ประเมิน 8 ปีภายใต้ การบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์” คนจนเพิ่ม-เหลื่อมล้ำติดอันดับโลก
เครือข่ายขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ We Fair จัดเวทีเสวนา 9 ทศวรรษประชาธิปไตย สู่อนาคตรัฐสวัสดิการไทยเท่าเทียมเสมอหน้า ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 โดยมีการนำเสนอตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อย่างน้อย 7 เครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นตัวแทนของข้อเรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ครรภ์มารดา – เชิงตะกอน
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย WE FAIR ระบุ ในช่วงที่รัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศ ชัดเจนว่า ความยากจนเพิ่มถึง 5 แสนคน หนี้สินครัวเรือนมีมากถึง 14.24 ล้านบาท หรือประมาณ 90% ของ GDP และความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก ในทางกลับกัน มหาเศษฐีไทยร่ำรวยติดอันดับ 10 ของโลก สถานการณ์โควิด19 ฟ้องว่าสังคมไทยเหลื่อมล้ำสูง 8 ปีระบอบประยุทธ์ ทำให้เกิดความเปราะบาง สังคมไทยรวยกระจุก จนกระจาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอน สวัสดิการถดถอย และเน้นสังคมสงเคราะห์ เงินบำนาญประชาชน เบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ สวนทางกับเงินเดือนข้าราชการ
โดยเครือข่าย WE FAIR มีชุดข้อเสนอ 9 ข้อ สำหรับ เด็กเยาวชน การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ที่ดิน งานรายได้ ประกันสังคม ระบบบำนาญ สิทธิทางสังคม และภาษี โดยมีรายละเอียด เช่น
- เงินอุดหนุนเด็ก 0-18 ปี โดยพิจารณาจากเกณฑ์เส้นความยากจนเฉลี่ยของประเทศ สนับสนุนเด็กเยาวชน 19-22 ปี สำหรับการเรียนระดับอุดมศึกษา โดยพิจารณาจากเกณฑ์เส้นความยากจน ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-3 ขวบ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ให้ผู้ปกครองมีทางเลือกในการดูแลเด็ก ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาชั้น ม. 3 และควรให้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี
- พัฒนาสวัสดิการสุขภาพเป็นระบบถ้วนหน้าระบบเดียว ครอบคลุมประชากรทุกอาชีพ และให้สิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเป็นกองทุนข้าราชการ บัตรทอง และประกันสังคม เพราะมีความเหลื่อมล้ำสูง
- เสนอจัดทำที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยไม่เกิน 2% มีงบประมาณอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย 10% ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ปฎิรูปที่ดิน
- ระบบประกันสังคม มุ่งสู่การเป็นประกันสังคมพื้นฐาน ขยายสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มวัยแรงงาน โดยจุดเริ่มต้นคือ ม.40 เพื่อจูงใจการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
- รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณ ถึงเวลาจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง เศรษฐี 1% เพราะสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมีมิติทางการเมือง เขารวยไม่ใช่เพราะขยัน แต่โครงสร้าง และระบบทุนนิยมเอื้อให้รวย และเกิดปัญหารวยกระจุก จนกระจาย นี่เป็นข้อเสนอธนาคารโลกด้วยเช่นกัน
ผลักดันเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า เติมงบฯ 14,000 ล้านบาท
สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เปิดหัวข้ออภิปรายเรื่องเงินอุดหนุนเด็ก ตั้งคำถามแรกบ้านไหนไม่มีลูกหลานบ้างหรือไม่ เพราะตอนนี้เด็กเล็ก เป็นช่องว่างเดียวที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ได้รับเพียง 2 ล้านคน จาก 4.7 ล้านคน จึงต้องการงบประมาณอีก 14,000 ล้านบาท มาอุดช่องว่างที่เหลือ โดยย้ำว่าเครือข่ายด้านเด็กขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่า 10 ปี สำหรับ 7-8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาจจะเติมเต็มให้บางส่วน แต่ก็ยังมีคนที่ตกหล่นจากการพิสูจน์ความยากจน สิ่งที่ต้องการเรียกร้องวันนี้ไม่ใช่แค่เด็กเล็ก แต่เป็นคนจน คนยากลำบากที่ตกหล่นอีก 30% อยากเห็นการผลักดันให้เงิน 600 บาทถ้วนหน้าเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2566
สุนี ย้ำว่า ก่อนหน้านี้เคยมีมติ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ กดยช. แต่รัฐก็ไม่ได้ทำตาม ไม่ได้ช่วยดันให้ 14,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเด็กอีก 2 ล้านคน ล่าสุดองค์กรเด็กทั่วประเทศเห็นตรงกัน เตรียมเสนองบประมาณจัดสรรสำหรับเด็กใหม่จาก 600 บาท เป็นอย่างน้อย 3,000 บาท ตามงานวิจัย เพื่อดูแลเด็กเล็กถ้วนหน้าไปจนถึงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ให้เด็กทุกคนทุกซอกซอย ทุกกลุ่มชาติพันธ์ุ ได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ต่อไปนี้ต้องกระจายอำนาจไม่ให้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.จัดการ และต่อไปจะต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็ก บนเงื่อนไขเพิ่มเงินอุดหนุนมากกว่า 600 บาทต่อคน ต่อเดือน
เสนอรัฐทำที่อยู่อาศัยแบบเช่าให้คนทุกกลุ่มในเมือง
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค มองเรื่องปัญหาที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างที่อยู่อาศัย แต่คนจนเมือง เป็นกลุ่มคนที่มักจะถูกขับออกจากเมือง เพราะที่ดินมีราคาแพง เครือข่ายฯ พยายามผลักดันให้ใช้ที่ดินของรัฐ รวมถึงที่ดินทรัพย์สิน แต่ผลคือ ทุกที่ในเมืองมีเจ้าของหมดแล้ว คนจนต้องซื้อที่ไปอยู่นอกเมือง แม้รัฐจะทำรถไฟฟ้าให้ แต่ขึ้นไม่ได้สักสี เพราะไป-กลับ ค่าแรงก็หมดแล้ว
เธอมองว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยตั้งงบประมาณต่าง ๆ เพื่อคนที่ได้รับผลกระทบเลย โดยคิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ใช่หุ้นส่วน ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะไม่ใช่เจ้าของโฉนดที่ดิน นี่คือ คำพูดของหน่วยงานราชการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมสามสนามบิน จึงมีข้อเสนอ ทำอนุสัญญาทำประชาคม หากครั้งหน้ามีการเลือกตั้ง พรรคไหน จะแก้รัฐธรรมนูญจะเทคะแนนให้พรรคเหล่านั้น โดยมีข้อเสนอ นำที่ดินของรัฐมาทำเป็นที่อยู่อาศัยแบบเช่า ให้คนทุกกลุ่มไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ต้องอยู่ในเมืองได้
ทวงค่าแรง และหลักประกันสังคมถ้วนหน้ารองรับวิกฤต
ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุ งานและรายได้ช่วงโควิด-19 ทำให้บางอาชีพหายไปจากสังคม ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคพลังประชารัฐ เคยหาเสียงไว้ 425 บาท เด็กเล็ก 2,000 บาท กลับไม่ทำ ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ก็ยิ่งทำให้ค่าแรงโตไม่ทันค่าครองชีพ
ธนพร วิจารณ์บทบาทของ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และโครงการเรารักกัน ที่ตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติใน กทม. ทั้งที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างเมืองทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันในชีวิต แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กลุ่ม กลุ่มธุรกิจที่เดือดร้อนในช่วงโควิด-19 พร้อมทิ้งท้ายหากพรรคการเมืองไหนให้ความสำคัญกับประกันสังคม จะได้คะแนนเสียงจากแรงงาน กว่า 20 ล้านคน หากทำเฉพาะแค่หลักประกันถ้วนหน้า ม.40 ยังถือว่าไม่จูงใจ
บำนาญประชาชน สูงวัยไม่ควรถูกลืม
อภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุผู้สูงอายุไม่ควรถูกทอดทิ้ง และไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่เรายังปล่อยให้ผู้สูงอายุได้เบี้ย 600 บาท/เดือน หรือวันละ 20 บาทโดยไม่มีใครหันมองได้อย่างไร โดยหยิบยกเอาปิ่นโต 3 เถา ซึ่งหมายถึงเบี้ยยังชีพ สวัสดิการบำนาญ และการออม โดยเผยว่า ภาคประชาชนเตรียมที่จะรวบรวม 10,000 รายชื่อ เสนอต่อ กทม. ให้แก้ไข รัฐธรรมนูญ 60 และสร้างสวัสดิการให้กับทุกคนในสังคม ถึงวันนี้หมดเวลาที่จะมาค้นหาความจน แต่ต้องพูดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า
อภิวัฒน์ ย้ำว่า ประชาชนพร้อมมานานแล้ว เรื่องการเปลี่ยนเบี้ยฯ เป็นบำนาญฯ ทำให้คนเป็นคน ทำให้คน มีหลักประกันรายได้ชัดเจน หยุดเป็นรัฐสงเคราะห์ และรัฐชิงโชค เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเลย
พรรคการเมืองพร้อมจะปฏิรูประบบภาษีที่เป็นธรรมหรือไม่ สัดส่วนการใช้ภาษี เราจะจัดโครงสร้างระบบภาษีกันใหม่หรือไม่ กล้าหาญพอไหมที่จะทำในสิ่งนี้ พร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ประชาชนเข้าไปร่วมร่างด้วยได้หรือไม่ ? การมีเจตจำนงเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ พรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาล มีกี่คนที่จะทำเรื่องนี้ และดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างจริงจัง
ความหวัง-สวัสดิการ เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตคนพิการที่ดี
รณภัฎ วงศ์ภา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ระบุว่า ปัจจุบันเบี้ยคนพิการอยู่ที่ 1,000 บาท แต่เอาเข้าจริง มีคนพิการอีกกว่า 1 ล้านคนยังไม่ได้รับ มีทั้งเด็กพิการที่อายุไม่ถึง 18 ปี และคนพิการที่ไม่มีบัตรคนจน ก็จะได้รับเพียงแค่ 800 บาท รณภัฎ ชวนตั้งคำถามต่อว่า เบี้ยคนพิการควรจะได้รับกี่บาทถึงจะยังชีพได้ ถ้าคิดตามเส้นความยากจน 2,700 บาท ก็คงจะประมาณ 3,000 บาท เท่ากับบำนาญเป็นอย่างน้อยถึงจะพอประทังชีวิตคนจนไปได้ อยากฝากถึงรัฐบาลให้แก้ไข พ.ร.บ.ที่ชอบมีเกณฑ์ความยากไร้ออกไป เพราะมันคือ ระบบการสงเคราะห์ ที่อยู่กับประเทศไทยมานานแล้ว บางอย่างรัฐบาลทำให้ล้าสมัย กลับไปยุคไดโนเสาร์
อีกเรื่องสำคัญของคนพิการ คือ มีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ ซึ่งมีมูลค่าสูง และบางอย่างไม่สามารถจะเบิกตาม รพ.ทั่วไปได้เลย เช่น รถเข็น ฯลฯ ถ้ามีบัตร 30 บาท บัตรคนพิการ จะเบิกได้ 4,400 บาท มีประกันสังคม เบิกได้ 6,600 บาท เป็นต้นดังนั้นจึง เสนอ สปสช. จับมือ กระทรวงสาธารณสุข ให้คนพิการเข้าถึงรถเข็นที่เหมาะสมกับตัวเอง
รัฐสวัสดิการ กับ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
รตี แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีตัวตนมากขึ้นในสังคม จากในอดีตมีเพียง 11% ดังนั้นสวัสดิการครอบครัว ของผู้มีความหลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาจำเป็นต้องมีครอบครัวเป็นหลังพิง เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในอนาคต นอกจากนี้ยังมีความต้องการด้านสวัสดิการสุขภาพ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลผู้มีความหลากหลาย ควรเข้าถึงการได้รับคำปรึกษาที่จะพัฒนาร่างกายให้ตรงกับจิตใจ การซื้อยามาเอง เก็บเงินทำศัลยกรรมต่างๆ ล้วนเกิดผลกระทบในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการที่เข้าถึงกระบวนการข้ามเพศ ลดค่าใช้จ่ายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับชายหญิง ที่สามารถ ลาบวช ลาคลอด แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถลาเพื่อไปรักษาศัลยกรรมต่างๆ ได้ เป็นต้น
รตี ย้ำว่า เราจะสร้างรัฐสวัสดิการหลากหลายได้ เราจะต้องตระหนักว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ หญิงชาย ในการออกแบบรัฐสวัสดิการ ระบบรัฐสวัสดิการทั้งเรื่อง ศูนย์เด็กเล็ก บำนาญชราภาพ ล้วนครอบคลุมบุคคลที่มีความหลากหลาย และน่าจะเป็นประเด็นที่ตัดขวางอยู่ในทุก ๆ ประเด็นเช่นกัน