เทียบสถิติวางแผนรับมือสกัดการสูญเสียในอนาคต
278 คนคือจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ (11-17 เม.ย.) ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมรวม 799 คน ซึ่งมากกว่าอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์เกือบ 3 เท่า
แม้วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่หลายฝ่ายยังเฝ้าระวังโดยเฉพาะ 2 สัปดาห์นี้หลังสงกรานต์
จนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกิน 100 คนต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 แล้ว ซึ่งก็มาจากผู้ป่วยปอดอักเสบที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เน้นย้ำมาเสมอในแนวทางการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ โควิด-19 คือการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่ตอนนี้ฉีดได้เพียง 37% นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ระบุว่า เราเคยเห็นตัวเลขสูงสุดถึงวันละ 300 คนในการระบาดละลอก ‘เดลตา’ ซึ่งหากมาดูตัวเลขก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิตสูงนั้น จะต้องมีจำนวน “ผู้ป่วยปอดอักเสบ” และ “ใส่ท่อช่วยหายใจสูง” มาก่อน
สำหรับวันนี้ (18 เม.ย.) มีผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวน 2,123 คนและใส่ท่อช่วยหายใจ 700-800 คน ยังห่างจากตัวเลขที่เคยพบสูงสุดในระลอก ‘เดลตา’ ที่ผู้ป่วยปอดอักเสบมีจำนวน 6,000 คน และใส่ท่อช่วยหายใจอีก 1500 คน โดยคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมา 20-30% แต่การมีระบบรักษาผู้ป่วยนอก และระบบการรักษาที่บ้านเข้ามาช่วยได้มากขึ้น ช่วยลดภาระระบบสาธารณสุข
สำหรับแนวทางในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ โควิด-19 คือการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่ตอนนี้ฉีดได้เพียง 37% เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 90% ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว
อุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ตายเพิ่ม 1 ศพ
1,917 ครั้งคือสถิติการเกิดอุบัติเหตุสะสมในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 278 คน มากกว่าปีที่แล้ว 1 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่จังหวัดเชียงราย 66 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ยังเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 63 คน ขณะที่จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 13 คน
จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปีนี้ บุญธรรม เลิศสุขีเกษม เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) บอกว่า พบจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสถิติผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุมีอัตราที่เพิ่มขึ้น จากการขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
ทั้งนี้ ศปถ.จะรวบรวมข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนเพื่อไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570
ก่อนเริ่มเข้าสู่ช่วง “ขาลง” จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
ย้อนกลับไปช่วงเทศกาลปีใหม่เกิดการระบาดของโอไมครอนที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. ไปจนถึงจุดพีคต้นเดือน มี.ค. แล้วลดลงก่อนจะพีคขึ้นอีกครั้งช่วงปลายเดือนมี.ค. ส่วนเวลานี้คือช่วงกลางเดือนเม.ย. รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า น่าจะพูดได้ว่าเรากำลังสู่ช่วงขาลงของการระบาดรอบนี้ แต่เราคงต้องเตรียมใจที่จะเห็นยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นอีกระยะก่อนจะเริ่มลดลง
ส่วนที่จับตาดูกันหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ จะนำไปสู่การระบาดอีกรอบของโควิดหรือไม่ รศ.เจษฎา มองว่าเราอาจเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่น่าพีคเหมือนตอนต้นต้นอีกแล้ว
แต่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุถึงบทเรียนจากสงกรานต์ปีที่แล้วในช่วงสองสัปดาห์หลังเมษายนเราพบว่าการติดเชื้อเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงก่อนสงกรานต์ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่มีจำนวนสูงขึ้นอีกเป็นสองเท่าของปลายเดือนเมษายนจึงได้เตือนว่าการระบาดปีนี้การติดเชื้อโอมิครอนต้องระวังในเด็กเล็กที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ศบค.ประเมินสถานการณ์ก่อนเปิดเรียน
ขณะที่ พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนส่วนราชการ และเอกชน ให้ความสำคัญกับช่วง 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 18-24 เมษายนนี้ ขอให้ทุกคนเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หรือตรวจ ATK โดยวันที่ 22 เมษายนนี้นายกรัฐมนตรีเตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ประเมินสถานการณ์หลังสงกรานต์พร้อมรับเปิดเทอมเดือนหน้า ซึ่งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมกรมควบคุมโรค เตรียมแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี