ปลุกกรุงเทพฯ สู่ Soft Power เปิดนโยบาย “เมืองสร้างสรรค์” จากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

“Soft Power” หรือ การใช้คุณค่าทางสังคมและอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหานคร ถูกนำเสนอถึง ผู้สมัครผู้ว่า กทม. โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ในงาน Bangkok Active Forum : ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “เมืองสร้างสรรค์” ที่ไทยพีบีเอส ภาคประชาสังคม นักวิชาการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และสื่อมวลชน มากกว่า 80 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565

The Active ชวนอ่านสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note ที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วม วาด-หวัง-วาง อนาคตเมืองสร้างสรรค์ ผ่านข้อเสนอเชิงนโยบายถึงผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และนโยบายของ 3 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และตัวแทน ซึ่งเข้าร่วมงานและต้องการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative city


6 เรื่องเมืองสร้างสรรค์ จากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ

เมืองสร้างสรรค์

ช่วงแรกของวงสนทนา ตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งศิลปะ หรือเมืองสร้างสรรค์ ร่วมสะท้อนปัญหาและแลกเปลี่ยนข้อเสนอเชิงนโยบาย ‘ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที’ รองประธานกรรมการ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มองว่า เมืองสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีศิลปะวัฒนธรรม เพราะคือต้นน้ำของทุกอย่าง แม้บ่อยครั้งอาจถูกตั้งคำถามว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มันคือจุดเร่ิมต้นการสร้างเมืองสร้างสรรค์ต่อยอดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเมืองได้ จึงอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มีภาวะความเป็นผู้นำ เพราะที่จริงแล้ว กทม. มีพันธกิจหน้าที่ที่ต้องยกระดับวาระของศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างเมืองสร้างสรรค์ต่อไป

“ต้นทุนของกรุงเทพฯ คือมีพิพิธภัณฑ์ย่อยเฉพาะท้องถิ่นประมาณ 20 แห่ง มีวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อีก 400 เรื่อง เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible culture) คือเป็นเมืองแห่งศิลปะท้องถิ่นและร่วมสมัย เห็นจิตวิญญาณด้านศิลปะของเมืองได้ชัดเจน หมายความว่ากรุงเทพฯ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเอาวัฒนธรรมเดิมมาสร้างเศรษฐกิจต่อ และต้องไม่ลืมว่าแต่ละพื้นที่สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนของตัวเองได้ ให้กระจายไปในหลาย ๆ พื้นที่ ทั่วกรุงเทพฯ”

พร้อมเสริมด้วยว่า ศิลปะเป็นเรื่องที่เราต้องอาศัยการรับรู้แบบอายตนะ (ภายใน) ถ้าตั้งแต่เด็ก ๆ ได้รับการศึกษา ในเรื่องนี้ได้แล้วทุกคนจะรู้จักงานศิลป์ ควรแฝงเรื่องของศิลปะไปในโรงเรียนของ กทม. เพื่อทำให้เด็กฉลาดขึ้นมีการรับรู้ในหลายมิติ

“อย่าหลงว่าศิลปะเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มันเป็นเรื่องของทุกคน… 12 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสเลือกตั้ง วันนี้ทุกคนต้องทวงโอกาสให้กับงานศิลปะ”

ด้าน มณฑินี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวถึง การต่อรองคุณค่าของศิลปะกับมูลค่าทางเศรษฐกิจในมุมมของเศรษฐศาสตร์ ว่า คุณค่าอย่างแรกในแง่ของการเจรจาภาคเอกชน ในการให้พื้นที่ หรือโอกาสในการร่วมงานกัน อย่างแรกคือมูลค่าสื่อ มูลค่าเชิงภาพลักษณ์องค์กร ศิลปะทำให้ธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวเองขึ้นมาได้ ส่วนภาครัฐที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันทำงาน แต่ความยากคือเราจะต้องหาบุคคลที่ 3 มาประเมินมูลค่าร่วมเพื่อคำนวณความคุ้มค่า ให้ภาครัฐมีตัวชี้วัดเพื่อให้เกิดการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจ สุนทรียภาพ หรือเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบเพื่อประเมินค่าของศิลปะในหลายมิติ

“กรุงเทพฯ มีกำลังซื้อสูง ทั้งเรื่องของผลงานและการซื้อขาย อย่างน้อยทุกๆ 1 บาท ที่เกิดจากกลุ่มงานศิลปะจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 1.97 เท่าตัว เพราะกลุ่มงานประเภทนี้มีห่วงโซ่ของการทำงาน มีการใช้ทีมงานช่วยทำให้เกิดผลงานขึ้นมา มีการหมุนเวียนซื้อมาขายไป ยิ่งรอบเยอะก็ยิ่งเพิ่มมูลค่า”

วรรณิภา ธุสาวุฒิ เยาวชนเครือข่ายบางกอกนี้…ดีจัง หรือ น้องตังเม เล่าถึงพื้นที่ทำงานของเธอและชุมชนว่า เดิมทีชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย เป็นพื้นที่สีแดงมีความสุ่มเสี่ยงด้านยาเสพติดเยอะมาก ซึ่งทำให้เด็กเยาวชนในพื้นที่มีความเสี่ยง แต่หลังจากที่ใช้กระบวนการทำกิจกรรม ใช้กิจกรรมบำบัดพื้นที่ เชิญชวนเด็กเยาวชนร่วมกันสร้างศิลปะในพื้นที่ เช่น ทำกำแพงศิลปะบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ และให้อิสระในการทำงานศิลปะกับเด็ก ๆ ทำให้คนที่เข้ามาสัมผัสชุมชนชมว่าสวย ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาถ่ายรูป แม้สภาพชุมชนมีความแออัด แต่ก็สามารถใช้กำแพงในซอยแคบเป็นพื้นที่ศิลปะ ทำให้ภาพลักษณ์ของชุมชนดูดีขึ้น สามารถเชิญชวนให้คนเข้ามาชมภูมิปัญญาอื่น ๆ ของชุมชนด้วย

“แต่ตอนนี้ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เป็นพื้นที่ศิลปะที่ไม่มีชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เพราะกองทุนสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชนไม่ได้มีมากพอ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และตัวของเยาวชนที่ต้องเอาเวลาไปช่วยที่บ้านหาเงินก่อน ทำให้หลายพื้นที่ที่มีศิลปะว่างเปล่าไม่มีชีวิต ไม่มีการดูแล ขับเคลื่อนกิจกรรม ไม่มีใครลงไปถามในพื้นที่ว่าเป็นยังไงต่อบ้าง ถ้าหากพื้นที่มีความต่อเนื่อง เราสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไหม ส่งเสริมอะไรได้ไหม”

ตังเม ถ่ายทอดบทเรียนการทำงานเพิ่มเติมในเรื่อง ‘การสานสัมพันธ์ทำงานร่วมกันในชุมชน’ ว่า คือตั้งวงสนทนาร่วมกันในชุมชน เพื่อเสนอแนะว่าแต่ละฝ่ายคิดเห็นอย่างไร เป็นแนวคิด ‘เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน’ เด็กทำ ผู้ใหญ่สนับสนุน เด็กทำอะไรไม่ได้ ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับบทบาทของเด็ก จะทำให้เด็กเห็นโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อชุมชน เพื่อสังคม จากแรงบันดาลใจของตัวเอง ต้องเริ่มจากการกล้าที่จะรับฟังกันและกัน

ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เล่าว่า ที่ตั้งของพื้นที่หอภาพยนตร์อยู่ในเขตศาลายา หลายคนจึงมองว่าไกลเพราะใกล้เขตจังหวัดนครปฐม แต่เพราะหอภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนมีสกาลา สถานที่จัดฉายหนังเก่าทุกวันอาทิตย์ เดือนละครั้งมานานหลายปี สิ่งที่พิสูจน์ความสำคัญคือการจัดเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก ที่ย้ำว่าสกาลามีชีวิต หรือในช่วงภาพยนตร์เก่าที่จัดโปรแกรมเหมาะสมเชื่อมโยงกับพื้นที่คนเต็มทุกครั้งที่จัด

“แต่ภายหลังสกาลามีข่าวว่าจะไม่ต่อสัญญากับจุฬาฯ คำถามคือเราจะทำอะไรได้เมื่อเป็นที่เอกชน รัฐ หรือ กทม. ไม่มีสิทธิ์จะไปคัดค้าน แม้ว่าจะมีหลายคนออกมากดดัน เพื่ออยากให้เก็บไว้ แต่ทำไม่สำเร็จ เห็นได้ชัดว่าแรงผลักดันจากภาคเอกชนมีกำลังมากกว่าภาคประชาชนเสมอ หรือแม้แต่กรมศิลป์เองก็ไม่สามารถอยู่เหนือการควบคุมของเอกชนได้ จะทำยังไงให้มีกลไกของภาครัฐ เข้าไปช่วยเพื่อพลังในส่วนนี้ ในอนาคตหากจะหาพื้นที่ใหม่ในการจัดงานภาพยนตร์เก่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ก็น่าสนใจ”

ก้อง กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาศิลปวัฒนธรรม มักโดนตัดงบฯ ก่อนเสมอ เช่น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ศิลปวัฒนธรรมก็เป็นงบฯ แรก ๆ ที่ถูกตัด แม้ทางฝั่งศิลปินเองลึก ๆ ก็เข้าใจ

“แต่เจตนารมณ์ทางการเมืองก็สำคัญที่จะผลักดัน นโยบาย กลไกยกระดับวงการศิลปะ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความตั้งใจจริง ๆ ของผู้นำไม่ใช่แค่พูดเท่ตามงาน หรือบางที ตอนตั้งต้นก็ดูดี… หอศิลป์ หอภาพยนตร์ สถานที่ฉายหนัง ตอนตั้งก็สนุก แต่ต้องสร้างคนที่จะมาดู คนที่จะเอางานมาแสดง คนที่จะดูแลพื้นที่นี้ ให้มันยืนยงต่อไปเรื่อย ๆ จะไปได้ด้วยตัวเอง หรืองบฯ โครงสร้างสนับสนุนก็ตาม อันนี้คือเรื่องใหญ่”

ลักขณา คุณาวิชายานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า 10 ปีที่แล้ว ไม่มีใครนึกภาพหอศิลป์ออกเลยว่า ถ้ามีแล้วจะเป็นยังไง แต่วันนี้การเข้าชมของผู้คนจากประมาณ 3 แสนคน เป็น 2 ล้านคนก่อนจบโควิด-19 ช่วงหลัง ๆ สถานการณ์ของวงการศิลปะดีขึ้นพิสูจน์ให้เห็นความสำคัญของการมีอยู่ของพื้นที่หอศิลป์ ถ้าพื้นที่แบบนี้ขยายออกไปผู้คนมาแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้เห็นผลงานของศิลปิน และศิลปินมีพื้นที่แสดงออก แสดงออกซึ่งเสรีภาพ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน รวมไปถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ทุกวันนี้หอศิลป์มีไม่เพียงพอ

“ควรจะมีหอศิลป์มากขึ้นเหมือนสวนสาธารณะที่ทำให้กระจายออกไปหลายที่ และกระจายอยู่ในชุมชนจริงๆ แม้ไม่จำเป็นต้องเป็นหอศิลป์เหมือนกันทุกที่ แต่ขอให้ยึดโยงความต้องการของชุมชน กทม. อาจเข้าไปสนับสนุนเรื่องทุน หรือให้ประโยชน์ทางกฎหมายต่างๆ เช่น มีพื้นที่รกร้างมากมายในการดูแลของ กทม.​เป็นไปได้ไหมที่จะให้เข้าไปใช้ประโยชน์ ฟรี เช่าในราคาถูก หรืออำนวยความสะดวก”

ลักขณา เสนอว่า จะต้องมีการจัดตั้งสภา คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของเมือง ทำงานร่วมกับรัฐ เป็นเหมือนกับคณะทำงานที่ช่วย กทม. ทำงานอาจจะประกอบด้วยราชการ 30% และอีก 70% เป็นตัวแทนของเอกชน ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่จะช่วยกันเสนอความคิดเห็นการยกระดับวงการศิลปะ และดูแลกองทุน ที่กทม. จะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ทั้งการทำให้ศิลปิน ชุมชน ทำงานศิลปะได้ ซึ่งคณะกรรมการทำงานโปร่งใส สามารถทำงานแทนสภาได้เพราะบางทีสภาอาจไม่มีคนที่เข้าใจเรื่องศิลปะ

“ไม่ว่าจะเป็นการจัดเทศกาลอะไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหาเรื่องทุนเป็นหลัก ศิลปินจะทำงานมีปัญหาเรื่องทุน เพราะเข้าถึงแหล่งทุนยากมาก หลายคนได้รับเชิญจากต่างประเทศ ขอแค่หาตั๋วเครื่องบินบินไปบางคนยังไม่มีเลย เรื่องศิลปะมันอาจจะไม่ได้เป็นนโยบายของ กทม.”

วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร ศิลปินนักนิเวศสุนทรีย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างพื้นที่หอศิลป์ที่ประสบความสำเร็จ ว่ามีนิยามคือ ‘สาธารณศิลป์เพื่อนิเวศสุนทรีย์’ องค์ประกอบหลักคือ ‘เก็บ ทิ้ง สร้าง’ โดยผู้ว่าฯ ควรจะต้องรู้ว่า อะไรต้องเก็บ ทิ้ง และสร้าง เช่น สกาลาควรจะเก็บ หอศิลป์ควรจะสร้างเพิ่มอย่าง bacc ทำไมมีอยู่แค่แห่งเดียว สิ่งที่ต้องทิ้งคือ สิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่เหมาะสม สิ่งที่เป็นทัศนอุจาด เรื่องพื้นที่ของกรุงเทพฯ

ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการจัด แต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองนิเวศสุนทรีย์ได้ เช่น เราเห็นถนน แท็กซี่ ชาวบ้าน ตึกอาคาร จินตนาการและสร้างสรรค์ได้ รั้วเหล็ก แบริเออร์ไม่จำเป็นต้องเหมือนต่างชาติ ถ้าเราควบคุมสุนทรีย์ในเมืองได้ เราก็ออกแบบได้ว่า ถนน ซอย ควรจะมีอะไร ที่เป็นศิลปะและความสุนทรีย์ของเมือง

“กรุงเทพฯ ขาดหลักในการพัฒนาภาพรวม ถ้าเราบอกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองนิเวศสุนทรีย์ จะต้องมีการออกแบบในภาพรวม เพราะถ้าไม่มีความสัมพันธ์ของย่านต่างๆ กันแล้ว ทำให้ความรู้สึกสัมพันธ์ขาดหายและแตกต่างโดยสิ้นเชิงเมื่ออยู่กันคนละพื้นที่”

ส่วนศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วิจิตร เสนอว่า สามารถหาช่องทางทำงานที่หลากหลาย เช่น ช่วยงานท้องถิ่นได้ ช่วยงาน อบต. ได้ ช่วยงานวัดได้ เพราะมีเงินอยู่ในสถานที่เหล่านี้มากมาย หากยึดหลักสาธารณศิลป์แล้วจะพาไปหาวิธีให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ แต่ศิลปินต้องทำงานได้กับหลายหน่วยงาน ทำงานกับชุมชนได้ และให้ทุกคน “อย่าคิดถึงแต่ศิลปินกระแสหลัก อย่าลืมศิลปินแถวสองแถวสาม”


เปิดนโยบายเมืองสร้างสรรค์ จาก 3 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางบอน พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 กล่าวถึงนิยาม “เมืองสร้างสรรค์” ในความเห็นของตนเองว่าเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกโดยเปิดโอกาสให้ศิลปินและประชาชน มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

นิธิกร มองว่า ผู้ว่าฯ กทม. ควรมีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่ชัดเจนในการจัดการและส่งเสริมศักยภาพชุมชน โดยจะปรับกติกาให้เหมาะสม สามารถพูดคุยกันได้ในเทศบัญญัติผ่านสภากรุงเทพมหานครเพื่อวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดควรอนุรักษ์ และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาหารือกัน

ด้านการขยายพื้นที่เมืองสร้างสรรค์ นิธิกร กล่าวว่า จะแปลงพื้นที่รกร้างผนวกกับทำ FAR bonus ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะในพื้นที่สำนักงานและห้างสรรพสินค้า และนอกจากนี้การทำงานในองค์กรของ กทม. ที่มีห้องสมุดประชาชนอยู่แล้ว 36 แห่งและศูนย์เยาวชน 38 แห่ง ได้วางแผนว่าจะต้องนำทรัพย์สินที่ กทม. มีอยู่มาต่อยอดให้ประชาชนเข้าถึงง่าย

ทั้งนี้ นิธิกร ได้ขานรับข้อเสนอในการจัดตั้งสภาที่มีหน่วยงานข้างนอกเข้ามาทำงานกับหน่วยงานของ กทม. โดยยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ในช่วงที่มี Metaverse ใหม่ ๆ นายกเทศมนตรีได้จัดทำฐานข้อมูลเมืองไว้ก่อนแล้ว ทำให้สามารถนำเรื่องศิลปวัฒนธรรมไปเล่นในโลกออนไลน์ได้ทันสถานการณ์

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ให้นิยาม “เมืองสร้างสรรค์” ว่าเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงจินตนาการ โดยมองว่า ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้าง Soft Power ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมได้แทรกอยู่ในชีวิตของผู้คน แต่ กทม. ยังไม่สามารถต่อยอดให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เต็มที่

ต่อที่ประเด็นการอนุรักษ์พื้นที่เก่าที่มีศักยภาพเพื่อหนุนเสริมความเป็น “เมืองสร้างสรรค์” รสนา มองว่า ผู้ว่าฯ กทม. สามารถเป็นเจ้าภาพหรือเป็นคนกลางในการจัดการพื้นที่ด้วยการเจรจา โดยในพื้นที่ของเอกชน ยกตัวอย่างโรงหนังสกาล่า สามารถใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและความเป็นเมือง แต่ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่ได้สนใจเรื่องนี้

รสนา กล่าวต่อไปว่า จะนำพื้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหลังเก่าที่ถนนดินสอ มาจัดทำเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ City hall ของประชาชน ให้ประชาชนมีพื้นที่ปลอดภัยในการประชุมข รวมถึงการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์

ในด้านงบประมาณจะสร้างกลไกกระจายงบฯ ให้ทุกเขต เขตละ 50 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมนำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดในระบบเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์ผ่านความต้องการที่แตกต่างกัน และมีความยืดหยุ่นหากบางเขตบอกว่างบฯ ที่จัดสรรไปไม่เพียงพอ

บวรลักษณ์ ทองมาก กลุ่มคนลุยเมืองที่ดูแลนโยบายด้านการพัฒนาในนามตัวแทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 มองว่า “เมืองสร้างสรรค์” เริ่มต้นจากคน โดยคนทุกรุ่นต้องมีพื้นที่แสดงออก ทดลองเรียนรู้ เพื่อเตรียมไปสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเมืองที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการดึงอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนหรือเมืองของตนเองออกมาแสดงให้ทุกคนได้เห็น

ด้านการอนุรักษ์พื้นที่เก่าและการส่งเสริม “เมืองสร้างสรรค์” บวรลักษณ์ มองว่าการเจรจาของผู้ว่าฯ กทม. ต้องมองผลประโยชน์ประชาชนเป็นลำดับแรก แต่หากเป็นพื้นที่ของเอกชนจะอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าฯ กทม. อาจจะใช้วิธีหาพื้นที่ใหม่ทดแทน และมีกลไกจัดสรรงบประมาณสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอื่น ๆ เพิ่มเติม

บวรลักษณ์ กล่าวต่อไปถึงการส่งเสริมการทำพื้นที่รกร้างใน กทม. ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ว่า ผู้ว่าฯ กทม. อาจใช้วิธีเจรจาทำสัญญาเช่าโดยสร้างกลไกด้านภาษีเข้ามาหนุนเสริม และมองว่าการลงพื้นที่สำรวจความต้องการก็จำเป็น เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าหลายชุมชนมีความต้องการพัฒนาพื้นที่ให้มีจุดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดย บวรลักษณ์ ประกาศว่า ต้องการให้เกิดนโยบาเมืองสร้างสรรค์ยจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมองว่าการทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ข้าราชการไม่สามารถสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมนี้ได้เพียงลำพัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ต้องการที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน คนในชุมชน และผู้เชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมดึงอัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะตั้งกองทุนสนุบสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ


เสียงประชาชนปลุกกรุงเทพฯ ส่งข้อเสนอ
“เมืองสร้างสรรค์” ถึงผู้ว่าฯ กทม.

ในงาน Bangkok Active Forum : ฟังเสียงกรุงเทพฯ “เมืองสร้างสรรค์” ยังมีความสนใจของประชาชนและภาคประชาสังคมที่ทำงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการหนุนเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยได้ร่วมแสดงความเห็นต่อข้อเสนอที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ส่งถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส จากสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ความเห็นต่อข้อเสนอนโยบายในการจัดตั้งกลไกการทำงาน “เมืองสร้างสรรค์” ด้านการอนุรักษ์ เป็นอำนาจที่ ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ด้วยการออกเทศบัญญัติท้องถิ่นในการคุ้มครองโบราณสถาน เนื่องจากขณะนี้ส่วนกลางกำลังพยายามกระจายอำนาจเรื่องวัฒนธรรมลงสู่ท้องถิ่น ยกตัวอย่างการอนุรักษ์โรงหนังสกาล่า หากพูดถึงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานระดับชาติ จะขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.โบราณสถาน กรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงกฎหมายให้สามารถกระจายอำนาจในการทำงานมรดกท้องถิ่น

ปองขวัญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. มีตัวอย่างการดำเนินงานไปบ้างแล้วในพื้นที่เกาะรัตนโกสินธุ์ โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจอาคารที่มีคุณค่าในพื้นที่ แม้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ. โบราณสถาน แต่อาคารเหล่านั้นก็ได้รับการคุ้มครอง

ทั้งนี้ การออกเทศบัญญัติคุ้มครองโบราณสถาน เสนอให้ ส.ก.ทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการจัดการ โดยต้องการให้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชน ภาคประชาสังคม สมาคมวิชาชีพ ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

“ปัจจุบันเราไม่ต้องการถูกปกครองแล้ว ผู้ว่าฯ ที่เข้ามาต้องเป็นคนรับฟังความคิดเห็นว่าประชาชนอยากได้อะไร เราอยากทำงานร่วมกัน เรามีภาคประชาสังคม สมาคมวิชาชีพที่ดูแลแต่ละเรื่องตามความถนัด ในช่วงที่ผู้ว่าฯ เข้ามาไม่ต้องทำงานโดดเดี่ยวเลย”

ปองขวัญ กล่าวต่อไปถึงข้อเสนอเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ในการจัดตั้ง “คณะกรรมการว่าด้วยศิลปวัฒนธรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานคร” ว่าการตั้ง Advisory board หรือ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม ควรเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเมื่อพูดถึงศิลปวัฒนธรรม นอกจากจะมีประเด็นความสร้างสรรค์ยังต้องพูดถึงประเด็นสุนทรียภาพพื้นฐานที่เมืองควรมีร่วมด้วย

ทั้งนี้ การจะขยับไปสู่คำว่า “เมืองสร้างสรรค์” ปองขวัญ เสนอให้มีการเก็บข้อมูลมรดกเมืองกรุงเทพฯ เพื่อนำมาใช้ต่อยอด เพราะหากไม่มีฐานข้อมูลจะไม่สามารถทำงานได้ โดยอาจพัฒนาพื้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหลังเก่าที่ถนนดินสอ นอกจากปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นศูนย์ข้อมูลมรดกเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้

อีกหนึ่งคนที่มีข้อเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม. คือ ปิยะ ผู้เข้าร่วมงาน Bangkok Active ที่ออกตัวว่าเป็นคนธรรมดาไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรมโดยตรง เขาเสนอเรื่องการ Cross industry innovation คือมองศิลปะในการใช้กับงานอื่น ๆ เพื่อต่อยอดคุณค่าเดิม เช่น ดนตรีผสมผสานกับภาพยนตร์ และศิลปะอื่น ๆ นอกจากนี้ ปิยะ เสนอว่า ถ้าชุมชนไหนเห็นอัตลักษณ์แล้วให้คงไว้ ถ้ายังไม่มีอาจใช้วิธีให้คนในชุมชนช่วยกันสร้าง

“คิดว่าหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่ต้องตั้งกองทุนอะไรมากมาย ภาคประชาชน ภาคเอกชน เขาพร้อมจะขับเคลื่อนอยู่แล้วผู้ว่าฯ กทม. อาจจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น พิพิธภัณฑ์ ถ้ามีแค่การจัดแสดงงานผมก็ไม่ใช่คนที่จะไปดูบ่อยๆ แต่ถ้าแต่ละเขตสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรือสร้างศิลปะนวัตกรรมใหม่ จะทำให้ชุมชนมีจุดขาย”

ด้าน วิภว์ บูรพาเดชะ ในฐานะสื่อมวลชนด้านศิลปะสร้างสรรค์ อุปนายกสมาคมนักเขียน และหนึ่งในคณะกรรมการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นเสริมว่า ประเทศไทยมีคนทำงานด้านศิลปะฝีมือระดับโลกอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเครือข่ายศิลปะที่เข้มแข็ง มีสมาคมวิชาชีพที่พร้อมสนับสนุนกันเพียงแต่ต้องการเจ้าภาพสักองค์กรหนึ่งที่ใจดีและใจกว้างพอในการเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน

ขณะที่ อภิชาติ ซึ่งแนะนำตัวเองว่าเป็นนักออกแบบเชิงระบบ เสนอแนวคิดเชิงป้องกันไม่ให้การนำเสนอนโยบายต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้สูญเปล่า เขาเสนอให้มีการสร้างระบบ Real time vote ทางการเมือง และระบบ After election vote คือหลังเลือกตั้งยังคงติดตามผู้ว่าฯ กทม. ว่ายังตื่นตัวกับนโยบายหรือไม่ และทำให้ทุกคนได้เป็น Active citizen ไม่ทำหน้าที่จบเพียงแค่วันลงคะแนนเสียง

คนสุดท้ายคือ ดุษฎี ถิรธนกุล หรือ ไชโย จากสภาเด็กและเยาวชน กทม. กล่าวถึงปัญหาที่พบว่าใน 50 เขตของ กทม. มีเพียง 1 เขต ที่มีระบบบริหารจัดการด้านศิลปะแบบหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขามองว่า สามารถขยายพื้นที่ไปยังสวนสาธารณะ ลานกีฬา ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์เยาวชน เพื่อให้เกือบทุกเขตมีพื้นที่แบบหอศิลป์

ดุษฎี ยกตัวอย่างไต้หวันโมเดลที่มีกฎหมายกำกับการสร้างอาคาร ต้องจัดสรรงบฯ อย่างน้อย 1% จากงบฯ 100% สำหรับงานศิลปะในอาคาร ซึ่งวิธีการนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้ใน กทม. เพื่อทำให้อาคารสร้างใหม่เป็นอาคารศิลปะ ต่อยอดให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองศิลปะ ขณะที่ พื้นที่สาธารณะกลางแจ้งรวมถึงพื้นที่ชุมชน ดุษฎี ตั้งคำถามว่าจะสามารถให้ กทม. จับมือกับศิลปินหรือคนในท้องถิ่นในการออกแบบพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่โอกาสด้านภูมิทัศน์เมือง เศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมให้เกิดศิลปินหน้าใหม่


Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้