เดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงเวลาที่ โควิด-19 ระบาดกระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้คน รวมถึงประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่
การขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างรายวัน คนไร้งาน และคนไร้บ้าน คือ กลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบ แต่ คนเชียงใหม่ ได้ร่วมกันก่อการ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ดูแลกันและกัน ยามวิกฤต
ภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ 7 กลุ่ม รวมตัวกันเป็น คณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ สร้างพื้นที่ทางอาหาร สำหรับคนที่กำลังได้รับผลกระทบ ไปพร้อม ๆ กับปัญหาทางเศรษฐกิจ
พวกเขาเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรขนาดย่อม บริการคนเมือง แต่เมื่อถึงวันที่ธุรกิจกำลังจะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พื้นที่เหล่านี้ยังจำเป็นหรือไม่? และจะดำเนินการต่ออย่างไร?
ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เล่าว่า ในช่วงต้นปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ตนได้ไปสำรวจความคิดเห็นของชุมชนริมคลองแม่ข่า ทำให้ทราบว่า บางครอบครัวเดิมที่มีรายจ่ายค่าอาหารสูงเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ แต่ในผลกระทบจากโรคระบาดทำให้ขาดรายได้
ในฐานะที่เป็นสถาปนิก เล็งเห็นโอกาสการพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าบริเวณสุสานช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จึงขออนุญาตเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าใช้พื้นที่ และได้รับการอนุญาต จึงระดมทุนจากประชาชนทั่วไปที่สนใจเป็นต้นทุนการปรับพื้นที่ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างซึ่งอดีตเคยเป็นที่ทิ้งขยะ ให้กลายเป็นสวนกลางเมืองเชียงใหม่ และทำให้สวนสาธารณะมีบทบาทในการผลิตอาหารและเป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
“แม้ใคร ๆ จะบอกว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะที่นี่เต็มไปด้วยขยะเก่าจะมาปลูกอะไร แต่เราก็ได้เริ่มทำโดยระดมทุนผ่านสื่อออนไลน์ เอารถแบคโฮมาขุดปรับปรุงพื้นที่ ประสานกับกรมเจ้าท่าเอาดินมาถมให้ ชวนภาคเอกชนมาช่วยเจาะน้ำบาดาลในราคาต้นทุน และนำวิธีคิดการปรับปรุงดินด้วยใบโอชาจากธรรมชาติมาใช้ สภาพดินจากเสื่อมโทรมปนเปื้อนโลหะหนักก็หายไป ทำให้ได้ผลผลิตที่กินได้”
และด้วยแรงสนับสนุนของภาคส่วนต่าง ๆ และความมานะพยายามของทีมงาน ทำให้เกิดเป็นสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Urban Farm) ที่เป็นมากกว่าพื้นที่ปลูกผักเท่านั้น แต่ยังแบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็นส่วนต่าง ๆ คือ แปลงแบ่งปัน แปลงผักคนเมือง แปลงผักชุมชน บ้านไก่ไข่อารมณ์ดี จุดเวิร์กชอป ศาลากิจกรรม สวนสู้ฝุ่น แปลงผลไม้ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย
“6 เดือนผ่านมา พื้นที่ 2.5 ไร่ตรงนี้ เราจัดกิจกรรม เวิร์กชอปเพียง 15 ครั้ง มีคนเข้าร่วมกว่า 800 คน มีผัก กว่า 50 ชนิด หลายครอบครัวมาพึ่งพาอาศัยผลผลิตทางการเกษตรตรงนี้ได้ มาช่วยกันปลูกและเก็บไปทำอาหารได้…”
ศุภวุฒิ บอกอีกว่า แม้จะเลี้ยงคนทั้งเมืองไม่ได้ แต่ความรู้ในการพึ่งพาตัวเองที่ได้จากที่นี่ จะช่วยหล่อเลี้ยงคนทั้งเมืองได้ ซึ่งอนาคตจะต้องทำ 3 สิ่งให้เกิดขึ้น คือ 1. อยากให้มีความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่ดูแลอย่างถูกต้อง เพราะการอนุญาตใช้พื้นที่ในปัจจุบันเป็นเพียงการอนุญาตปากเปล่า เพื่อให้ถูกต้อง ทางเทศบาลจะต้องทำหนังสือขออนุญาตส่งถึงจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย 2. ต้องการให้สวนสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีเงินหมุนเวียน สนับสนุนการทำงาน ซึ่งขณะนี้วางแผนว่าจะให้เช่าพื้นที่ปลูกผัก 300 บาทต่อแปลง สัญญาอย่างน้อย 3 เดือน
และ 3. ต้องการสร้างอาคารไม้ไผ่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ หวังให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งอนาคต ที่มีจิตวิญญาณสาธารณะ ทั้งนี้ ต้องการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพื้นที่สาธารณะในเมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม ร่วมมือกับรัฐและส่วนการพัฒนาท้องถิ่น
“ถ้าเราได้มีโอกาสคุยกัน มันก็จะเติบโตเหมือนที่ผมเล่า มันเป็นพันธกิจร่วมกัน ถ้าเรามีฝันร่วมกันมันก็จะเกิดขึ้น… วิกฤตโควิดที่ผ่านมามันบอกว่าเราความไม่เพิกเฉยต่อกัน นั่นคือมูลค่ามหาศาล”
เม็งคบุตร ยูรโฮ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Green Ranger หนึ่งในภาคีก่อตั้งคณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ บอกว่า สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นพื้นที่สีเขียว แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างงานสร้างรายได้ และทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ในเชิงสังคมและเศรษฐกิจรายย่อย
“คนเมืองอาจไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ แต่สามารถมาหาได้ง่าย ๆ ที่สวนนี้ เราสอนการปลูกพืชผัก การเอาใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก ช่วงแรก ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีกิจกรรม ทีมอาสาสมัครกรีนเรนเจอร์ (Green Ranger) จึงคอยประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มคนต่าง ๆ ที่กำลังเดือดร้อนด้านความมั่นคงทางอาหารให้พี่น้องได้เข้ามาเรียนรู้ และให้ทีมอาสาสมัครมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้”
เขาบอกอีกว่า เมื่อมาก็จะได้ความรู้จากตรงนี้ไปพัฒนาในพื้นที่ของตน โดยจะมีชาวบ้านมาเก็บผักไปขายหน้าสวนทุกวันศุกร์ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการพัฒนาสวน สร้างงานสร้างรายได้ และยังมีเงินทุนสนับสนุนให้คนไร้บ้าน 3 คนจากบ้านเตื่อมฝันมาดูแลรดน้ำต้นไม้ที่นี่ด้วย
สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Urban Farm) จึงดึงดูดให้คนที่ทำงานหลากหลายกลุ่มแต่มีความสนใจเดียวกันเข้ามาทำงานร่วมกันและเติมพลังให้แก่กัน ดังที่เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เล่าว่า สวนแห่งนี้เป็นขุมพลังที่ทำให้คนตัวเล็ก ๆ ในสังคมสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้และสวนผักตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่สวนผักแต่ คือ อนาคตของเมืองเชียงใหม่
เธอบอกว่า การมาช่วยกันทำสวนทุกวันศุกร์ ทำให้เห็นพัฒนา ทำให้รู้สึกภูมิใจ โดยมองว่าสวนผักตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่สวนผัก ในอนาคตอาจพัฒนาและทำให้คลองแม่ข่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ สร้างรายได้ต่อจากนี้ได้อีก มีอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้อีก เมื่อพลังของทุกคนมารวมกัน ทำให้เห็นว่าสามารถสร้างอะไรได้บ้าง จากกองขยะ กลายมาเป็นสวนผักของคนเมือง
“แต่สิ่งที่กังวล คือ การอนุญาตใช้พื้นที่ หากทำต่อไปแล้วเราจะโดนยึดที่คืนหรือไม่ ก็อยากได้ความมั่นใจจากภาครัฐ เราหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง ตรงนี้แม้ว่าอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่คิดว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่รอบ ๆ นี้ด้วย”
พลากร วงศ์วงกองแก้ว ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ต้องการให้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นโอกาสใหม่ ๆ ของเมืองเชียงใหม่ เช่น โอกาสที่ประชาชนจะสามารถบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะในอำนาจการดูแลของรัฐได้ โอกาสที่จะเกิดความร่วมมือของภาคประชาชน และโอกาสกำหนดทิศทางของพื้นที่นี้ตามความฝันของตน
“ความฝันของพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่แค่ความฝันของคนที่นี่เท่านั้น แต่ยังเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คนในพื้นที่อื่น ๆ เป็นความฝันของคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา…”
สำหรับการสนับสนุนการสร้างพื้นที่ เขามองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องรอง เพราะหากสิ่งที่ฝันถูกทำให้เกิดขึ้น และถูกสื่อสารออกไปในวงกว้าง จะมีคนมากมายพร้อมจะเอาเงินมาลงขัน มาร่วมทำด้วย แต่เชื่อว่าเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือ การร่วมบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะของเมืองได้อย่างแท้จริง
“คำถามว่าเราจะบริหารพื้นที่สาธารณะของเมืองอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าเรื่องเงิน เมื่อพื้นที่มีขอบเขตอำนาจการควบคุม ซึ่งถ้าเราสามารถบริหารพื้นที่ได้ พร้อม ๆ กับการทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะของเมือง นั่นจะสำคัญกว่า”
ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มองว่า สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กำลังสร้างสำนึกใหม่ของเมืองขึ้นมา ซึ่งความหลากหลายของเมืองทำให้คนเราเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งการพัฒนาต่อได้จะต้องอาศัยจิตนาการใหม่ของเมือง การขยับขยายพื้นที่ของเมืองให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม
“ทุกวันนี้สังคมเป็นชั้น ๆ แต่พื้นที่ตรงนี้กำลังทำลายชั้นต่าง ๆ โดยการเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมาเจอกันได้ คนไร้บ้านมาทำงานดูแลสวน คนเมือง ชุมชนโดยรอบมาช่วยกันดูแล… การเปลี่ยนจินตนาการใหม่ของเมืองจึงสำคัญ เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมกัน เกิดสำนึกใหม่ของเมืองขึ้นมา เป็นการสร้างความหลากหลายของเมืองที่ทำให้เราเชื่อมต่อกันได้…”
ศ.อรรถจักร์ ยังบอกอีกว่า นี่เป็นการสร้างพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้ามาทำงาน และคนจนเมืองก็เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้จัดการรายย่อยจากการเอาผลผลิตไปขาย โดยสามารถจัดพื้นที่สาธารณะให้เชื่อมต่อการค้าขาย และเป็นพื้นที่หารายได้ของคนจนเมืองมากขึ้น
“จินตนาการใหม่ของเมืองเชียงใหม่จึงสำคัญ คือ เมืองที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมกัน และมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลง… การพัฒนาจำเป็นต้องคิดถึงคนทุกกลุ่ม มากกว่าคิดถึงการพัฒนาโดยเน้นเทคโนโลยีอย่างเดียว และจะทำให้คนจนเมืองถูกผลักให้ไกลออกไป”
ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ระบุว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ตรงนี้มีมือที่มองไม่เห็นมาช่วยมากมายจึงทำให้สำเร็จได้ แต่กังวลเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่อย่างถูกต้องว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากไม่มั่นใจในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งในแง่การให้ใช้พื้นที่รัฐ และประโยชน์ที่จะได้กลับคืนมา
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ มองว่า โจทย์สำคัญ คือ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้ยั่งยืนและไปต่อได้ เพราะแม้โควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหา แต่สิ่งที่จะแก้วิกฤตโรคระบาดไม่ใช่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพื้นที่เท่านี้ก็ไม่สามารถจะเลี้ยงคนได้ทั้งเมือง ผลผลิตอย่างน้อยอาจจะให้ประโยชน์กับคนหลักร้อยเท่านั้น และคนเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่ก็มีอาชีพบริการไม่ใช่เกษตรกรรม หรือเป็นลูกจ้าง อาจไม่ถนัดเรื่องการเกษตร จึงต้องนึกถึงการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ประกอบร่วม เช่น เพื่อสันทนาการ และอีกส่วนหนึ่งปรับเป็นปลูกไม้ใหญ่ เพราะในเมืองมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็อาจให้มีต้นไม้ใหญ่เป็นเครื่องกรองอากาศ ถ้าเราสามารถปรับได้ ให้มีพื้นที่ของต้นไม้ใหญ่ด้วย มีผักด้วย และมีศูนย์เรียนรู้ สันทนาการ พื้นที่ดูแลสูงอายุ พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้
“พื้นที่สีเขียวสาธารณะนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าเราลงเงินมาเป็นล้าน มันจะคุ้มค่าไหม คงจะต้องมีการคุยกันทุกฝ่าย เพราะว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตมเทศบาลพร้อมรับฟังเสียงของภาคประชาชน และให้การสนับสนุนเป็นสิ่งที่ควรทำ หากมาคุยแล้วได้ข้อสรุปที่ดีร่วมกัน ผมจะทำหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ประเภทที่สาธารณประโยชน์ ขออนุญาตไปถึงจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย เพราะเทศบาลเองไม่สามารถอนุญาตได้ ย้ำว่าเทศบาลพร้อมที่จะหารือเพื่อให้เกิดแนวทาลที่จะทำให้สวนนี้เดินต่อไปได้และยั่งยืน”
ทั้งนี้ คณะก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ฯ เตรียมจะหารือเพิ่มเติมกับ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เพื่อหาวิธีทำให้สวนผักคนเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้ เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพชีวิตของคนเมือง และตัวอย่างของการใช้พื้นที่รกร้างสร้างประโยชน์สาธารณะ