เมืองหลวง… “ควันและฝุ่น” มากมาย
ในห้วงเวลาที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตระเวนโชว์วิสัยทัศน์เพื่อยืนยันถึงภาพสดใสของอนาคตคนกรุง ภาพฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเมือง เข้าขั้นขมุกขมัวหลายพื้นที่ในมหานครช่วงนี้ ชวนนำไปสู่การถามหาวิธีการ “จัดการฝุ่น” ละอองพิษขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ “คนกรุงเทพฯ” ขนาดใหญ่
ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคประชาสังคมกว่า 70 องค์กรในนาม “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” เปิดเวทีฟังคำตอบจาก ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าร่วมประชันวิสัยทัศน์ปลุกกรุงเทพฯ เป็น “เมืองน่าอยู่” ในงาน Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ
โดยมี รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผอ.ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ สสส. เป็นตัวแทนส่งข้อมูลเกี่ยวกับมติ คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเห็นชอบให้ ปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ยรายปีไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากค่าเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2565 เป็น เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จากค่าเดิม 50 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2567
The Active ชวนตรวจคำตอบของ 4 แคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากโจทย์ จะมีบทบาทอย่างไร ใช้เครื่องมือใดให้บรรลุค่ามาตรฐานฝุ่นที่กำหนดไว้ และจะต่อยอดพื้นที่มลพิษต่ำอย่าง ปทุมวันโมเดล สู่การปฏิบัติที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้อย่างไร ?
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ มองความตื่นตัวเป็นเรื่องสำคัญ เขาพบว่าปัจจุบัน กทม. มีจุดตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 เพียงหลักร้อย ไม่สอดคล้องจำนวนพื้นที่ร่วม 1,600 ตารางกิโลเมตร จึงคิดนโยบาย “เพิ่มจุดชี้วัดค่าฝุ่น 2,000 แห่ง” และมีจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านป้ายเอกชนที่ กทม. ให้สัมปทาน
“อย่างน้อยที่สุด 1. ให้ประชาชนได้ป้องกันตัวเอง 2. ผู้ว่าฯ กทม. รู้ว่าจุดกำเนิดฝุ่นอยู่ที่ตรงไหน”
“ควบคุมแหล่งสร้างฝุ่น” จากการก่อสร้างและการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล เป็นอีกนโยบายของ สุชัชวีร์ เขาจะมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการ 50 เขต ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต เพิกถอน และชะลอการก่อสร้าง โดยจะกำหนดเป็น KPI หากเขตใดมีค่าฝุ่น PM2.5 สีแดง ผู้อำนวยการเขตต้องรับผิดชอบ และหากภาคก่อสร้างทำดี ก็มีมาตรการลดหย่อนภาษี ขณะที่ต้นเหตุจากรถเครื่องยนต์ดีเซล จะเริ่มนำร่องที่ระบบขนส่งมวลชนพลังงานสะอาดผ่านมาตรการทางภาษีเช่นกัน
“จะหยุดปัญหาต้องหยุดที่แหล่งกำเนิด คือ รถและการก่อสร้าง ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถจับรถที่กำลังวิ่งได้ แต่รู้ว่าต้นกำเนิดอยู่ที่ไหนก็บริหารจัดการตรงนั้น”
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 5 ในนามอิสระ ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในขณะที่มาตรฐานเดิมยังทำไม่ได้ เขามีนโยบายจัดการฝุ่นจากแหล่งกำเนิดเช่นกัน ข้อแรกคือ ภาคขนส่ง
“ภาคขนส่งก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นสัดส่วนใหญ่ ผมดูต่างประเทศว่ามีมาตรการอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งคือการกำหนดเวลาวิ่งของรถสันดาบ เช่น ช่วง 2 ทุ่ม ถึง 9 โมงเช้า ส่วนรถ EV และไฮบริด วิ่งได้ตลอดเวลา หรือกำหนดวิ่งวันคู่วันคี่”
วีรชัย มองว่ามาตรการข้างต้น ต้องผ่านการพูดคุยเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกับประชาชน แต่มาตรการที่ทำได้เลย คือ “สนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งมวลชนใช้รถเครื่องยนต์ไฟฟ้า (EV)” เป็นข้อกำหนดในสัมปทาน โดยจะสร้างแรงจูงใจด้วยส่วนลดค่าสัมปทาน ส่วนที่สาม คือ “ลดการเผาในที่โล่ง” เช่น รับซื้ออ้อยที่ผ่านการเผาในราคาถูก
รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7
“แก้ต้นเหตุแห่งปัญหา” คือนโยบายที่ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ในนามอิสระ เห็นพ้อง เธอมองว่าฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถแก้ปลายเหตุได้ โดยจะบริหารจัดการที่แหล่งกำเนิดใหญ่ คือ ท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผา และ Plant ปูน ในพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่
“เอาน้ำไปรด เอาน้ำไปพ่น หรือตั้งเครื่องกรองอากาศกลางกรุงเทพฯ ล้วนไม่ได้ผลและสิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องมาดูว่าปัญหาเรื่องฝุ่นมีแหล่งกำเนิดจากไหน”
รสนา วางนโยบาย “กำกับพื้นที่ก่อสร้าง Plant ปูน” หรือพื้นที่ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ โดยตรวจวัดค่ามาตรฐานฝุ่น และควบคุมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมือง โดยเฉพาะการเผาและการปล่อยควัน
“เดินทางระบบรางราคาถูก” และ “ใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ได้ถูกเน้นย้ำเป็นนโยบายสร้างเมืองน่าอยู่ ของ รสนา นอกจากนี้เธอจะส่งเสริมประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟ (Solar Roof) บนหลังคาบ้าน หวังผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดค่าไฟ และช่วยลดฝุ่น
อุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17
“ติดหัวฉีดน้ำรอบตึกสูง” คือนโยบายแก้ฝุ่นของ อุเทน ชาติภิญโญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 17 ในนามอิสระ เขามองตึกสูงในเมืองหลวงเป็นต้นเหตุทำให้อากาศไม่ถ่ายเท เกิดปัญหา PM 2.5 ในอากาศ
“กทม. มีตึกสูงมากเกินไป ทำอย่างไรให้ตึกสูงเหล่านั้นมีส่วนร่วมทำลายฝุ่น ผมมีโอกาสไปดูการล้างรถที่เขาฉีดสเปรย์เข้ารถ ถ้ารอบตึกสูงมีสเปรย์น้ำเป็นฝอยลงมาจะช่วยจับฝุ่นลงพื้น ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ คิดว่าจัดการได้ในการขอความร่วมมือตึกสูง”
อีกนโยบายที่ อุเทน ให้ความสำคัญคือลดการเผาในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตชานเมืองที่ยังตรวจพบการเผา ด้วยการ “ให้องค์ความรู้และสร้างจิตสำนึกประชาชน”