กลับสู่ยานแม่ สีลม Pride Month 2022

ก้าวต่อไปของ LGBTQIAN+

ครั้งแรกของ กรุงเทพมหานคร ต้อนรับ Pride Month 2022 หรือ เทศกาลไพรด์ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) กับขบวนพาเหรดและกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศสุดปัง ในชื่อ “บางกอกนฤมิต ไพรด์” วันที่ 5 มิ.ย. 2565 จากวัดแขก- สีลม ซอย 2 จุดกำเนิดครอบครัว LGBTQIAN+ สถานที่รวบรวมทั้งสายมู เสียงหัวเราะ คราบน้ำตา ความหวัง ไปจนถึงความสูญเสีย

แต่ในปี 2022 ถนนสายนี้จะมีแต่ความต๊าชช… ที่ธงสีรุ้งจะโบกสะบัดยิ่งกว่าครั้งไหน

The Active ชวนคุยกับคณะทำงาน คนในวงการบันเทิง และผู้ว่าฯ กทม. ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่จะยกขบวนกันมาแบบปังไม่ไหว รวมถึงก้าวต่อไปของ LGBTQIAN+ หลังปักหมุดครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ

PrideMonth

“เฌอเอม” ชญาธนุส ศรทัตต์ 
นางแบบและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

เอมมองว่าเทศกาลไพร์ด มันเป็นการแสดงให้เห็นตัวตน LGBTQIAN+ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะปกติเราเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันง่าย ๆ อยู่แล้ว เราเป็นสวรรค์ของ LGBTQIAN+ แต่สิ่งที่พวกเราจะออกมาพูด เรียกร้อง ในวันนั้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ได้สัมผัส ทั้งในแง่ของกฎหมาย สิทธิ หรือแค่ออกมาพูดถึงสิ่งที่พวกเขาถูกกดทับเอาไว้ให้คนได้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น และฉุกคิดว่าเมื่อก่อนเราไปอยู่ที่ไหนมา หรือตอนนี้พวกเขาอยู่ตรงไหนของสังคม

เอมจึงมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญญะที่สำคัญ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนมากมายมารวมตัวกัน มันแปลว่า มีสิ่งที่เป็นที่ต้องการอยู่และคนกลุ่มหนึ่งยังไม่ได้รับ โดยเฉพาะการเดินพาเหรดครั้งนี้มันไม่ใช่เรื่องของการประท้วง เอมอยากให้สังคมเข้าใจว่าไพร์ดคืออะไร ทำไมถึงต้องมีไพร์ด คุณจะไม่เข้าใจ ถ้าคุณไม่เคยเผชิญกับการถูกกดขี่ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลำบากเพื่อแสวงหาศักดิ์ศรี กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการย้ำถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถมาร่วมกันได้ ขอแค่คุณสนับสนุนแนวคิดนี้ หรืออยากมาร่วมสนุกก็ได้ เพราะในอนาคต ไพร์ดควรจะเป็นเทศกาลสำคัญประจำเดือน เหมือนที่เราฉลองเทศกาลอื่น ๆ ซึ่งทำให้คนทั้งประเทศรู้สึกว่าเมื่อถึงเทศกาลนี้ เราจะมาร่วมเฉลิมฉลองกัน ไม่ได้เกี่ยวว่าเราเป็นอะไร หรือใคร ขอแค่เฉลิมฉลองในความรักที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามมาก ๆ และส่วนตัวเอมก็เป็นไบเซ็กชวล ก็คงจะเสียใจมาก ๆ ถ้าไม่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งใหญ่ครั้งแรกในกรุงเทพฯ

pride month วาดดาว

“วาดดาว” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพร์ด

หัวใจสำคัญของงานในครั้งนี้ เราต้องการตะโกนบอกว่า ภาพที่บอกว่าเราคือสวรรค์ของ LGBTQIAN+ แต่ความเป็นจริง แม้แต่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ยังถูกปัดตกซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อนพี่น้องที่เป็นคนข้ามเพศ เควียร์ นอน-ไบนารี่ ก็ต่างไม่ได้รับรองเพศในสิ่งที่เขาต้องการ เราจึงจะปักหมุดหมายสำคัญว่า นี่ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง แต่พื้นที่ใจกลางกรุงที่ออกกฎหมายซ้ำไปซ้ำมา จะต้องสนับสนุนพวกเราด้วย

และที่เราเลือกถนนสีลม เพราะตลอดถนนสายนี้คือใจกลางของธุรกิจและทุกอย่าง แต่นัยหนึ่งสีลม เป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัว LGBTQIAN+ และ Sex Worker อีกมากมาย บางคนโชคดีที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัวได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี หลายคนผ่านประสบการณ์ความเศร้า ร้องไห้ หลายคนอาจจะเสียชีวิตที่นี่ ถนนเส้นนี้จึงเป็นเหมือนยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง นอกจากความภาคภูมิใจเราจะได้โอบกอดเพื่อที่เคยเจ็บปวดจากบาดแผล

อีกความยินดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ ทันทีที่เราเห็นผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราส่งข้อความถึงคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าเราจะมีงานแถลงข่าวและขอเชิญท่านมารับฟังสิ่งที่เราจะเคลื่อนไหว ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจริง ๆ สิ่งที่เราต้องการจากนักการเมืองมากที่สุดคือการรับฟัง คือปีหน้า กทม. จัดเทศกาลไพรด์เอง เรารู้สึกได้เลยนะว่ามันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน มันก็ไม่เท่ากับการรับฟังเสียงของพี่น้อง LGBTQIAN+ ซึ่งจากวันนี้ที่เราจะทำงานกันมีการจัดเทศกาลที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ และมีการจัดเดินขบวนที่ภาคใต้ ทั้งเดือนที่เราร้อยเรียง ปีหน้าเราจะร่วมกันกับนักการเมืองท้องถิ่น และเราก็จะส่งเสียงไปถึง อบต. อบจ. เพื่อให้ทุกพื้นที่ได้จัดเพราะหัวใจสำคัญมันไม่ควรจัดขึ้นแค่ที่กรุงเทพฯ

เราคิดว่าสังคมไทยยอมรับได้แล้ว ว่าเม็ดเงินมาจากการดูโชว์พัทยา สีลม เยอะขนาดไหน เม็ดเงินที่มาจาก sex worker เทคโนโลยีในการผ่าตัดแปลงเพศเยอะขนาดไหน เราก็เชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเศรษฐกิจให้เคลื่อนไป เชื่อเราเถอะว่าเราคือส่วนผสมที่ลงตัวของประเทศไทยที่จะทำให้รายได้จากเศรษฐกิจลงไปถึงคนฐานราก และเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างที่ทุกคนพูด เพราะพวกเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ เศรษฐกิจแบบนี้แหละที่จะนำการพัฒนาไม่ใช่การผูกขาด เต็มไปด้วยการกดขี่

“ต้น” ศิริศักดิ์ ไชยเทศ
นักสิทธิมนุษยชน

ความภาคภูมิใจที่เราจะจัดขึ้น มันหมายถึงความภาคภูมิใจของทุก ๆ อย่าง อาชีพ อัตลักษณ์ เชื้อชาติ ศาสนา ถ้าใครมีความไพร์ด ก็สามารถมาเข้ามาร่วมกับขบวนของเราได้โดยไม่จำกัด และดิฉันในนามของพนักงานบริการ หรือ sex worker อาชีพของเรามีอยู่มา 1,000 กว่าปี แต่พวกเราไม่เคยถูกมองว่ามีศักดิ์ศรีเลย เราอยากให้สังคมและรัฐบาลเห็นพวกเรามีตัวตนจริง ๆ สักที ไม่ใช่ลงไปพื้นที่พัทยาแล้วบอกว่าไม่มีการค้าประเวณี หยุดมองว่าอาชีพของเราเป็นอาชีพด้านมืด เป็นอาชีพใต้ดิน เป็นอาชีพสีเทา เราไม่ได้มาร้องขอ แต่เรามาทวงคืนสิทธิที่เราควรจะได้อยู่แล้ว และที่สำคัญเรากำลังมาทวงศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ในเนื้อตัวร่างกายที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ที่เราจะใช้เนื้อตัวของเราทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่เดือดร้อนใคร

นอกจากนี้ในขบวนพาเหรด เรายังสอดแทรกประเด็นต่าง ๆ เช่น เลือกปฏิบัติ แรงงานข้ามชาติ ผ้าอนามัยฟรี ทุกอย่างที่สังคมกำลังจุดประเด็นเราจะเปิดพื้นที่ให้หมด และที่สำคัญความคาดหวังของเรากับงานไพร์ดในครั้งนี้ คือ จะต้องเป็นงานระดับประเทศต่อไป นั่นหมายถึงว่า ดิฉันต้องการให้งานในครั้งนี้อยู่ในปฏิทินของปี

pride month ศรีมาลา

“ศรีมาลา” มนต์มิ่งขวัญ ม่วงมีรส 
Drag Race Thailand 

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนจะได้เห็นว่าเราเป็นอย่างไร เราก็ไม่ใช่คนที่แตกต่าง เราคือมนุษย์เหมือนพวกคุณทุก ๆ คน และไม่ใช่แค่ LGBTQIAN+ แต่เป็น LGBTQIAN+ & friend ทุกคนสามารถมาเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในการมีตัวตน การมีอัตลักษณ์ของตัวเองได้เช่นเดียวกัน และเชื่อว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่ถนนสีลม จะเป็นถนนที่มีความเกย์ที่สุดในประเทศไทย เป็นแลนด์มาร์กของเกย์ทั่วโลก เหมือนเป็นแรงดึงดูดสร้างรายได้ด้วย

ถามว่าช้าไปมั้ย ส่วนตัวคิดว่าสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดีเสมอ ไม่ว่าจะเร็วจะช้าแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ และจะทำให้การยอมรับเกิดขึ้นจริง ๆ หลังจากนี้อยากให้มีการยอมรับในความเท่าเทียมอย่างแท้จริง สิ่งที่เราต่อสู้ สิ่งที่เราต้องการคือ การมีกฎหมายที่โอบอุ้มและครอบคลุมถึงพวกเรา เช่น สมรสเท่าเทียม ซึ่งเราต้องการเป็นอย่างมาก เราคาดหวังว่ากลุ่มของพวกเราจะได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม และแท้จริง มีกฎหมายที่ครอบคลุม และทำให้เรามีสิทธิมีเสียงเหมือนผู้คนทั่วไป ไม่ใช่แค่เฉพาะที่มีการเลือกตั้งท่านั้น

pride month เก่ง

“เก่ง” ธชย ประทุมวรรณ 
ศิลปิน

สำหรับตัวผมไม่ได้มองเรื่องผลประโยชน์หรืออะไร เรามองในแง่ของคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่เดินทางไปทั่วโลก เรารู้สึกว่างานนี้มันทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้รู้สึกว่าประเทศนี้มันเสรีมากขึ้น จริง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนผลักดัน ผมยังเคยพูดถึงเรื่องการสมรสเท่าเทียมว่าถ้าเกิดประเทศไทย เป็น 1 ในประเทศที่มีกฎหมายรับรองได้มันจะเพิ่มรายได้จากคนทั่วโลก ใครก็อยากมาแต่งงานในประเทศไทย เพราะบรรยากาศ สถานที่มันเอื้อหมด

2-3 ปีที่แล้วเราก็เคยพูด และเราก็ยังศรัทธามันอยู่เพราะเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสากล และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง อีกมิติหนึ่ง ที่จะได้ร่วมกันสนับสนุน ซึ่งผมเชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์กับคนส่วนรวม ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

pride month ไฮดี้

“ไฮดี้” อมันดา อแมนด้า เจนเซ่น
รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022

รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวันสำคัญ เพราะมันเป็นวันที่เราพยายามเรียกร้องมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง 100% ในสังคมไทย รู้สึกว่าเราควรจะสนับสนุนในเรื่องนี้มาก ๆ เพราะว่าคนทุกคนเท่ากันไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร เราไม่ควรที่จะไปบอกว่าต้องทำได้แค่นี้ ในเมื่อทุกคนมีสิทธิเท่ากันก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้ ส่วนตัวคิดว่าเขายังไม่ได้รับการปฏิบัติเท่ากับคนอื่น ๆ กฏหมายที่ออกมาก็ยังไม่ได้ตอบรับ หรืออนุมัติ ให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างสมรสเท่าเทียม คิดว่าควรที่จะเกิดขึ้นจริงได้แล้ว โลกเราไปถึงไหนแล้ว คนเราไม่ควรที่จะไปเว้นสิทธิของใครทั้งนั้น ทั้งการแต่งงาน มีลูก ทุกคนต่างมีคุณค่า ความสามารถเหมือนกันทั้งหมด เราเองมีเพื่อนที่เป็น LGBTQIAN+ และทุกคนก็มีความสามารถที่จะพัฒนาสังคมนี้ได้ มันนานมากแล้วที่คนต่อสู้เรื่องนี้กันมา แล้วคนที่มีอำนาจก็ควรที่จะรับฟังเสียงของพวกเราได้แล้วไม่ใช่แต่วันที่มีการเลือกตั้งอย่างเดียว

pride month นาดา

นาดา ไชยจิตต์
นักสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ

เชื่อว่าการเดินขบวนไพร์ดในครั้งนี้ เมื่อสอดรับกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา มันสะท้อนภาพเลยว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะทำให้เรารู้สึกปลดแอกจากความหวาดกลัว จากอำนาจที่กดทับ เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมาเราอยู่อย่างหวดกลัว ไม่รู้ว่าตัวตนของเรามีอยู่ตรงไหนในหน้ากฎหมาย รัฐบาลมีมุมมองต่อเราอย่างไร วันที่ 5 มิถุนายนนี้ เราจะปลดแอกทุกอย่าง และจะเพิ่มพลังของชุมชน LGBTQIAN+ ให้ดังกึกก้อง เพื่อที่จะสื่อสารว่าหยุดเสียที หยุดเห็นเราเป็นแค่ voter เสียที ต้องเห็นเราเป็นคนที่มีศักดิ์ศรี และต้องคืนมันด้วยการออกกฎหมาย นโยบาย ที่คุ้มครองเราแบบรอบด้าน เสียงเรียกร้องของประชาชนสำคัญมากต่อการออกมาเดินขบวนในครั้งนี้

pride month ชัชชาติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าฯ กทม. 

กรุงเทพฯ มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญคือการยอมรับและความเข้าใจถึงความหลากหลายที่มี ว่าชีวิตคนไม่ใช่แค่ศูนย์กับหนึ่ง ยังมีมิติทางเพศอื่น ๆ อีกมากในสังคม อาจจะไม่ใช่มิติทางเพศอย่างเดียวแต่ยังมีอีกหลากหลายมิติ ซึ่งถ้าหากทุกคนยอมรับในความหลากหลายได้ก็จะเป็นสังคมที่มีความสุขมากขึ้น ซึ่ง Pride Month ก็อยู่ในนโยบาย 12 เทศกาล 50 อัตลักษณ์ของเขตด้วย เราสามารถช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ และทำให้เกิดการเข้าใจ ยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ขณะที่ กทม. จะต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่ม LGBTQIAN+ ผมไม่ทราบว่ามีจำนวนมากแค่ไหน แต่มากน้อยไม่สำคัญในวิสัยทัศน์เราให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น ต้องมีนโยบายที่จะดูแลกลุ่มนี้ เช่น การให้บริการในสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการ อย่าง ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้ในสถานศึกษา เพื่อยอมรับความแตกต่าง หากยอมรับได้และมองว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาด คนในสังคมก็จะเข้ากันได้ดียิ่งขึ้น ส่วนเรื่องที่ในสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่บ้างนั้น คิดว่าอคติต่าง ๆ เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าหากจะเริ่มก็ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจก่อน ข้าราชการ กทม. ก็ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ ตนเชื่อว่าถ้าเริ่มจากความเข้าใจ อคติก็จะลดลงได้ ส่วนเรื่องการแต่งกายของข้าราชการนั้น คิดว่าแต่งกายอย่างไรไม่เป็นไร ขอให้บริการประชาชนให้ดี ดูแลประชาชน และไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าหากให้ข้าราชการแต่งกายอย่างที่ตนเองมีความสุข อาจจะดูแลประชาชนได้ดีขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน