสนุนด้วยการมีบูทแคมป์ และจะไม่กระจุกอยู่ในแค่เมือง แต่จะกระจายไปในท้องถิ่นด้วย

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี เห็นว่า ปัจจุบันนี้ มี SME สุขภาพใจกระจายอยู่ทั่วประเทศที่เรียกว่า พชอ. (คะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ) อยู่แล้ว ในขณะที่ NIA เป็นเหมือนโรงงานผลิตนวัตกรรม จะเชื่อมกันอย่างไรให้มาทำงานด้วยกันได้

สุวิตา ให้ความเห็นว่าทาง Tellscore สามารถทำงานร่วมกันในโพรเจกต์นี้ได้ และเห็นว่ากระบวนการที่นำเสนอมีความเป็นไปได้สูงและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สามารถดึงศักยภาพ และเสน่ห์ของชุมชนออกมาได้อย่างสมบูรณ์

โพรเจกต์ที่ 2 

ฟังกันก๊อนนน – สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต

จากทีม องค์กรแห่งความสุข หรือ Happy Work นำโดย Food Passion

โพรเจกต์นี้มีเป้าหมายต้องการดูแลสุขภาพใจให้พนักงานในองค์กร เพราะเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเหมือนไฟไหม้ข้างทาง ตอนนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่หากปล่อยไว้นานจะลุกลามใหญ่ไม่ต่างจากกองเพลิง

ทีมเชื่อมั่นในหลักการ “วงจรแห่งความสุข (Circle of Sustainable Happiness)” คือ ถ้าบรรยากาศในการทำงานดี พนักงานมีความสุข ความสุขนี้จะส่งต่อความสุขให้ลูกค้า และลูกค้าก็จะกลับมาดูแลธุรกิจให้เรา 
(ผลประกอบการดีขึ้น) สิ่งนี้จะเป็นวงจรหมุนเวียนทำให้องค์กรและพนักงานเติบโตไปพร้อมกัน 

ด้วยแนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของปรัชญา “ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด”

การทำงานจะยึดถือคุณค่า 2 ประการ คือ ความเคารพ (respect) และ ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) จนกลายเป็นที่มาของที่มาโพรเจกต์ “ฟังกันก๊อนนน” โดยใช้ “การฟัง” เป็นเครื่องมือหลักในการดูแลสุขภาพจิต

แผนการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะแรก : เก็บข้อมูลของพนักงานที่อยู่ในแต่ละสาขา ว่าแต่ละคนมีความเจ็บป่วยทางจิตใจเรื่องอะไร และปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น เพื่อนร่วมงาน การเงิน และครอบครัว เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ

ระยะกลาง : จัดหลักสูตรให้ความรู้พื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพจิต โดยเฉพาะเรื่อง “การฟัง” กับพนักงานทุกคน ไม่ใช่แค่กับเจ้าหน้าที่ฝ่าย HR เท่านั้น โดยคาดหวังว่าพนักงานทุกคนต้องมี skill การฟัง โดยเฉพาะหัวหน้างาน ที่ต้องคอยรับฟัง แก้ปัญหาเบื้องต้นให้คนในทีมได้ หากปัญหาใหญ่เกินแก้ไข ก็สามารถส่งมาส่วนกลางเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไปได้

ระยะยาว  : องค์กรนี้ ต้องมีพื้นที่ที่เป็น ”พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับพนักงานทุกคน

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี ให้ความเห็นว่าการพูดเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในองค์กรเป็นเรื่องนามธรรม แต่การหยิบเรื่อง “การฟัง” มาใช้ทำให้การแก้ปัญหานี้จับต้องได้มากขึ้น แต่การฟังไม่จำเป็นต้องรอให้มีความทุกข์ก่อน แต่สามารถทำได้เลย เพราะสร้างความสุขได้ด้วย

ที่ผ่านมามีบทพิสูจน์แล้วว่าเมื่อองค์กรมีโพรแกรมดูแลสุขภาพใจพนักงาน หรือที่เรียกว่า “Employee Assistance Program, EAP” องค์กรนั้นจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment, ROI) ที่คุ้มค่ากว่า และมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นด้วย

มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า หากองค์กรต้องการจัดอบรมพนักงาน จะมี “หลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health Advisor)” ภายใต้การสนับสนุนของของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมสุขภาพจิต ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

การทำโพรเจกต์นี้มีความเป็นไปได้สูงมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและส่งแรงกระเพื่อมให้กลุ่มธุรกิจบริการอื่น ๆ ให้เห็นความสำคัญของการฟัง 

ด้าน สุวิตา เห็นว่า ดีใจที่เห็นการนำเรื่อง mindfulness มาเป็น framework ในการทำงาน การใช้การฟังเป็นเครื่องมือเป็น soft skill ที่ละเอียดอ่อนมาก แม้จะมีความยาก แต่ก็เห็นความเป็นไปได้

กริชผกา เองก็เชื่อว่า ถ้าคนให้บริการมีความสุข พลังบวกจะส่งไปถึงลูกค้าหากโมเดลนี้ทำได้สำเร็จจะดีกับหลายองค์กร และหากอยากขยายผล สามารถส่งมาประกวดนวัตกรรมกับทาง NIA ได้ด้วย

โพรเจกต์ที่ 3 

ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง – นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด

จากทีม Justice system นำโดย กรมพินิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

โพรเจกต์นี้เริ่มมากจากการเห็นปัญหาในศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับเด็กที่มีความรุนแรง ที่นี่จะรวมเด็กที่อยู่ในระดับจัดการยาก หรือที่เรียกว่า “super max” การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้เป็นความยากลำบากและกระทบต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การใช้มาตรการที่กำหนดไว้อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว

เพราะรากฐานของปัญหาความรุนแรงในตัวเด็กเกิดจากการเขามองว่าตัวเองเป็นภาระ และไม่มีใครเชื่อมั่นว่าเขาจะเป็นคนดีขึ้นได้ ทำให้ยิ่งมีพฤติกรรมรุนแรงเพื่อเรียกความมั่นใจภายใต้ความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่

การแก้ปัญหาคือ สังคมต้องมองเห็นว่าเขามีตัวตน มั่นใจในตัวเขาว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง และกลับเข้าไปสู่การใช้ชีวิตในสังคมได้โดยได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และจะไปถึงจุดนั้นได้ จึงควรเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศูนย์ฝึกฯ

โพรเจกต์นี้จึงมีเป้าหมายอยากปรับเปลี่ยนศูนย์ฝึกฯนี้ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งกับเด็ก เจ้าหน้าที่ เพื่อให้นำไปสู่ความปลอดภัยในสังคม โดยเริ่มทำงานกับเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรก ทำให้เขามีความสบายใจในการทำงาน จากนั้นจะขยายผลต่อไปในเชิงมาตรการและนโยบายที่ออกแบบอย่างจำเพาะเจาะจงสำหรับศูนย์ฝึกนี้โดยตรงกรอบการทำงาน จะขับเคลื่อน 3 ส่วน ได้แก่ 1. Training 2. Systems & Programs 3. Policy Support ด้วย หลักการ 3S ได้แก่ ความปลอดภัย ความสำเร็จ และความยั่งยืน แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

การทำงานในระยะสั้น (เดือนที่ 1-3) จะเริ่มจากอบรมบุคลากรในรูปแบบ “transformative learning and positive psychology” คือ ใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น การรู้จักการรับฟังกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่กันเองก่อน แล้วหาจุดแข็ง หรือ pain point ในการทำงานร่วมกัน

เมื่อได้แนวคิดร่วมออกมาแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องร่วมกันออกแบบโพรแกรมที่มีความจำเพาะสำหรับศูนย์ฝึกฯ ว่าอยากพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ต่อในส่วนไหน และทดลองใช้ระบบที่ร่วมกันออกแบบ

สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างการทำงานในศูนย์ฝึก ทั้งการปรับปรุงสถานที่หรือรูปแบบการทำงาน ให้เจ้าหน้าที่รู้สึกมีความปลอดภัยสูงขึ้นและสบายใจในการทำงานมากขึ้น

โดยในระยะนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 500,000 บาท (อาจขอจาก NIA)

สุดท้ายแล้ว โพรเจกต์นี้ คาดหวังว่าจะทำให้บุคลากรที่เคยต้องทำงานภายใต้ความกังวลและหวาดกลัวกลับมาเห็นคุณค่าและความสุขในการทำงานมากขึ้น และนำไปสู่การออกแบบร่วมกันว่าจะดูแลจัดการเด็กที่มีปัญหารุนแรงให้เหมาะสมกับบริบทของศูนย์ฝึกฯนี้อย่างไร ให้ทุกฝ่ายรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี ให้ความเห็นว่า ก่อนที่เด็กจะมาถึงจุดนี้ (เข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ) เขาหลุดออกมาจากโรงเรียน สู่ห้องปกครอง หลุดจากห้องปกครอง สู่ชุมชน แล้วหลุดจากชุมชนออกมาสู่สถานพินิจ จริง ๆ แล้ว ควรดูแลเขาตั้งแต่ตอนอยู่ในห้องปกครองต่างหาก นวัตกรรมการดูแลเด็กควรต้องเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในห้องปกครองแล้วเพราะการป้องกันง่ายกว่าการแก้ไข

โพรเจกต์นี้มีจุดแข็งคือมีความเข้าใจปัญหาชัดเจนมาก มองเห็นความกลัวภายในใจของเด็กที่ซ่อนอยู่ภายใต้การแสดงออกที่รุนแรง ตนเองมองว่า ศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้ กลายเป็นสถานที่ที่รวมมวลแห่งความหวาดกลัว การใช้ “จิตวิทยาเชิงบวก” จึงเป็นเรื่องที่ชาญฉลาดมาก

ที่ผ่านมา เราเห็นว่าศูนย์ฝึกฯ พยายามแก้ปัญหาโดยการมีกิจกรรมสร้างสุขให้เด็กมาโดยตลอด แต่เป็นเรื่องภายนอกเท่านั้น โจทย์ที่ต้องคิดต่อไปคือ จะสร้างสุขในใจเขาได้อย่างไรต่างหาก ? เพราะหาสร้างสุขในใจไม่ได้ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบอีก ความโกรธ ความเศร้า และความหวาดกลัวก็จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

จะทำให้เด็กมีความสุขจากภายในนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นสุข และที่สำคัญ พ่อบ้าน (ผู้ดูแล-เจ้าหน้าที่) ต้องมีความสุขด้วย เพราะหากผู้ดูแลยังเต็มไปด้วยความหวาดกลัว หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย คงไม่สามารถเป็นแหล่งพลังงานแห่งความสุขให้แก่เด็ก ๆ ได้

ด้าน กริชผกา มองว่า ในศูนย์ฝึกฯ นี้ เป็นเด็กที่มีความรุนแรงสูง จะใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดียวกับมี่ใช้ในศูนย์ฝึกฯ อื่น คงไม่ได้ อยากให้มองไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น ผู้บริหาร หรือ เจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ๆ (นอกเหนือไปจากผู้ดูแล) สุดท้ายแล้ว โมเดลนี้จะเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่ทำให้คนเห็นว่าทำได้จริง จากนั้นเงินสนับสนุนจะตามมาเอง เช่นเดียวกับ สุวิตา มองว่า นี่เป็นโจทย์ที่ท้ายทายมาก แต่เห็นประโยชน์มาก อยากสนับสนุนให้กลายเป็นนโยบาย

โพรเจกต์ที่ 4 

Happy HUB ทำงานที่นี่ แฮปปี้จังฮับ – สุขภาพใจของวัยทำงานแห่งอนาคต 

จากกลุ่ม Digital Economy นำโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

กลุ่มนี้ได้หยิบยกผลสำรวจของสถาบันวิจัยตลาดแรงงาน (ADP Research Institute) ที่พบว่า คนทำงานไม่ได้ต้องการการพักร้อน แต่ต้องการการพักใจเพื่อดูแลตัวเองแลครอบครัว และจากวิกฤตโควิด มีการทำงานออนไลน์ ทำให้คนแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวไม่ได้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตจึงเกิดเป็น โพรเจ็กต์“สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต (Psychological Standards for E-Working)” เพื่อต้องการเปลี่ยนบรรทัดฐานใหม่ในการทำงาน โดยจะสร้าง trust mark หรือ ตราสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่น ที่เรียกว่า ”Happy Hub – ทำงานที่นี่ แฮปปี้จังฮับ” เพื่อบ่งชี้ว่า เมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้ที่ใด ที่ทำงานแห่งนี้จะมีแต่ความสุข

trust mark นี้ จะถูกคิดมาอย่างรอบคอบ ผ่านกระบวนการ sandbox กับภาคีเครือข่าย เพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีที่ว่า ถ้าองค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาพใจพนักงานแล้ว พนักงานจะยังรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน หรือเพิ่มผลผลิตอะไรให้องค์กรได้หรือไม่ ผ่านการทดลองสร้าง Happy E-working 

Happy E-working จะใช้วิธีที่เรียกว่า “ลดกฎ เพิ่ม Gain” คือ ลดกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นอิสรภาพและความสุขในการทำงาน เพื่อเพิ่ม productivity และสิ่งที่ได้นี้จะกลายมาเป็นมาตรฐาน หรือ trust mark ที่เรียกว่า “Happy Hub” 

Happy Hub จะเป็นเหมือนสิ่งที่การันตีมาตรฐานขององค์กร เพื่อบอกว่าองค์กรแห่งนี้ มีความใส่ใจเรื่องสุขภาพใจคนทำงานแค่ไหน โดยแบ่งระดับความเข้มข้นออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Standard Advance และ Professional

หลังจากได้ trust mark ไปแล้ว จะต้องมีการประเมินและตรวจสอบต่อเนื่อง และเมื่อหลายบริษัทเริ่มมี trust mark ก็จะเกิดเป็นการแชร์ความรู้สึกและการทำงานร่วมกัน อาจเกิดเป็น event คล้ายกับ job fair โดยแต่ละบริษัทอาจไม่ได้แข่งขันกันที่ใครให้เงินเดือนได้มากกว่ากันอีกต่อไป แต่แข่งขันกันที่ความมสุขในการทำงานแทน ซึ่งอาจกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้กับคนทำงานรุ่นใหม่และอาจลดการลาออกของพนักงานด้วย

ความเห็นของคณะกรรมการ

กริชผกา เห็นด้วยว่า การมี trust mark แบบนี้ดีมาก เพราะเป็นการทำให้คนเห็นบรรยากาศในการทำงานค่อนข้างชัดโดยไม่ต้องเอาตัวเข้าไปทำงานก่อน เพราะสำหรับคนทำงานสมัยใหม่ การเลือกทำงานที่ไหน อาจไม่ใช่เรื่องเงินเดือนหรือการเติบโตในการทำงานอีกต่อไป แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำงานแล้วมีความสุขมากกว่า

ด้าน พญ.ดุษฎี มีความเห็นด้วยกับโพรเจกต์นี้มาก แต่มีข้อท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้สถานประกอบการทั้งหลายเห็นประโยชน์และนำไปใช้จริง เพราะหากเป็นความสนใจขององค์กรเองจะยั่งยืนมากกว่ามาจากการบังคับจากภาครัฐ

แต่จะทำอย่างไรให้สถานประกอบการหันมาสนใจได้คงต้องทำให้เขาเห็นว่ามันมี return on investment ที่คุ้มค่าพอ

และอีกประเด็นหนึ่งคือ สำหรับองค์กรแล้ว เมื่อไหร่ที่พนักงานให้คะแนนว่ามีความสุขน้อย ข้อมูลนี้จะถูกรายงานไปที่ HR อาจทำให้พนักงานเริ่มกังวลและไม่กล้าตอบตามความรู้สึกที่แท้จริง

สุวิตา เห็นว่า อาจมีเรื่องต้องระวังคือ เมื่อมีเรื่อง “ความสุขใจ” ในการทำงานมาเป็นจุดขาย สุดท้ายองค์กรอาจไม่ได้คนเก่ง เพราะในโลกทุนนิยม ไม่ใช่ทุกคนที่มองหาความสุข แต่พนักงานที่มีประสิทธิภาพส่วนใหญ่ยังคงต้องการเงินเดือนที่สูงไว้ก่อนแม้จะจะมีความสุขน้อยกว่าก็ตาม

โพรเจกต์ที่ 5

อุ่นใจ เตือนภัยมิจจี้ – พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย

จากทีม Communication นำโดย AIS

ปีที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยทางไซเบอร์ 400,002 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทางทีมจึงมีนวัตกรรมในการแก้ปัญหานี้ 2 สิ่ง ได้แก่

1.     สร้าง “Alert” ที่เป็น platform สำหรับให้ความรู้ เตือนภัย และเยียวยารักษาจิตใจผู้เสียหายทางไซเบอร์ 

2.     สร้างหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษา เรียกว่า หลักสูตร “อุ่นใจ Cyber” เพื่อให้ความรู้

Alert จะทำหน้าที่เตือนแจ้ง (Alert System) แก่เจ้าของมือถือ ว่าเบอร์นี้ “เบอร์ต้องสงสัยมิจฉาชีพ” ก่อนการรับสายหรือกดลิงค์ทาง SMS และเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างผู้เสียหายที่เข้ามาแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์ เช่น การแจ้งอายัติบัญชีธนาคาร และสามารถติดตามได้ว่าคดีของตัวเองอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ที่เสียหายไปแล้ว ว่าจะจัดการโครงสร้างทางการเงินใหม่อย่างไร

การทำงานจะร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ และกสทช. และให้ประชาชนเองมีส่วนในการจับตามองและแจ้งเบอร์ต้องสงสัยได้

โดยคาดว่า โพรเจกต์นี้จะลดมูลค่าความเสียหายทางไซเบอร์ให้แก่ประชาชนมากกว่า 5% ใช้เวลาในการดำเนินงาน 6 เดือน ด้วยงบประมาณ 6 ล้านบาท

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี มีข้อสังเกตว่า โพรเจกต์นี้เป็นการทำงานเพื่อผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็เป็นฝ่ายผู้ให้บริการมิจฉาชีพเหมือนกันจึงเป็นเหมือนหมวกสองใบที่ต้องสร้างสมดุลให้ดี

ด้าน กริชผกา เห็นว่า แนวคิดว่า เมื่อเหยื่อถูกมิจฉาชีพล่อลวงแล้ว การสามารถประสานกับกสทช.เพื่อให้ระงับเบอร์ต้องสงสัยได้ทันทีนั้นยากพอสมควร วิธีที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้กับประชาชนว่าการหลอกลวงมีรูปแบบไหนบ้าง หรือต้องทำอย่างไรเมื่อโดนหลอกแล้ว หากเผยแพร่ออกไปได้ยิ่งมากเท่าไหร่อาจลดการตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ต้นทางได้มากเท่านั้น รวมถึงตอนนี้ ไทยมีเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือและ platform ต่าง ๆ หลากหลายมา ต้องร่วมมือกันทำงานมากกว่านี้

ด้าน สุวิตา เห็นด้วยอย่างยิ่ง และเสนอว่าหากทางผู้พัฒนาโพรเจกต์อยากได้ผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower) หรือ กลุ่มผู้เฝ้าดูแล (watchdog) ทาง Tellscore ก็มีความยินดีมาก 

โพรเจกต์ที่ 6

Hack Jai Insurance – ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย

จากทีม Insurance นำโดย กรุงเทพประกันภัย จำกัด มหาชน

ปัญหาด้านสุขภาพจิตของลูกค้าอยู่ในความสนใจของธุรกิจประกันมาโดยตลอด แต่ประกันสุขภาพจิตที่มีตอนนี้ยังไม่มากพอ ราคาแพง และมีความคุ้มครองน้อย โพรเจกต์นี้จึงจะเน้นดำเนินการใน 5 ข้อสำคัญ ดังแสดงในภาพ 

*โครงการแคร์ใจ คือ แอปพลิเคชันที่ให้พนักงานเข้าไปลงทะเบียนและจองขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้ฟรี

แต่พบปัญหาคือ เนื่องจากการคิดผลิตภัณฑ์ด้านการประกันสุขภาพจำเป็นต้องมีข้อมูลที่มากพอ แต่ตอนนี้ยังขาดฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิต ทั้งจำนวนคน ความถี่ และความเสี่ยง เพื่อใช้ในการคำนวณค่าเบี้ยประกัน และความคุ้มครองที่เหมาะสม

ทางทีมคิดว่าต้องมีภาคีที่ทำงานด้วย ได้แก่ กรมสุขภาพจิต สมาคมวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรส่งเสริมความรู้ต่าง ๆ โดยมีแนวทางการทำงาน ดังนี้

1.     บริษัทประกันจะทำหน้าที่สร้าง database รวบรวมข้อมูลโดยเข้าไปคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ (รัฐและเอกชน) เพื่อสำรวจข้อมูล ความต้องการ และสร้างข้อตกลง

2.     ภาคเอกชนต้องทำหน้าที่ดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีรัฐให้การสนับสนุน

3.     เกิดเป็น Snowball Effect ที่ภาคส่วนสามารถร่วมมกันสร้างและใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ และเมื่อฐานข้อมูลขยายไปเรื่อย ๆ จะนำไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย

ความเห็นจากกรรมการ

พญ.ดุษฎี สนับสนุนการเกิดขึ้นของโพรเจกต์นี้มาก เพราะนี่คือจิกซอว์ชิ้นใหญ่ที่จะมาอุดรอยโหว่ที่ประเทศไทยต้องการ แต่มีความยากและซับซ้อนมาก เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยทางจิตเวชยังคงเป็นความลับ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นตราบาปใหญ่ในสังคม

ด้าน สุวิตา ชื่นชมในแนวคิดเรื่องการทำ open data ข้อมูลสุขภาพจิต และให้ข้อมูลว่ามีหลายประเทศเคยทำสำเร็จมาแล้วอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกและเอสโตเนีย ประเทศไทยเราก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน

กริชผกา เสริมว่า ในต่างประเทศ ข้อมูลด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยเข้าถึงไม่ยาก เพราะการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเรากลับยังเป็นเรื่องไม่เปิดเผย ข้อมูลเลยไม่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญคือต้องปรับ mindset ของสังคม รวมถึงกลุ่มธุรกิจประกัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย 

ส่วนตัวเชื่อว่า “การประกันใจ” ครั้งนี้ท้ายทายมาก หากทำได้จริงจะสร้าง branding ให้องค์กรและได้ใจคนทั้งประเทศแน่นอน

 

โพรเจกต์ที่ 7

Hero Protecter – เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย

จากทีม Law Enforcer นำโดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

“หากเรียกคนที่ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากว่าเป็น ‘Hero’ แล้วยามที่เขาทุกข์ใจ ใครหละจะยื่นมือเข้าช่วย” – อุรารากะ โอซาเกะ, My Hero Academy

ทีมยกข้อความนี้มาเป็นคำแทนใจของตำรวจไทย ที่มีค่านิยมต้องอดทน กล้าหาญ เข้มแข็ง รวมถึงคำพูดติดปากอย่าง “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” ที่ใช้กันจนชินปากจนกลายเป็นค่านิยมที่ฝังหัวตำรวจไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้ไม่สามารถแสดงความต้องการหรือความรู้สึกทางใจอย่างตรงไปตรงมาได้ นำไปสู่การเหนื่อยล้า หมดไฟ และจบชีวิตตัวเองในที่สุด

การทำให้ตำรวจได้มีพื้นที่พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันอาจเป็นทางออก ทางทีมจึงมีแนวคิดการสร้าง “คลับ” ที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ให้เข้ามาพูดคุย อาจเริ่มจากหัวข้อง่าย ๆ อย่างเช่น การเล่นกีฬา การ้องเพลง แล้วสอดแทรกเรื่องทางจิตวิทยาเข้าไป นี่อาจทำให้ได้ข้อมูลลึก ๆ ว่า แท้จริงแล้ว ตำรวจไทยกำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไรอยู่ และพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบก่อน

โดยจะนำร่องที่ “กรมตำรวจสอบสวนกลาง” เป็นที่แรก แล้วขยายผลไปหน่วยงานอื่น เช่น สถานศึกษา อย่าง โรงเรียนนายร้อย หรือ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ เมื่อตำรวจไทยมีสุขภาพจิตดี ส่งผลให้ดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี เห็นว่า ตอนนี้ ตำรวจมีภาพลักษณ์แข็งแกร่ง การเข้าไปแตะความรู้สึกทางใจเหมือนกำลังบอกว่าเขาอ่อนแอ แต่โพรเจกต์นี้กำลังจะเข้าไปบอกว่า การเจ็บป่วยทางใจของเขาเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่ความอ่อนแออีกต่อไป การสร้างคลับแบบนี้ มีข้อดีตรงที่ไม่ใช่การเดินเข้าไปหาตัวคนป่วยใจแล้วเอาไปรักษาเพราะเป็นเหมือนการตีตรา แต่นี่เป็นการสร้างทุนทางจิตวิทยา หรือ psychological capital ต่างหาก

ความท้าทายเป็นการทำให้ผู้บริหารเชื่อให้ได้ว่า ตำรวจจะทำงานเพื่อประชาชนได้ดี ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะใจที่เป็นทุกข์เป็นพื้นฐานของใจที่แข็งกระด้าง และใจที่แข็งกระด้างก็พร้อมจะทำลายคนรอบข้างได้

ด้าน สุวิตา ย้ำว่า นี่จะเป็นก้าวแรกที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาล การสร้าง “คลับ” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นเครื่องมือที่ง่ายมากและจับต้องได้ ชื่นชมที่เลือกนำสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามาใช้จริงโดยไม่ต้องพึ่งนวัตกรรมที่ซับซ้อนเลย เช่นเดียวกับ กริชผกา ที่เห็นว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะมี impact สูงมากต่อประเทศไทย

โพรเจกต์ที่ 8

smiling cities พื้นที่เมืองแห่งความสุข

จากทีม Property & Urban นำโดย Future Trend Lab By MQDC

ทีมมีแนวคิดว่า การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ได้เอื้อให้เรามีสุขภาวะทางใจที่ดีได้เลย การเป็นเมืองที่ทันสมัยอย่าง “smart cities” จึงต้องควบคู่ไปกับการเป็น “smiling cities (พื้นที่เมืองแห่งความสุขด้วย)”

การสร้าง smiling cities ทำได้โดยการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1. มีระบบสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน 2. มี Universal Design 3. มีพื้นที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้สำรวจใจตัวเอง 4. มีพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรม 

เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของเมือง 3 ข้อ ได้แก่ เป็นเมืองปลอดภัย เมืองสวยงามน่าอยู่ และเมืองส่งเสริมสุขภาพจิต โดยวางแผนว่าจะมีพื้นที่ตั้งต้นที่เขตบางนาและสุขุมวิทใต้ เพราะเป็นโซนที่เมืองกำลังขยายตัว

เมืองปลอดภัย

เป็นการสร้าง predictive model หรือพยากรณ์เหตุการณ์วิกฤตล่วงหน้า ทั้งด้าน อุบัติเหตุ อาชญากรรม และภัยพิบัติ โดยต่อยอดจาก platform ที่มีอยู่แล้ว อย่าง Urban Data Platform

เมืองสวยงาม น่าอยู่

ผลวิจัยชี้ว่า แค่เห็นกระจกแตกในเมืองก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนแล้ว ทีมงานมีแผนว่าจะร่วมมือกับบริษัทออกแบบเมืองอย่าง nebula เพื่อออกแบบเมืองที่ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย และต้องเป็น universal design เพื่อทุกคนในเมืองด้วย จากนั้นจะส่งต่อให้กทม.หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงภูมิทัศน์

เมืองส่งเสริมสุขภาพจิต

ทีมจะร่วมมือกับศูนย์วิจัย RISC by MQDC กรมสุขภาพจิต และ TIMS ในการสร้างพื้นที่ส่งเสริม Mental Health Literacy เพื่อให้คนทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เมืองมีสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน

แต่เมืองนั้น จะเป็น Smiling Cities หรือ พื้นที่เมืองแห่งความสุขได้หรือยังนั้น จะพิจารณาจาก 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.     Empathy Space : Inclusive Design/ Universal

ต้องออกแบบพื้นที่สาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ระบบโครงสร้างเมืองเช่นนี้จะเป็นการปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจให้กับคนในเมืองได้

2.     SAFETY DESIGN : World Class Standard

3.      Mindfulness Space ต้องมีพื้นพักจากโลกดิจิทัล ใกล้ธรรมชาติ มีที่สำรวจจิตใจ และเอื้อให้คนค้นพบตัวเอง

4.     Art and Culture มีพื้นที่ด้านศิลปะ วัฒนธรรม อย่างพิพิธภัณฑ์ในเมือง

5.     Skill and Knowledge Hub มีแหล่งสำหรับเพิ่มทักษะและการเรียนรู้ของคนในเมือง 

โดยเช็คลิสต์ทั้ง 5 ข้อนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้ด้วยตัวเองว่าเมืองเรามีครบหรือยัง หรือหากเป็นภาคธุรกิจ ก็อาจใช้เป็นแนวทางตรวจสอบว่าอาคารของเราเหมาะสมกับคนในองค์กรหรือเปล่า

แผนดังกล่าวจะแบ่งการดำเนินงานเป็น  3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะต้น (1 ปี) พัฒนา Pilot project ได้แก่ data platform 2. Design Guildline 3. Co-creation space for happiness

ระยะกลาง 3-5 ปี  กระจาย node เครือข่าย พัฒนา platform และ guildline ไปทั่วเมืองแต่ละจังหวัด

ระยะยาว  6-10 ปี จะขยายผลไปทุกพื้นที่เมืองต่างๆของประเทศและนำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย

ความเห็นของคณะกรรมการ

พญ.ดุษฎี มองว่า โมเดลนี้เปรียบเสมือนดีไซน์แห่งอนาคต สิ่งนี้จะตอบโจทย์ประเทศไทยในในอีก 10 ปีข้างหน้าที่พื้นที่ในชนบทจะกลายเป็นเมืองมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายว่า ในประเทศเรามีทั้งชุมชนเมือง และชนบท ซึ่งมีจุดอ่อน-จุดแข็ง ในเรื่องสุขภาพจิตต่างกัน อาจต้องมีการยืดหยุ่นให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่

สิ่งที่ในเมืองมีน้อยกว่าชนบทคือ “ความยึดโยงทางสังคม (Social Cohesion)” ทำให้ความกลมเกลียวและ empathy มันหายไป การมี empathy space อาจตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้อย่างดี

แต่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่ควรเสริมคือ “respect” เพราะในพื้นที่เมืองมีความแตกต่างหลากหลายมาก การเคารพกันและกันจะแก้ปัญหาเรื่องการ bullying  และความรุนแรงได้

ด้าน  สุวิตา และ กริชผกา เห็นว่า สิ่งเหล่านี่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกเมืองควรมี  และน่ายินดีที่ในเมืองจะมีพื้นที่ปลอดภัยทางใจมากขึ้น สำคัญคือต้องขยายผลออกไป โพรเจกต์แบบนี้กทม.สนับสนุนแน่นอน เพราะคนสร้างเมือง เมืองจะสร้างนวัตกร และ creativity จะเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร ทีมไหน ดำเนินงานไปถึงไหนแล้ว เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรที่นำมาใช้จริงได้แล้วบ้างนั้น รับรองว่า The Active จะเกาะติดความคืบหน้ามาให้ชมกันอย่างแน่นอน