รู้จัก ‘ชนเผ่า’ ในไทย | 6 เรื่องราว เติมฝัน เติมไฟ ความเป็นมนุษย์เท่ากัน

‘ถนนหนทาง สาธารณูปโภคพื้นฐาน และการศึกษา’ เป็นไม้บรรทัดวัดความเป็นเมือง และความเป็นคนใช่หรือไม่? เมื่อมนุษย์ที่อาศัยอยู่ตอนบนสุดของไทย ไล่มาถึงตอนใต้ ได้ถูกตีเส้นว่าเป็น “ชายขอบ”

The Active ชวนเข้าถึง 6 เรื่องราว ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย กับความจริงที่ถูกตัดสินให้เป็นพลเมืองลำดับรอง รอความเสมอภาคจากรัฐ และความเข้าใจจากสังคม

ชนเผ่า ชาติพันธุ์

1. ฉันคือ “ชนเผ่าพื้นเมือง”

ถ้าการอยู่รวมกันของมนุษย์เรียก “สังคม”

รู้หรือไม่ ? สังคมไทยมีผู้คนหลากหลายอัตลักษณ์ “ชนเผ่าพื้นเมือง” หรือ “Indigenous People” คือ กลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และภาษาสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ หรือประมาณ 6.1 ล้านคน 

ชนเผ่า ชาติพันธุ์

2. ฉันอยู่กับ “ธรรมชาติ” ด้วยความเกื้อกูล

รู้หรือไม่ ? “ชนเผ่าพื้นเมือง” มีทุกภูมิภาค

แต่ส่วนมากจะอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย และทางภาคใต้ พวกเขามีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ คือ อยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความพอดี เช่น ทำไร่หมุนเวียน ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นไร่เลื่อนลอย หรือทำประมงแบบพออยู่พอกิน

ชนเผ่า ชาติพันธุ์

3. ถิ่นฐานของฉัน

“ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ กลุ่มชาติพันธุ์” มีความหมายเดียวกัน พอพูดถึงคำนี้ สิ่งที่คนทั่วไปมักนึกถึง คือ “ชาวเขา” บนดอยสูงภาคเหนือ หรือไม่ก็ “ชาวเล” ที่ลอยเรืออยู่ทางภาคใต้

แต่ รู้หรือไม่ ? “ชนเผ่าพื้นเมือง” หรือ “กลุ่มชาติพันธุ์” มีชื่อเรียกหลากหลาย เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย มีมากกว่า 40 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กะเหรี่ยง, กะเลิง, กูย, ขมุ, คะฉิ่น, ชอง, โซ่ทะวึง, ญ้อ, ญัฮกุร, ดาราอาง, ไตหย่า, ถิ่น, ไทเขิน/ไทขืน, ไทพวน, ไทยวน, ไทยอง, ไทลื้อ, ไทยใหญ่, บรู, บีซู, ปลัง, ภูไท, ม้ง, มานิ, มลาบรี, เมี่ยน, มอญ, มอแกลน, มอแกน, โย้ย, ลเวือะ (ลัวะ), ลาหู่, ลาวคั่ง, ลาวแง๊ว, ลาวโซ่ง (ไทยดำ), ลาวเวียง, ลีซู, แสก (แถรก), โส้ (โทร), อาข่า, อึมปี, อูรักลาโว้ย

ชนเผ่า ชาติพันธุ์

4. ฉันไม่ใช่วายร้าย

มีข้อกล่าวหาว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ กลุ่มชาติพันธุ์” เป็นผู้ค้ายาและทำลายป่า ด้วยอคติทางวัฒนธรรม และความไม่เข้าใจวิถีชนพื้นเมือง

รู้หรือไม่ ? อคติเหล่านี้ เป็นภาพลักษณ์ที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกเข้าใจว่าเกี่ยวข้อง หรือถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด

รวมถึงวาทกรรม “ไร่เลื่อนลอย” และเป็นผู้ทำลายป่า เพียงเพราะภาครัฐไม่เข้าใจวิถีเกษตรกรรมและภูมิปัญญาแบบ “ไร่หมุนเวียน” ที่มีรอบการผลิตหมุนเวียนไปตามฤดูกาลให้ธรรมชาติฟื้นตัว

ปัญหาอคติทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้ “ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ กลุ่มชาติพันธุ์” ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ ทั้ง 1) ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เพราะถูกจำกัดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรม 2) ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมือง เพราะยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย 3) ถิ่นฐานที่ตั้งในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ “ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ กลุ่มชาติพันธุ์” เข้าไม่ถึงสิทธิในบริการต่าง ๆ ของรัฐ

ยังไม่นับรวม 4) ปัญหาการสูญเสียอัตลักษณ์ และภูมิปัญญา อันเป็นต้นทุนสำคัญในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ในปัจจุบันชาติพันธุ์ต้องสูญเสียศักยภาพของการพึ่งพาตนเอง

ชนเผ่า ชาติพันธุ์

5. ฉันก็พยายามแก้ปัญหา

สารพัดปัญหาที่ “ชนเผ่าพื้นเมือง” เผชิญมาเนิ่นนาน ทั้งเรื่องที่ดิน สิทธิในสัญชาติ โอกาสด้านการศึกษา การสูญหายของอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรม ไม่อาจแก้ไขด้วยการบริจาค หรือทำกิจกรรมค่ายอาสา ในช่วงเวลาสั้น ๆ

ที่ผ่านมา “ชนเผ่าพื้นเมือง” ได้รวมตัวแทนทำกิจกรรมรณรงค์หาทางแก้ไขปัญหาของตัวเอง

นี่คือวิวัฒนาการ

  • ก่อนปี 2540 รวมตัวกันเป็นกลุ่มและเครือข่ายเล็ก ๆ ในภาคเหนือของไทย จัดเวทีแสวงหาทางออกแก้ปัญหาวัฒนธรรมชุมชนที่เริ่มสูญหาย
  • ปี 2540-2550  รวมกลุ่มใหญ่ขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน และปัญหาสถานะบุคคล (สัญชาติ) ในนาม “สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย”
  • ปี 2550 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติรับรอง “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” (UN Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ซึ่งเป็นการประกาศให้รัฐภาคียอมรับ และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมือง

ขบวนชนเผ่าพื้นเมือง 17 กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย จัดตั้ง “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หรือ คชท.” จัดเวทีสัมมนาวิชาการเพื่อรณรงค์และนำเสนอเรื่องราวปัญหาสู่สาธารณะ และหาความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองกันเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศให้วันที่ 9 ส.ค. ของทุกปี (วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก) ให้เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยต่อเนื่องทุกปี

  • ปี 2553 ในงานมหกรรมฯ “คชท.” ขยายความร่วมมือของชนเผ่าพื้นเมืองเพิ่มเป็น 36 กลุ่มชาติพันธุ์ประกาศจัดตั้ง “สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย” เป็นกลไกหลักประสานความร่วมมือภาคีสนับสนุนการแก้ไขปัญหาร่วมที่ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ประสบอยู่ และเป็นสถาบันทำหน้าที่ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมที่ยั่งยืน
  • ปี 2554-2557  “คชท.” แต่งตั้งคณะทำงาน “ยกร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” จัดทำประชาพิจารณ์ พัฒนากลไกขับเคลื่อนกิจการสภาฯ ปรับปรุงนำเสนอจนได้รับความเห็นชอบจากเวทีสมัชชาระดับชาติ
  • ปี 2558-ปัจจุบัน ปรับปรุง “ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….” ร่วมกับ “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย” ผลักดันข้อเสนอชนเผ่าพื้นเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งดำเนินการสรรหาสมาชิกสภา คณะผู้อาวุโส คณะกรรมการบริหารกิจการสภา เลขาธิการสำนักงานสภา ตลอดจนจัดตั้งสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองรวม 42 กลุ่มชาติพันธ์ุ
ชนเผ่า ชาติพันธุ์

6. สนใจแก้ปัญหาด้วยกันไหม ?

จะเห็นว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม และได้ใช้ชีวิตบนสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะ “พลเมืองไทย” ที่พึงมี

แต่ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ผู้แทน “สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” และภาคี ได้ยื่นข้อเสนอให้ ส.ส. จัดตั้ง“คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” โดยเฉพาะ หวังให้เกิดกลไกพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” และผลักดันให้รัฐสภารับ “ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” ให้เป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในไทย

ในที่สุด ได้เป็นส่วนหนึ่งใน “กมธ. กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ” สภาผู้แทนราษฎร เท่านั้น จึงนำมาสู่การระดม 15,000 รายชื่อเพื่อร่วมยื่นเสนอกฎหมายนี้ โดยประชาชน

ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….” มีทั้งหมด 40 มาตรา แบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ (1) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (2) หน้าที่และอำนาจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (3) โครงสร้างการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (4) คณะผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (5) สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (6) กองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ (7) บทเฉพาะกาล

ข้อดีของกฎหมายนี้ คือ “ชนเผ่าพื้นเมือง” จะถูกรับรองสิทธิอย่างเป็นทางการ, มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตนเองตรงจุด สอดคล้องกับวิถีชีวิต, เป็นเครื่องมือและกลไกแก้ปัญหาที่ “ชนเผ่าพื้นเมือง” และสังคม มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งปิดรั

ภายในวันที่ 30 มกราคม 2564

นอกจากนี้ ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มาแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลัก ตั้งเป้าให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์