4 ทางลัดสู่ กรุงเทพฯ เมืองสีเขียวต้นแบบ

สรุปข้อเสนอจากเวที ‘Green Next Generation’
แนวทางใหม่ ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ

ทำอย่างไร? ให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอต่อการใช้งาน อยู่ในระดับมาตรฐานเมืองสุขภาวะ ที่ต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่มีคุณภาพ เข้าถึงง่ายในระยะ 400-800 เมตร เดินถึงได้ใน 15 นาที ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย สร้างประโยชน์เชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสครบทุกมิติ รองรับความท้าทายในอนาคต ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก และความยั่งยืนในระยะยาว..

โจทย์เยอะขนาดนี้ หากจะทำให้เกิดขึ้นจริงต้องมีวิธีอย่างไร? ร่วมหาคำตอบด้วยกัน กับข้อเสนอจาก เวทีระดมสมอง ‘Green Next Generation’ 4 แนวทางใหม่ ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ

แนวทางที่ 1 กลไกและการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวสาธารณะอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนเพื่อให้ได้พื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ‘ใครอยากมีพื้นที่สีเขียว?’ ซึ่งจากการประเมินผลเสียงสะท้อนของประชาชนพบว่า มีการให้ความหมายและคุณค่าต่างกันออกไป กลุ่มเปราะบางจะมองว่า พื้นที่สีเขียวคือที่สำหรับออกกำลังกาย สำหรับคนที่มีเวลาดูแลตัวเอง ซึ่งไม่ใช่พวกเขาที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาเงินประทังชีพ ในมุมมองขอคนกลุ่มเปราะบางจึงมองโอกาสของพื้นที่สีเขียวว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในแง่ของการเป็นพื้นที่หารายได้ ‘เป็นโอกาสทางธุรกิจ’ ดังนั้น ‘พื้นที่สีเขียวควรจะมีการออกแบบให้เอื้อประโยชน์ที่หลากหลายมากกว่าการออกกำลังกาย’ หรือการทำกิจกรรมทางการเพิ่มสุขภาวะที่ดีเท่านั้น

“ถอยกลับไปที่หลักคิดตั้งต้นของการได้มาซึ่งพื้นที่สีเขียวก่อน ว่าใครคือคนที่อยากได้พื้นที่สีเขียว และพื้นที่เหล่านั้นใช้ทำอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะเฉย ๆ เราจะทำอะไรได้ แต่ถ้ามันเป็นพื้นที่สีเขียวจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มเติม เราต้องย้อนกลับไปที่กลุ่มคน และสร้างการมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด ถ้าเรามีที่รกร้างอยู่ผืนหนึ่งจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร”

รสสุคนธ์ ชาติประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์สาธารณสุข กองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

ภายใต้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทที่ต้องจัดสรรสำหรับดูแลทุกอย่างในกรุงเทพมหานคร หากจะมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะก็จะต้องมีการออกแบบการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเริ่มจากการจัดลำดับการดำเนินงานที่อิงปัจจัย เรื่องความสำคัญ และความเร่งด่วน ถ้าวิเคราะห์แล้วว่าพื้นที่นั้น ๆ ประกอบด้วยสองปัจจัยนี้ก็จะถูกจัดลำดับให้ดำเนินการก่อน

ในการทำงานระดับพื้นที่ การบริหารจัดการของสำนักงานเขต ก็ต้องดูองค์ประกอบ ว่าในพื้นที่มีฐานความร่วมมือของชุมชนที่เข้มแข็งมากน้อยเพียงใด หากว่าชุมชนอยู่ในระดับของการเป็นผู้ใช้งานอย่างเดียว ภาครัฐจำเป็นต้องวางกติกาเงื่อนไขการให้บริการพื้นที่ แต่หากชุมชนเข้มแข็งมาก มีความประสงค์ร่วมบริหารจัดการพื้นที่ ก็จะต้องวางระบบการทำงานร่วมกัน จึงต้องมีการวางนโยบายในภาพใหญ่ให้สำนักงานเขตพื้นที่สามารถทำงานได้แบบยืดหยุ่นสอดรับกับบริบทแวดล้อม

“นโยบาย กทม. ตอนนี้มีระบบ Participatory budgeting เพื่อจัดกลุ่มว่าสิ่งไหนประชาชนต้องการ สิ่งไหนเป็นนโยบาย เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณในการทำงานเรื่องพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ เพื่อทำให้เกิดการจัดการพื้นที่ที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”

ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้อำนวยการบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม

แนวทางที่ 2 สนับสนุนมาตรการภาษี กองทุน กฎหมาย เพื่อกระตุ้นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว

กลไกที่จะสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ทำยังไงให้ภาคเอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วม? อาจเริ่มต้นจากคำว่าภาษี เช่น การลดหย่อนภาษี แต่นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่น ๆ ที่จะให้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งควรที่จะต้องมีโมเดล การศึกษา พื้นที่ตัวอย่าง ที่เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะให้ผลตอบแทน

“สิ่งสำคัญคือนโยบายของภาครัฐที่จะให้ incentive หรือแรงสนับสนุนให้กับเอกชน สำหรับเรื่องของภาษี เป็นสิ่งจูงใจชัดเจน ว่าถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องจ่ายภาษีแทน แต่นโยบายรัฐต้องชัดเจนด้วยว่าอยากให้เมืองเป็นอย่างไร อยากให้เอกชนเป็นอย่างไร อาจพิจารณาสิทธิบางอย่างเพิ่มเติม เช่น โบนัส FAR สำหรับนักลงทุนที่อยากพัฒนาที่ดิน สร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่หน่วงน้ำ หรืออะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และเอกชนสามารถได้พื้นที่ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาอาจเงื่อนไขอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน”

กรกช อรรถสกุลชัย Senior Executive Director และ Chief Non-Capital Market Solution Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ในเรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะ มีเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ การส่งเสริมที่มองในระยะยาว ซึ่งต้องเริ่มจากการวาง master plan ร่วมกันตั้งแต่แรก เห็นภาพร่วมกันถึงรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมจากเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ภาคประชาชน แล้วจึงแบ่งบทบาทการพัฒนาว่าแต่ละฝ่ายจะมีส่วนช่วยอย่างไร แต่ในปัจจุบันยังไม่เห็นโอกาสว่าเอกชนแต่ละแห่งจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง และอาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย

“ภาครัฐจะมีนโยบายการเชื่อมต่อตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางโดยการบริหารจัดการ ในรูปแบบของ partnership ทีมเอกชนมองไปถึงการพัฒนาร่วมกัน และผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน ถ้าทำได้แบบนี้เอกชนก็พร้อมที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการร่วมพัฒนาต่อไป”

กรรณิกา สงวนสินธุกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ (IDDC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ภาครัฐควรทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่อาศัยการทำงานของภาคประชาสังคมในรูปแบบของอาสาสมัคร เข้ามาทำงานเหมือนอย่างที่ผ่านมา และควรจะมีทีมที่กำหนดกลยุทธ์ กำหนดนโยบายของเมืองว่าจะพัฒนาอย่างไร เพื่อที่ทุกคนจะรู้ว่า ‘เราควร และเราสามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร’

“สำหรับภาคเอกชน อะไรก็ตามที่เราสามารถทำให้เมืองดีขึ้น และเป็นประโยชน์กับเรา มีความคุ้มค่าทางด้านการร่วมมือ เรายินดีที่จะร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมติว่าให้เราเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วทำอย่างกระจัดกระจายแบบนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก”

กรกช อรรถสกุลชัย Senior Executive Director Chief Non-Capital Market Solution Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ในประเด็นเรื่อง กองทุน ก็มีทั้งแนวทางแบบการระดมทุน พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) green fund for tax saving รูปแบบแพลตฟอร์มการสร้าง funding เชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชน ร่วมกันจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากกรอบงบประมาณที่จำกัดและมีเขื่อนไขในการนำมาใช้

ยกตัวอย่างในต่างประเทศ มีองค์กรที่ทำงานด้านการลงทุนสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้จัดการกองทุนจะลงทุนได้เฉพาะโครงการที่สร้างผลกระทบทางบวกให้เกิดขึ้นกับโลก ไทยอาจจะตั้งองค์กรธุรกิจที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมสิ่งแวดล้อมแบบนี้ได้ ขณะเดียวกันถ้ารัฐมีแนวทางที่จะสนับสนุนด้านการลดภาษีหรือยืดหยุ่นเงื่อนไขทางธุรกิจ ก็จะช่วยดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในส่วนนี้มากขึ้น

แนวทางที่ 3 สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ต่อรูปแบบพื้นที่สาธารณะสีเขียว

เรื่องแรก ที่ดินมาจากไหน? เสนอให้นำที่ดินของรัฐมาใช้งานเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ วัด โรงเรียน ที่ของกองทัพ รวมถึงที่ดินริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน ซึ่งต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย เช่น รัฐสามารถบอกได้เลยว่าเอาที่มาเพื่อใช้ประโยชน์ อันดับที่สองคือพื้นที่ของเอกชน ต้องมีแรงจูงใจให้เขา เช่น มีแผนการทางธุรกิจ Business Model ไปนำเสนอ โดยมีรายละเอียดว่าจะขอมาทำอะไร ทำอย่างไร ผลตอบแทนกลับให้เจ้าของที่คืออะไร เท่าไหร่ องค์เอกชนรายใหญ่หลายแห่งต้องทำ CSR การนำมาใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่สาธารณะก็เป็นสิ่งที่สอดรับกัน ส่วนเอกชนรายย่อย หรือที่ดินมรดก ถ้ามีส่วนกลางอย่างสำนักงานเขต เข้ามาช่วยจัดการก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น อาจจะปลูกพืชผัก แล้วมาอยู่ใน ตลาดค้าเกษตรยั่งยืนในเมือง

“พอเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ เขตดูแล แต่ถ้าใช้พื้นที่หน้าบ้านแล้วให้ แรงจูงใจอื่น ๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้เยอะ เปิดหน้าบ้านแล้วมาชวนทำพื้นที่สีเขียวด้วยกัน หรือให้โรงเรียนทุกโรงเรียน ก็เปิดรั้วให้เข้าไปใช้ได้ก็น่าจะดี และอีกเรื่องคือการทำให้พื้นที่สีเขียวมีคุณภาพ รักษาต้นไม้เดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่ปลูกไปเพิ่มแต่ต้นเดิมหาย”

ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA)

เรื่องที่สอง คือกิจกรรมในสวน มีโปรแกรมอะไรบ้างให้คนใช้งาน? อาจจะไปวิ่งไปพักผ่อน นันทนาการ หรือจะเป็นพื้นที่พานิชย์ก็ได้ เช่น ร้านคาเฟ่ ให้คนมาจับจ่าย ด้านสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึงการรักษาพื้นที่น้ำ และสุดท้ายคือการรักษาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์สาธารณะ ‘ถ้าอย่างนั้นรัฐเปลี่ยนบทบาทได้ไหม เป็นคนแมชชิง เชื่อมต่อผู้คน เอาองค์ความรู้ ดึงนักลงทุน ให้มาเจอกัน’

“ถ้าเกิดเรามี tools ให้แต่ละสำนักงานเขตนำไปใช้จัดการพื้นที่สีเขียว มีการประเมินศักยภาพเชิงพื้นที่ มี KPI และให้พี่เลี้ยงเข้าไปช่วย ให้มีการแข่งขันกันว่าเขตไหนเขียวกว่ากัน และปลายปีก็มาประกาศรางวัลกัน มันน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ดี เขตไหนฟังอยู่แล้วสนใจ ลองมาวางแนวทางด้วยกันดู ผมว่าน่าสนใจ”

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อต้งโครงการ we!park

เรื่องที่สาม คือ การดูแลพื้นที่ และบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจมีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เช่น ปีนี้ตั้งโปรแกรมแบบหนึ่ง แต่ถ้าปีหน้าประโยชน์การใช้งานอาจจะเปลี่ยน ตามความต้องการใหม่ ๆ ของผู้คนก็สามารถประเมินและปรับเปลี่ยนได้ สิ่งสำคัญคือเจ้าภาพในการดูแล และเป็นโจทย์ว่ารัฐจะทำอย่างไรให้เกิด ownership ทำให้ทุกคนมองเห็นว่าสิ่งนี้คือการลงทุนไม่ใช่สวัสดิการพื้นฐานอย่างเดียว ซึ่งประโยชน์จะต้องไม่คิดถึงแค่คนไปวิ่งไปออกกำลังกายอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงคนกลุ่มเปราะบาง ว่าทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ด้วย

“สมาชิกในกลุ่มบอกว่า ประโยชน์สูงของพื้นที่สาธารณะคือการที่เราจะนำความเป็นธรรมชาติกลับมาให้ได้มากที่สุด เพราะมันคือประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติ ซึ่งเราก็คือหนึ่งในนั้น ถ้าพื้นที่สีเขียวมีความสมดุลของธรรมชาติ ไม่ว่าจะพื้นที่ขนาดเล็กหรือใหญ่ สุดท้ายมันก็ให้ประโยชน์สูงสุดกับเรา เพราะทำให้เรามีสุขภาพดีทั้งกายและใจ”

ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA)

ทิ้งท้ายด้วยแนวคิด land trust และ time sharing การแบ่งปันพื้นที่ใช้ประโยชน์ตามเงื่อนไขเวลา เช่น กลางวันจอดรถ เดินเล่นที่สนามได้ หรือหน้าห้างช่วงเวลาที่ยังไม่เปิดทำการ สามารถเปิดเป็นลานกีฬา

แนวทางที่ 4 แนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กุญแจสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ได้คือนักกระบวนกร ที่จะทำให้เกิดกระบวนการได้ เพราะการจะดึงคนจากหลากหลายกลุ่ม ดึงคนให้มาเจอกันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนที่สองคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องรับรู้และติดตามได้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพื้นที่สีเขียวสาธารณะคืออะไร เป็นอย่างไร และสุดท้ายคือภาคประชาชน เช่น ชุมชน สถาบันการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และให้มีการสร้างกระบวนการกลุ่มย่อยให้คนทุกได้มีส่วนร่วมออกแบบ และแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาในทุกระดับ ทั้งคนที่จะใช้งาน คนที่อยู่ใกล้เคียง หรือกลุ่มประชากรอื่น ๆ

เพราะที่ดินอาจไม่ได้เอาไปใช้ให้เป็นสวนอย่างเดียวแต่ต้องมีแนวโน้มที่จะพัฒนาพื้นที่เชิงมูลค่าในระยะยาว รวมถึงการใช้ประโยชน์หลากหลายแบบ ในส่วนนี้เอกชนอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ที่ดินมีการเติบโต และนักการสื่อสารควรจะเข้ามาถ่ายทอดกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เห็นการจุดหมายเดียวกัน คือการไปนำไปสู่พื้นที่สาธารณะร่วมกัน

“สิ่งที่สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย คือเขตสามารถประกาศว่าภาคประชาชน หรือชุมชน มีพื้นที่ตรงไหนที่สามารถนำมาเสนอแผนพัฒนากับสำนักงานเขตได้ และสำนักงานเขตสามารถสร้าง land bank เป็นฐานข้อมูลความเป็นไปได้ทั้งหมด และจะนำไปสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบาย ในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ภายใน 15 นาที โดยให้แต่ละเขตมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลเหล่านี้ เป็น KPI ของแต่ละสำนักงานเขต เพื่อทำให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น”

วิธี วิสุทธิ์อัมพร นักกระบวนกร บริษัท Cross and Friends

ส่วนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร คือกระบวนการที่ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วม ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าสวนสาธารณะ ไม่ใช่สวนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สวนงาม ใช้ได้ตามความสมัครใจ แต่ต้องทำให้เกิดกิจกรรม ที่สร้างการมีส่วนร่วมร่วมกัน เพื่อทำให้คนรู้สึกรัก หวงแหน และรู้สึกว่าจะต้องพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน

“ภาคประชาชนจะได้อะไรจากพื้นที่สีเขียวสาธารณะบ้าง คือ ได้อาชีพ รายได้ ได้พื้นที่ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ หรือคิดไปถึงกลไกกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนเป็นตัวแทนบริหารจัดการดูแลพื้นที่ รวมถึงควรมีกฎหมายที่เป็นข้อบัญญัติกลางของกรุงเทพมหานคร ที่บัญญัติขึ้นมาเลยว่า แต่ละพื้นที่สาธารณะควรจะมี กลุ่มคณะกรรมการที่มีส่วนรวมแบบนี้ เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป และอาจะมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน”

กรพล จั่นจิรภัทร กรรมการ ชุมชนลานกีฬาพัฒน์ 1

คณะกรรมการบริหารพื้นที่ควรจะเป็นหน่วยที่มีวิจารณาญาณที่พิจารณาถึงความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพราะหลายพื้นที่ติดเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค หากคณะกรรมการสามารถลงความเห็นได้เลยว่าให้ข้ามผ่านข้อจำกัดเหล่านั้น ทั้งข้อบังคับ ข้อกำหนด จะทำให้สวนมีโอกาสที่จะจัดงานที่หลากหลายเป็นประโยชน์ได้มากขึ้น

สุดท้ายเรื่องกองทุนพื้นที่สาธารณะ รองรับเงินบริจาค จากภาคเอกชน ผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำเงินไปใช้บริหารจัดการพื้นที่ด้วยกลไกข้างต้น เช่น ใช้สร้างกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการ จ้างคนดูแลสวนเพิ่มเติมหากสำนักงานเขตดูแลไม่ไหว นำมาจัดกิจกรรมสร้างงานอาชีพให้ชาวบ้าน หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อต่อยอดการพัฒนา

หลังจากนี้ข้อเสนอทั้งหมด จะถูกสรุปและรายงานต่อคณะกรรมกํารขับเคลื่อนนโยบายด้านเพิ่มพื้นที่สีเขียว และคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการรับที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อพิจารณานำไปดำเนินนโยบาย และเป็นแนวทางในการทำงานของภาคประชาสังคม ประชาชนผู้ขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะในเมืองต่อไป…


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May