ไทยพร้อมไหม ! รับมือคลื่นผู้ป่วยมะเร็ง

กระแสของผู้ป่วยมะเร็งอายุน้อยลง ที่แชร์ประสบการณ์บนโลกออนไลน์มีให้เห็นกันบ่อยขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นหมอ เรามักพบว่าแม้พวกเขาจะมีการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แต่ในที่สุดโรคมะเร็งก็ไม่เลือกหน้า 

ก่อนหน้านั้นที่เป็นข่าวโด่งดังก็คืออาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อายุ 28 ปี เป็นมะเร็งปอด ตามมาด้วยตำรวจหนุ่มที่มาแชร์เรื่องราวตัวเองก็เป็นมะเร็งปอดเหมือนกัน ทั้งที่อายุก็ไม่มากนัก ล่าสุด กับกรณีแพทย์หญิงวัย 28 ปีเปิดเพจแชร์เรื่องราวชีวิตป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เมื่อว่ามาถึงจุดที่ตัวเองเป็นผู้ป่วยเองก็มีความเข้าใจคนไข้มากขึ้น 

“ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างขนาดไหน การต่อสู้กับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด การต้องระวังตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ป่วย แต่ละวันมันไม่เคยง่ายเลย”  

เพจพักก้อน

นี่ยังไม่นับรวมกับที่หลายคนอาจจะมีคนใกล้ตัวที่กำลังป่วยเป็นมะเร็ง  เหล่านี้พอจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเหมือนเหมือนกัน

กรมการแพทย์ เปิดเผยสถานการณ์การป่วยโรคมะเร็ง โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 140,000 คน หรือ คิดเป็น 400 คนต่อวัน จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องวางแผนทุ่มงบประมาณ เพื่อขยายการรักษาให้ครอบคลุม และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด

ปัจจุบันมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี 
  • มะเร็งปอด 
  • มะเร็งเต้านม 
  • มะเร็งลำไส้ 
  • มะเร็งทวารหนัก 

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นายแพทย์สกานต์ บุนนาค บอกว่าสำหรับมะเร็งปากมดลูกอัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  

ขณะที่อัตราการเกิดมะเร็งพบได้ในคนอายุน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากถึง 30-40%  โดยเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง, ปิ้งย่าง หากลดอาหารเหล่านี้ได้ก็สามารถลดปัจจัยการเกิดมะเร็งได้ 30-40 % 

ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5  ที่พบในภาคเหนือ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด เป็นเพียงปัจจัยร่วม โดยฝุ่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างชัดเจน ได้แก่ บุหรี่ ฝุ่นจากแร่ใยหิน และ ใยไม้ ทั้งนี้ ยังต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยต่อไป เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่งเกิดในสังคม และบางพื้นที่ไม่นาน

เสียงสะท้อนผู้ป่วยมะเร็ง กับการเข้าถึงการรักษา 

คนไทยทุกคนจะมีสิทธิสุขภาพประจำตัวไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือว่าสิทธิข้าราชการ ซึ่งตอนนี้ทุกสิทธิก็ครอบคลุมไปถึงการรักษาโรคมะเร็งกันหมดแล้ว แต่จะเบิกได้ครอบคลุม มากน้อยก็จะต่างกันไป 

แน่นอนว่าถ้าเป็นสิทธิข้าราชการก็จะเบิกค่ารักษาได้เกือบจะ 100% ขณะที่สิทธิประกันสังคมผู้ป่วย ก็ไม่ต้องเสียค่ารักษา แต่อาจต้องจ่ายเพิ่มเรื่องค่าห้องพัก 

นุชจรินทร์ เฉลิมบุญ พนักงานบริษัท ปัจจุบันอายุ 50 ปี ใช้สิทธิสุขภาพประกันสังคมตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เมื่อปี 2564 ในระยะสอง เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดและให้คีโม โชคดีที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่น แต่แพทย์ยังคงติดตามผลการตรวจในทุก ๆ 3 ถึง 6 เดือน 

นุชจรินทร์ เฉลิมบุญ ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิประกันสังคม

นุชจรินทร์ มองว่ายิ่งตรวจพบก้อนเนื้อได้เร็วจะมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากกว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ชอบสังเกตอาการความผิดปกติในร่างกายของตัวเองหากพบความผิดปกติจากพบแพทย์ทันที โดยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสังคมของตัวเอง 

ย้อนกลับไปในช่วงที่พบก้อนเนื้อครั้งแรกโรงพยาบาลตามสิทธิมองว่ามีศักยภาพจะรักษาได้ แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอในการที่จะรักษา ทำให้เธอเสียโอกาสที่จะ เข้าสู่กระบวนการรักษาที่กว่านี้ 

“หมอบอกว่าต้องผ่าตัดนะพี่ เพราะมันใหญ่มาก แต่เวลานั้นการผ่าตัดมันลำบากมากเพราะอยู่ในช่วงโควิดพอดี ไม่รับเคสผ่าตัดอะไรเลย แต่หากรอต่อไปมันอาจจะลาม เราก็ไปที่แผนกสูตินรีเวช ด้วยความที่เราก็อยากเข้ารักษา เราอ้อนวอนเขา”

แม้การใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็งจะทำให้เธอไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่เธอ ก็อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้ประกันตนว่าสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง รักษาได้ในระยะเวลากี่ปี ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้สิทธิประกันสังคมส่วนหนึ่งเคยเปิดเผยว่าหากเป็นการรักษามะเร็ง แบบใช้ยามุ่งเป้า จะต้องเป็นผู้ป่วยในระยะที่สามเท่านั้น 

“พี่เพิ่งผ่านปีแรกกับปีที่สองมา ซึ่งตอนนี้มันยังฟรีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าปีที่ 4-5 จะอย่างไร เพราะมะเร็งมันต้องติดตามตลอดชีวิต มันยังจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ตลอดไปหรือเปล่า พี่ไม่ทราบเลย” 

เปิดใจผู้ป่วยมะเร็ง สิทธิบัตรทอง 

มีอีกตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิสุขภาพที่ใช้กันเยอะที่สุด แต่ต้องรักษากับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วม ซึ่งพบว่ามีจำนวนน้อยแห่ง

ผู้ป่วยรายนี้พอใจในการรักษา ตามสิทธิบัตรทอง แต่กังวลว่าจะต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลหลังสิ้นสุดกระบวนการรักษาหรือไม่ ขณะที่ยารักษาแบบมุ่งเป้า ยังไม่สามารถเบิกได้

พิมพาภัทร์ กีรติพัฒน์ธำรง ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง

3 ปีที่แล้ว พิมพาภัทร์ กีรติพัฒน์ธำรง ตรวจพบชิ้นเนื้อที่เต้านม ขนาด 5 เซนติเมตร ขณะที่มีอายุเพียง 32 ปี แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 เวลานั้นเธอเพิ่งให้กำเนิดลูกชายได้เพียง 6 เดือน ทุกวันนี้เธอ ยังหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ว่าทำไมเธอจึงป่วยเป็นมะเร็ง เพราะใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังมาโดยตลอด  

แม้จะเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว แต่ระหว่างรอคิวผ่าตัด 3 สัปดาห์ ชิ้นเนื้อกลับมีขนาดโตขึ้นเป็น 12 เซนติเมตร กลายเป็นมะเร็งระยะที่ 3 ซึ่งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง เธอมองว่าควรมีช่องทางสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และต่อเนื่องจนกว่าเป็นปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ 

“ร้องไห้ไป 3 วัน รีบฮึบขึ้นมาบอกกับตัวเองว่าฉันต้องรอด มันหลาย ๆ อย่าง 1. คือกลัวตาย 2. กลัวว่าค่ารักษามันจะหนักมาก สำหรับโรคนี้ แล้วก็กลัวไปหมดทุกอย่าง” 

พิมพาภัทร ต้องลาออกจากการเป็นครูโรงเรียนเอกชน เพื่อมาใช้สิทธิบัตรทองและเข้าโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ cancer anywhere กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ล้มละลายจากการรักษาตัว

หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษาโดยการผ่าตัด ให้คีโมและฉายรังสี​ เฉพาะการผ่าตัด มีค่าใช้จ่ายถึง 120,000 บาท และมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเองกว่า 64,000 บาท ซึ่งเป็นค่าศัลยกรรมเต้านมและค่าห้องที่ใช้ในการพักฟื้นกว่า 1 สัปดาห์​ 

“คุณหมอเขาให้เราเลือกว่ารักษาแบบคีโม หรือมุ่งเป้า แต่เวลานั้นที่คุยกัน ยามุ่งเป้ามันแพง เป็นยานอกบัญชียังเบิกไม่ได้ ยาใช้จ่ายมันน่าจะเยอะ ก็เลยถามหมอว่าระหว่างยามุ่งเป้า กับคีโม อันไหนมันจะโอเคกว่ากัน หมอก็ไม่ได้ยืนยันว่าอันไหนมันจะหาย หรือมันจะดีขึ้น” 

เวลานี้สุขภาพของ พิมพาภัทร์ ถือว่าดีขึ้นมากหลังจากผ่านการรักษาด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัด แต่แพทย์ยังคงนัดติดตามอาการและตรวจสอบเซลล์มะเร็งในทุก ๆ 3 เดือน เธอบอกว่าพร้อมที่จะเข้าสู่การรักษาในทุกรูปแบบ เพราะเชื่อมั่นในแพทย์ที่ทำการรักษา 

เธอบอกว่าอยากรักษาในที่เดิม คือที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต่อเนื่อง หลังจากทราบเงื่อนไขว่าอาจต้องเปลี่ยนหน่วยบริการ หลังจบกระบวนการรักษาจากที่นี่เพราะไม่รู้ว่าถ้าย้ายไปที่ใหม่ จะต้องเจอกับอะไรบ้าง จะต้องเริ่มใหม่ไหม ต้องเสียอะไรเพิ่มไหม

ทุกวันนี้ลูกชายและครอบครัวคือกำลังใจสำคัญ ที่เธอจะอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งต่อไปอย่างมีความสุข เมื่อใจของเธอพร้อม ก็คาดหวังว่ารัฐจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างเต็มที่ 

คนไทยป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่มีหน่วยรังสีรักษาเพียง 42 แห่ง

ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครบวงจร ดูเฉพาะหน่วยบริการตติยภูมิที่รับการส่งต่อ เฉพาะด้านรังสีรักษา ก็มีอยู่เพียง 42 แห่ง แม้จะกระจายอยู่ครบตามเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตแต่ไม่ครบทุกจังหวัด บางแห่งผู้ป่วยจึงต้องรอคิว ซึ่งเสี่ยงที่เซลมะเร็งจะลุกลามหากไม่เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที 

ขณะที่ ปัจจุบันพบแนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสปสช.ย้อนหลังไป 5 ปี ปี 2560 ไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 1 แสน 2 หมื่น 7 พันกว่าคน พอมาปี 2565 ไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มถึง 2 แสน 9 หมื่นคนหรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า 

หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร วิเคราะห์สาเหตุที่พบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ทำให้อุบัติการณ์โดยรวมของคนที่เป็นมะเร็งเยอะขึ้นจริง แต่ขณะเดียวกันในกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งพบว่าสัดส่วนของคนอายุน้อยลงด้วย ในหลายชนิดมะเร็ง ไม่ใช่ว่าทุกชนิด

อีกสาเหตุที่พบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีการตรวจมะเร็งหลายคนก็อาจจะป่วยเป็นโรคซึ่งวินิจฉัยไม่ได้แล้วก็ใช้การวินิจฉัยจากการสังเกตุอาการจากภายนอก เช่นปวดท้อง แล้วอยู่ๆก็เสียชีวิต ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะป่วยเป็นมะเร็งก็ได้แต่เราไม่รู้ 

นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

“ที่มะเร็งมันซับซ้อนและยาก เพราะว่ามนุษย์มันซับซ้อน เพราะมะเร็งคือโรคที่มีต้นกำเนิดจากมนุษย์ปกติ เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ปกติที่มีการเปลี่ยนแปลงจนมันโตไม่หยุด และมันแพร่กระจายได้ เพราะฉะนั้นเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์มนุษย์เรา” 

ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเหตุที่บางคนเป็นบางคนไม่เป็น อาจเพราะเราอาจยังดูกันไม่นานพอก็ได้ คนที่ไม่เป็น ณ วันนี้ เราก็บอกไม่ได้ว่าอีก 3 ปี 5 ปี เขาจะเป็นหรือเปล่า และอย่างที่สองคือ บางคนมีเหตุปัจจัย หรือต้นทุนที่ทำให้เขามีความเสี่ยงที่ทำให้ยีนส์เกิดกลายพันธุ์ได้สูงกว่าแล้วก็ทำให้เขาเป็นมะเร็งได้ง่ายขึ้น 

หาทางออกภาระงบประมาณสาธารณสุข รองรับคลื่นผู้ป่วยมะเร็ง 

แม้วงการแพทย์จะรู้จักกับโรคมะเร็งมานานหลายสิบปี แต่ทำไมค่าใช้จ่ายในการรักษายังไม่ลดลง เรื่องนายแพทย์มานพบอกว่า การรักษามะเร็งจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากแนวทางการรักษาใหม่ๆที่ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นด้วย ทั้งหมดยังเป็นช่วงขาขึ้น 

“เรายังไม่เห็นว่ามันจะไปถึงจุดคงที่เมื่อไหร่ คงอีกนาน และพูดยาก เพราะเทคโนโลยี มันมากขึ้นเรื่อย ๆ”

นายแพทย์มานพ ยังไม่รู้เลยว่าองค์ความรู้ของโรคมะเร็งจะอิ่มตัวเมื่อไหร่ ขนาดว่าองค์ความรู้เราเยอะขึ้นมหาศาลมากในช่วงเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังมีความรู้ไม่ถึง 10% มะเร็งยังมีความซับซ้อนมหาศาล

คำถามที่ตามมาก็คือ ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่มากขึ้น จะส่งผลกระทบต่องบประมาณที่จะเอามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ 

ปัจจุบันสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งในกองทุนบัตรทองอยู่ที่ 7% หรือคิดเป็น 12,000 ถึง 13,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ ยอมรับว่ายังมีงบประมาณเพียงพอแต่ก็เรื่องที่ท้าทาย 

สิ่งที่ สปสช. กำลังทำตอนนี้ คือการเจรจาต่อรองกับบริษัทยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า เพื่อลดราคาลงมาแล้วบรรจุไปในบัญชียาหลักให้เบิกได้ตามสิทธิ์ หรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรักษาที่ทำให้ต้นทุนการรักษามะเร็งถูกลง 

“อย่างที่บอกว่าด้วยกลไกการต่อรองในระดับประเทศ ด้วยจำนวนของคนไข้มะเร็งบัตรทองที่มาก เราก็ตามสั่งยาในปริมาณมาก ก็ควรได้ราคาที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายมันลดลง หลายๆโรคลดลงครึ่งหนึ่งหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งพอเราลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่ายา ค่ารักษา เราก็จะเอาไปขยายสิทธิประโยชน์อื่น ๆ” 

รองเลขาธิการ สปสช.
แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

อย่างไรก็ตาม เราพยายามเน้นเรื่องการป้องกัน และการดูแลสุภาพ เรื่องของการตรวจคัดกรองบ่อย ๆ ทำให้พบโรคได้เร็วขึ้น มันจะได้ไม่ไปถึงระดับ ที่เราต้องดูแลมากจนมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น 

สอดคล้องกับ นายแพทย์มานพ ที่บอกว่าคงต้องเน้นไปที่การป้องกัน แน่นๆเพราะการป้องกันหรือคัดกรอง จะสามารถวินิจฉัยคนที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นได้ก่อน หรือสามารถป้องกันคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งในอนาคตได้ก่อนยังไงก็ต้นทุนก็จะถูกกว่าการไปรักษาทีหลังเสมอ 

การตรวจคัดกรองในทุกวันนี้มักตรวจแยกเป็นส่วน ๆ เช่นคัดกรองมะเร็งเต้านมก็ทำอย่างหนึ่ง มะเร็งลำไส้ก็ทำอย่างไร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองด้วยการเจาะเลือดครั่งเดียว สามารถคัดกรองได้ทุกมะเร็งแต่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่15,000 บาท และไม่ได้รวมอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทอง ซึ่งหากบรรจุสิทธิประโยชน์นี้จะอยู่ในส่วนของงบส่งเสริมป้องกันโรค (งบPP) ครอบคลุมประกันสังคม และข้าราชการไปด้วย

รองเลขาฯ สปสช.บอกว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่บรรจุการคัดกรองมะเร็งด้วยการตรวจเลือดในสิทธิประโยชน์ของการป้องกันโรคไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรอให้ราคาถูกลงกว่านี้ โดยเตรียมรับการถ่ายทอดเทคโนยีจากเอกชน และขยายห้องปฏิบัติที่มีศักยภาพตรวจได้ให้ครอบคลุม ขณะที่มะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งปากมดลูก ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์