“สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ ท่อก๊าซระเบิด ฯลฯ” ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่แทบจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูล “ต้นตอ” ที่น่าเชื่อถือ และชัดเจนมากพอให้นำไปใช้ “ควบคุม และลดการปล่อยมลพิษ”
The Active ชวนทำความรู้จัก “PRTR” กฎหมายที่ว่ากันว่า เป็นเครื่องมือส่องความเสี่ยงสารพิษจากภาคอุตสหกรรม ที่ “ประเทศไทย” ยังไม่มี
ปี 2535 ‘สหประชาชาติ’ เห็นว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ปลอดภัยจากมลพิษอุตสาหกรรม จะทำได้ ถ้ามี “บัญชีรายชื่อสารมลพิษที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ”
นั่นเป็นที่มาของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก ระหว่างปี 2535-2550 กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมทุกแห่ง ต้องประกาศใช้ “กฎหมาย ว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ” หรือ “PRTR” Laws (Pollutant Release and Transfer Registers) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย
‘ไทย’ ขอให้จัดทำกฎหมาย “PRTR” เห็นควรประกาศใช้ภายในปี 2558 เป็นที่มาของ “ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” ถูกยกร่างขึ้นโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw แต่ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลหลบเลี่ยงที่จะผลักดัน ทั้งที่ทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ มีกฎหมายฉบับนี้ไว้ใช้
ต้นปี 2563 “ร่างกฎหมาย การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” หรือ “PRTR” ฉบับมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ถูกยื่นเข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ก็ตีตกเมื่อ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เพลิงไหม้สารเคมีโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ยังไม่สงบดี
ขณะที่ หากร่าง กฎหมายฯ นี้ ถูกพิจารณา ไม่เพียงปัญหาสารเคมีจากโรงงาน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากฝุ่นพิษ และสารเคมีเกษตรด้วย เนื่องจากกฎหมาย “PRTR” ครอบคลุมข้อมูลการปล่อยมลพิษ 2 ประเภท คือ แหล่งกำเนิดแบบรู้จุดปล่อยแน่นอน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เตาเผาขยะ รวมถึงเหมืองแร่ และแหล่งกำเนิดแบบไม่มีจุดปล่อยแน่นอน เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ สารเคมีเกษตร
The Active ศึกษารายละเอียดเอกสารประกอบการทำความเข้าใจกฎหมาย “PRTR” ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดทำขึ้นเมื่อมีนาคม 2564 การมี “บัญชีรายชื่อสารมลพิษที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ” จะทำให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานกำกับดูแล มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการป้องกันภัยจากสารเคมี และการลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ช่วยให้หน่วยงานและสถานประกอบการ แก้ปัญหาได้ทันทีที่พบความผิดปกติ ไม่ต้องรอประชาชนร้องเรียนถึงผลกระทบ
รู้แหล่งมลพิษ
ตามหลักการสากลของ “PRTR” ที่สหประชาชาติริเริ่มไว้ แหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เตาเผาขยะ เหมืองแร่ ต้องรายงานต่อ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ว่ามีการครอบครองสารก่อมลพิษใดบ้าง ปริมาณเท่าใด และจัดการมลพิษอย่างไร ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี
Search ความเสี่ยงได้ทุกที่
สำหรับลักษณะข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึง อย่างน้อยต้องมี
– ชื่อโรงงาน สถานที่ตั้ง ที่มีการปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน
– ข้อมูลการเก็บ และการใช้สารเคมีแต่ละชนิด
– ชนิด และปริมาณสารมลพิษ ปล่อยสารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ ในรอบ 6 เดือน หรือ ต่อปี
– มีมลพิษชนิดใด ถูกปล่อยสู่อากาศ แหล่งน้ำ ฝังกลบดิน ในปริมาณเท่าไหร่
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ต้องเผยแพร่บนเว็บไซต์ ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ห้ามปิดกั้น นอกจากนี้สาระของร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้มีแผนและเป้าหมายของการลดมลพิษ การพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตที่สะอาดขึ้นด้วย
มีสิทธิ์รอด
ผู้ที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่า ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ “ภาครัฐ” มีระบบติดตามโรงงาน และแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทให้มีมาตรฐานเดียวกัน ลดภาระการหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าโรงงานไหน ทำผิดกฎหมาย
ขณะที่ “ภาคอุตสาหกรรม” จะถูกกระตุ้นให้ใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงการปลดปล่อยมลพิษ และการขนย้าย นอกจากนี้ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนการรายงานตามระบบราชการเดิม ๆ ที่สำคัญคือ ระบบนี้ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนอย่างยั่งยืน อยู่ร่วมกับชุมชนได้
สุดท้ายคือ “ประชาชน ชุมชน” จะสามารถเข้าถึง รับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และสารเคมีอันตราย เท่ากับส่งเสริมการมีส่วนร่วม เฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบ และวางแผนป้องกันตัวเองได้เต็มที่
หากมองว่า “PRTR” เป็นกฏหมายให้ประโยชน์สาธารณะ ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลจัดการภัยพิบัติจากมลพิษ และป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ว่า บริเวณบ้านเรือนที่ตนเองอยู่อาศัยมีสารมลพิษอยู่รอบ ๆ อย่างไร หรือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น “สารเคมีรั่วไหล เพลิงไหม้ ท่อก๊าซระเบิด ฯลฯ” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รู้จุดจัดการปัญหา เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับสภาพสารเคมีเพื่อยับยั้งเหตุ มีคำเตือน หรือคำแนะนำประชาชน