รู้หรือไม่? ประเทศไทยไม่ได้มี “แพทย์นักสืบโรค” ครบทุกจังหวัด

สีแดง | จังหวัดที่ไม่มีแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม

ต้นเดือนกันยายน 2563 การตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายใหม่ในประเทศไทย หลังไม่พบผู้ติดเชื้อมากว่า 100 วัน แม้ยังไม่สามารถสืบหาต้นตอของเชื้อได้ แต่ ทีมสอบสวนโรค โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามสืบหากลุ่มเสี่ยงและเข้าสู่กระบวนการแยกกัก รวมถึงการตรวจ swab ได้เกือบ 1,000 คน และไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายอื่นเพิ่มอีก

ขั้นตอนเหล่านี้ ใช้องค์ความรู้ที่เรียกว่า “งานระบาดวิทยา” ภารกิจสำคัญ คือ การทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจจับการเกิดโรค สอบสวนสาเหตุ และร่วมควบคุมการระบาดในขั้นต้น

คนเบื้องหลังการควบคุมโรค “นักระบาดวิทยา” สำคัญอย่างไร?

ประเทศไทย มีการจัดตั้ง แผนกระบาดวิทยา ครั้งแรก ในปี 2504 โดยมี นพ.สุชาติ เจตนเสน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนแรก ตั้งแต่กองควบคุมโรค ยังสังกัดกรมอนามัย และแยกไปสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งมีการจัดตั้ง “กรมควบคุมโรค” ขึ้นมาในปี 2545 งานด้านระบาดวิทยาจึงได้พัฒนาและยกระดับเป็น “กองระบาดวิทยา” มาจนถึงปัจจุบัน

และนับจากปี 2516 เป็นต้นมา นพ.สุชาติ ใช้ “กองระบาดวิทยา” เป็นฐานของโครงการอบรมแพทย์ทางระบาดวิทยา หรือ “โครงการฝึกอบรมแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม” ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “FETP” (Field Epidmiology Training Program) คือ การใช้รูปแบบเรียนจาก การปฎิบัติงานจริง เหมือนหน่วย EIS (Epidemic Intelligence Service) ของประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในโลก ในการพัฒนาแพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม อันเป็นงานสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทย

เพราะ “ระบาดวิทยา” คือ การศึกษาเกี่ยวกับการกระจายตัวและสาเหตุของการเกิดโรคในประชากร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคในประชากรจำนวนมาก

กล่าวได้ว่า “งานระบาดวิทยา” ถือเป็นหัวใจของงานป้องกันและควบคุมโรค

ต่อมาปี 2528 แพทยสภารับรองให้ “FETP” เป็น “สถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านแขนงระบาดวิทยา” ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่างกับการเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น ๆ ที่เรียนกันในโรงเรียนแพทย์

หากเปรียบเทียบความแตกต่างของ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กับ แพทย์สาขาอื่น ๆ คือ การศึกษาโรคอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้กับแพทย์สาขาเฉพาะทางอื่น ๆ หรืองานด้านสาธารณสุขได้ โดยเฉพาะเรื่องการลงพื้นที่ ด้วยวิธีการรวมกันเป็นทีมสอบสวนโรค

ดังนั้น สิ่งที่ นพ.สุชาติ ได้ริเริ่มไว้คือ การจัดที่ทางและโครงสร้างงานควบคุมโรค พัฒนาหลักสูตรระบาดวิทยา และสร้าง “นักระบาดวิทยา” ต่อเนื่องมากกว่า 40 ปี เหล่านี้เป็นที่มาของการเฝ้าระวังโรคติดต่ออย่างเป็นระบบ

เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าออกไปสอบสวนโรคเพื่อค้นหาความจริง หลายครั้งคำว่า “นักสืบโรค” จึงถูกนำมาใช้

พวกเขาต้องผ่านการอบรมความรู้เรื่องระบาดวิทยา เพื่อทำการเฝ้าระวังโรคได้และสอบสวนโรคเป็น ทำให้มีเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาประจำอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเกือบทุกแห่ง เมื่อมีบุคลากรระดับปฏิบัติการในพื้นที่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจริง ๆ ในปี 2523 ที่ต่อมาได้ขยายเป็นโครงการนานาชาติ เพื่อจัดอบรมให้กับบุคลากรของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

แม้ประเทศไทย จะมีหน่วยงานสาธารณสุขครอบคลุมแล้วทุกจังหวัด และมีเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาประจำอยู่ แต่จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือ แพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนามนั้นยังไม่ครอบคลุม

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม ทั้งหมด 183 คน กระจายอยู่ใน 45 จังหวัด นั่นหมายความว่ายังมีอีก 32 จังหวัด ที่ยังไม่มีแพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม

ขณะที่ เป้าหมายตามวาระความมั่นคงสุขภาพโลก หรือ Global Health Security Agenda (GHSA) ระบุว่า จำนวนแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนามที่ควรมีตาม GHSA target คือ แพทย์ระบาดวิทยา 1 คน ต่อ ประชากร 200,000 คน แต่ประเทศไทย ยังมีอีก 63 จังหวัด ที่แพทย์ระบาดวิทยายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

โดยมี 14 จังหวัด ที่เป็นไปตามเป้าและมากกว่าเป้า คือ แม่ฮ่องสอน ตราด นครนายก นครปฐม นครราชสีมา น่าน พังงา พัทลุง พิษณุโลก ราชบุรี สงขลา อุดรธานี อุทัยธานี และนนทบุรี ซึ่งจังหวัดนนทบุรีมีแพทย์ระบาดวิทยามากที่สุด คือ 55 คน เนื่องจากเป็นแพทย์ระบาดวิทยาในส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข

ทำไมแพทย์ระบาดวิทยาในประเทศไทยจึงขาดแคลน?

แม้แนวโน้มของโรคอุบัติใหม่ จะเกิดขึ้นถี่และระบาดเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น จากปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนประชากรและการคมนาคมที่สะดวก ทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แต่การพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยากลับสวนทาง แม้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จะระบุว่า กำลังคนด้านระบาดวิทยา เป็นกลุ่มที่สำคัญสำหรับการควบคุมโรค แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอ

ในหนังสือ “หนึ่งในร้อย” ผู้บุกเบิกระบาดวิทยาไทย นายแพทย์สุชาติ เจตนเสน (2561) ระบุ แม้งานระบาดวิทยาจะเป็นหน่วยงานราชการที่มีตัวตนในกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 2516 […] แต่ผู้บริหารนโยบายระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่งเห็นคุณค่าของงานระบาดวิทยาในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “โรคซาร์ส” และ “ไข้หวัดนก” ช่วงปี 2546-2547

นพ.สุชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า “ประเทศในกลุ่มอาเซียนยกย่องงานระบาดวิทยาของไทยมาก เพราะเรามีโครงการ FETP ทำให้สามารถควบคุมโรคซาร์สได้ มีคนไข้ติดเชื้อเพียงไม่กี่ราย อย่างสิงคโปร์มีผู้ติดโรคซาร์สจำนวนมาก จึงขอให้ไทยตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมระบาดวิทยาให้กับประเทศอาเซียนบวก 3 ตอนนี้เป็นที่รู้จักกันทั่ว แต่ถ้าไม่มีโรคซาร์สระบาด รัฐบาลก็ยังคงเฉย ๆ เพราะโรคระบาดอื่น ๆ มันเคยเห็นกันอยู่ แต่โรคซาร์สไม่มีใครเคยเห็น”

นอกจากการไม่ถูกให้ความสำคัญเชิงนโยบายแล้ว, นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เคยวิเคราะห์สาเหตุการขาดแคลนแพทย์ระบาดวิทยา ปัจจัยสำคัญคือการผลิตแพทย์เน้นที่การรักษามากกว่าการป้องกัน

“ที่ผ่านมา เมื่อนักเรียนแพทย์เรียนจบ แล้วเลือกต่อสาขาเชี่ยวชาญพิเศษ ส่วนใหญ่จะเลือกไปในเส้นทางของแพทย์ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ หรืออายุรศาสตร์ แต่การจะเลือกเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา อาจยังมีไม่มาก สาเหตุสำคัญ คือ เวลานี้ มีเพียง FETP ของกรมควบคุมโรคเพียงหน่วยเดียวเท่านั้น ที่เป็นสถานที่ผลิตแพทย์ระบาดวิทยา และมีคนมาเรียนน้อยมากเฉลี่ย 20-30 คนต่อปีเท่านั้น”

และอีกสาเหตุหนึ่งที่สายงานป้องกันควบคุมโรคไม่ได้รับความสนใจ อาจเพราะลักษณะงานที่ปฏิบัติมีความเสี่ยงสูง เพราะภารกิจของ “นักสืบโรค” คือการลงพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง แม้จะมีระบบป้องกัน แต่หลายคนก็ยังกังวล

ยังไม่นับรวมเรื่องความก้าวหน้าในสายงานและค่าตอบแทนที่ต่ำ เพราะเมื่อเทียบกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าค่าตอบแทนห่างกัน 30,000 – 50,000 บาท ทั้งที่งานมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น หากแนวโน้มของโรคอุบัติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น อาจถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญ ให้การสนับสนุน เช่น การลงทุนเพื่อผลิตกำลังคน สร้างแรงจูงใจ และค่าตอบแทนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ที่ยังน้อยเมื่อเทียบกับแพทย์เฉพาะด้านสาขาอื่น ๆ

เฉพาะหน้าจะรับมือกับโควิด-19 รอบใหม่อย่างไร?

แม้ความกังวลถึงการขาดแคลนแพทย์ระบาดวิทยายังดำรงอยู่ แต่สมัยที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา ในปี 2548 ได้ริเริ่มสร้างนวัตกรรมทางระบาดวิทยาที่เรียกว่า SRRT (Surveillance and Rapid Response Team) หรือ “ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว” จากบุคลากรสหวิชาชีพทางการแพทย์ระดับอำเภอ จังหวัด เขต และส่วนกลาง จำนวน 1,030 ทีมทั่วประเทศ และในปี 2554-2555 กรมควบคุมโรคมีนโยบายจัดตั้งและพัฒนาทีม SRRT เป็นเครือข่ายระดับตำบลครบทุกพื้นที่ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) เป็นศูนย์กลางในการรับแจ้งข่าวสารเพื่อควบคุมและป้องกันโรคเชิงรุก

ดังนั้น เฉพาะหน้าในการรับมือกับโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“ขณะนี้ ถือว่าประเทศไทยโชคดี 2 เรื่องสำคัญคือ (1) มีโครงการสร้างนักระบาดวิทยาภาคสนาม ในกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่องมา 40 ปี และ (2) การมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีหน่วยควบคุมโรคในระดับอำเภอทั่วประเทศ หรือ ทีม SRRT ซึ่งประสานงานได้ถึง อสม. 1 ล้านกว่าคน เครือข่ายนี้ทำให้การควบคุมโควิด -19 ราบรื่น เป็นระบบที่เข้มแข็งที่พยายามรับมือกับโรคโควิด-19 อยู่”

อ้างอิง

มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT)

ภาพรวมของระบาดวิทยา (Overview of Epidemiology) โดย นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์