จากสำรับชาติพันธุ์ สู่ความมั่นคงทางอาหารคนเมือง
สำหรับชาวเล ปลาที่หามาได้ เป็นความสัมพันธ์และการดูแลกันในยามยากลำบาก ทุกวันนี้ ลูกหลานชาวเลต้องออกเรือไปไกลขึ้น เพื่อจะได้ปลามากพอกินและขาย ขณะที่ไร่หมุนเวียนคือวัฒนธรรมอาหาร คือจารีตประเพณี เป็นกติกาที่ชาวปกาเกอะญอ ยึดถือเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ กำลังแปรเปลี่ยน
นี่คือบางส่วนในสารคดี “สำรับชาติพันธุ์” ที่บอกเล่าเรื่องราวของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ และชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ในยามที่ความมั่นคงทางอาหารของชาวชาติพันธุ์ในฐานะผู้ผลิตอยู่ยาก ย่อมส่งผลต่อค่าครองชีพของคนเมือง และผู้บริโภค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นวัฏจักรที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม
การฉายสารคดี“สำรับชาติพันธุ์” รอบพิเศษ ถูกจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2565 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังการฉายสารคดี วงเสวนา “สานพลังคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” มีตัวแทนชาติพันธุ์ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านชาติพันธุ์ ร่วมกันสะท้อนมุมมองต่อความมั่นคงทางอาหารที่หลากหลายของชาติพันธุ์
The Active นำบางส่วนมาเล่าให้ฟัง ก่อนรับชมพร้อมกันอีกครั้งในวันที่ 12 สิงหาคม นี้ ทาง Thai PBS ช่องดิจิทัลหมายเลข 3 และ VIPA
พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับหนังและสารคดีกล่าวหลังรับชมสารคดี “สำรับชาติพันธุ์“ เขาบอกว่า จะเห็นว่าสารคดียุคแรก ๆ ที่พูดถึงชาติพันธุ์ นำเสนอความน่าตื่นตาตื่นใจให้คนเมืองได้เห็น แต่ต่อมาก็เป็นดาบสองคม คือ จริง ๆ มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เอากลุ่มชาติพันธุ์มาทำด้วยความเข้าใจผิด มาเห็นเป็นเรื่องตลกสนุกสนาน ในฐานะตัวแทนผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก็ต้องขอโทษพี่น้องชาติพันธุ์ในหนังที่ผ่านมา ที่นำเสนอมุมดังกล่าว แต่เชื่อว่านับจากนี้ ความรู้เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ถูกพัฒนาขึ้น ส่วนภาพยนตร์วันนี้ บรรยากาศดีมาก ไม่เหมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์
“เหมือนผมเข้ามาอยู่ในบ้านของพี่น้องชาวเล พี่น้องบนดอย และเหมือนได้นั่งดูหนังกัน จังหวะอาหารก็มีเสียงซี้ดซ้าด มันน่ากินอะไรอย่างนี้ ผมก็รู้สึกแบบนั้น สิ่งนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ชัดเจน และผมว่ามันกลมกล่อม จะมีความรื่นเริงอะไรบางอย่าง ด้วยเสียงดนตรีประกอบ ผมก็รู้สึกว่ามันบาลานซ์กันดี ไม่รู้สังเกตรึเปล่า อย่างชาวเลที่เสียชีวิต ก็จะมีร้องให้ แต่ถูกเติมเต็มด้วยหยดน้ำที่มันมาจากข้าว มันคือภาพเดียวกัน ให้ความรู้สึกว่าพี่น้องบนดอย สามารถมาเติมเต็มความรู้สึกให้พี่น้องภาคใต้ได้ ผมรู้สึกหนังมันทำหน้าที่นั้น“
อรวรรณ หาญทะเล เครือข่ายชาติพันธุ์ภาคใต้ กล่าวหลังรับชมสารคดี “จากสำรับชาติพันธุ์“ ว่า สารคดีสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เมื่อก่อนชาวเลทั้ง 5 จังหวัด มีพื้นที่ข้าวไร่ มีพื้นที่ทะเลหมุนเวียน แต่ปัจจุบันทุกคนได้เห็นแล้วว่า พื้นที่ทั้งหมดไม่ว่าจะพื้นที่วิถีชีวิต จิตวิญญาณ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่อาหารของชาวเล ทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่ของอุทยานและนายทุน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน
“เมื่อก่อนอาหารทั้งหมดของชาวเล ไม่ต้องใช้เงิน มีการแลกเปลี่ยน เอาปลาไปแลกกับสมุนไพร เอาปลาไปแลกกับเสื้อผ้า แต่ทุกวันนี้ ทุกอย่างเป็นเงินหมด ปัจจุบันเราไม่มีที่ปลูกข้าว ต้องซื้อ ต้องเอาปลาไปแลก จากที่เคยตัดไม้ในป่ามาทำเรือ ทุกวันนี้เราต้องไปซื้อไม้แผ่นหนึ่งก็ 600 บาท ซ่อมเรือก็แพงมาก ลำนึง 50,000-100,000 บาท เราต้องเอาเงินซื้อของทุกอย่าง ต่างจากเมื่อก่อนเราสามารถไปเก็บสมุนไพรมาต้มยาได้ แต่ศักยภาพของพวกเราอาจหมดไป ถ้าไม่รีบแก้ไข”
อรวรรณ บอกอีกว่าเราไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์นอกเหนือจากประชาชนคนอื่นเลย เราขอแค่สิทธิที่เราพึงมี พวกเราต้องการมีพื้นที่สามารถดำรงวิถีชีวิต ไม่เช่นนั้นพื้นที่ทำกิน วิถีวัฒนธรรมจะหายไป เราจะล่มสลาย
สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ กล่าวหลังรับชมสารคดี “สำรับชาติพันธุ์“ เขาบอกว่าสารคดีเรื่องนี้ ทำให้เห็นวิถีการทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีการใช้ชีวิตอย่างปราณีต ตั้งแต่คัดเมล็ดพันธุ์ หว่านข้าว ปลูกพืช ไปจนถึงเก็บเกี่ยว เป็นวิถีของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยทุกชนเผ่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นความมั่นคงที่มีความสำคัญมากกว่าความมั่นคงใด ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องพืช ผัก ข้าว แต่พูดถึงปลาที่อยู่ในน้ำ ปูที่อยู่ในทะเล นี่คือภาพรวมความมั่นคงทางอาหารในความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์
ความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นวิถีความเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือ ธรรมชาติด้วย เป็นความสัมพันธ์ที่เราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในจักรวาลนี้ เพราะฉะนั้น เราให้มิติความมั่นคงทางอาหารและสิทธิของการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าและทะเล เป็นเครื่องมือให้เราอยู่สังคมได้อย่างปกติสุข แต่การจำกัดสิทธิต่าง ๆ อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถแสดงศักยภาพ และดำรงวิถีวัฒนธรรมที่เป็นความมั่นคงได้
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ) กล่าวหลังรับชมสารคดี “สำรับชาติพันธุ์“ ว่า ตนขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสารคดี และทุกฝ่าย ทุกองค์กร ที่สามารถทำให้พี่น้องชาติพันธุ์มาใช้พื้นที่ในห้องนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ ที่พี่น้องชาติพันธุ์ที่มาจากภูเขาทะเล จะได้มาใช้ห้องนี้ แต่งตัวที่เป็นอัตลักษณ์แบบนี้ ในพื้นที่ใจกลางศูนย์รวมอำนาจของประเทศไทย ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือให้พวกเราได้ใช้ ขอบคุณทุกสื่อที่กำลังถ่ายทอด
“สารคดีเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนเป็นเด็ก นี่คือวิถีของผม และไร่หมุนเวียนที่พี่น้องเห็น ไม่ใช่แค่อาหารในแปลงข้าวที่เราเห็น ไร่หมุนเวียนไม่ได้มีอาหารให้กินแค่ปีเดียว เกี่ยวข้าวออกไปแล้ว ไร่เหล่าที่ทิ้งให้ป่าฟื้น ปีที่ 2 ที่ 3 ยังมีข้าว มีมะเขือ มีอาหาร ที่ให้กินต่อเนื่องอีกหลายอย่าง ไร่หมุนเวียนนอกจากเป็นอาหารคน ยังเป็นอาหารของสัตว์ป่า ไร่หมุนเวียนมีสมุนไพร เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า มันไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะความเป็นมนุษย์ที่ต้องอาศัยธรรมชาติ แต่กำลังพูดเรื่องระบบนิเวศ”
พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวหลังรับชมสารคดี “สำรับชาติพันธุ์” ว่า สารคดีสำรับชาติพันธุ์ ทำให้เห็น 3 เรื่องสำคัญ คือ วิถีชีวิต การอุปโภค บริโภค ของพี่น้องชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง มีลักษณะที่เป็นการพึ่งพาฐานทรัพยากรเป็นหลัก ประเด็นที่สอง คือ ชุมชนที่เป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีค่านิยมและให้คุณค่ากับอาหารที่เขาผลิตเอง ไม่ใช่การออกไปซื้อข้างนอก ไม่ต้องการขอรับบริจาค เพราะคุณค่าที่แท้จริง คือการที่พวกเขามีอำนาจในการกำหนดทิศทางการผลิตอาหารเอง ประเด็นที่สาม เราเห็นว่ากฎหมายหรือนโยบายอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการพึ่งพิงฐานทรัพยากรและการผลิตอาหาร ก็จะกระทบต่อต้นทุนพื้นฐานและต้นทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
การมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองหรือส่งเสริมในเรื่องสิทธิและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นฐานทางนโยบายขั้นแรก ที่จะทำให้ชุมชนมีเครื่องมือในการจัดการพื้นที่ รวมกลุ่มพัฒนาอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม สร้างความร่วมมือกับภาคีทางสังคมอื่น ๆ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ตื่นตัว กลับมานึกถึงสิทธิของตัวเอง กล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงตนเป็นชาติพันธุ์ ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม ทลายมายาคติที่กดทับ
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) กล่าวหลังรับชมสารคดี “สำรับชาติพันธุ์” ว่าจากที่ดูสารคดีทั้งเรื่อง 45 นาที จะเห็นเรื่องความสัมพันธ์ 3 เรื่อง คือความสัมพันธ์ระหว่างคน และกลุ่มชาติพันธ์กับธรรมชาติพันธ์ และตัวแปลตัวที่ 3 คืออำนาจของรัฐ ที่พยายามจะจัดการความสัมพันธ์ที่มันอยู่อย่างสมเหตุสมผลมาก่อน วันดีคืนดีรัฐมาจัดการก็โกลาหลไปหมด เช่น เขาเคยจับปลาได้ ก็จับปลาไม่ได้ เคยปลูกข้าวได้สบาย ๆ วันดีคืนดีก็ปริมาณลดลง การจะทำไร่ เผาเตรียมพื้นที่ เผาไร่ก็ทำได้ยากขึ้น อันนี้คือความสัมพันธ์ที่มันเคยสมดุลมาก่อนแล้ว แต่พอมีตัวแปลที่ 3 อำนาจรัฐก็รวนไปหมด การใช้อำนาจรัฐที่จัดการอย่างไม่เข้าอกเข้าใจ มันทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สูญเสียศักยภาพในการที่จะพึ่งตนเองไปได้
“แต่ผมคิดว่า ผมเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากสารคดีสำรับชาติพันธุ์ ที่ทำให้คนรู้จักชาติพันธุ์ก่อนในขั้นแรก แล้วขยับไปสู่ความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม หนังสารคดีแบบนี้ เป็นสื่อประเภทหนึ่งทำให้เราเข้าถึง โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน เพราะฉะนั้นต้องสื่อสารแบบนี้ให้เยอะ ให้เข้าใจชาติพันธุ์มากขึ้น และนี่เป็นโจทย์ที่เราต้องทำงานร่วมกัน“
ชมตัวอย่างสารคดี “สำรับชาติพันธุ์”