นับตั้งแต่วันแรกที่ “ศบค.” รายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ที่ระบุ จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และ ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ภายในห้องผู้ป่วยวิกฤต หรือ ICU เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 พบว่า มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เกือบทุกวัน
การรายงานตัวเลขล่าสุด วันที่ 29 เม.ย. แม้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,871 คน ซึ่งเป็นการลดลงมาแตะหลัก 1 พันวันแรก หลังจากแตะหลัก 2 พันมาต่อเนื่องถึง 6 วัน และมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 27,988 คน แต่ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่มากถึง 786 คน กลับสวนทาง ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 230 คน ที่ก็เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า เช่นเดียวกัน
เพราะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักมีจำนวนมากขึ้นไปด้วย?
ข้อมูลนี้ อาจเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากนำมาเปรียบเทียบกันจะพบว่า สัดส่วนระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า สัดส่วนผู้ป่วยอาการหนัก เพิ่มขึ้น
วันแรกที่มีการรายงานเมื่อ 24 เม.ย. เป็นสัดส่วนร้อยละ 1.87 จากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งหมดจำนวน 22,327 คน แต่ในวันที่ 29 เม.ย. มีผู้ป่วยอาการหนัก เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.81
ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.51 เป็น 0.82 ในเวลาเพียง 6 วัน
สอดคล้องกับสิ่งที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษก ศบค. กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่า การระบาดในรอบนี้ พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น แตกต่างจากการระบาดใน จ.สมุทรสาคร ที่พบว่าผู้ป่วย 90% ไม่มีอาการ ส่งผลให้การระบาดรอบใหม่นี้ มีผู้ป่วยรอเตียงจำนวนมาก และมีผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใส่ท่อหายใจเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า โรงพยาบาลสนาม ในบางพื้นที่ อาจไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนัก ต้องการท่อช่วยหายใจ
เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ว่า ผู้ติดเชื้อ 1 ใน 4 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช มีภาวะปอดอักเสบมากขึ้น มีผู้ป่วยหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ได้รับทราบข้อมูลว่า โรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤต
“เตียงอาจจะขยายได้ แต่คนที่ดูแลอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ปีที่ผ่านมา ศิริราช ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตเลย แต่ปีนี้ เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย”
สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากระบบบริหารจัดการ ทั้งการตรวจหาเชื้อ การส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที และมาตรการ DMHTT แล้ว ความพยายามในการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ก็เป็นเรื่องที่หลายโรงพยาบาลกำลังทำ เช่น การเปิดระดมทุนสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตความดันลบ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
นอกจากนี้ สิ่งที่ยังต้องติดตามความคืบหน้า คือ วัคซีน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับการแพร่ระบาด เพราะการฉีดวัคซีนจะเห็นผลเมื่อประชากรอย่างน้อยร้อยละ 25 ได้รับการฉีดวัคซีน นี่หมายถึงความหวังในระยะเร่งด่วน ที่การฉีดวัคซีนจะเป็นตัวช่วยควบคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักลงได้ แม้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระยะยาว จากวัคซีนและภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ขั้นต่ำจะอยู่ที่ร้อยละ 60 ก็ตาม
โดยขณะนี้ รัฐบาลประกาศว่า ภายในปี 2564 วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส จะถูกฉีดให้ประชาชนร้อยละ 70 ของประเทศอย่างแน่นอน