ความท้าทาย “ทีมสอบสวน​โรค” ควบคุม – ชะลอการระบาดระลอกใหม่

กรณีผู้ต้องขังชาย วัย 37 ปี อาชีพดีเจ ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 เป็นการพบผู้ติดเชื้อ ในประเทศ ครั้งแรกในรอบ 100 วัน

ทีมสอบสวนโรค​ จึงเร่งแกะรอยค้นหา​ “ต้นตอ” และพบจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงถึง 119 คนและผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ถึงต่ำมาก 851 คน รวมตรวจหาเชื้อผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 970 คน  ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19

กระบวนการข้างต้น ใช้เวลาเพียง 5 วัน เป็นการค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเชิงรุก (Active finding) ที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด และหาคำตอบให้ไว ว่าการพบผู้​ติดเชื้อ​เพียง​ 1​ คน​ นำมาสู่การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด​ผู้ติดเชื้ออีก​ 970​ ได้อย่างไร?

ระบาด สอบสวนโรค

แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินควบคุมโรคโควิด-19 ของ สธ.​ เปิดเผยถึง​ความท้าทายในการสอบสวนโรคผู้ป่วยเคสแรกที่มีการติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งไม่ทราบที่มา​ หลังจากประเทศไทยปลอดเชื้อมานานกว่า 100 วันว่า เมื่อพบการยืนยันผู้ติดเชื้อจะต้องแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อติดตามหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมทั้งหาต้นตอของการระบาด

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มเสี่ยงสูงที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ คือ ต้องเคยอยู่บ้านหลังเดียวกัน​ ทำงานด้วยกัน หรือพูดคุยกันโดยไม่ป้องกันเกิน 15 นาที​

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเสี่ยงต่ำ คือ พบเจอกันแต่มีการใส่หน้ากากอนามัย (mask) ป้องกัน​ เช่น​ การนั่งเครื่องบินหากมีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีใครพูดคุยกันแล้วสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาก็จะถือว่าเสี่ยงต่ำ

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเสี่ยงต่ำมาก อาจจะอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่อาจจะไม่เจอกัน อย่าง​กรณีมีผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อที่ระยอง ที่มีคนไปตรวจเป็นพันคนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่กลุ่มที่ 3

“หากในอนาคตจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้น การตามหาผู้สัมผัสใกล้ชิด ก็จะเหลือแต่เพียงกลุ่มที่เสี่ยงสูงเท่านั้น”

แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา

แพทย์หญิงวลัยรัตน์ อธิบาย​นิยาม “กลุ่มเสี่ยงสูง” คือ ต้องมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่ง​

  1. ผู้อยู่อาศัยร่วมห้องพักหรือทำงานในห้องเดียวกัน​ หรือคลุกคลีกัน
  2. ผู้ที่สัมผัสหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจาม​จากผู้ป่วยโรคโดยไม่มีการป้องกัน​ เช่น​ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
  3. ผู้ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท​ หรือห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน​ จะถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง

กรณีอดีตดีเจ ที่ทีมสอบสวนโรครวบรวมผู้สัมผัสใกล้ชิดมาเป็นจำนวนมาก​ ผลตรวจออกมาครบระยะเวลา 14 วันที่เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายได้ พบว่าไม่มีผู้ใดติดเชื้อ ก็หมายความว่า เขาอาจได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ จึงแพร่เชื้อได้น้อย​ แต่หากถามต่อว่า แล้วอดีตดีเจติดเชื้อมาจากไหน​ ก็อาจจะมาจากผู้ที่ไม่มีอาการเช่นกัน ซึ่งอาจจะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก​

ใครบ้างที่ต้องถูกเก็บตัวอย่าง (swab) ส่งตรวจห้องปฏิบัติการในการสอบสวนโรค?

หลักการคัดกรอง แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่มีอาการกับไม่มีอาการ​

หากมีอาการ ตามนิยาม “กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค” (Patient Under Investigation : PUI) จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน​ และเก็บตัวอย่างไปตรวจ แต่หากไม่มีอาการ แต่เข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งไม่ว่าจะเป็น​ สมาชิกร่วมบ้าน​ หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสโดยไม่ได้สวมใส่ “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล” (Personal Protective Equipment, PPE) ที่เหมาะสม​ หรือเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างชัดเจนโดยไม่สวมหน้ากากป้องกัน ถ้าใช่ ก็ต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจ​แล็ปหาเชื้อเช่นกัน​ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เพียงแต่กันอยู่ในบ้านที่พักอาศัยอย่างเคร่งครัดจนครบ 14 วัน หลังการสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย

ความท้าทายในการสืบสวนโรคให้เร็วที่สุด

สำหรับกรมควบคุมโรค​ ได้ส่ง “ทีมสอบสวนโรค” ทันทีหลังจากที่พบผู้ป่วยยืนยันในการสอบสวน วิธีการตามหาผู้สัมผัสใกล้ชิดจะเริ่มจากการสอบถามจากผู้ติดเชื้อว่าอยู่ใกล้ชิดใครมากที่สุด​ ไปไหนมาบ้าง แกะรอยไปตามระยะเวลาย้อนหลัง 14 วัน 

“ทีมสอบสวนโรค”  ก็จะเริ่มสรุปและขีดวงเพื่อแยกแยะว่าใครเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ หลังจากนั้นก็จะสอบถามต่อไปยังผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ว่าไปติดต่อกับใครบ้างและยืนยันข้อมูล ว่าผู้ติดเชื้อได้ไปอยู่ที่ไหนมาบ้าง อย่างสุดท้ายคือดูกล้องวงจรปิดของทุกหน่วยงานที่อยู่ในบริเวณที่ผู้ป่วยระบุ ว่ามีใครได้เดินผ่านสัมผัส กับผู้ติดเชื้อเพื่อติดตามมาตรวจดูอาการ

กทม. ยืนยันมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ

นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่เป็นอดีตดีเจ สะท้อนว่าภายในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ​ ยังมีผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น อาจพบกรณีแบบนี้ได้อีก ประชาชนโดยทั่วไปจึงยังต้องตระหนักถึงมาตรการป้องกันโรค​ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ​ ไม่อยู่ที่คนหนาแน่นมากนัก

ทีมสอบสวนโรคต้องสร้างความเชื่อใจ

นายแพทย์เมธิพจน์ เล่าว่า​ ความท้าทายในการสอบสวนโรคก็คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ​ เพราะบางส่วนก็เกรงว่าการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงจะทำให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจ หรือผลกระทบต่อตัวบุคคลที่อาจส่งผลถูกสังคม​รังเกียจ​ อุปสรรคหลัก ๆ ก็คือพี่น้องสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ไปทำข่าวจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ที่สัมผัสติดเชื้อใกล้ชิด ทำให้เขาไม่กล้าพูดความจริงออกมา จึงอยากจะขอร้องพี่น้องสื่อมวลชนให้พบกันครึ่งทางในการทำข่าว​ เปิดทางให้ ‘ทีมสอบสวนโรค’ ได้ทำงานอย่างเต็มที่

ข้อกังวล: คนไทยการ์ดตก ไม่เช็กอิน ไทยชนะ​

ประโยชน์ของการบอกข้อเท็จจริงจะนำมาสู่การหาผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง​ ได้ตรงเป้ามากกว่า​ ที่จะหาแบบกระจัดกระจาย ซึ่งแอปพลิเคชัน​ ไทยชนะ ที่มีใช้กันอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันประชาชนใช้น้อยลงมาก​ อยากวอนให้กลับมาใช้ เพราะจะเป็นการสำรวจติดตามและแจ้งเตือนเร็วตรงจุดมากกว่า​ สำหรับกรณีอดีตดีเจ​ ถ้าทุกคนใช้ไทยชนะ​ ก็จะไม่ต้องควานหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในจำนวนมาก​ จะหาเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องตรวจหรือว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องตรวจเท่านั้น

โดยอนาคตหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเช็กอินไทยชนะ​ ที่ปัจจุบันเป็นการขอความร่วมมือ​ ก็จะเสนอให้ใช้เป็นมาตรการบังคับ​ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคและช่วยทีมสอบสวนโรคในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ได้อย่างวงจำกัดและตรงจุดมากขึ้น

ดูเพิ่ม

โควิด-19 ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย ?

รู้หรือไม่? ประเทศไทยไม่ได้มี “แพทย์นักสืบโรค” ครบทุกจังหวัด

สีลาภรณ์ บัวสาย | 4 เสาหลัก ฟื้นพิษโควิด-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์