จากอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ไฟไหม้ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า ในวันนี้ (1 ต.ค. 67) ซึ่งมีรายงานเบื้องต้น ว่า ครู และนักเรียน 44 คน พบว่า บาดเจ็บจากไฟคลอก 8 คน อาการสาหัส เร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล อีก 23 คน ยังคงสูญหาย เจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบ และสรุปยอดการสูญเสียในที่เกิดเหตุ
แม้จะมีความพยายามในการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะมาตรการควบคุมเหตุสูญเสียจากการทัศนศึกษาของนักเรียน แต่ปีนี้ ตัวเลขจากเหตุสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง The Active รวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุของรถบัสทัศนศึกษา ในรอบปี 2567 จากการรายงานข่าวบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงเหตุล่าสุด
ย้อนดู 6 เหตุการณ์สลดจากรถบัสทัศนศึกษา ปี 2567
จากการสืบค้นรายงาน พบ 6 เหตุการณ์การสูญเสียของรถบัสทัศนศึกษา มียอดผู้บาดเจ็บรวม 85 คน ในขณะที่ยอดการเสียชีวิตยังคงต้องรอการรายงานจากอุบัติเหตุล่าสุด ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (1 ต.ค. 67)
- 4 มกราคม 2567 เวลา 09.15 น. เกิดอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาชนกับรถหลายคัน ที่ถนนบางขันธ์-หนองเสือ จ.ปทุมธานี มีผู้บาดเจ็บ 25 คน เป็นครูและนักเรียนจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ โดยต้องใช้เครื่องตัดถ่างช่วยคนขับที่ขาติดกับซากรถ
- 2 มีนาคม 2567 รถบัสทัศนศึกษาชนกับรถบรรทุกอ้อย บนถนนสายสีคิ้ว-ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา ขณะเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ 47 คน เป็นครูและนักเรียน
- 26 มีนาคม 2567 เกิดเหตุรถบัสทัศนศึกษาเบรกแตก ขณะนำคณะครูและนักเรียนไปทัศนศึกษาที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รถบัสถอยลงเนินไปเกือบ 300 เมตร ก่อนชนกับรถยนต์กระบะ และหยุดที่เกาะกลางถนน มีผู้บาดเจ็บ 5 คน
ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำชับโรงเรียนพาเด็กไปทัศนศึกษา ต้องปฏิบัติตามระเบียบและมาตรการปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
- 26 สิงหาคม 2567 รถบัสทัศนศึกษาที่มอหินขาว จ.ชัยภูมิ เสียหลักลงข้างทาง ส่งผลให้ครู 1 คนบาดเจ็บ ส่วนเด็กนักเรียน เคราะห์ดี ปลอดภัยทั้งหมด
- 30 สิงหาคม 2567 รถบัส 2 ชั้นชนกับสายไฟ และทำให้เสาไฟฟ้าล้มทับตัวรถบริเวณหน้าวัดลาดสนุ่น จ.ปทุมธานี ส่งผลให้การจราจรถูกปิดและต้องตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย
- 1 ตุลาคม 2567 เกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา บริเวณหน้าเซียร์รังสิต ถนนวิภาวดีรังสิต มีนักเรียนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟคลอก และยอดการสูญเสียยังอยู่ระหว่างการชันสูตรและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ขณะที่สาเหตุของไฟไหม้ยังไม่ทราบแน่ชัด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยกับ The Active โดยตั้งข้อสังเกตุ ถึงการจัดการเชิงระบบเพื่อความปลอดภัย ซึ่งตาม พ.ร.บ.จราจร คนขับคือคนที่ต้องรับผิดชอบ แต่หากมองเรื่องนี้ทั้งระบบ ความรับผิดชอบนี้ยังครอบคลุมถึงเจ้าของบริษัทรถ โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นคนที่จะอนุญาตในการทัศนศึกษา หากมองความรับผิดชอบครอบคลุม จะนำมาสู่การจัดการความปลอดภัยในการเดินทาง และการดูแลชีวิตเด็ก ๆ โดยจะต้องพิจารณาหลายเรื่อง
- การตรวจสภาพรถ มีความพร้อมมากแค่ไหน เพราะความเสี่ยงจากการทัศนศึกษากรณีการเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ความเสี่ยงจากกรณีนี้คือการตรวจสภาพรถอาจไม่พร้อม หากมีการใช้บริการรถอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ไปค้างคืน ความเสี่ยง คือ ความพร้อมของคนขับ และเด็กต้องนอนในรถเพื่อประหยัดค่าที่พัก
- การเตรียมความพร้อม และความเหมาะสมของรถในการใช้ทัศนศึกษา ซึ่งกรณีนี้ประเภทรถอาจไม่เหมะสมกับอายุของเด็กเล็ก ส่วนอุปกรณ์ภายในรถที่จัดเตรียมไว้ ความสูงของรถขนาดนี้ ไม่สามารถที่เด็กจะออกมาจากรถได้ แม้จะมีอุปกรณ์ทุบกระจก ทางหนีไฟฉุกเฉิน
- จำนวนผู้โดยสาร 40 คน มากเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนกับครูที่ดูแล ซึ่งควรจะเป็น 1:10
- การซักซ้อม ทั้งการเผชิญเหตุการอพยพ จำเป็นที่จะต้องให้เด็กมีความรู้ ทักษะ ในการเอาตัวรอด และจะต้องทำต่อเนื่อง
“อยากให้ทบทวนระบบทัศนศึกษาบ้านเรา ซึ่งที่ผ่านมาแยกออกเป็น 2 ประเภท ที่เจอบ่อย ๆ คือการทัศนศึกษาแบบวันเดย์ทริป ความเสี่ยง คือ ต้องออกเดินทางกันแต่เช้า นัดเด็กมาตั้งแต่เช้ามืด พาเด็กขึ้นรถ เพื่อให้ไปถึงที่หมายและกลับให้ทันในวันเดียว ต้องนัดให้เร็ว ต้องทำเวลาให้ทัน สภาพรถ และคนขับจึงเป็นสิ่งสำคัญ แบบนี้จะเจอบ่อยในช่วงปิดเทอมแรกเดือนตุลาคม อีกประเภท คือ ทัศนศึกษาแบบค้างคืน ความเสี่ยงคือ อาจต้องเดินทางไกล บางครั้งเด็กต้องนอนบนรถ หรือขับตอนกลางคืน ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดบ่อย ในช่วงปิดเทอม 2 เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
ถึงเวลา ‘กฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’
ขณะที่ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า ในฐานะคนเป็นพ่อที่มีลูกอยู่ในวัยเดียวกับเด็ก ๆ ในเหตุการณ์ ดังกล่าวรับไม่ได้กับการที่ลูกหลานต้องมาเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ โดยย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมี “องค์กรเฉพาะด้านความปลอดภัยสาธารณะ” เพื่อเป็นการป้องกันและลดความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุบนท้องถนน สะพานถล่ม สารเคมีรั่วไหล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ สูญเสีย จากอุบัติภัย ทั้งนี้ได้เคยเสนอ “ร่างกฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ พ.ศ. …” ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ
ศ.สุชัชวีร์ บอกอีกว่า เหตุการณ์นี้ควรมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ไม่ใช่แค่ตำรวจ นิติวิยาศาสตร์ หรือ กรมการขนส่งทางบก แต่ควรมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมเครื่องกล ที่จะเข้าไปตรวจสอบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ ระบบความปลอดภัยของรถ และนำไปสู่การถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดแนวทางป้องกันแก้ไข เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นลักษณะให้หน่วยงานนั้น ๆ ถอดบทเรียนเอง เช่น กรมการขนส่งทางบกถอดบทเรียนกรณีรถบัสคว่ำ หรือ กทม. ถอดบทเรียนกรณีสะพานถล่ม ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า
“กรณีแบบนี้มันอาจจะดูเหมือนว่า วัวหายล้อมคอก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ล้อม หากเรานั่งรถไปพบเห็นว่าสะพานไม่เรียบร้อย เวลาร้องเรียน หน่วยงานก็โยนความรับผิดชอบกันไปมา ดังนั้นการมีหน่วยงานที่เป็น One Stop Service ที่รับหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยโดยเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การเยียวยาผู้เสียหาย ลดการเกิดซ้ำซาก”
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
จากเหตุ ‘รถบัสทัศนศึกษา’ สู่ มาตรฐานความปลอดภัยการรับส่งนักเรียน
ข้อมูลจากคู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรมโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการโดยสารรถโรงเรียนอยู่หลายฉบับ เช่น กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลและการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ทั้งยังมีหน่วยงานหลักที่เป็น “เจ้าภาพ” กำกับดูแลการใช้กฎหมายชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาดังกล่าวก็ยังดำเนินซํ้ารอยเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการช่วยกำกับดูแล ขณะที่กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ขับรถโรงเรียนขาดความเข้าใจเรื่องการป้องกันหรือมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
จากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับรถโรงเรียนในรอบหลายปืที่ผ่านมา ถือเป็นสถานการณ์สำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากแม้ภาพรวมจะดีขึ้นแต่ความรุนแรงยังไม่ลดลงโดยมีสาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของนักเรียนที่ใช้รถโรงเรียน พบได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
- กรณีลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กเล็กอายุระหว่าง 3 – 6 ปีที่ถูกลืมทิ้งไว้ในรถหลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จแล้ว
- กรณีอุบัติเหตุทางถนนบนเส้นทางไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับรถที่ประมาทเลินเล่อและโครงสร้างรถที่ไม่ปลอดภัย
โดยคู่มือได้เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการความเสี่ยงเบื้องต้น เช่น งไม่ติดฟิล์มกรองแสง, ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ, ห้ามคนขับบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่นั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสนอกลไกการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งผู้เรียนผ่าน ‘ระบบรถโรงเรียน 7 ล้อ’ ที่จะสร้างความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโรงเรียนที่ทุกโรงเรยนสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- มีข้อมูลที่สำคัญสำหรับการจัดการความปลอดภัยในการใช้รถโรงเรียน เช่น ข้อมูลนักเรียนที่เดินทาง ที่อยู่ ชื่อผู้ปกครอง หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ รวมถึงข้อมูลสภาพรถ และคนขับรถ
- มีผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลนักเรียนภายในรถโรงเรียนตลอดการเดินทางให้มีความปลอดภัย สนับสนุนการพัฒนานักเรียนรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงรถโรงเรียนในแต่ละคัน เพื่อการเฝ้าระวังความปลอดภัยร่วมกับผู้ขับรถโรงเรียนและครู
- มีระบบการรับรองรถโรงเรียนและสนับสนุนรถโรงเรียนให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย
- มีกลไกเฝ้าระวัง การสื่อสาร และการรวมกลุ่มผู้ขับรถโรงเรียนเป็นชมรมหรือเครือข่าย
- มีจุดจอดรับส่ง และจุดจอดพักรถโรงเรียนที่มีความปลอดภัยต่อนักเรียนที่ใช้บริการ
- ผู้ขับรถโรงเรียนทุกคนมีหน้าที่ต้องจัดทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.รถ) ประเภทรับจ้างให้กับรถที่นำมาใช้รับส่งนักเรียน
- โรงเรียนมีระบบติดตาม และประเมินผลที่นำไปสู่การจัดการรถโรงเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม
‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ย้ำสิทธิที่ได้ทันที เมื่อสูญเสียจากกรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร
กรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียหายจะต้องได้รับค่าสินไหมทดแทน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คุ้มครองสูงสุด 80,000 บาท/คน
- กรณีทุพพลภาพ บาดเจ็บ หรือพิการ คุ้มครอง 250,000 – 500,000 บาท/คน
- กรณีเสียชีวิต กฎหมายจ่ายทันที 500,000 บาท/คน (ต้องได้ภายใน 7 วัน)
- ค่าชดเชยรายวัน กรณีนอนรพ. 200 บาท/วัน (รวมสูงสุดไม่เกิน 20 วัน)
แต่หากได้รับความเสียหายที่รุนแรง มีอาการบาดเจ็บเกินมูลค่าวงเงินที่กำหนดไว้ สามารถรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เพิ่มได้ เช่น
- ค่าทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ
- ทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย
- ค่าเสียหายอื่น ๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน
- กรณีเสียชีวิต ขั้นต่ำรายละ 500,000 บาท (รายละเอียดขึ้นกับกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่รถทำเอาไว้)