สำรวจ นโยบายที่หายไป #รัฐบาลเศรษฐา

‘ล่องหน’ และ ‘ไม่ตรงปก เป็นเสียงสะท้อนจาก สส. สว. ในการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยตั้งข้อสังเกตว่าหลายนโยบายที่เคยใช้เป็นนโยบายหาเสียง กลับหายไประหว่างทางไม่ถูกบรรจุเข้ามาอยู่ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา หรือบางนโยบายถูกตัดทอนเงื่อนไข รายละเอียด เหลือแต่เพียงภาพกว้าง

ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ ที่ต้องเกลี่ยให้กับนโยบายอื่น ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล หรือ เป็นเพียงแค่เทคนิคการหาเสียง จนทำให้หลายนโยบาย ต้องหล่นหายไประหว่างทาง ย่อมส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ตัดสินหย่อนบัตรเลือกตั้งโดยหวังว่าพรรคการเมืองที่เลือกจะผลักดันนโยบายนั้น ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ก่อนที่การหาเสียงรอบหน้าจะมาถึง The Active ชวนสำรวจ นโยบายที่หล่นหายไประหว่างทาง โดยการรวบรวมของ ศูนย์ข้อมูล Policy Watch ไทยพีบีเอส ซึ่งตั้งต้นเปรียบเทียบจากนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่เคยใช้หาเสียง และยื่นต่อ กกต.ไว้อย่างไรบ้าง เหมือนหรือต่างหรือหายไปจากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยแบ่งเป็นกลุ่มคร่าว ๆ ใน 8 กลุ่มนโยบายสำคัญ


เริ่มกันที่ประเด็นแรก คือ เรื่องของ รัฐธรรมนูญ และสิทธิการเมือง ที่ถูกจับตาอย่างหนัก คือ สรุปแล้วคำแถลงจะเอายังไงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตอนหาเสียง และนโยบายที่ยื่นกับ กกต. ระบุ จะ #ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง และผ่านขั้นตอนออกเสียงประชามติ แต่ในคำแถลง กลับไม่ได้ระบุเรื่อง สสร.ไว้ พูดแค่จะหารือแนวทางการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย โดยจะหารือแนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

#เรื่องปฏิรูปกองทัพ เป็นทหารมืออาชีพ ก็ย้ำว่าจะทำทั้งในตอนหาเสียง และ ที่เสนอ ต่อ กกต. แต่ในคำแถลงนโยบาย เปลี่ยนจาก “ปฏิรูป” เป็น “พัฒนากองทัพ” ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหาร เคยหาเสียงไว้ว่า จะแก้กฎหมายยกเลิกการเกฑณ์ทหาร แต่ในคำแถลง ระบุว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ

ในหมวดเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นธงนำของเพื่อไทยมาตั้งแต่หาเสียงอยู่แล้ว คือเรื่อง แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และยืนยันจะเดินหน้า แม้จะเริ่มมีเสียงทักท้วง ทั้งวงเงินที่ค่อนข้างสูง กับผลลัพธ์ รวมถึงคำถาม ถึงที่มาของเงิน แต่ที่หายไปไม่ถูกพูดถึงในการแถลงนโยบายเลย คือ #เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท, #เงินเดือน จบ ป.ตรี 25,000 บาท และ #ทำให้ทุกครัวเรือน มีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ประเด็นนี้ หลายฝ่ายก็เลยมองว่า ไม่ตรงปกหรือไม่ แต่นายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ก็ทยอยตอบคำถาม และชี้แจงแล้วว่า ยังจะเดินหน้า หรือ ทยอยทำไป แม้ไม่ได้ระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย

ส่วนนโยบายด้านการเกษตร จากที่เคยหาเสียงทั้งเรื่องพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกทันที #เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายในปี 2570 #การช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ #แก้กฏหมาย สปก. เร่งพิสูจน์สิทธิ แต่ในคำแถลงเมื่อวานนี้ สำหรับเรื่อง #การพักหนี้เกษตรกร ก็ดูจะมีเงื่อนไขมากขึ้น เพราะระบุว่า ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และความเหมาะสม


ที่อาจจะไม่ตรงปกอีกเรื่อง คือ นโยบายการศึกษา ซึ่งคำแถลง เน้นที่ปฏิรูปการศึกษา สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้ความสำคัญกับคุณภาพครู แต่ไม่ลงรายละเอียด เหมือนอย่างที่เคยหาเสียง และ เสนอต่อ กกต. ที่มีทั้ง #OneTablet per Child with free Internet #OneTablet per Teacher with free Internet # เรียนฟรีต้องฟรีจริง  #เพิ่มงบฯ อาหารกลางวัน 20% # ผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ #ขจัดการละเมิดสิทธิผู้เรียน #ยกระดับศูนย์เด็กเล็ก #1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน #กระจายอำนาจ งบฯ ให้โรงเรียน #กองทุนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ถัดมาในประเด็นการจัดการภาครัฐ และแก้ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งนโยบายเน้นไปที่การสร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ทุจริต ลดค่าใช้จ่าย ต่างจากนโยบายที่ใช้หาเสียงเล็กน้อยที่ระบุถึง #สร้างความโปร่งใส ปิดช่องโหว่ทุจริต ด้วยรัฐบาลดิจิทัล ส่วนประเด็นเรื่อง #กระจายอำนาจท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดนำร่อง   ถูกปรับไปเป็น “กระจายอำนาจ ด้วยผู้ว่าฯ CEO” จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตว่า ปิดประตูตายกระจายอำนาจหรือไม่ โดยย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับแนวคิด CEO ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นไปที่ประเด็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งในคำแถลงฯ ย้ำว่ารัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจ และ เจรจาประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การหาเสียง และ นโยบายที่ยื่นต่อ กกต. มองเรื่องการสร้างกลไกแก้ปัญหาด้วย #พ.ร.บ.อากาศสะอาด ตัดปัญหากันที่ต้นตอ ไม่ได้ถูกพูดถึง

ด้านสวัสดิการ/สุขภาพ ประเด็นยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นอีกเรื่องที่เน้นย้ำตรงกัน แต่ก็มีรายละเอียดบางเรื่อง ที่ไม่มีในคำแถลง #รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย  ที่ถือเป็นอีกนโยบายเรือธงของเพื่อไทย แต่กลับไม่มีเรื่องนี้ในคำแถลง แม้ รมว.คมนาคมจะยืนยันกลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ว่า เดินหน้าเรื่องนี้ต่อแน่ หลังถูกทวงถามหลายรอบ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น #50 เขต50โรงพยาบาล   #สวัสดิการผู้สูงอายุ 3 แสนล้านบาท   #ดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการครู-ผู้ปกครอง ยังไม่มีการพูดถึง

เรื่องสุดท้ายคือ นโยบายการต่างประเทศ เน้นย้ำเรื่อง หนังสือเดินทางไทย ไปได้ทั่วโลก แต่ในคำแถลง ระบุการยกระดับหนังสือเดินทางไทย ให้เดินทางได้หลายประเทศ โดยไม่ต้องขอวีซ่า และไม่ได้พูดถึงนโยบาย #เปิดประตูการค้า เสริมโอกาสการต่างประเทศ ตามที่ได้หาเสียงไว้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active