บันไดงู “รู้” วิธีบริหารงาน “สาธารณภัย”

เมื่อลูกเต๋าที่ชื่อว่า “สาธารณภัย” ทอยออกมาแล้วว่าเหตุเกิดใน “พื้นที่ใด” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ก็ต้องเดินเกมอย่างปฏิเสธไม่ได้ นี่คือข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่เดิมพันด้วยความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงบทบาทการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

บันไดงู…รู้วิธีบริหารงาน “สาธารณภัย” บอกใบ้คำตอบที่หลายคนอยากรู้ ว่าเมื่อเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม ที่ผ่านมา นอกเหนือจากคำถามที่ว่า “ผู้นำท้องถิ่นอยู่ไหน?” (ซึ่งอาจจะทราบกันไปบ้างแล้ว)

The Active อธิบายเพิ่มเติมให้ด้วยว่า ที่จริงแล้ว “บทบาทของผู้นำท้องถิ่นควรจะทำอย่างไร?”

แจ้งเหตุ

อันดับแรก เมื่อเปิดคู่มือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ไปพร้อม ๆ กันจะพบว่า มาตรา 21 ระบุชัดเจนถึงกระบวนการแจ้งเหตุเพื่อเบิกทางความช่วยเหลือ

“ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้นมีหน้าที่เข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว จากนั้นให้แจ้งผู้อำนวยการอำเภอและผู้อำนวยการจังหวัดให้ทราบทันที” 

แต่สำหรับเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ ที่รู้ข่าวกันทั้งประเทศ ข้อนี้คงผ่านฉลุย

ประสานความร่วมมือ

ด่านต่อมา มาตรา 23 ระบุ ถึงการประสานความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

“ผู้อำนวยการท้องถิ่นซึ่งมีพื้นที่ติดต่อหรือใกล้เคียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้น ที่จะสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น”

สั่งอพยพ

ในส่วนของการดูแลประชาชน ก็จะต้องมีการอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสาธารณภัยดังกล่าว  ไม่ใช่ปล่อยประชาชนให้เคว้งคว้างล่องลอยตามลมเหมือนฝุ่นควัน อ่านกันชัด ๆ ใน มาตรา 27

(1) จัดให้มีสถานที่ชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบภัยอยู่อาศัย หรือรับการปฐมพยาบาล และการรักษาทรัพย์สินของผู้ประสบภัย

(2) จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(3) ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่

(4) จัดให้มีการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุโจรผู้ร้าย

(5) ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ช่วยขนย้ายทรัพย์สิน (หากได้รับการร้องขอ)”

ส่วนตรงนี้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงาน สามารถเปิดไพ่ให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจ หรือองค์การสาธารณกุศลช่วยอำนวยความสะดวกได้

แต่จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่บริเวณ ใกล้เคียงกับโรงงานหมิงตี้ กลับพบว่า ส่วนใหญ่รับรู้สถานการณ์ด้วยตนเอง จากการส่งข้อมูลระหว่างกันของคนในพื้นที่ เมื่อมีคำสั่งอพยพอย่างเป็นทางการ หลายคนยังไม่ทราบสถานที่อพยพชั่วคราวอย่างชัดเจนว่าต้องไปที่ใด ทราบเพียงว่าต้องระมัดระวังเรื่องการดูแลสิ่งของมีค่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังการประกาศอพยพคือขาดการวางแผนด้านการจราจรทำให้เกิดการจราจรติดขัดมากกว่าปกติ

ซึ่งหากมีการบริหารจัดการตาม มาตรา 27 ก่อน ก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับการดูแลจากภาครัฐ อุ่นใจ และปลอดภัยมากขึ้น… มากกว่าคำสั่ง “อพยพ” ที่ประกาศเร่งด่วนจนทำให้ผู้ได้รับผลกระทบหลายคน ตั้งตัวไม่ทัน

ถามว่าคำสั่ง “อพยพ” ผิดหรือไม่? ไม่ผิดและทำถูกแล้ว ตามข้อกำหนดใน มาตรา 28 ที่ระบุว่า

“เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ใด และการที่ผู้ใดอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นจะก่อให้เกิดภยันตราย… เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งอพยพให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว”

สำรวจความเสียหาย ทำบัญชีฟื้นฟูเยียวยา

แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบแล้ว แต่ก็อย่าลืมเงื่อนไขของบันไดด่านสุดท้าย คือ “สำรวจความเสียหาย ทำบัญชีฟื้นฟูเยียวยา” ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมาตรา 30 ที่ระบุว่า

“ให้ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่รับผิดชอบความเสียหายจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้น และทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกหนังสือรับรองในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟู”

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 ก.ค. 2564 วุฒินันท์ บุญชู ส.ส. สมุทรปราการ เขต 4 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด ต่อ พล.อ. อนุพงษ์​ เผ่าจินดา​​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ว่าจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐหรือไม่ และที่สำคัญคือหากทางบริษัทไม่สามารถรับผิดชอบได้อย่างครอบคลุม จะมีแนวทางช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการฟ้องร้องได้อย่างไร โดยรัฐมนตรีได้ส่ง นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน 

และที่น่าสนใจคือ ความเสียหายในครั้งนี้มีการสันนิษฐานว่าบ้านหลายหลังอาจเสียหายเชิงโครงสร้าง จะมีหน่วยงานใดมาตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรม จะมาเมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า คุณภาพน้ำประปา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่อัคคีภัย แต่มีเรื่องสารปนเปื้อนตกค้างด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ จึงขอทราบคำตอบ

โดยคำตอบจาก นายนิพนธ์ ในเรื่องการเยียวยานั้น ให้เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลัง และกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสำนักนายกรัฐมนตรี และประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับผู้เสียหาย คือ เงินประกัน 20 ล้านบาทของบริษัท หากเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่ประเมินเบื้องต้น 209 ล้านบาท ยอมรับว่ายังห่างไกล ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่าขณะนี้มีหลายฝ่ายลงไปดูแลรักษาเรื่องสิทธิ เรื่องความสูญเสียชีวิต และเรื่องทรัพย์สินให้กับผู้เสียหายแล้ว

สำหรับในทางคดีความที่เกิดขึ้น ทางศูนย์รับแจ้งความเสียหาย ณ สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้ทำการสอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค. 2564)

ซึ่งเมื่อพิจาณาจากความเสียหายนั้นมีมูลค่ามหาศาล แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด ของเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กำหนดไว้ใน กรณีเจ้าของบ้านอาศัยเอง หากเกิดไฟไหม้ เสียหายทั้งหลัง จะได้รับหลังละไม่เกิน 49,500 บาท หรือได้รับค่าซ่อมแซม ตามที่จ่ายจริง แต่หากเป็น กรณีเจ้าของบ้านเช่าและ ผู้เช่าบ้าน จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียง 1,800 บาท/เดือน เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น 

แม้เหตุการณ์จะสงบลงแล้ว แต่ความเสียหายยังคงเกิดขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม การเดินหน้าเพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ และบริษัทซึ่งต้องรับผิดชอบ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์