รู้จัก “PRTR” กฎหมายส่องความเสี่ยง “ฝุ่นพิษและสารเคมี” ที่คนไทยยังไม่มี

“สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ ท่อก๊าซระเบิด ฯลฯ” ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่แทบจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูล “ต้นตอ” ที่น่าเชื่อถือ และชัดเจนมากพอให้นำไปใช้ “ควบคุม และลดการปล่อยมลพิษ”

The Active ชวนทำความรู้จัก “PRTR” กฎหมายที่ว่ากันว่า เป็นเครื่องมือส่องความเสี่ยงสารพิษจากภาคอุตสหกรรม ที่ “ประเทศไทย” ยังไม่มี

ปี 2535 ‘สหประชาชาติ’ เห็นว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ปลอดภัยจากมลพิษอุตสาหกรรม จะทำได้ ถ้ามี “บัญชีรายชื่อสารมลพิษที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ” 

นั่นเป็นที่มาของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก ระหว่างปี 2535-2550 กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมทุกแห่ง ต้องประกาศใช้ “กฎหมาย ว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ” หรือ PRTR” Laws (Pollutant Release and Transfer Registers) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย

‘ไทย’ ขอให้จัดทำกฎหมาย “PRTR” เห็นควรประกาศใช้ภายในปี 2558 เป็นที่มาของ “ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” ถูกยกร่างขึ้นโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw แต่ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลหลบเลี่ยงที่จะผลักดัน ทั้งที่ทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ มีกฎหมายฉบับนี้ไว้ใช้

ต้นปี 2563 “ร่างกฎหมาย การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” หรือ “PRTR” ฉบับมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ถูกยื่นเข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ก็ตีตกเมื่อ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เพลิงไหม้สารเคมีโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ยังไม่สงบดี

ขณะที่ หากร่าง กฎหมายฯ นี้ ถูกพิจารณา ไม่เพียงปัญหาสารเคมีจากโรงงาน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากฝุ่นพิษ และสารเคมีเกษตรด้วย เนื่องจากกฎหมาย “PRTR” ครอบคลุมข้อมูลการปล่อยมลพิษ 2 ประเภท คือ  แหล่งกำเนิดแบบรู้จุดปล่อยแน่นอน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เตาเผาขยะ รวมถึงเหมืองแร่ และแหล่งกำเนิดแบบไม่มีจุดปล่อยแน่นอน เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ สารเคมีเกษตร

The Active ศึกษารายละเอียดเอกสารประกอบการทำความเข้าใจกฎหมาย “PRTR” ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดทำขึ้นเมื่อมีนาคม 2564 การมี “บัญชีรายชื่อสารมลพิษที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ” จะทำให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานกำกับดูแล มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการป้องกันภัยจากสารเคมี และการลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ช่วยให้หน่วยงานและสถานประกอบการ แก้ปัญหาได้ทันทีที่พบความผิดปกติ ไม่ต้องรอประชาชนร้องเรียนถึงผลกระทบ

รู้แหล่งมลพิษ

ตามหลักการสากลของ PRTR” ที่สหประชาชาติริเริ่มไว้ แหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เตาเผาขยะ เหมืองแร่ ต้องรายงานต่อ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ว่ามีการครอบครองสารก่อมลพิษใดบ้าง ปริมาณเท่าใด และจัดการมลพิษอย่างไร ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี

Search ความเสี่ยงได้ทุกที่

สำหรับลักษณะข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึง อย่างน้อยต้องมี

– ชื่อโรงงาน สถานที่ตั้ง ที่มีการปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน

– ข้อมูลการเก็บ และการใช้สารเคมีแต่ละชนิด

– ชนิด และปริมาณสารมลพิษ ปล่อยสารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ ในรอบ 6 เดือน หรือ ต่อปี

– มีมลพิษชนิดใด ถูกปล่อยสู่อากาศ แหล่งน้ำ ฝังกลบดิน ในปริมาณเท่าไหร่

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ต้องเผยแพร่บนเว็บไซต์ ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ห้ามปิดกั้น นอกจากนี้สาระของร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้มีแผนและเป้าหมายของการลดมลพิษ การพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตที่สะอาดขึ้นด้วย

มีสิทธิ์รอด

ผู้ที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่า ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ “ภาครัฐ” มีระบบติดตามโรงงาน และแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทให้มีมาตรฐานเดียวกัน ลดภาระการหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าโรงงานไหน ทำผิดกฎหมาย

ขณะที่ “ภาคอุตสาหกรรม” จะถูกกระตุ้นให้ใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงการปลดปล่อยมลพิษ และการขนย้าย  นอกจากนี้ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนการรายงานตามระบบราชการเดิม ๆ ที่สำคัญคือ ระบบนี้ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนอย่างยั่งยืน อยู่ร่วมกับชุมชนได้

สุดท้ายคือ “ประชาชน ชุมชน” จะสามารถเข้าถึง รับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และสารเคมีอันตราย เท่ากับส่งเสริมการมีส่วนร่วม เฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบ และวางแผนป้องกันตัวเองได้เต็มที่

หากมองว่า PRTR” เป็นกฏหมายให้ประโยชน์สาธารณะ ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลจัดการภัยพิบัติจากมลพิษ และป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ว่า บริเวณบ้านเรือนที่ตนเองอยู่อาศัยมีสารมลพิษอยู่รอบ ๆ อย่างไร หรือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น “สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ ท่อก๊าซระเบิด ฯลฯ” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รู้จุดจัดการปัญหา เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับสภาพสารเคมีเพื่อยับยั้งเหตุ มีคำเตือน หรือคำแนะนำประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์