เปิดสภาเด็กฯ : ก้าวเล็ก ๆ ขออาสาพัฒนาเมืองใหญ่

ครั้งแรกของ การเลือกตั้งประธานสภาเด็กและเยาวชนระดับเขตในกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษคือเป็นการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยตรวจสอบความโปร่งใส โดยผู้มีสิทธิ์คือเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่มีการเลือกตั้งทั้งหมด 30 เขต

การเลือกตั้งประธานสภาเด็กฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบรับข้อเสนอการปฏิรูปการคัดเลือกสภาเด็กฯ ตามที่ทางสภาเด็กฯ ได้เคยเสนอมาทั้งสิ้น 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  • การปรับการเลือกตั้งประธานสภาเด็กฯ ระดับเขตให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งกรุงเทพ

  • การใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนมาใช้ในระบบเลือกตั้งออนไลน์เพื่อปูพื้นฐานสู่การเลือกตั้งในอนาคต

  • และถือเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ

เมื่อก้าวเล็ก ๆ ขออาสามาพัฒนาเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร พวกเขาจะนำพาเมืองที่อาศัยอยู่เดินหน้าไปในทิศทางใด The Active ชวนร่วมกันสำรวจนโยบาย และการเลือกตั้งครั้งแรกของสภาเด็กฯ นี่อาจเป็นก้าวแรกสู่การกระจายอำนาจให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ สามารถมามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

สนามเลือกตั้ง 30 เขต สมัครลงชิง ‘ประธานสภาเด็กฯ ระดับเขต’ 164 คน

หลังจากที่ได้ปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนระดับเขต ในช่วงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีเยาวชนสมัครทั้งสิ้น 164 คน จากสนามการเลือกตั้งทั้งหมด 30 เขต เฉลี่ยเขตละ 5.5 คน สูงสุดอยู่ที่ เขตดอนเมือง ลงสมัครทั้งสิ้น 19 คน และต่ำสุดอยู่ที่ เขตพระโขนง และบางกอกน้อย เขตละ 2 คน โดยรายละเอียดจำนวนทั้งหมดมี ดังนี้

  • ดอนเมือง 19 คน
  • บางขุนเทียน 10 คน
  • ภาษีเจริญ 10 คน
  • ดินแดง 10 คน
  • บางนา 8 คน
  • บางกะปิ 7 คน
  • มีนบุรี 7 คน
  • บางเขน 6 คน
  • บางแค 6 คน
  • ประเวศ 6 คน
  • คลองเตย 6 คน
  • บึงกุ่ม 5 คน
  • บางซื่อ 5 คน
  • คลองสามวา 5 คน
  • พระนคร 4 คน
  • ดุสิต 4 คน
  • ลาดกระบัง 4 คน
  • ตลิ่งชัน 4 คน
  • หนองแขม 4 คน
  • จตุจักร 4 คน
  • ลาดพร้าว 4 คน
  • วัฒนา 4 คน
  • สัมพันธวงศ์ 3 คน
  • ห้วยขวาง 3 คน
  • คลองสาน 3 คน
  • บางคอแหลม 3 คน
  • จอมทอง 3 คน
  • บางบอน 3 คน
  • พระโขนง 2 คน
  • บางกอกน้อย 2 คน

ผู้ลงสมัครเกินครึ่ง เคยเป็นสภานักเรียน-สภานักศึกษา

เมื่อสำรวจข้อมูลที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ระบุถึงประวัติการทำงานของผู้ลงสมัครประธานสภาเด็กฯ พบว่า ในบรรดาแคนดิเดตที่มีข้อมูลทั้งสิ้น 138 คน เกินครึ่งหนึ่ง (72 คน จาก 138 คน, 52%) เคยเป็นสมาชิกสภานักเรียน และ สภานิสิต นักศึกษา และบางส่วน เคยเป็นสมาชิกสภานักเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครอีกด้วย

รองลงมา พบว่า แคนดิเดตถึง 30 คน (21%) เคยเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน หรือเป็นสมาชิกของสภาเมืองคนรุ่นใหม่กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโครงสร้างการมีส่วนร่วม ของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร พวกเขาเหล่านี้มีความสนใจที่จะอาสามาเป็นประธานสภาเด็กฯ ต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ลงสมัคร 7 คน (5%) เคยทำงานเกี่ยวกับด้านการเมือง (เป็นผู้ติดตามนักการเมือง) หรือเป็นนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนมาก่อน จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็เข้ามามีบทบาทและมีความสนใจต่อเรื่องการเมืองของประเทศในระดับภาพใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อดูข้อมูลของอายุผู้ลงสมัครพบว่า 54% เป็นเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้เคยเป็นสมาชิกสภานักเรียนในโรงเรียน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยของมหาวิทยาลัยจำนวนผู้ลงสมัครกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอายุที่มีผู้ลงสมัครมากที่สุดคืออายุ 17 ปีในขณะที่สัดส่วนของเพศทั้งชายและหญิงมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

นโยบาย ‘การศึกษา’ ยืนหนึ่ง

จากข้อมูลของ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยนโยบายของผู้ลงสมัครประธานสภาเด็กฯ ที่มีข้อมูลอยู่ทั้งสิ้น 138 คน พบว่า มีแคนดิเดตถึง 60 คน (43%) ที่พูดถึงนโยบายการส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ เช่น ต้องการพัฒนาหลักสูตรเดิม เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน และส่งเสริมให้เยาวชน ได้ออกมาค้นหาตัวเองมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับช่วงวัยของผู้ลงสมัครที่ส่วนมากเป็นวัยเรียน

ขณะที่นโยบายที่ถูกกล่าวถึงมากเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 คือ นโยบายการพัฒนาชุมชนและเมือง (35 คน, 25%) นโยบายการเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตย (35 คน, 25%) และนโยบายการเป็นกระบอกเสียงเพื่อสะท้อนปัญหาของชุมชน (33 คน, 24%) โดยเยาวชนมองเห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนละแวกใกล้เคียง และมองเห็นถึงปัญหาของการที่เยาวชน ยังไม่มีพื้นที่ในการส่งเสียงเรียกร้อง หรือเสนอทางออกของปัญหาที่เขามองเห็น จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า เยาวชนในกรุงเทพมหานคร มีความตื่นตัวไม่น้อยต่อการได้เข้าไปมีส่วนร่วม และมีบทบาทพัฒนาเมืองของพวกเขา 

สอดคล้องกับข้อมูลที่พบ 11 คน (8%) มองเห็นถึงการปลดล็อคศักยภาพของสภาเด็กฯ ให้สามารถมีบทบาทพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, การเสนอนโยบายโดยตรงต่อสำนักในกรุงเทพมหานคร, การมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณที่มากขึ้น, หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสภาของผู้ใหญ่ระดับประเทศ เช่น สภากรุงเทพมหานคร และรัฐสภา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากนโยบายที่เยาวชนได้ยื่นเข้ามาพบว่า มีถึง 18 คน (11%) ที่ต้องการเห็นสภาพสังคมที่มีความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา เพศสภาพและการออกแบบเมืองตามอารยสถาปัตยกรรม (Universal Design) 

นอกจากนี้ยังมีอีก 9 คน (6%) ที่พูดถึงการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งมีนิยามที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น ส่งเสริมการรู้จักรักและเคารพต่อสถาบันหลักของชาติและครอบครัว ส่งเสริมการมีคุณธรรมจริยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีและผลักดันเพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักสำนึกรักและหวงแหนวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

ผู้ที่สนใจติดตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของ ผู้ลงสมัครประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตทั้ง 164 คนสามารถติดตามได้ที่แฮชแท็ก #เลือกตั้งสภาเด็ก67 บนแอปพลิเคชั่น TikTok

สะท้อนเมืองผ่านนโยบายของแคนดิเดต

จากข้อมูลข้างต้นทาง The Active ได้ประมวลผลโดยนำข้อมูลประวัติการทำงานของแคนดิเดตแต่ละคน มาจับคู่กับนโยบายที่พวกเขาสนใจนำเสนอ ตลอดจนดูความโดดเด่นของนโยบายแต่ละด้านในรายเขต พบว่า มีจุดที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน เช่น

  • เขตที่แคนดิเดตพูดถึงนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือ เขตมีนบุรี ส่วนเขตที่แคนดิเดตพูดถึงนโยบายการพัฒนาเมืองและชุมชนมากที่สุดคือ เขตดินแดง ขณะที่ นโยบายส่งเสริมทักษะและการศึกษาพูดกันมากที่สุดใน เขตดินแดง และเขตบางเขน
  • จำนวน 1 ใน 3 ของแคนดิเดตที่เสนอนโยบายด้านการศึกษา (20 คน) ได้เสนอนโยบายการพัฒนาเมืองคู่กัน และเกือบครึ่งหนึ่งของแคนดิเดตที่สัญญาว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนและเยาวชน (15 คน) ได้เสนอนโยบายเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตยคู่กันด้วย
  • เรื่องของประวัติการทำงาน ก็อาจส่งผลต่อนโยบายที่พวกเขานำเสนอด้วยเช่นเดียวกัน จากข้อมูลพบว่า ในกลุ่มแคนดิเดตที่เคยทำงานด้านการเมือง และเคยเป็นนักเคลื่อนไหวมาก่อน 4 ใน 7 คน (57%) ให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาพอ ๆ กันกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชน 
  • ขณะที่แคนดิเดตที่เคยทำงานอาสาสมัครกับชุมชนและมูลนิธิต่าง ๆ 5 ใน 17 คน (29%) ให้น้ำหนักกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าแคนดิเดตกลุ่มอื่น ๆ (ให้น้ำหนักไม่เกิน 10% ของจำนวนแคนดิเดตในแต่ละกลุ่ม)

เลือกตั้งครั้งนี้ ได้เลือก 30 คน จากสมาชิกในสภาเด็กฯ 95 คน

แม้กรุงเทพมหานคร จะประกอบด้วย 50 เขต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในสภาฯ จะประกอบไปด้วยสมาชิก 50 คน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เลือกตั้งแค่เพียงประธานสภาเด็กและเยาวชนในระดับเขต แค่ 30 คนเท่านั้น จากสมาชิก 95 คนในสภาฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2560 ระบุว่า สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 95 คน ได้แก่

  • ประธานสภาเด็กฯ 50 เขต เขตละ 1 คน รวมเป็น 50 ที่นั่ง ซึ่งขณะนี้ยังมีอีก 20 เขต ที่ยังไม่หมดวาระในการดำรงตำแหน่ง

  • ผู้แทนนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถานศึกษาจำนวน 33 คน 33 ที่นั่ง ประกอบด้วย
    • ผู้แทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 11 คน
    • ผู้แทนนักเรียนอาชีวศึกษา 11 คน 
    • ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย 11 คน

  • ผู้แทนกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวน 12 กลุ่มกลุ่มละ 1 คนรวมเป็น 12 ที่นั่ง

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งในสภาเด็กฯ จะมีวาระการทำงาน 2 ปี มีบทบาทหน้าที่เป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนสะท้อนปัญหารวมถึงเสนอนโยบายและผลประโยชน์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กจากระดับท้องถิ่นสุขระดับประเทศโดยในแต่ละเขตจะได้รับงบประมาณจัดสรรตั้งแต่ 30,000 – 100,000 บาทต่อเขต

ส่วนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดอื่น ๆ จะมีหน้าที่หลัก เช่น ประสานงานระหว่างสภาเด็กและเยาวชนระหว่างจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ, ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการการศึกษาและอาชีพวัฒนธรรมในท้องถิ่น, จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถ, รวมไปถึงการสะท้อนความคิดเห็น เป็นกระบอกเสียงให้กับเยาวชนในพื้นที่เพื่อเสนอความเห็นต่อสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

อายุไม่เกิน 25 ปี ก็เลือกตั้งสภาเด็กฯ ได้!

ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งของสภาเด็กและเยาวชน แต่ผู้ใหญ่บางคนก็สามารถเลือกตั้งได้ หากมีอายุไม่เกิน 25 ปี และมีทะเบียนบ้านอยู่ใน 30 เขต ที่มีการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือผู้มีสิทธิ์จะต้องลงทะเบียนเลือกตั้ง เพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 

การเลือกตั้งครั้งนี้ทางกรุงเทพมหานคร ได้ประสานกับทางโรงเรียนในสังกัด และโรงเรียนอื่น ๆ จัดห้องคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยการเลือกตั้ง ที่นักเรียนเข้าไปสามารถใช้สิทธิ์และลงคะแนนได้ และยังได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกด้วย

จึงเป็นครั้งแรกในไทย ที่ดำเนินการเลือกตั้งผ่านระบบ Blockchain ซึ่งจัดการข้อมูลอัตโนมัติ ทำให้สามารถนับ และคำนวณผลการเลือกตั้งได้ทันที สะดวกต่อการลงคะแนนเนื่องจากเป็นรูปแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้บล็อกเชนเลือกตั้ง ก็ยังมีข้อน่ากังวลบางประการ เช่น เครื่องมือที่รองรับการลงคะแนน, การเข้ารหัสที่อาจถูกเจาะเพื่อแก้ไขผลได้ หรือ ผู้ใช้งานอาจถูกเสี่ยงต่อการโดนสวมรอยเพื่อลงคะแนนแทนได้ การที่ผู้คนตั้งคำถามว่าระบบโปร่งใสจริงหรือไม่ นำมาสู่ความท้าทายด้านการเข้าถึงความปลอดภัย และการยืนยันตัวตน ที่ทางผู้จัดการเลือกตั้งต้องพิจารณาต่อไป

สภาเด็กและเยาวชน VS สภาเมืองคนรุ่นใหม่

นอกเหนือสภาเด็กและเยาวชน กทม. ยังมีอีกโครงสร้างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ในการรับฟังเสียงของเยาวชนเพื่อมาพัฒนาเมือง นั่นคือ ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน ในหมวดการบริหารจัดการดี

เนื่องจากข้อจำกัดของสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดอายุให้เฉพาะเยาวชนที่อายุไม่เกิน 25 ปี และต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมได้ แต่ในพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานครนั้นมีความหลากหลายของผู้อยู่อาศัย ปัญหาก็มีความซับซ้อนเนื่องจากมีคนจากหลายภูมิลำเนาอาศัยอยู่ร่วมกัน ดังนั้น สภาเมืองคนรุ่นใหม่ จึงเป็นเสมือนกับแพลตฟอร์มที่ให้เยาวชนอายุตั้งแต่ 15 – 35 ปีไม่จำกัดภูมิลำเนาเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายที่ส่งผลต่อภาพรวมกรุงเทพมหานครและผลักดันร่วมกับสำนักในกรุงเทพมหานครได้

นอกจากนี้ การดำเนินการของรัฐในมิติที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ไม่ได้นำสภาเด็กฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคณะทำงาน และงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้บางส่วน ไม่ได้มาถึงโครงการที่ถูกพัฒนาโดยสภาเด็กฯ ดังนั้นเพื่อสร้างรูปแบบการทำงานของ กทม. ที่มีส่วนร่วมและมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกและให้ความคิดเห็นอย่างเป็นระบบ จึงเกิดเป็นพื้นที่ สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ขึ้นมา

การมีอยู่ของทั้ง 2 กลไก ไม่ได้มีจุดประสงค์ไปเพื่อการแข่งขันหรือแย่งกันทำงาน หากแต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบจุดประสงค์เดียวกันคือ การสร้างพื้นที่รับฟังเสียงเยาวชนเพื่อพัฒนาเมืองร่วมกัน ในท้ายที่สุดทั้ง 2 กลไกนี้ จะร่วมเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

สภาเมืองคนรุ่นใหม่ เป็นเสมือนแพลตฟอร์มที่ช่วยบ่มเพาะประสบการณ์ให้กับเด็กและเยาวชนในกรุงเทพ เพื่อรอวันที่โครงสร้างของสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงภาพรวมใหญ่ของประเทศมีความแข็งแรงมากขึ้น จนพวกเขาสามารถดำเนินงานและคุ้มครองสิทธิ์ของเยาวชนด้วยกันเองได้อย่างเป็นระบบ

และการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของการปูพื้นฐาน เพื่อสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ตามวิถีประชาธิปไตย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง