เงิน “50,000 ล้านบาท” ทำอะไรได้บ้าง ?

การมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท อาจช่วยต่อชีวิตพนักงานการบินไทยได้กว่า 21,000 คน และช่วยให้ “การบินไทย” ยังคงทำหน้าที่สายการบินแห่งชาติได้ต่อไปอีก

“เป็นโอกาสสุดท้าย” คือ การกล่าววาจาของ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ที่ตัดสินใจช่วยอุ้มการบินไทยต่อไป แม้มีเสียงทักท้วงจากสังคม

แผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2563 – 2567 จะถูกดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลักที่เสนอโดยการบินไทยเอง คือ ปรับโครงสร้างองค์กรให้สายบังคับบัญชาสั้นลง ลดจำนวนบุคลากร และการปรับสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทน

การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของการบินไทย เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ตัวเลข “50,000 ล้านบาท” ถูกจับจ้องจากสังคมและตั้งคำถามดัง ๆ ว่าเหตุใด “กระทรวงการคลัง” จึงต้องแบกรับความเสี่ยงกับการบริหารกิจการที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสายการบินสีม่วง ทั้งที่ปัจจุบัน มีสายการบินอื่นที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย เป็นตัวเลือกการเดินทางสำหรับประชาชนอยู่แล้ว และไม่วายถูกนำมาเปรียบเทียบเปรียบเปรยกับการนำเงินจำนวนนี้มาพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุข แม้รู้ดีว่าเป็นเงินคนละส่วนที่ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้

The Active รวบรวมข้อมูลการลงทุนที่จำเป็นของรัฐ ว่าหากต้องใช้งบประมาณ “50,000 ล้านบาท” เพื่อการลงทุนในด้านต่าง ๆ เราจะสามารถพัฒนาประเทศอย่างไรได้บ้าง


📍 ไม่ต้องกู้เงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข แก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ตามแผนงานที่ ครม. อนุมัติ คือ 1) รองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 2) จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรควัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 3) รองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูสาธารณสุขของประเทศ 4) เตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกักตัวกลุ่มเสี่ยง และ 5) เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19


📍 ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนได้ 16 โรง เพราะหากเป็นไปตามคาดการณ์การใช้งบประมาณเพื่อจัดตั้งโรงงานวัคซีนโควิด-19 โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะมีการใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท และหากประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้เดินหน้าการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ต่อสู้กับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะต้องมีโรงงานผลิตวัคซีนได้เองอย่างน้อย 11 โรง เพื่อเทียบเท่าประเทศเวียดนาม และแน่นอนว่าหากไทยต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบครบวงจร อาจต้องผลิตวัคซีนได้มากกว่านั้น ซึ่งหากจะใช้งบประมาณราว 50,000 ล้านบาท ไทยจะสามารถตั้งโรงงานผลิตวัคซีนได้ถึง 16 โรง


📍 ช่วยเด็กยากจนพิเศษ 708,767 คน ได้นาน 79 เดือน หรือ 6.5 ปี เพราะจำนวนเด็กยากจนพิเศษตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ม.3 ทั่วประเทศ มีมากถึง 708,767 คน หากต้องจัดสรรเงินช่วยเหลือจำนวน 600 บาทให้ได้ครบทุกคน จะต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 630 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ เด็ก ๆ และผู้ปกครองสามารถนำไปซื้อสิ่งของจำเป็นได้ 5 รายการ คือ ข้าวสาร 20 กิโลกรัม, ไข่ไก่ 1 แผง (36 ฟอง), ปลากระป๋อง 10 กระป๋อง, น้ำมันพืช 1 ขวด และสบู่ 1 ก้อน หรือจะซื้อพืชผักผลไม้ในท้องถิ่นก็ได้ นั่นหมายความว่า หากมีงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ก็สามารถดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ได้นานถึง 79 เดือน หรือราว 6 ปีครึ่งเลยทีเดียว


📍 สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ได้ 5 สะพาน เพราะกระทรวงคมนาคมเพิ่งเปิดเผยแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า มีการกำหนดวงเงินลงทุนไว้มากกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1) สะพานท่าน้ำนนทบุรี 3 มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ 2) โครงการก่อสร้างสะพานบริเวณสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี 3) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-ถนนเชื่อมต่อ-สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนบริเวณท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร 4) โครงการก่อสร้างสะพานปทุมธานี 3 และ 5) โครงการก่อสร้างสะพานสามโคก จ.ปทุมธานี


📍 ได้รถเมล์ใหม่ 12,700 คัน เพราะหากย้อนไปดูแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เพื่อแก้ปัญหารถเมล์ที่มีสภาพเก่า ทรุดโทรม และไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ขสมก. จะต้องจัดหารถเมล์ใหม่ โดยกำหนดวงเงินไว้ 13,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้รถเมล์ใหม่จำนวน 3,183 คัน ซึ่งมีทั้งรถเมล์ไฟฟ้า รถเมล์ไฮบริด รถเมล์เอ็นจีวี รวมถึงการปรับปรุงรถเมล์เก่าและเช่ารถเมล์ใหม่ด้วย ซึ่งหาก ขสมก. มีงบประมาณในมือราว 50,000 ล้านบาท ก็จะมีรถเมล์ใหม่ไว้รองรับบริการมากถึง 12,700 คัน ซึ่งหมายความว่า เราจะได้เห็นรถเมล์เกือบทุกคันที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นรถเมล์ใหม่เอี่ยมอ่องจากเงิน 50,000 ล้านบาท เพราะ 456 เส้นทางในปัจจุบัน มีรถเมล์ทั้งหมด 13,461 คัน


📍 สร้างรถไฟฟ้าได้เกือบ 2 สาย แม้ว่าอีกไม่เกิน 5 ปี เราจะได้เห็นรถไฟฟ้าวิ่งพร้อมกันทั่วกรุงเทพมหานคร ถึง 13 สาย ครอบคลุมเส้นทางสำคัญทั่วเมือง แต่มีอีกหลายเส้นทางที่รถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง ซึ่งหากนำเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาทมาใช้ เราจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มมาอีกเกือบ 2 สายเลยทีเดียว หากดูจากงบประมาณการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีการตั้งวงเงินไว้ที่ 31,680 ล้านบาท สำหรับระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี ประกอบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร หรือ 23 สถานี โดยทั้ง 2 สาย ใช้เงินราว 63,360 ล้านบาท แต่หากมีเงินสัก 50,000 ล้านบาท อาจต้องลดระยะทางและจำนวนสถานีลงอีกหน่อย เผื่อบ้านใครยังไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน ก็คงมีลุ้น


ดูเพิ่ม

นายกฯ ชี้โอกาสสุดท้ายฟื้นฟูการบินไทย ยอมรับว่ายาก
นายกฯ ไฟเขียว พ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาทสู้ COVID-19
คาดใช้ 3 พันล้านบาท ตั้งโรงงานวัคซีนโควิด-19
โควิด-19 กระทบเด็กยากจนพิเศษ 7 แสนคน
คมนาคมดันงบกว่า 4.4 หมื่นล้าน ดันก่อสร้าง 5 สะพานข้ามแม่น้ำ
ครม.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู ขสมก.
ลงนามสัญญาเงินกู้ 63,360 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์