ชะตากรรมคนจนเมือง: การคุมโรคที่ยืดเยื้อ ชนทุกชั้นอาจล้มทั้งกระดาน…

อย่าปล่อยให้เตียงเต็ม เฉพาะกับคนจน…

วลีตัดพ้อจาก “คนจนเมือง” โดยเฉพาะคนจนในชุมชนแออัดหลายแห่ง ที่ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนเตียงรักษา หลังโรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธการตรวจหาเชื้อและรับเข้ารักษา ในช่วงเวลาที่ กรุงเทพมหานคร ก้าวสู่จุดเสี่ยงของ “ระบบสาธารณสุข” อีกครั้ง

การระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ต่อเนื่องสู่ระลอกสี่ ดังที่นักการแพทย์และสาธารณสุขให้คำนิยามไว้ “กรุงเทพมหานคร” ยังคงเป็นเมืองที่พบผู้ติดเชื้อสูงที่สุด ทั้งที่เป็นเมืองหลวง ขึ้นชื่อว่ามีทรัพยากรและงบประมาณมากกว่าทุกพื้นที่

ขณะที่ “คนจนเมือง” ที่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการระบาด กำลังได้รับผลกระทบแทบทุกมิติ

The Active ร่วมกับองค์กรเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนบทบาทหน้าที่การควบคุมการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

“ชะตากรรมคนจนเมือง” จากเรื่องสุขภาพถึงปัญหาปากท้อง ผ่าน 3 มุมมองจากนักวิชาการด้านสาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ รวมถึงเรื่องเล่าจากภาคประชาชน คนทำงานในพื้นที่สีแดงเข้ม “ชุมชนคลองเตย”

คลองเตยยังติดเชื้อรายวัน คนเข้าไม่ถึงการตรวจ

หากถามถึงสถานการณ์ในเวลานี้ของชุมชนแออัดขนาดใหญ่ใจกลางมหานคร ที่มีการระบาดหนักลุกลามอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนเมษายนจนถึงขณะนี้ เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป บอกว่า หากจะระบุเป็นตัวเลขคงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา เท่าที่เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ อย่าง คลองเตยดีจัง พยายามรวบรวมข้อมูล โดยคาดว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 3,000 คน และในเวลานี้ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่บางชุมชนยอดคนติดเชื้อค่อย ๆ ลดลง

เธอยกตัวอย่างชุมชนล็อก 123 ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ที่ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ถ้าดูกลุ่มเสี่ยงสูงที่ยังคงกักตัวในเวลานี้ ยังมีมากกว่า 300 คน แต่ยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูล หน่วยงานภาครัฐไม่เปิดเผย ทำให้การทำงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ไม่ถูก

“หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ประสานข้อมูลกัน เป็นช่องว่างระบบข้อมูล… ประเมินแล้วคาดว่า 3 พันคน การกักตัวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บางชุมชนไม่เพิ่มขึ้น แต่มี 4-5 ชุมชนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นคนที่มีอาการ แต่ไม่ได้ตรวจเชื้อ ก็เลยไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่”

นภนาท อนุพงษ์พัฒน์ ผู้อำนวยงานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา เป็นตัวแทนสะท้อนถึงปัญหาของการทำงานที่ผ่านมาของแต่ละชุมชนว่า กลไกของชุมชนที่ทำงานในสถานการณ์การระบาดในช่วงแรก ใช้กลไกที่ชุมชนมีและมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร และเมื่อสถานการณ์ลากยาว ทำให้ชุมชนเริ่มอ่อนล้ารับไม่ไหว พวกเขามีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนการทำงานจริงจัง และลงพื้นที่มากกว่าการประสานขอข้อมูลเพียงอย่างเดียว  

“ระยะแรกลำบากมาก ทำไปร้องไห้ไป พอทำไประยะหนึ่งถึงได้รับการช่วยเหลือเพราะเป็นข่าว การทำงานที่ทำอยู่มันกลายเป็นภาระระยะยาวที่หนักเริ่มไม่ไหว พอยาว คนภายนอกก็เริ่มช่วยเหลือน้อย ชุมชนก็เริ่มล้า ชุมชนอยากให้เขตลงมาดูพื้นที่จริง มากกว่าการขอข้อมูลแต่ไม่มีใครลงมาทำงานกับพวกเขา”

เข้าไม่ถึงข้อมูล บริหารสถานการณ์บนข้อมูลเท็จ

ภาคประชาชนสะท้อนเพิ่มเติมว่า แม้จะเข้าใจในระบบบริหารราชการของหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่จะพบว่า จริง ๆ แล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย มีเจ้าหน้าที่ทำงานหลักเพียง 10 คน บางคนติดเชื้อ ต้องกักตัว ในช่วงการระบาดต้องผันมาเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค การทำงานที่ล้นมืออยู่แล้วในภาวะปกติ จึงยากมากหากจะต้องมาทำงานด้านข้อมูลและลงพื้นที่ด้วยตนเอง ชุมชนจึงกลายเป็นกำลังสำคัญ

แต่การส่งต่อข้อมูลก็มีปัญหา ทั้งในเชิงระบบและทัศนคติของหน่วยงานรัฐ จนถึงเวลานี้ข้อมูลคนติดเชื้อในชุมชนคลองเตยก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน รวมถึงฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง คนป่วยที่รักษาหาย ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมือชุมชน  แต่กลไกที่เข้มแข็งของภาคประชาชนในพื้นที่คลองเตย ก็ทำให้เกิดภาพความร่วมมือของทุกฝ่ายแม้จะพบอุปสรรคอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยพื้นที่ระบาดแห่งนี้ได้รับการตอบรับจากภาครัฐมีการปูพรมตรวจคัดกรองเชิงรุกและฉีดวัคซีน แต่ระบุตัวเลขแน่ชัดไม่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในกรุงเทพมหานครยังมีชุมชนแออัดอีกจำนวนมาก และชุมชนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงมาตรการควบคุมการระบาดขั้นพื้นฐานได้ วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สะท้อนว่าชุมชนที่เครือข่ายทำงานอยู่ 73 ชุมชน พบคนติดเชื้อ แต่หน่วยงานที่จะเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบชุมชนคลองเตยไม่มี หลายคนที่มาอาศัยในชุมชนไม่มีบัตรประชาชน ก็เข้าไม่ถึงวัคซีน

“การฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึงในพื้นที่อื่น ๆ เหมือนคลองเตย ส่วนมากไม่ได้ฉีด ไม่ได้ตรวจ และคนที่ได้ฉีดเป็นชุมชนที่สังกัดเขต เรื่องการลงทะเบียนก็ยาก”

ขณะที่ หนูเกณ อินท​จันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค สะท้อนปัญหาด้านปากท้องเศรษฐกิจ ว่าหนักกว่ารอบแรก เพราะรัฐบาลเยียวยา 3 เดือน แต่ตอนนี้ไม่มี จากข้อมูลที่เครือข่ายฯ สำรวจ พบว่า 485 คน มากกว่าร้อยละ 50 รายได้ลดลง มีหนี้สินจากการผ่อนรถ เครื่องมือทำมาหากิน มีเพียงร้อยละ 1 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนคนที่อยู่ห้องเช่ายิ่งลำบาก

ด้าน ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป  เห็นว่า สังคมไทยมีทัศนคติต่อคนจน มองว่าเขาต่ำต้อย มีปัญหา เป็นมานานแล้ว พอมาเจอโควิด-19 ก็ซ้ำเติมไปอีก แค่รู้ว่าอยู่ในพื้นที่ก็ถูกสั่งพักงาน ตกงาน ในชุมชนคลองเตย มีคนเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมด 17 คน แต่ยังมีอีกนับแสนคน ที่ยังมีชีวิตยากลำบากในการทำมาหากิน และยังมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกหลายคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและกำลังเป็นกลุ่มติดเชื้อรายใหม่ในชุมชน

“ภาครัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติ เพราะชุมชนเป็นผู้เสียสละในการลุกขึ้นมาทำงาน ถ้าเราไม่มีอาหาร ใครจะยอมกักตัว เราพยายามตั้งศูนย์ข้อมูล ยามนี้ต้องก้าวข้ามเรื่องสี ชาติ ศาสนา กฎหมาย ว่าพวกนี้เป็นพวกผิดกฎหมาย เข้าเมืองผิดกฎหมาย หากทัศนคติแบบนี้ ยังอยู่การรับมือจะไม่ไหว”

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นักวิชาการที่ทำงานในพื้นที่บอกว่า ขณะนี้ในชุมชนยังติดเชื้อวนเวียนซ้ำอยู่ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พักอยู่ในชุมชน มีทั้งรู้ไม่รู้ การช่วยเหลือมีภาระการดูแลกันและกันก็เริ่มไม่ไหว ทุนสำรองมีจำกัดมาก คนที่มีอาชีพรายวัน รายเดือนเริ่มลำบาก 

คุมระบาดไม่อยู่ ไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์ เสนอ รื้อโครงสร้างการบริหาร กทม.

นักพัฒนารุ่นใหญ่ หรือ ครูประทีป อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ ที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่มานานเสริมว่า โครงสร้างของกทม. และเขต กลไกที่มีอยู่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรับมือในสถานการณ์ไม่ปกติ เป็นปัญหาในเชิงระบบ มีคนทำงานจำกัด ภาวะปกติงานก็มากอยู่แล้ว ระบบตรงกลางก็ไม่ได้ส่งคนเข้ามาขับเคลื่อน ขาดภาพความเข้าใจองค์รวมทั้งหมด

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ปัญหาโครงสร้างของ กทม. จากการเข้ามาของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ว่า  เป็นการแทรกแซงการทำงาน ไม่ได้ทำให้ กทม. เข้มแข็ง เป็นการรวบอำนาจไปอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี

ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรอคำสั่ง ทำให้การบริหารอ่อนแอ และที่สำคัญการบริหาร กทม. เริ่มมีปัญหาตั้งแต่การทำรัฐประหาร คนที่มาจากการแต่งตั้งขาดการกดดันจากเสียงประชาชนในสถานการณ์นี้

“ปัญหาของการบริหาร กทม. เป็นปัญหาทางการเมืองมาตั้งแต่ตอนรัฐประหาร ปลดผู้ว่าฯ  ตั้งคนที่ไม่ได้สะท้อนเสียงประชาชน ยกเลิกสภา กทม. ตั้งแต่วันแรก เปลี่ยนเป็นข้าราชการ ไม่ได้มาจากเสียงของพื้นที่ ยุบสภาเขต แม้จะอ้างว่ามีปัญหา แต่เขาคือรอยต่อยืนคู่ ผอ. เขต แต่ประชาชนไม่ได้เลือกเขาเข้ามา เรื่องใหญ่มาก ๆ ขาดแรงกดดันจากเสียงที่เลือก”

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านรัฐศาตร์ ยังสะท้อนถึงลักษณะชุมชนของ กทม. ที่ไม่ได้มีระบบการบริหารจัดการเหมือนชนบท ขาดการลงทะเบียนประชากรแฝงอย่างจริงจัง ขาดข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลจริง ๆ ในการบริหารจัดการปัญหา การแก้ปัญหาการระบาดใน กทม .ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ปัญหาระหว่างหมอกับคนไข้ และทางการแพทย์ แต่เป็นปัญหาของโครงสร้าง ระบบสาธารณสุข อำนาจทางการเมือง

วรรณา แก้วชาติ อธิบายเพิ่มเติมถึงโครงสร้างการทำงานของ กทม. ว่า ระบบสั่งการอยากทำ แต่นโยบายไม่เคลื่อน  กทม. ไม่มีความพร้อมในการรับมือปัญหาใหญ่ ไม่มีอำนาจแท้จริง ต้องปรับโครงสร้างภายใต้ศูนย์กลางที่มีส่วนร่วม รื้อโครงสร้างเขต

นักเศรษฐศาสตร์​เสนอ ใช้งบฯ เงินกู้ จัดการโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  เสนอให้ใช้งบประมาณจัดซื้อวัคซีน และฉีดให้ครอบคลุมทุกคน ทุ่มงบฯ ในการสอบสวนโรคให้เร็ว ลดการระบาดแบบคลัสเตอร์ เนื่องจากที่ผ่านมาสังเกตว่าการสอบสวนยังขาดมาตรฐาน ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ เพราะว่าไม่สามารถกักตัวกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมงได้ ควรเพิ่มทีมสอบสวนโรค กระตุ้นการจ้างงานจากอาสาในตำแหน่งนี้ และให้ชุมชนเป็นคนเสนอโครงการ สำหรับการควบคุมการระบาด การแยกโรค

ด้าน รศ.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานลงพื้นที่ชุมชนที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนยังขาดข้อมูลที่แท้จริงและการเข้าถึงข้อมูลคลาดเคลื่อน ชุมชนขาดความเข้าใจที่แท้จริง การลงพื้นที่จึงพัฒนาทีมทำงานขึ้นมา เรียกว่าทีมเชี่ยวชาญสาธารณสุขร่วมกันสอบสวนโรค ระบุกลุ่มเสี่ยง พัฒนาชุมมชนเสริมพลัง อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข กทม.) พัฒนาระบบลงทะเบียนที่เข้าถึงทุกคน (Public Health) เปิดฮอทไลน์ให้คนในชุมชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล

แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครใช้บริการ ขณะที่มูลนิธิดวงประทีปกำลังร่างโครงการ ของบประมาณ สร้างระบบการดูแลชุมชน ควบคุมการระบาดเช่นเดียวกัน ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2 ล้านบาท โดยจะจ้างคนในชุมชนให้มีงาน รายได้ และลดการติดเชื้อในชุมชน แต่การของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย และมักติดอุปสรรคด้านระเบียบราชการ

บทส่งท้าย

การพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น สายพันธ์ุเดลตา หรือสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย หากดูประกอบกับประสิทธิภาพวัคซีนที่ประชากรไทยได้รับ พบว่าอาจไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่วัคซีนได้ เมื่อวัคซีนลดอาการรุนแรงแต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ

การรายงานพุ่งเป้าประเด็นวัคซีนรายวัน ที่อาจจะสำคัญ แต่ 120 วันที่รัฐบาลประกาศกร้าว แต่ไร้แผนชัดเจนและมองไม่เห็นประสิทธิภาพของการคุมโรคระบาด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังคงแตะหลักหลายพันคน นี่เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล ว่ารอยต่อระหว่างการระบาดรอบสามสู่รอบสี่ หากไม่มองย้อนบทเรียนที่ผ่านมาและหันมาเสริมจุดแข็ง อุดจุดรั่ว สนับสนุนกลไกชุมชนอย่างจริงจัง ทั้ง ทรัพยากร งบประมาณ ฐานข้อมูล

การคุมโรคระบาดอาจยืดเยื้อ และทุกชนชั้นอาจล้มทั้งกระดาน…


Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง