ต้องโปร่งใส “ประชาชน” จึงจะมีส่วนร่วม “ปราบโกง” ได้

ปราบโกงประเทศไทย 2022 : มรดกกรรมการปฏิรูปประเทศ

5 ปี ของการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

2 ชุดข้อเสนอ ผ่านคณะกรรมการ 2 ชุด

เดือนสิงหาคม 2565 ถูกกำหนดให้เป็นการสิ้นสุดวาระการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะ หากแต่ความรู้และข้อเสนอที่ได้จากการระดมกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จะถูกสานต่อผ่านกลไกที่เรียกว่า Big Rock หรือแผนการปฎิรูปประเทศที่เชื่อมไว้กับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ

แต่หัวใจสำคัญของการปราบโกง หรือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย ไม่อาจวัดผลความสำเร็จได้ผ่านกติกาหรือตัวชี้วัดที่ถูกวางไว้เพียงอย่างเดียว กลับหมายถึงการสอดส่อง ตรวจสอบ จากหน่วยงานภายนอก จากภาคประชาชน ที่มีเครื่องมือและช่องทางเอื้อให้การตรวจสอบนั้นเป็นไปได้อย่างไม่ลำบาก

เวทีสาธารณะ “ปราบโกง ประเทศไทย 2022” พูดคุยถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนในเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ “เปิดแผน 5 Big Rock ปราบโกง” และ “โปร่งใสแบบไหนไม่ติด Lock ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม” โดยมีกรรมการปฏิรูปประเทศฯ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาครัฐและเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม

The Active สรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note


ปราบโกง 01

“5 Big Rock” แผนการปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน มีอะไรบ้าง?

ศ.(พิเศษ) ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ระบุว่า แผนปฏิรูปปราบปรามทุจริต แผนแรกของไทยเกิดขึ้นใน ปี 2560 การขับเคลื่อนไม่ราบรื่น นำมาปรับกันปี 2563 และใช้จริงปี 2564 เน้นไปที่การปฏิรูปกฎหมาย ภาครัฐ และกระบวนการยุติธรรม โดยเน้นให้สามารถพูดถึงเรื่องข้อมูลข่าวสารโดยไม่ต้องร้องขอ เน้นการปฏิรูปภาครัฐและระบบราชการ เพราะปัญหาใหญ่ไม่ใช่ทุจริต แต่เป็นการประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ ทั้งหมดนี้ นำมาสู่แผนการปราบปรามทุจริต 5 Big rock เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับภาคีต่าง ๆ คือ 1) พัฒนาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง แต่หลักการจะตอบสนองส่วนที่เราจะปฏิรูปประชาชน 2) เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และคุ้มครองผู้ให้เบาะแส 3) ต้องมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วโปร่งใส และยุติธรรม ขณะเดียวกันก็จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดความเหลื่อมล้ำ 4) ปฏิรูปภาครัฐ ให้เป็นภาครัฐที่โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ และ 5) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ในการดำเนินการขนาดใหญ่

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศฯ บอกอีกว่า หากไม่สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย สังคมจะไปต่อไม่ได้ ปัญหาข้อติดขัดก็ยังมีไม่น้อย ปัญหาสำคัญสุด คือ ไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่ควร เช่น งบประมาณ ที่ควรจะต้องได้นำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขอให้บูรณาการแผนชาติ 2566-2570 ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และยังเป็นข้อเสนออยู่

“ปัญหาการขับเคลื่อนเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เราเฟลมาแล้ว เราไม่มีกลไกที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งดัชนีคอร์รัปชัน Corruption Perceptions Index (CPI) ส่วนใหญ่ที่ตกลงต่อเนื่อง มาจากปัญหาสินบน ความไม่ตระหนักผลกระทบทุจริต และการประพฤติไม่ชอบในภาครัฐ หากเราเอา 5 ข้อไปผลักดันอย่างจริงจัง น่าจะช่วยตอบโจทย์ได้”

ศ.(พิเศษ) ภักดี โพธิศิริ

มานะ นิมิตรมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า การมีแผนปราบปรามทุจริตฯ เป็นเหมือนแสงสว่าง เราได้เห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยพลังประชาชน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปภาครัฐราชการและการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาหลัก คือ การรีดไถ เก็บเงินใต้โต๊ะ ภาคประชาชน คือ พลังสำคัญในการตรวจสอบ แต่พอมาดูกฎหมายน่าผิดหวัง เพราะไม่มีอะไรเป็นชิ้นอันจับต้องได้ เท่ากับไม่มีการแก้ไขอะไรเลย การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กฎหมายฟ้องปิดปาก กฎหมายตัวนี้ก็ยังคลานต้วมเตี้ยม มันยังเป็นอะไรที่ต้องปีนภูเขาอีกหลายลูก

ขณะที่การทำงานของข้าราชการก็เป็นการทำงานเพื่อตอบสนอง KPI หลายงานบริการอย่าง One stop service ก็ประชาชนใช้น้อย เพราะไม่มีความเชื่อมั่น และการทำงานก็ไม่มีความเชื่อมโยง โดย ไทยมีแผน มีเป้าหมายและหลักการที่ดี แต่ภาครัฐและการปฏิบัติยังเป็นตัวถ่วงที่ทำให้เรื่องนี้เดินหน้าได้ช้า

ปราบโกง

หากประชาชนจะนำแผนการปฏิรูปไปใช้เป็นเครื่องมือปราบโกง ทำได้แค่ไหน?

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศฯ มองว่า วัฒนธรรมองค์กร เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำให้กลไกการปฏิรูปสำเร็จเป็นจริง เพราะแม้แผนปฏิรูปจะร่างไว้ดีแค่ไหน แต่จะถูกกลืนโดยวัฒนธรรมองค์กรเสมอ เพราะวัฒนธรรมเป็นอารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมที่กระทำมาจนเป็นประจำ ความรู้สึกแบบนี้จะเกิดทุกองค์กร และมักจะเป็นความรู้สึกที่ไม่อยากทำมาตั้งแต่ต้น เมื่อไปกระตุ้น ก็อาจจะเริ่มด้วย เอาด้วย แต่ไม่มี Action Plan ตามมา ตรงนี้จึงสำคัญมาก

“ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาล ต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เราเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่ได้ ในส่วนของรัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง รัฐบาลต้องมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ได้ จะได้รู้ว่ามันคือปฏิรูป หรือ ปฏิลูบ”

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กทม. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะภาคประชาชนที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบการทุจริตภาครัฐ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ต้นจนถึงการตรวจรับงาน ต้องเปิดเผยสัญญาทางปกครอง และต้องมีเครื่องมือให้ประชาชนตรวจสอบ

“ยกตัวอย่างประเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คนเรียกร้องให้เปิดข้อมูล ก็อ้างว่าเป็นความลับทางธุรกิจ อีกหน่อยควรระบุเลยว่า สัญญาทางปกครอง เมื่อรัฐทำกับเอกชน ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประชาชนรู้ไม่ได้ แต่ประชาชนต้องเสียเงิน อันนี้ก็ควรจะแก้ไขออกมา”

รสนายังกล่าวถึงประสบการณ์ที่เคยฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องโดยตรง แม้จะอ้างมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ศาลอาญาก็ไม่รับ อ้างว่าประชาชนไม่สามารถยกหน้าที่ของปวงชนชาวไทยมาต่อสู้ แต่หากเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงจะยกเป็นเหตุต่อสู้ได้ เมื่อสอบถามไปยัง มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงได้ทราบว่า มาตรานี้ร่างไว้ให้ข้าราชกรเป็นผู้มีอำนาจไปฟ้องร้องเป็นหลัก

ต่อมา เมื่อมูลนิธิผู้บริโภค ดำเนินการฟ้องร้องแทน ซึ่งใช้เวลา 2 ปี ในการกำหนดว่ามีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องหรือไม่ ซึ่งตอนแรก ศาลยกฟ้อง เพราะศาลระบุว่า มูลนิธิสามารถฟ้องได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการทุจริต จึงสู้ต่อว่า การทุจริตทำให้ผู้บริโภคเสียหายมากที่สุด นำไปสู่การประชุมใหญ่ของศาล และศาลจึงประทับรับฟ้องไว้ในที่สุด ซึ่งถ้าจะให้ดี ควรกำหนดเลยว่า จะมีหน่วยงานใดเข้าตรวจสอบหรือฟ้องแทนได้

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER ในฐานะสื่อมวลชนที่เคยใช้ช่องทางต่าง ๆ ร่วมตรวจสอบภาครัฐ ระบุว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริต ก็ควรมีกลไก หรือเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมากลับพบอุปสรรคเป็นอย่างมาก เช่น ในกรณีเดียวกัน หากต้องการดูแบบการจัดซื้อจัดจ้าง การดูสรุปการจัดซื้อจัดจ้าง และรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลทั้งสามอย่างมีช่องทางแยกกันทั้งหมด นอกจากนี้ บางช่องทางยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะแสดงย้อนหลังในเว็บไซต์แค่หนี่งเดือน สะท้อนให้เห็นว่าแค่เรื่องเดียว แต่ต้องหาข้อมูลหลายแหล่ง อีกทั้งข้อมูลที่ได้ก็มีทั้งรูปแบบไฟล์ PDF ไฟล์รูป และเลขไทย ดังนั้น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลจึงต้องการให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลเดียว ที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีรายละเอียด

ปราบโกง

เครื่องมืออะไร ที่จะเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมปราบโกงได้อย่างแท้จริง

แม้จะมีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับกลไกหน่วยงานภาครัฐ อย่าง ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือองค์กรที่เชื่อมกับภาคประชาชน อย่าง พอช. แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เกิดขึ้นได้จริง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนร่วมสอดส่อง ตรวจสอบ ภายใต้กลไกที่เอื้อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ บอกว่า สมการการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันคือ ‘ดุลยพินิจ’ ลบด้วย ‘การตรวจสอบ’ ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจทั้งการกำหนดหลักปฏิบัติหนึ่งสองสามสี่ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจหรือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสินใจร่วมกันหลายคน อีกด้านคือการเพิ่มกลไกการตรวจสอบทำให้ข้อมูลรัฐโปร่งใส่มากขึ้น นำมาสู่การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เปลี่ยนตั้งแต่ชื่อว่าไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารราชการแต่เป็นเรื่องของสาธารณะ หากยึดหลักนี้ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดได้ โดยได้ไปดูแนวทางจากประเทศเอสโตเนียที่เขียนว่าข้อมูลภาครัฐในฐานข้อมูลต้องเปิดข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้ทุกอย่างต้องเปิดเผยก่อน ส่วนหน่วยงานไหนมองว่ามีเรื่องลับก็ไปปิดข้อมูลเป็นรายการไป หากทำแบบนี้ได้ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการงบประมาณ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลการทุจริตการจัดซื้อจัด

ธนิสรา เรืองเดช ตัวแทนจากธุรกิจสตาร์ตอัป และกลุ่ม WeVis เทคโนโลยีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า จากประสบการณ์เกือบสามปีที่ผ่านมา พบข้อจำกัดมากมาย มี “ข้ออ้าง” มากกว่า “ข้อมูล” , รัฐบาลมีช่องทาง แต่ไม่เคยถามประชาชนว่าใช้ช่องทางลำบากหรือไม่ หรือแบบไหนที่อยากได้ กลไกแบบไหนเหมาะสม หลายประเทศ มี Government Design Service, ประชาชนอยากช่วย แต่ไม่มีระบบติดตาม โดยยกตัวอย่างโครงการเส้นเลือดฝอยของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ระบุว่าข้อมูลที่รับมาไปถึงไหน ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีระบบติดตามว่าแต่ละเรื่องไปถึงไหนอย่างไร และสุดท้าย ความหวังแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มีคนบอกว่าการปราบคอร์รัปชันก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ซึ่งก็ต้องหาควิกวินที่เห็นผลในระยะสั้น

“ถ้าบอกว่า ประชาชนไม่ดังพอ แต่ตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าเสียงดังมากแล้ว ดังจะเห็นจากยอดเอนเกจเมนท์ในเรื่องของการตรวจสอบทุจริต ภาครัฐจะทำอะไรได้อีก ควิกวินที่จะปลดล็อกอะไรอีกหลายเรื่องคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร”

ปราบโกง

กทม. กับความร่วมมือปราบโกง และขยายผลไปยังท้องถิ่นอื่นได้

ผศ.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise กล่าวว่า การต่อต้านการคอร์รัปชันสิ่งสำคัญคือประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ การต่อต้านก็จะไม่มีประสิทธิภาพแน่นอน โดย ‘ควิกวิน’ ที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลที่จะส่งผลต่อดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) จากที่ได้ไปพบกับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น ข้อตกลงคุณธรรมที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ประเทศประหยัดงบฯ ไปได้ถึงแสนล้านบาท การเปิดเผยข้อมูลที่ทาง ACT Ai ดึงข้อมูลมา 22 ล้านชุด เพื่อทำให้ค้นหาได้ง่าย ซึ่งได้พูดถึงการเชื่อมต่อกับระบบ กทม. ที่จะมีข้อมูลรายเขต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมืออื่น ๆ ตามมาอีกมาก

สุดท้ายคือประเด็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจ ที่อาจปรับแก้ให้ลดการใช้ดุลยพินิจ เช่น การออกใบอนุญาตโดยไม่จำเป็น ลดการพบปะ คนต่อคน ก็จะช่วยลดโอกาสคอร์รัปชัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน แต่ก็มีความหวังหากรับแนวทางนี้ไปใช้ก็มีโอกาสความสำเร็จสูง กทม. อาจจะเป็นอีกต้นแบบในการพัฒนาหรือเป็นแซนด์บอกซ์ ขนาดใหญ่ โดยสมการใหญ่ คนยังเป็นหลักสำคัญ และต้องมีข้อมูล เมื่อมี “คน” และ “ข้อมูล” การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง