เดลตาครองเมือง วัคซีนที่มีเอาอยู่หรือไม่ ?

นับจาก 4 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แตะหลัก 2 หมื่นคน และทำสถิติใหม่ทุกวันจนแตะ 21,379 คน ในวันที่ 6 สิงหาคม

ทำให้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง ประเทศไทย ไต่ตารางขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก เป็นรองเพียง สหรัฐอเมริกา อินเดีย อิหร่าน อินโดนีเซีย บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ตุรกี รัสเซีย และสเปน เท่านั้น

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ปรากฏจากการรายงานของ ศบค. และ การรายงานต่อองค์การอนามัยโลก แน่นอนว่าไม่ได้รวมผู้ที่ตรวจเชื้อด้วยตนเองผ่านอุปกรณ์ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit – ATK) หรือแม้แต่ตรวจโดยหน่วยงานเอกชน อาสาสมัคร ภาคประชาสังคม หากไม่ได้รับการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ผลตรวจเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกนับรวม และไม่แสดงตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจน ว่ามีอีกจำนวนเท่าไร

แต่ภาพสถานการณ์วิกฤต สะท้อนออกมาผ่านการแบกรับภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่กำลัง Workload

นี่เป็นผลจากตัวแปรสำคัญ คือ เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ จนหลายประเทศต้องปรับแผนการรับมือให้ทันกับสถานการณ์

The Active ชวนติดตามสถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุข เพื่อชวนคิดต่อถึงแผนตั้งรับเพื่อให้สูญเสียน้อยที่สุด

สาธารณสุขไทย ร่วมกับภาคประชาชน พยายามแก้ปัญหาเตียงเต็ม ด้วยการจัดระบบดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดูแลรักษาติดตามทางไกลจากแพทย์ที่ต้องมีการจับคู่โรงพยาบาล คลินิกอบอุ่น หรือระบบการแพทย์ปฐมภูมิในระดับเขตสุขภาพ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงทุกเคส

ปัญหานี้ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาทางแก้ไข แต่ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมโรคจากต้นทาง แม้มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ และหวังให้เป็นหนึ่งในทางที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย แต่ก็ดูยังไร้ผล

“วัคซีน” จึงเหมือนเป็นคำตอบ สำหรับการลดจำนวนผู้ป่วย

แต่ความท้าทายกลับอยู่ที่ “การกลายพันธุ์ของไวรัส” ข้อมูล กรมวิทย์ศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 – 30 กรกฎาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,547 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,993 คน (78.2%) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 538 คน (21.2%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 16 คน (0.6%)

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจ จำนวน 1,229 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,059 คน (86.2%) สายพันธุ์อัลฟาจำนวน 170 คน (13.8%) ส่วนสายพันธุ์เบตาไม่พบผู้ติดเชื้อ

ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ จำนวน 1,318 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา 934 คน (70.9%) สายพันธุ์อัลฟา 368 คน (27.9%) และสายพันธุ์เบตา 16 คน (1.2%) โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบ 74 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากที่สุดที่จังหวัดยะลา 14 คน จังหวัดสงขลาและตรังจังหวัดละ 1 คน

สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทย และยังเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest) ตามการแบ่งระดับขององค์การอนามัยโลก

แนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 2.7 เท่า ทำให้สัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในไทย ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ เมื่อวัน 11 พฤษภาคม เรื่อยมาถึงถึงเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 10.4% กระทั่งเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 78.2% ในปัจจุบัน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

จากปัจจัยนี้ส่งผลโดยตรงที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสาเหตุของจำนวนผู้ป่วยที่ล้นเกินระบบสาธารณสุข จนต้องทำการรักษาที่บ้านและที่ชุมชนในกลุ่มผู้มีอาการน้อย

เมื่อพิจารณาดู “วัคซีน” ที่คนไทยได้รับปัจจุบัน (6 ส.ค. 64) ส่วนมากเป็นวัคซีน “ซิโนแวค” จำนวน 9. 918 ล้านโดส รองลงมา คือ แอสตราเซเนกา 8.932 ล้านโดส

กระทรวงสาธารณสุข เปิดผลศึกษาวัคซีน “ซิโนแวค” ที่ฉีดให้กับคนไทย 4 แหล่ง คือ 1) จ.ภูเก็ต ศึกษาติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวนกว่า 1,500 คน พบการติดเชื้อ 124 คน ประสิทธิผลช่วยป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 90.7% 2) จ.สมุทรสาคร เป็นการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเช่นกันกว่า 500 คน พบติดเชื้อ 116 คน ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5% 3) จ.เชียงราย เป็นการศึกษากรณีพบการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข กว่า 500 คน พบการติดเชื้อ 40 คน เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็มป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9% ส่วนบุคลากรที่ได้รับแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8% และ 4) กรมควบคุมโรค ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศและข้อมูลการรับวัคซีน พบว่า ประสิทธิผลอยู่ที่ 71%

ผลการศึกษาทั้งหมดยังวิเคราะห์ได้ว่า หากฉีดครบโดส สามารถป้องกันติดสายพันธุ์เดลตา 75% โดยมีคนฉีดครบ 2 เข็ม เพียง 3.4 ล้านคน

ขณะผลวิจัยประสิทธิผลวัคซีน “แอสตราเซเนกา” จากเครือข่ายการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของแคนาดา (Canadian Immunization Research Network – CIRN) ระบุ ฉีดเพียง 1 เข็มก็สามารถป้องกันติดสายพันธุ์เดลตาได้แล้ว 87% ซึ่งคนฉีดแอสตราเซเนกา 1 เข็มแล้ว 8.8 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแผนการฉีดวัคซีนแบบผสม คือ ฉีดเข็ม 1 เป็น “ซิโนแวค” และเข็ม 2 เป็น “แอสตราเซเนกา” ในช่วงเวลาที่ห่างกัน 3 สัปดาห์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรับการกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เดลตา แต่การทยอยฉีดวัคซีนคงต้องใช้เวลา แข่งกับสถานการณ์การระบาดที่แพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์