“ทำไมฉันต้องช่วยคนจน”: รังเกียจความเหลื่อมล้ำ หรือ รังเกียจคนจน?

ความมั่งคั่งและการกระจุกตัวของทรัพย์สินของคนบางกลุ่ม…

สัมพันธ์กับกระบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม และการผูกขาด

ความเหลื่อมล้ำค่อย ๆ ก่อตัว จากความรู้สึก “เปรียบเทียบ” “แตกต่าง”

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ทบทวน “นิยามความจน” สู่ข้อเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำจากงานวิชาการ

เส้นแบ่งความยากจนใช้วัดความจนได้ และเพียงพอ?

เส้นความยากจนนั้นถูกพัฒนามาจากการพิจารณาความจำเป็นของการเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยเส้นความยากจนนั้นถูกแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย 

  1. เส้นความยากจนด้านอาหาร ที่พิจารณาจากความต้องการแคลอรีและโปรตีน ที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ โดยไม่รู้สึกว่าขาดสารอาหาร เส้นความยากจนนี้จึงดูว่าคนหนึ่งคนต้องใช้เงินเท่าไหร่ต่อเดือน เพื่อเข้าถึงรูปแบบอาหารเหล่านี้ จากนั้น จึงนำมาคำนวณเป็นจำนวนโภชนาการ คือ แคลอรีและโปรตีน เพื่อหาว่าจำนวนเงินที่มีนั้น สามารถซื้ออาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานหรือไม่ เส้นความยากจนนี้จึงเปลี่ยนไปตามความแตกต่างทางร่างกาย ของเพศ และช่วงวัย รวมถึงพื้นที่ด้วย เนื่องจากราคาสินค้าของแต่ละพื้นที่นั้นไม่ได้มีจำนวนเท่ากัน
  2. เส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหาร ใช้เกณฑ์พิจารณาปัจจัยพื้นฐานขั้นต่ำ เช่น ต้องมีบ้านอยู่อาศัยหรือมีเสื้อผ้าใส่ เป็นต้น 
  3. ทั้งสองกรอบนี้อยู่ภายใต้การนิยามความยากจนผ่านจำนวนเงิน ข้อวิจารณ์ต่อการวัดความยากจนดังกล่าวก็คือ เราจะสามารถนิยามความจนโดยไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ เช่น การจนโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และบริการทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การจนสิทธิทางการเมือง ดังนั้น คนจนจึงมีความหลากหลายมากกว่าความจนทางกายภาพผ่านมุมมองทั้ง 2 ข้อข้างต้น แต่ยังมี ความจนทางสังคม และ การขาดทุนทางสังคม เพื่อต่อยอดโอกาสในชีวิตด้วย 

จนทุนทางสังคม เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ 

การพูดถึงความจน “โอกาส” นั้นเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลในสังคมที่ได้รับโอกาสไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งหมดสะท้อนถึงความเท่าเทียมทางสังคม เช่น โอกาสในการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่ถกเถียงว่าการขาดโอกาสในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นความจนรูปแบบหนึ่งหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามทั้งหมดนั้นก็ได้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

ความจนจึงเริ่มก่อรูปเมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม รู้สึกว่ารับไม่ได้ และรู้สึกว่าทั้งหมดนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญ พวกเขาจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้ โดยจะสังเกตได้ว่าการลุกขึ้นมาเรียกร้องนั้นส่วนใหญ่มักไม่ใช่เรื่องของความจนเชิงกายภาพ เพราะคนจนประเภทนี้มักยุ่งอยู่กับการหาเช้ากินค่ำ แต่คนที่มีโอกาสหรือเวลาที่จะลุกมาเรียกร้องนั้นมักจะเป็นคนจนในหมู่ชนชั้นกลางระดับล่าง คนกลุ่มนี้จึงถือเป็นคนยากจนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความคิด สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ ในประเด็นเรื่องคนจนกายภาพนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือไม่มีก็ได้ แต่หากเป็นคนจนทางสังคม ส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ 

คนทางสังคม = เข้าไม่ถึงโอกาสทางทรัพยากร

ความจนนั้นมักสัมพันธ์กับโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เช่น โอกาสทางการศึกษา ซึ่งสมัยก่อนคนมักมีการศึกษาสูงสุดอยู่เพียงระดับชั้นประถมถึงมัธยมต้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันนั้นโอกาสทางการศึกษาก็มีเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น โอกาสจึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ซึ่งในช่วงหลังนี้โอกาสในการศึกษาจะมีเพดานที่สูงขึ้นและนำมาสู่การทบทวนว่าเราจะทำอย่างไรให้บุคคลทั้งหลายเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีอะไรประกันว่าประชากรจะจบการศึกษาตามเกณฑ์หรือเพดานล่าสุดจริง ๆ การคิดถึงโอกาสเช่นนี้จึงตามมาด้วยนโยบายการศึกษาของภาครัฐเพื่อรับประกันโอกาสของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามก็คือประเด็นเรื่องคุณภาพทางการศึกษา หรือ “โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” ไม่ใช่แค่การมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้นแต่ยังต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้าด้วย ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่แค่การจัดการศึกษาหรือขยายการสร้างโรงเรียนให้ทั่วถึง แต่ต้องรวมถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันให้กับเด็กจากทุกฐานะทางเศรษฐกิจด้วย 

“GDP” เพิ่มขึ้น แต่ “คน” จนลง

คนจนทางกายภาพและคนจนทางสังคมนั้นมีโอกาสเป็นคนคนเดียวกันได้ แต่คนจนทางสังคมนั้นอาจมีความแตกต่างจากคนจนทั่วไปที่พวกเขาอาจจะมีเวลาสำหรับการเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชีวิตที่ดีกว่า โดยประมาณปี 2559 – 2561 นี้ เกิดคนจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมากขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวถึงร้อยละ 1-3 ในช่วงปีดังกล่าว นอกจากนั้นเมื่อย้อนไปในอดีตแล้วเราก็จะไม่ค่อยเจอปรากฏการณ์ที่คนจนเพิ่มมากขึ้นทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอยู่ การเพิ่มขึ้นของคนจนในอดีตนั้นจึงมักสำคัญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งหรือภัยพิบัติต่าง ๆ

น่ากังวลว่าความจนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2559 – 2561 นี้ จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า คนจนเรื้อรัง หรือ คนจนดักดาน

กลุ่มคนจนเรื้อรังนี้จึงเป็นคนที่ยังคงจนและไม่สามารถขยับขยายไปทางไหนได้แม้ว่าจะเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคตไปทางใดก็ตาม นอกจากนั้นยังน่าเป็นห่วงว่าในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้คนจนเรื้อรังกลุ่มนี้จะยิ่งมีปัญหาเรื่องความจนซ้ำเติมจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ สถานการณ์ของคนจนกลุ่มนี้จะยิ่งแย่มากขึ้นหรือไม่เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป 

การที่คนจนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวนั้นยังสะท้อนว่าการพัฒนาของเศรษฐกิจเรานั้นเกิดการแบ่งปันผลผลิตที่ไม่ทั่วถึง เป็นการขยายตัวอย่างไม่คำนึงถึงการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) ทั้งนี้ การขยายตัวที่ไม่มีส่วนร่วมของคนทุกคนในสังคมนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนมากแล้วเกิดจากการละเลยหรือมองเห็นคนจนหรือความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ 

เติมเงินให้คนจน

ดร.สมชัย คิดถึงการเติมเงินให้คนจนผ่านการแจกเงินโดยตรงนั้นก็มีส่วนที่จะช่วยเหลือคนจนได้จริงในระดับหนึ่ง โดยเห็นด้วยกับการให้เงินเดือนกับคนจนในปริมาณที่พอดี (ไม่เยอะจนเกินไป) เพื่อให้พวกเขาอยู่รอดได้ แต่ก็ยังสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและการหางานทำอื่นเพื่อเสริมรายได้อยู่ นอกจากนั้น ยังทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจลงทุนพัฒนาชีวิต เช่น ลงทุนพัฒนาการศึกษาให้กับบุตรหลาน เป็นต้น

การให้การสนับสนุนจากภาครัฐจึงทำให้คนมีโอกาสจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าได้กว่าในปัจจุบันเพราะไม่ต้องกังวลกับความยากจนหรือกลัวอดตายของชีวิตมากจนเกินไปนัก การให้เงินไม่ต้องมากแต่ให้ในจำนวนที่ทำให้คนรู้สึกมั่นคงต่อชีวิตก็จะทำให้คนเหล่านี้จัดการชีวิตได้ดีขึ้นนั่นเอง 

ประชาชนควรมีส่วนกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ

เขายกตัวอย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่าประชาชนเองก็ควรมีโอกาสและสิทธิในการถามว่าประโยชน์ของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนั้นจะไปกระจายตัวอยู่ที่ไหน โดยหากพิจารณาจุดประสงค์ที่โครงการ EEC ต้องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมก็พบว่าเป็นจุดประสงค์ที่ตรงกับความต้องการของประเทศ เพียงแต่นวัตกรรมเหล่านั้นกลับไปกระจุกตัวอยู่กับคนในพื้นที่หรือกลุ่มนักลงทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ดร.สมชัย เห็นด้วยกับการกระจายให้มีพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในหลาย ๆ ภาค แต่ต้องมีกลไกกำกับดูแลผลประโยชน์และการดำเนินการที่จะตอบโจทย์การกระจายผลผลิตให้กับคนทั่วประเทศอย่างแท้จริง เพราะหากสามารถทำให้เกิดเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของภาคส่วนอื่นในประเทศด้วยหรือเชื่อมโยงผลประโยชน์ให้กับชนชั้นหรือกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ก็จะถือว่าเป็นการพัฒนาที่เหมาะสมและทั่วถึง 

เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในอำนาจเชิงโครงสร้าง

ดร.สมชัย เสนอว่าเราต้องเชื่อเรื่องกระบวนการพัฒนาแบบเป็นประชาธิปไตยในระบบตัวแทน โดยผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ถามคำถามแทนประชาชนในมิติต่าง ๆ ที่ ดร.สมชัย เสนอมาข้างต้น รวมถึงจะต้องเป็นผู้คอยสอดส่องและตรวจสอบกลไกการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลแทนประชาชนในพื้นที่ของตน ถ้าหากผู้แทนไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชนในพื้นที่ก็เท่ากับว่ายังมีปัญหาอยู่ในระบบประชาธิปไตยของไทย

ประชาธิปไตยจึงต้องมีคุณภาพพอที่จะกลับไปแก้ปัญหาสังคมได้ และทุกเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ก็ต้องถูกนำมาพิจารณาในสภาฯ อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน 

ตัวเลขคนจนล่าสุดอยู่ที่ภาคกลางและภาคใต้ ไม่ใช่อีสานอย่างที่เข้าใจอีกต่อไป

เมื่อก่อนนั้นเรามีงานวิจัยรองรับมากมายว่าทำไมคนจนถึงกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากปัจจัยในการประกอบอาชีพ เช่น การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำ การศึกษาต่ำ เป็นต้น

แต่ภาพเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ของคนอีสานเพื่อทำงานหาเงินส่งกลับไปยังท้องถิ่น กระบวนการเหล่านี้จึงทำให้ชีวิตของคนอีสานไม่ได้แย่กว่าภาคอื่น ๆ อีกต่อไป

ขณะที่ภาคใต้ในบางจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภายใต้ ที่เริ่มมีสัดส่วนคนจนมากกว่าภาคอีสาน นอกจากนั้นภาคเหนือยังมีลักษณะคล้ายกับภาคใต้ นั่นคือโดยรวมแล้วทั้งจังหวัดไม่ได้มีปัญหามาก แต่ปัญหาความยากจนไปกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด 

ภาคกลางอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับภาคอื่นเพราะยังคงมีพื้นที่ในการทำการเกษตรและชลประทาน อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับงานในภาคอุตสาหกรรม โดยหากดูตัวเลขในระยะ 3-5 ปีนั้นคนจนในภาคกลางอาจเพิ่มขึ้น แต่หากมองในระยะยาวเป็นทศวรรษก็ยังชี้ชัดว่าอย่างไรก็ตามคนจนในภาคกลางก็ยังมีน้อยกว่าคนจนในภาคอื่นของประเทศไทย 

ต่อให้คนจนจากภาคต่างจังหวัดโยกย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหรือกรุงเทพมหานครนั้น พวกเขาก็ยังถือว่ามีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าเส้นของความยากจน ซึ่งโดยนิยามก็ถือว่าพวกเขาไม่จนแล้ว อีกทั้งบางรายก็มีรายได้แน่นอนจากอาชีพในเมืองด้วย หลายคนจึงมีโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวและเพิ่มโอกาสทางชีวิตอื่น ๆ เช่น โอกาสทางการศึกษา ให้กับคนรุ่นลูกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ก็ยังมีคนบางส่วนที่เข้ามาทำงานในเมืองแล้วไม่ได้รับค่าแรงถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น แรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน คนกลุ่มนี้จึงอาจกลายเป็นคนจนเมืองได้ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วก็ยังพบว่าสัดส่วนของคนจนในชนบทนั้นมีมากกว่าคนจนเมืองอย่างเห็นได้ชัด 

กระจายความมั่งคั่งจากกลุ่ม Top 1 เปอร์เซ็นต์ ให้คนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องยาก?

เพราะกระบวนการที่ทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ นั้นเชื่อมโยงกับกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย เช่น ระบบการผูกขาดในเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยที่บริษัทขนาดเล็กหรือธุรกิจขนาดย่อยนั้นถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปอย่างมหาศาล จนทำให้เกิดภาพการกระจุกตัวของอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของอำนาจและความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้ โดยรวมแล้วการกระจายความมั่งคั่งจากกลุ่มคน 1 เปอร์เซ็นต์ มาให้คนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ ในสังคมจึงเป็นเรื่องยากแม้ในปัจจุบันจะมีความตื่นตัวขึ้นมากในสังคมก็ตาม 

นอกจากนั้นยังมีคำถามว่าหลังการเกิดวิกฤตโควิดขึ้นแล้วจะเกิดการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นกว่าเดิมไหม และอย่างไรบ้าง เพราะโควิดนั้นจะทำให้ธุรกิจหลายภาคส่วนล้มหายตายจากไป เพราะธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มีสายป่านสั้น และแรงงานในนั้นก็มักจะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือที่เมื่อถูกเลิกจ้างในช่วงโรคระบาดแล้ว ก็อาจจะไม่ได้กลับมาทำงานเดิมอีก

การว่างงานในครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะว่างงานยาว โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาน้อยที่นายจ้างอาจจะไม่พิจารณาจ้างอีกเมื่อจบวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้

กลุ่มคนที่มีอายุมากและการศึกษาน้อยจึงอาจเป็นแรงงานกลุ่มที่จะมีโอกาสกลับสู่ระบบการจ้างงานอยู่เป็นอันดับท้ายสุดหรืออาจจะไม่ได้กลับมาอีกเลย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะทำให้เกิดจำนวนคนจนเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะพุ่งสูงขึ้นไปด้วย 

ความหวังว่าจะใช้วิกฤตของโควิดเพื่อนำไปสู่การกระจายตัวของอำนาจหรือนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากขึ้นของ ดร.สมชัย ก็คือ การทำให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศไทยและเข้าถึงคนอย่างถ้วนหน้า เพราะช่วยให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจออนไลน์ ที่จะไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะคนชั้นบนหรือคนชนชั้นกลางเท่านั้น นอกจากนั้นอินเทอร์เน็ตเองก็จะทำให้เกิดการมีสิทธิมีเสียงของคนชนชั้นล่างเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนจนดักดานหลุดพ้นจากบ่วงความจน 

ดร.สมชัย เสนอว่าเราต้องทำหลายเรื่องพร้อมกันจึงสามารถลดความจนเหล่านี้ได้ โดยส่วนที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือการ re-skill คนในประเทศเพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่สำหรับคนกลุ่มระดับล่างของสังคม โดยเราต้องระดมความคิดกันว่าทักษะแบบไหนที่คนชนชั้นล่างสามารถทำได้และเป็นทักษะที่มากพอที่จะนำไปใช้หารายได้ต่อในอนาคตได้ ดังนั้นคอร์สอบรมทักษะวิชาชีพต่าง ๆ จึงไม่ควรเน้นไปที่คนชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ต้องคิดรูปแบบและการเข้าถึงคนจำนวนมากเพื่อทำให้พวกเขาเข้าถึงทักษะและการเสริมความรู้เหล่านี้มากยิ่งขึ้น 

ไม่ว่าคนจนจะมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังมีตัวตนอยู่ในประเทศ ดังนั้น ความยากจนจึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมนั้น (เช่น กฎหมายที่ดิน) แม้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่มากและยังเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยอยู่มาก กฎหมายในปัจจุบันจึงผิดรูปผิดร่างอีกทั้งยังถูกออกโดยคนมีที่มีอำนาจเพื่อให้กฎหมายนั้นรับใช้คนที่มีอำนาจในหมู่พวกพ้องเดียวกันอีกที ดังนั้นกระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้จึงควรจะต้องผ่านการมีส่วนร่วมและสะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคมจริง ๆ ให้ความเสมอภาคและทั่วถึง

นอกจากนั้น รัฐสวัสดิการก็ยังอาจจะเกิดยากขึ้นภายใต้โครงสร้างการเมืองของประเทศไทยเช่นนี้ โดยหากมีการพูดเรื่องความเท่าเทียมกันของสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มักจะมีคนค้านอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งความยากจนและความรวยนั้นถ่างกว้าง และเกิดปัญหาเรื่องสำนึกทางชนชั้นที่สูงมากขึ้นกว่าเดิม (“ทำไมฉันต้องไปช่วยคนจน” เป็นต้น) ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีทัศนคติทางการเมืองเป็นอย่างไร รังเกียจความเหลื่อมล้ำหรือรังเกียจคนจน ซึ่งทัศนคติเช่นนี้จะนำไปสู่การพัฒนทั้งเชิงนโยบายและการช่วยเหลือกันในหมู่คนของสังคมในระยะยาว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์