ส่องนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลสลายขั้ว : ความเหมือน Vs ความต่าง ของ 11 พรรคร่วมรัฐบาล

โจทย์สำคัญของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ว่าที่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จากพรรคเพื่อไทย ภายใต้รัฐบาลผสมสลายขั้ว 11 พรรค คือการเดินหน้าเร่งแก้ปัญหาปากท้อง และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

สัญญาณชัดเจนจากการแถลง ‘ข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน’ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ใจความระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์หนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบมาแล้วเป็นเวลานาน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างและกลไกเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง



พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำว่า ทุกพรรคการเมืองจะนำเอานโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักในการดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเคยเน้นย้ำสโลแกนตลอดการหาเสียงว่า ‘คนไทยไร้จน’ ‘ทุนนิยมที่มีหัวใจ’ และ ‘คิดใหญ่ทำเป็น’ หลายภาคส่วนจึงได้จับตามองทิศทางนโยบายของพรรคเพื่อไทย

โดยนโยบายเศรษฐกิจและปากท้องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเคยให้สัญญากับประชาชน ได้แก่ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน, ปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท, สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง, พักหนี้เกษตรกร 3 ปี, ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้มทันที และรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ฯลฯ โดยเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแค่เฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเลตกับปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท ก็สูงถึง 1 ล้านล้านบาท

แต่ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนหลักในการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงหนุนจากทางพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็สำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของแต่ละนโยบายมีความราบรื่น โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลสลายขั้วที่อาจมีบางมิติของนโยบายที่ทั้งเห็นตรงกันและไม่ตรงกัน The Active ขอชวนผู้อ่านสำรวจแนวทางนโยบายด้านเศรษฐกิจจาก 11 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ยื่นต่อ กกต. ว่าคิดเห็นหรือมองต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะนำไปสู่ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยในรัฐบาลสมัยหน้า

1. เงินดิจิทัล 10,000 บาท

เริ่มต้นที่นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยคือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนวัย 16 ปีขึ้นไป สามารถใช้จ่ายในระยะเวลา 6 เดือน เฉพาะร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตรของภูมิลำเนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ ซึ่งมีอยู่ 1 พรรคการเมืองที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและเป็นนโยบายที่เคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ นั่นคือ ‘คนละครึ่งภาค 2’ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมุ่งแจกจ่ายให้ประชาชน 26 ล้านสิทธิ์ เน้นร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย วงเงินงบประมาณของคนละครึ่งภาค 2 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ดิจิทัลวอลเลตอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ นโยบายดิจิทัลวอลเลตจะเป็นนโยบายแรก ๆ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐาจะริเริ่ม คาดได้ใช้ต้นปี 2567

นอกจากนี้ เพื่อไทยยังเป็นพรรคเดียวในรัฐบาลที่พยายามปักธงเรื่องเศรษฐกิจในโลกดิจิทัล ชูนโยบายไทยเป็น Blockchain และ Fintech Hub ของอาเซียน แนวทางคือการสร้าง Blockchain ของประเทศไทย เพื่อใช้ซื้อขายสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกิดจากนโยบาย Soft Power ของพรรค ตลอดจนผลักดันการใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency, CBDC) เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งนโยบายดิจิทัลเหล่านี้มีฐานรากเดียวกันกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

2. ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท

ต่อมาเป็นนโยบายเพิ่มค่าจ้างและรายได้ เพื่อไทยมีนโยบายที่โดดเด่นคือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท โดยมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน คือพรรคภูมิใจไทย, ประชาชาติ และท้องที่ไทย แต่เป้าหมายของนโยบายต่างกันสิ้นเชิง เพราะ 3 พรรคเน้นการเพิ่มค่าตอบแทนให้เฉพาะกลุ่มอาชีพ เช่น อสม., ข้าราชการ, พนักงาน อปท. เป็นต้น ขณะที่เพื่อไทยจะเป็นการยกระดับค่าแรงถ้วนหน้าไม่จำกัดกลุ่มอาชีพ โดยวงเงินเฉพาะนโยบายเงินเดือน ป. ตรี 25,000 บาท อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่นโยบายค่าแรง 600 บาท/วัน จะใช้การบริหารงบประมาณปกติควบคู่กับการปรับฐานเศรษฐกิจให้โตก่อน ซึ่งเพื่อไทยสัญญาว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2570

3. ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้มทันที


อีกนโยบายที่ถูกจับตามองคือ ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้มทันที เนื่องจากเป็นปัญหาทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ประสบกับค่าครองชีพและต้นทุนราคาแพง โดยเพื่อไทยจะใช้วิธีปรับโครงสร้าง ลดราคาพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ซึ่งมีอีก 2 พรรคที่ใช้วิธีการลดราคาพลังงานแบบเดียวกันคือ พลังประชารัฐ และชาติพัฒนากล้า ขณะที่พรรคอื่น ๆ อีก 3 พรรคคือ ประชาชาติ, เสรีรวมไทย และเพื่อไทรวมพลัง มีนโยบายลดราคาพลังงานด้วยเช่นกัน แต่มีวิธีการอื่นที่ต่างจากพรรคเพื่อไทย หรือบางพรรคก็ไม่ได้ระบุวิธีการโดยละเอียด

4. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย


ขณะที่นโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งใช้วงเงินตั้งต้น 4 หมื่นล้านบาท (เพิ่มอีกปีละ 8 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่มีการพูดถึงในพรรคอื่นเลย แต่มีอยู่ 2 พรรคที่พูดถึงการลดค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถประจำทาง (รถเมล์)คือพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่าจะลดราคาเหลือเท่าไหร่ และเน้นไปที่การช่วยเหลือค่าโดยสารให้เด็กและผู้สูงอายุ และพรรคภูมิใจไทยที่สัญญาว่าจะลดค่าโดยสารรถเมล์ ต่ำสุด 10 บาท สูงสุด 40 บาท

5. พักหนี้เกษตรกร 3 ปี


สำหรับนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของเพื่อไทยที่สำคัญคือ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปีด้วยการนำความต้องการตลาดเป็นโจทย์การผลิต, การใช้เทคโนโลยีการเกษตร และนวัตกรรมดิจิทัล ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลมีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายคล้ายกันคือ พรรคเพื่อไทรวมพลัง จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นหนี้เสีย โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับซื้อหนี้ทั้งหมดที่มีในสถาบันการเงินทุกประเภท รวมหนี้นอกระบบด้วย

ที่จริงแล้ว พรรคอื่นมีนโยบายเกี่ยวกับหนี้ด้วย แต่จะใช้วิธีการ ‘แก้หนี้’ แทนการ ‘พักหนี้’ และไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบายอยู่ที่กลุ่มเกษตรกร โดยพรรคที่มีนโยบายดังกล่าวได้แก่ ประชาชาติ, พลังประชารัฐ, พลังสังคมใหม่, ภูมิใจไทย และ รวมไทยสร้างชาติ

6. เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร


ขณะเดียวกันในแถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการยืนยันว่าจะผลักดันนโยบายเพิ่มราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งน่าสนใจว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายเพิ่มราคาสินค้าเกษตรโดยตรง แต่จะเน้นไปที่การสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กลุ่มเกษตรกร อาทิ การใช้เทคโนโลยี Blockchain, OTOP ดิจิทัล ตลอดจนเน้นผลิตตามความต้องการตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่กล่าวไป

แต่ในพรรคร่วมก็มีเพียง 2 พรรคที่พูดถึงการเพิ่มราคาพืชผลเกษตรโดยตรงคือ พรรคชาติไทยพัฒนา และเพื่อไทรวมพลัง โดยชาติไทยพัฒนาจะเน้นเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมขน ส่วนเพื่อไทรวมพลังจะสร้างตลาดกลางเพื่อยกระดับราคาข้าว ขายข้าวสารแทนข้าวเปลือก

7. กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ

ขยับออกมาจากเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่ก็เป็นนโยบายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสายเขียวด้วยเช่นกัน นั่นคือ กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ 11 พรรคร่วมรัฐบาลให้สัญญาว่าจะเดินหน้าตามที่ระบุในแถลงการณ์ แต่กลับมีแค่พรรคเดียวที่มีนโยบายโดยตรงคือพรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้นโยบายกัญชาก็เป็นนโยบายที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ ครม. ประยุทธ์ 2 และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ในครั้งนี้ทางภูมิใจไทยได้ระบุว่า  ความเสี่ยงในขณะนี้ อยู่ที่การไม่มีกฏหมายมาบังคับใช้-คุ้มครอง ทำให้เกิดสุญญากาศในทางกฎหมาย จะยุติได้ต้องมีการออกกฎหมายควบคุมอย่างจรังจังเพื่อให้กัญชาเกิดประโยชน์สูงสุด

8. ปราบปรามคอร์รัปชัน

ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะ ‘แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ’ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งถูกเคลมว่าเขียนขึ้นเพื่อปราบโกงโดยเฉพาะ ซึ่งมีอยู่ 3 พรรคที่มีนโยบายแก้ไขและจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นใหม่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ประชาติ และ ชาติไทยพัฒนา

แต่ถ้ามองแค่ว่ามีพรรคไหนบ้างที่มีนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชัน ก็จะมีอยู่ 4 พรรคการเมืองด้วยกัน คือ เสรีรวมไทย เพื่อไทย ท้องที่ไทย และชาติพัฒนากล้า โดยแต่ละพรรคก็มีแนวทางที่ต่างกัน อย่างเพื่อไทยจะใช้รัฐดิจิทัลในการตรวจสอบ สร้างความโปร่งใส ซึ่งคล้ายคลึงกับชาติพัฒนากล้าที่จะสร้างแพลตฟอร์มในการให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้ ส่วนท้องที่ไทยจะเน้นการปราบโกงในวงค้าข้าว และเสรีรวมไทยที่ระบุไว้เพียงนโยบายไม่ได้กล่าวถึงวิธีการในการปราบปราม

9. สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

ท้ายที่สุดคือนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง มองผิวเผินเป็นนโยบายสร้างงาน แต่จริง ๆ เป็นนโยบายเน้นพัฒนาคนตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงมากกว่า แนวทางคือ จะนำสมาชิกในแต่ละครอบครัว เข้าฝึกทักษะใน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อไทยตั้งเป้าสร้างแรงงานมีทักษะ 20 ล้านคน ซึ่งจะมีตลาดแรงงานรองรับ ผ่านการใช้นโยบาย-กฎหมาย เพื่อปลดล็อกเศรษฐกิจสร้างสรรค์-ขยายตลาด โดยมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) เป็นหน่วยงานดูแลทั้งหมด

ขณะที่พรรคที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน คือ พรรคชาติไทยพัฒนา, ชาติพัฒนากล้า และภูมิใจไทย โดยที่ 2 พรรคแรกเน้นการสร้างงานให้เฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ส่วนพรรคภูมิใจไทยสัญญาไว้ว่าจะสร้างงาน 10 ล้านตำแหน่งโดยการเพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างแรงจูงใจ พัฒนาศักยภาพแรงงาน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมเห็นตรงกันแต่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนักเช่น นโยบายส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานอย่างการคมนาคม โลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้กับการสร้างนิคมเศรษฐกิจใหม่ด้วย ตลอดจนนโยบายส่งเสริม Soft Power และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และก็เป็นคำที่หลายพรรคการเมืองพูดกันบ่อยในการหาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยหวังว่าเศรษฐกิจ Soft Power จะช่วยฟื้นฟูปากท้องของคนไทยที่ซบเซาหลังการแพร่ระบาดโควิดที่ส่งผลมาจนถึงปี 2566

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์