“นโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะให้น้ำหนักกับเรื่องใด และเรื่องใดบ้างที่คิดว่าแก้ไม่ได้?”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา จากโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 ตั้งคำถามกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามตัวแทนเครือข่ายการจัดการน้ำของ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ในงาน “Bangkok Active : ฟังเสียงกรุงเทพฯ” หัวข้อ “เมืองน่าอยู่” ที่ภาคประชาสังคมมากกว่า 70 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้น
นอกจากตั้งคำถาม เขายังอธิบายถึงปัจจัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่มีอิทธิพลมาจาก น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ซึ่งกระบวนการจัดการและรองรับยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ นี่จึงเป็นที่มาของคำถามแรกว่า ในบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหาโดยเน้นหนักในเรื่องใด?
วิโรจน์ ลักษขณาอดิศร หมายเลข 1
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ชูแนวคิด “ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง” เป็นสิ่งที่จะเร่งทำ จัดให้สถานีสูบน้ำต้องมีการสำรองไฟ ทำงานได้แม้ไฟดับ เพื่อเร่งระบายน้ำ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ เช่น อุโมงค์รับน้ำ ที่ต้องเวนคืนที่ดินสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เขาบอกว่า จะทำเป็นลำดับสุดท้าย
“งบฯ การระบายน้ำที่ผ่านมา เอาไปประเคนให้กับผู้รับเหมาโครงการขนาดใหญ่ อย่างอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท แต่งบประมาณที่เกี่ยวกับประชาชน เช่น งบฯ บำรุงสถานีสูบน้ำ ขอไป 4,000 ล้านบาท อนุมัติ 136 ล้านบาท งบฯ สร้างเขื่อนกันน้ำเอ่อล้น อนุมัติ 600 ล้านบาท งบฯ เครื่องเร่งสูบน้ำ ตัดงบฯ เหลือศูนย์ จึงต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุงฯ ให้ได้ ท่อระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพก็ต้องซ่อม เครื่องสูบน้ำพอฝนตกไฟดับ เครื่องทำงานไม่ได้ตรงนี้ ส่วนการลอกท่อทั่วเมืองลอกคลองทั่วกรุงฯ ใช้งบฯ สักประมาณ 3,000 ล้านบาท ไม่แพง เทียบกับคลองช่องนนทรี ก็พันล้านแล้ว แล้วโครงการอะไรทำแล้วลำบากใจ คือโครงการขนาดยักษ์ที่ต้องเวนคืนที่ดินสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนจะทำเป็นลำดับสุดท้าย”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ แก้ได้เหมือนโตเกียวที่ญี่ปุ่น โดยในระยะสั้น จะใช้ระบบอัตโนมัติในการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ระบบสูบน้ำควบคุมผ่านไวไฟที่จะมีการติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ อุดช่องคันกั้นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ ระยะกลาง แก้มลิง เอาไปเก็บไว้ใต้ดิน น้ำเหนือ ประสานกับจังหวัดโดยรอบ แก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน
“ทำให้ประตูระบบสูบน้ำ ประสานการทำงานกันได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถทำได้ทันที และชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ส่วนคันกั้นน้ำฟันหลอ สามารถทำได้ การต่อต้านน้อยลงแล้ว และต้องแก้ด้วยหลักวิศวกรรม ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ ขอประสานกับสมุทรปราการ สมุทรสาคร ร่วมแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน เรื่องนี้ต้องรีบแก้เพราะต้องใช้เวลานาน”
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ที่ชื่อวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ แนะให้สำนักระบายน้ำจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา เน้นกระจายข้อมูลประสานความร่วมมือกับประชาชน และสร้างแรงจูงใจไม่ทิ้งขยะลงในลำคลอง
“ควรจะมีการแชร์ข้อมูลเรื่องน้ำให้ประชาชนไม่หลงทาง ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมีเครื่องจักรเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ทำงาน จุดที่น้ำท่วมซ้ำซากต้องให้ข้อมูล ความรู้กับประชาชน ช่วยกันแก้ปัญหา ส่วนขยะชิ้นใหญ่ที่ไปตันในท่อระบายน้ำ เพราะค่าเก็บขยะชิ้นใหญ่แพง เป็นไปได้ไหมที่จะไม่เก็บค่าบริการในส่วนนี้ เพราะสุดท้ายจะมีผลย้อนกลับมาเป็นผลน้ำท่วม และต้องใช้งบฯ จำนวนมากแก้ปัญหา เรื่องบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ อยากให้ผู้ว่าฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทุนสนับสนุน จูงใจ และแก้มลิงที่อ่าวไทยควรจะมี”
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ระบุถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯ จากการทำงานในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม. อธิบายว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มีที่มาจาก 3 ปัจจัย คือ น้ำหนุน น้ำเหนือ และน้ำฝน สำหรับน้ำทะเลหนุนมีการป้องกันได้ โดยประสานกับกองทัพเรือ ให้เอาเครื่องผลักดันน้ำออกมาช่วย เรื่องคันกั้นน้ำป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้มีการทำแบบประเมินทางสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว ส่วนน้ำเหนือให้ประสานความร่วมมือ และน้ำฝนใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ แก้ปัญหา
“การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันน้ำ มีการทำอีไอเอเสร็จแล้วเพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งป้องกันน้ำทะเลหนุน เรื่องน้ำเหนือได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ แต่ปัญหาหนักที่สุดคือ น้ำฝน ถ้าตกลงมามากจะทำอย่างไร เราต้องพัฒนาของใหม่ เช่น ทำท่อผลักดันน้ำ วอเตอร์แบงค์ ทำไปแล้วรวม 14 แห่ง แต่ยังไม่พอ จะทำเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับจุดน้ำท่วมซ้ำซาก เปราะบาง กรณีฟันเหลอต้องประสาน จัดสรรงบประมาณลงไป เชื่อว่าเดือนมิถุนายนนี้จะไม่ท่วมแล้ว ขุดลอกคลองต่าง ๆ เราทำไปหมดแล้ว”
พล.ต.อ. อัศวิน ตอบคำถามต่อเนื่องในคำถามที่สอง ที่ตัวแทนภาคประชาชนถามถึงความกล้าที่จะออกกฏหรือขอความร่วมมือเพื่อสร้างระบบหน่วงน้ำแก้ปัญหาน้ำรอระบายพล.ต.อ. อัศวิน ระบุว่า แก้มลิงธรรมชาติ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ที่ชาวบ้านเสนอกับ กทม. และเข้าไปช่วยจัดการให้ แต่ยังไม่เพียงพอ หากจะให้ประชาชนมาร่วมทำที่รับน้ำก็ต้องสร้างแรงจูงใจ
“จูงใจให้พี่น้องประชาชนทำบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน คือ การให้ FAR (Floor Area Ratio หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดินใต้ดิน) แต่ไม่ใช่ทำได้ทุกที่ แต่ทำได้บางที่ที่เหมาะสม บางที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ใช้เครื่องผลักดันน้ำไปเลย เราต้องใช้ความสมัครใจ บังคับไม่ได้ จะเป็นการลิดรอนสิทธิ ปัจจุบันมีภาคเอกชนให้ความร่วมมือ นับ 145 แห่ง เพื่อช่วยกันสร้างที่กักเก็บน้ำ 8.1 หมื่น ลบ.ม. และเตรียมทำต่อไป”
รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7
รสนา โตสิตระกูล ระบุว่า ตั้งใจไม่ทำโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่เน้นการขุดลอกคูคลอง เพื่อเร่งการระบายน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพท่อระบายน้ำแก้ไขจุดที่อุดตัน และแก้ไขผังเมืองใหม่
“ดิฉันจะไม่ทำโครงสร้างขนาดใหญ่ จะขุดลอกคูคลอง 1,600 คลอง ใช้ผู้เชี่ยวชาญทำวิศวกรรมจำลองระบบการไหลของน้ำในคลองว่า ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพราะระบบน้ำบรรพบุรุษแก้ปัญหาน้ำโดยคลองจำนวนมาก เราจะขุดลอกคลองก่อนที่จะมีปัญหาใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพท่อระบายน้ำแก้ไขจุดที่อุดตันก่อนที่น้ำจะท่วม เพราะปัญหาใหญ่ของ กทม. คือน้ำฝน หากทำให้น้ำระบายไปเร็วที่สุดจะเป็นสิ่งที่ดี และถ้าดูผังเมืองปี 62 จะเห้นว่าพื้นที่รับน้ำเขียวลาย ลดจำนวนพื้นที่ลงมาต้องพิจารณาพื้นที่ใหม่”
น.ต. ศิธา ทิวารี หมายเลข 11
แคนดิเดตจากพรรคไทยสร้างไทยน.ต. ศิธา ทิวารี บอกว่า ก่อนที่ฝนจะมา ต้องพร่องน้ำในแต่ละลำคลอง และทำให้คลองเป็นแก้มลิงรับน้ำรอระบาย จะมีการทดลองระบบระบายน้ำทั้งกรุงเทพฯ เพื่อประเมินการไหลของน้ำ พร้อมขุดลอกคูคลอง มั่นใจว่าจะช่วยทำให้ปัญหาน้ำท่วมได้ 50% แน่นอน
“เราสร้างเมืองอยู่ในแอ่งกระทะ พื้นที่ของ กทม. อย่างรามคำแหงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 30 ซม. อันดับแรกที่จะทำ คือ ทำให้ระบบจัดการน้ำที่ลงทุนไปแล้วมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างแรกคือ เมื่อมีการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุฯ ให้มีการพร่องน้ำ เพื่อทำให้คลองระบายน้ำทั้งที่ระบายน้ำและเป็นแก้มลิงเก็บน้ำ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเทสระบบการพร่องน้ำทั้งระบบ ผมสามารถทำให้สถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครดีขึ้นได้ทันที 50% ทันทีถ้าได้รับตำแหน่งฯ”
อุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17
อุเทน ชาติภิญโญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ให้หลักการว่า “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป” เขามองว่า ที่ผ่านมามีการทำกำแพงเขื่อนล้อมกรุงเทพฯ ไว้ จนทำให้น้ำในกรุงเทพฯ ไม่มีที่ไป ทุกวันนี้น้ำลงท่อไม่ได้ เพราะตะแกรงรับน้ำแค่ 15 ซม. x 45 ซม. จะต้องปรับเพิ่มตะแกรงรับน้ำใหม่ เป็นแนวระนาบนอนไปกับถนน ซึ่งใช้เงินไม่เยอะ
“ต้องปรับระดับก้นคลองใหม่ กทม. เงินไม่เยอะ อย่าใช้แต่เงิน ใช้ประสบการณ์ ผมมีประสบการณ์ และอยากจะพูดว่าหยุดทำร้ายเจ้าพระยา น้ำทั่งหมดลงจากเหนือ น้ำฝน น้ำหนุน เราทำร้ายเจ้าพระยามากไป เราต้องใช้แนวกั้นน้ำพระราชดำริ โดยทำเป็นคลองหนึ่งเส้น ลงคลองบางบำหรุ”
เขายังแสดงทัศนะในคำถามต่อเนื่องเรื่องระบบหน่วงน้ำว่า ควรจะให้มีประตูระบายน้ำปิดปาดอ่าว แทนการสร้างพื้นที่เก็บน้ำของประชาชน
“เพราะเป็นความรู้สึกสำนึกของชาวบ้าน ปัจจุบันอากาศไม่ดี น้ำก็ไม่รู้จะเก็บไปทำไม ผมจะเพิ่มว่างบประมาณ กทม. และกรมชลฯ ใช้มากเกินไป รัฐบาลต้องเกื้อหนุน เช่น น้ำทะเลหนุน หลายประเทศมีประตูระบายน้ำปิดปากอ่าวทั้งนั้น น้ำลงก็เปิด น้ำขึ้นก็ปิด และมีระบบนำน้ำกลับมาใช้เพราะวงจรบ้านเรา เดี๋ยวแล้งขาดน้ำ”