การระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีแนวโน้มยืดเยื้อ ลุกลาม ทั้งในชุมชนแออัด ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และโรงงาน ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน
โรคระบาดในพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่มกระจายออกไปเป็นสะเก็ดไฟ สร้างคลัสเตอร์ใหม่ขนาดใหญ่แล้วในหลายจังหวัด…
หากสถานการณ์ระบาดลากยาว ชะตากรรมของ “คนจนเมือง” จากเรื่องสุขภาพถึงปัญหาปากท้องจะเป็นอย่างไร?
การสร้างฐานข้อมูลและเปิดเผยให้เป็นสาธารณะ คือ บทเรียนที่หลายฝ่ายต้องให้ความสำคัญ เริ่มสอบสวนโรคจริงจัง มีมาตรฐาน ถูกต้องแม่นยำ สู่การวางแผนที่มากกว่าการรับมือ แต่ต้องสร้างระบบการป้องกันโรคระบาด ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการแพทย์ ปากท้อง รายได้ อาชีพ เร่งเยียวยามองเห็นคนจนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก บนการบริหารจัดการงบประมาณที่คุ้มค่า คือ บทสรุปของข้อเสนอที่ได้จากการพูดคุยตลอด 2 ชั่วโมง
The Active รวบรวมข้อเสนอ ที่ได้จากการสนทนาในเวทีสาธารณะ “มหานครโควิด-19 ชะตากรรมคนจนเมือง” เพื่อเปิดช่องการเข้าถึงอำนาจจัดการชุมชน ในสถานการณ์โรคระบาด
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการที่ทำงานในพื้นที่บอกว่า ขณะนี้ในชุมชนยังพบการติดเชื้อวนเวียนซ้ำอยู่ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พักอยู่ในชุมชน มีทั้งรู้และไม่รู้ตัวเอง การช่วยเหลือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ การดูแลกันและกันก็เริ่มไม่ไหว ทุนสำรองมีจำกัด โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพรายวันหรือรายเดือนเริ่มลำบาก
เขาเสนอว่า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต้องทำให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการแพทย์ ที่น่าเป็นห่วงคนติดเชื้อรายใหม่ที่ค้างในชุมชน บางคนตรวจแล้วรู้ผลช้า ตกค้างไปโรงพยาบาลไม่ได้ ด้านปากท้อง ชุมชนอ่อนล้าเรื่องอาหารเยียวยาวิกฤตเริ่มลดน้อยลง ภาระของชุมชนที่ต้องดูแลกันและกันหนักมาก ชุมชนเริ่มไม่ไหว ด้านอาชีพ เงินออม ทุนสำรองจำกัดการเข้าถึงงาน คนที่มีรายวัน รายเดือน อยู่แบบไม่มีความหวัง รวมถึงการออกแบบระบบเพื่อดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป เห็นว่า สังคมไทยมีทัศนคติต่อคนจน มองว่าต่ำต้อย มีปัญหา เมื่อมาเจอเหตุการณ์โควิด-19 ก็ซ้ำเติมไปอีก แค่รู้ว่าอยู่ในพื้นที่ก็ถูกสั่งพักงาน ตกงาน ชุมชนคลองเตยเสียชีวิตจากโควิดแล้ว 17คน แต่ยังมีอีกนับแสนคน ที่ยังมีชีวิตยากลำบากในการทำมาหากิน และยังมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกหลายคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข และกำลังเป็นกลุ่มติดเชื้อรายใหม่ในชุมชน
เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ระบุว่า ภาคประชาสังคมมีแค่อาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือนสนับสนุนจากรัฐ จึงต้องการให้สนับสนุนแค่ข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนร่วมกัน วางทิศทาง ว่าจะขับเคลื่อนไปทางไหน ยามนี้ต้องก้าวข้ามเรื่องสี ชาติ ศาสนา แม้กระทั่งกฎหมาย พวกนี้เป็นพวกผิดกฎหมาย เป็นต่างชาติ ไม่มีบัตร ไม่ต้องไปทำอะไรให้ หากทัศนคติแบบนี้ดำรงอยู่ไม่มีทางที่เราจะรับมือการระบาดได้ ไม่ไหวแน่ ๆ ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำงาน ภาคราชการต้องเป็นฝ่ายเอื้ออำนวย ทั้งผู้นำชุมชนที่เขาเสียสละมาก เขาต่อสู้กับความกลัวมาเป็นความเมตตา ตรงไหนที่มีจุดบกพร่อง หรือบ้านที่กักตัว ถ้าไม่มีอาหารให้ใครจะยอมอด คนในบ้านก็ต้องออกไปหางาน เพราะไม่มีอาหาร พยายามตั้งฮอทไลน์โควิด-19 ก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ต้องมีระบบข้อมูลร่วมกัน สถานการณ์แบบนี้จะจัดการอย่างไร เสริมพลังกันเต็มที่เราไม่ได้ข้อมูลไม่ได้การหนุนช่วย 2 เดือนที่ผ่านมา มีการประชุมก็เพื่อจะแจ้งว่าต้องทำอะไร แต่ตอนนี้ขาดตอนไปเลย
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ปัญหาโครงสร้างของ กทม. จากการเข้ามาของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ว่า เป็นการแทรกแซงการทำงาน ไม่ได้ทำให้ กทม. เข้มแข็ง เป็นการรวบอำนาจไปอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี
และผู้ว่าฯ กทม. ต้องรอคำสั่ง ทำให้การบริหารอ่อนแอ และที่สำคัญการบริหาร กทม. เริ่มมีปัญหา ตั้งแต่การทำรัฐประหาร คนที่มาจากการแต่งตั้งขาดการกดดันจากเสียงประชาชนในสถานการณ์นี้
“ดีที่สุดต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเดียว เพราะเขาจะปรับตัว กลไกที่ทำงานขับเคลื่อนกระท่อนกระแท่น มันประสานงานกันไม่ได้ ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการมีคำสั่ง ศบค. แต่เป็นกลไกของการมีอาสาสมัครชุมชน แจกของรับบริจาค ทั้ง ๆ ที่ กทม. มีงบประมาณมหาศาล แต่ไม่มีแรงกดดันในการเอาเงินไปซื้อวัคซีน ต้องเอางบประมาณส่วนนี้ออกมาจัดการหลายเรื่อง ชดเชยคน กทม. ทำได้หลายเรื่องเพราะมีเงิน การตั้ง ศบค.เป็นการแทรกแซงการทำงาน ไม่ได้ทำให้ กทม. เข้มแข็ง เป็นการรวบอำนาจไปอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม. ต้องรอคำสั่ง ทำให้การบริหารอ่อนแอ การบริหารเริ่มมีปัญหาตั้งแต่การทำรัฐประหาร คนที่มาจากการแต่งตั้งขาดการกดดันจากเสียงประชาชนในสถานการณ์นี้ การบริหารง่อยเปลี้ยเสียขา ในทางการเมืองพังตั้งแต่รัฐประหาร ต้องมีเสียงตัวแทนประชาชนเข้ามากดดันในสภา กทม.”
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอให้ใช้งบประมาณจัดซื้อวัคซีน และฉีดให้ครอบคลุมทุกคน ทุ่มงบฯ ในการสอบสวนโรคให้เร็ว เพื่อลดการระบาดแบบคลัสเตอร์ เนื่องจากที่ผ่านมาสังเกตว่าการสอบสวนโรคยังขาดมาตรฐาน ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ เพราะว่าไม่สามารถกักตัวกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมงได้ เขาเสนอให้เพิ่มทีมสอบสวนโรค กระตุ้นการจ้างงานจากอาสาสมัครในตำแหน่งนี้ และให้ชุมชนเป็นคนเสนอโครงการ สำหรับการควบคุมการระบาด การแยกโรค
“การเยียวยาพิเศษคนติดเชื้อที่ยากจน คนถูกกักตัว รัฐบาลกลางหรือท้องถิ่นไม่เคยทำ การเยียวยาที่ผ่านมาไม่ได้เกี่ยวกับการคุมโรคระบาด ทีมสอบสวนโรคของกระทรวงฯ เขาจะมีข้อมูล อย่างน้อย คนติดเชื้อ คนเสี่ยง ใช้ฐานข้อมูลนี้ มาช่วยเยียวยา ให้เงินสดเท่ากับแรงงานขั้นต่ำ คูณด้วยจำนวนวันที่ถูกกักตัว ก็จะช่วยได้ คนที่รักษาตัวหายแล้ว ก็ควรจะได้รับการช่วยเหลือเหมือนกัน เชื่อมโยงกับการใช้งบประมาณควบคุมการระบาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ามีงบประมาณฉีดวัคซีน ทำให้ครบ 100% ดีที่สุด หรือพื้นที่ระบาดไม่ต่ำ 90% และต้องมีนโยบายสำหรับชุมชนคลองเตยหรืออื่น ๆ ให้ละเอียดชัด ๆ ขึ้น ให้ชุมชนเสนอโครงการเหล่านี้”
รศ.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานลงพื้นที่ชุมชนที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนยังขาดข้อมูลที่แท้จริงและการเข้าถึงข้อมูลคลาดเคลื่อน ขาดความเข้าใจที่แท้จริง การลงพื้นที่จึงพัฒนาทีมทำงานขึ้นมา เรียกว่าทีมเชี่ยวชาญสาธารณสุขร่วมกันสอบสวนโรค ระบุกลุ่มเสี่ยง พัฒนาชุมมชนเสริมพลังอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) พัฒนาระบบลงทะเบียนที่เข้าถึงทุกคน (Public Health) เปิดฮอทไลน์ให้คนในชุมชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครใช้บริการ ขณะที่มูลนิธิดวงประทีปกำลังร่างโครงการ ของบประมาณ สร้างระบบการดูแลชุมชน ควบคุมการระบาดเช่นเดียวกัน ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2 ล้านบาท โดยจะจ้างคนในชุมชนให้มีงาน มีรายได้ และลดการติดเชื้อในชุมชน แต่การของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย และมักติดอุปสรรคด้านระบเบียบราชการ
“เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ไหว คนในชุมชนคือคนที่จะทำข้อมูลในเชิงป้องกันได้ดีที่สุด แต่ไม่มีข้อมูลที่จะเอามาประกอบ เช่น จุดเสี่ยง วิถีชีวิตเสี่ยง แรงงานข้ามชาติ คนไทย บ้านเช่า โครงสร้างกายภาพ การระบายอากาศ ตัวข้อมูลเองไม่มีการเปิดเผยยืนยันแน่นอน เป็นเรื่องของระบบที่ไม่รู้แน่นอน ก็เลยไม่สามารถตัดสินได้ การสอบสวนโรคไม่ตรง ไม่ชัดเจน ถูกกักตัวนานกว่าที่จำเป็นต้องกัก ระบบการแจ้งผล ระบบของกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครไม่เชื่อมโยงกัน การระบาดเชื่อมโยงกับกายภาพบ้านที่อยู่อาศัย การระบายอากาศ การทำงานใช้จิตอาสามาช่วยงานได้ รัฐบาล กทม. ควรมาสนับสนุนตรงนี้ เพื่อได้ข้อมูลจริง วางแผนในเชิงป้องกันการติดเชื้อและจัดการคนติดเชื้อ สนับสนุนคนทำงานอาสาให้มีรายได้”
วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สะท้อนว่าชุมชนที่เครือข่ายทำงานอยู่ 73 ชุมชน พบคนติดเชื้อ แต่หน่วยงานที่จะเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบชุมชนคลองเตยไม่มี หลายคนที่มาอาศัยในชุมชนไม่มีบัตรประชาชนก็เข้าไม่ถึงวัคซีน
เธออธิบายเพิ่มเติมถึงโครงสร้างการทำงานของ กทม. ว่า ระบบสั่งการอยากทำแต่นโยบายไม่เคลื่อน กทม. ไม่มีความพร้อมในการรับมือปัญหาใหญ่ ไม่มีอำนาจแท้จริง ต้องปรับโครงสร้างภายใต้ศูนย์กลางที่มีส่วนร่วม รื้อโครงสร้างเขต
“การของบประมาณ ไปติดระเบียบของ กทม. เอง ที่ผ่านมาพยายามทำกันแต่ยากมาก ถ้าคุณเป็นอาสาสมัครจะต้องไม่มีค่าตอบแทน ค่าเดินทาง เขาลืมไปว่า หน่วยงานที่เขียนขอไปเขามีเงินเดือน แต่ชาวบ้านไม่มี และการตีความว่าเป็นงบฯ สุขภาพ บางอย่างใช้ไม่ได้ ต้องเปิดช่องให้ชุมชนว่าอันไหนทำได้ เพราะประสิทธิภาพของชุมนกับหน่วยงานมันต่างกัน ที่จะรู้เรื่องข้อมูล การส่งมอบงาน ต้องรู้ว่าเรื่องไหนที่ชุมชนทำได้ ทำไม่ได้ ส่วนที่เราทำไปแล้ว ก็พยายามจัดการตัวเองและรอหน่วยงานสนับสนุน เช่น การทำจุดพักคอย มีกระบวนการจัดอบรม ทีมดูแลทางการแพทย์ ทีมส่งอาหาร เก็บข้อมูล ส่งเสริมอาชีพ รายได้ ทำครัวราคาถูก ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ พยายามจัดการให้ได้ เครือข่ายภาคประชาชนที่เรามีช่วยเหลือกันเอง อย่างมูลนิธิดวงประทีป สื่อสาธารณะ เครือข่ายจำเป็นมากที่ทำให้เราฝ่าวิกฤตไปได้”