ในวันที่จีนติดเชื้อโควิด-19 รายวันกว่า 1 ล้านคน ไทยรับมืออย่างไร?
หลังจากที่จีนดำเนินนโยบาย ZERO COVID มาตั้งแต่เริ่มการระบาด ด้วยมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นยาวนาน บีบให้ประชาชนจีนหลายเมืองออกมาประท้วงประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง อย่างไม่เคยมีมาก่อน จนกระทั่งการตัดสินใจล่าสุดของจีน ยอมลดระดับโควิด-19 จากโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังระดับ A เป็นระดับ B ปลดล็อกหลายมาตรการควบคุมโรค ไปพร้อม ๆ กับการเปิดประเทศ วันที่ 8 มกราคม 2566
3 ปีที่ชาวจีนต้องอยู่กับมาตรการล็อกดาวน์ นี่จะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะได้ออกเดินทางอีกครั้ง จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากคำค้นหาในเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังที่ชาวจีนนิยมใช้ qunar.com หนีไม่พ้น ประเทศไทย ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 20 วันก่อนถึงวันเปิดประเทศวันที่ 8 มกราคม 2566 อยู่ที่ 250 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 1 ล้านคน และจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน 5,000 คน (ที่มา: รอยเตอร์) ด้วยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงนำมาซึ่งความกังวลของหลายฝ่าย เมื่อไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง โดยมีถึง 16 เมืองจากประเทศจีน ที่บินตรงมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย
สถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวจีน 11 ล้านคน ขณะที่ปี 2565 หลังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ไทยมีนักท่องเที่ยวจีน 2.7 แสนคน และในปี 2566 หลังจีนเปิดประเทศ ททท.ตั้งเป้าว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน โดยน่าจะพีคสุดช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 21% ต่อ GDP และกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 มาจากประเทศจีน มาถึงเวลานี้หากต้องการฟื้นเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธนักท่องเที่ยวจีนได้ แต่อาจต้องแลกกับปัญหาด้านสาธารณสุขหรือไม่
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าไม่เป็นห่วงว่าระบบสาธารณสุขไทยจะได้รับผลกระทบ เนื่องจาก นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกจากประเทศ ต้องมีการตรวจ RT-PCR ก่อน และต้องรับวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
เมื่อมาไทยก็ต้องมีการทำประกันสุขภาพ เพราะหากเจ็บป่วยจะไม่ได้เป็นภาระในการดูแล และหากต้องการรับวัคซีนเพิ่มก็สามารถขอรับได้ เนื่องจากจีนรับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 3 เข็ม ทางไทยก็จะเตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับนักท่องเที่ยวด้วยความสมัครใจ แต่ในส่วนนี้จะต้องมีการคิดค่าใช้จ่าย
อนุทิน ย้ำอีกว่าการพิจารณาเรื่องมาตรการต่าง ๆ ของทางกรมควบคุมโรค ไม่ได้คิดคำนึงด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่คิดเรื่องของเศรษฐกิจด้วยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้น จึงไม่ได้เข้มมากแต่คิดเรื่องจุดสมดุล
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับแนวทางควบคุมโรคของประเทศอื่น ที่เริ่มมีการออกมาตรการต่าง ๆ หลังจากประเทศจีนยืนยันเปิดประเทศ 8 มกราคม อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้ที่มาจากประเทศจีนตรวจเชื้อโควิด-19 ปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีผลลบไม่ติดเชื้อ แต่ยังต้องกักตัว 5 วัน และหากพบผลบวกหรือติดเชื้อ ต้องกักตัว 7 วัน พร้อมทั้งจำกัดเที่ยวบินจากประเทศจีนไว้เพียง 4 สนามบิน ได้แก่ นาริตะ ฮาเนดะ คันไซ และชูบุ
ส่วนอินเดียเป็นอีกประเทศที่มีการออกมาตรการควบคุมโรคเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ผู้มาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ฮ่องกง และไทย พร้อมทั้ง กักตัวผู้ติดเชื้อ
ขณะที่สหรัฐอเมริกา ก็กลับมากำหนดให้ต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ผู้เดินทางทุกคนที่มาจากประเทศจีน รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า ก่อนเดินทางเข้าประเทศสหรัฐหลังจากก่อนหน้านี้ อิตาลี มาเลเซีย ไต้หวัน ประกาศใช้มาตรการคล้ายคลึงกันนี้กับนักเดินทางจากจีนมาก่อนแล้ว