“รู้จักกันให้มากขึ้น ผ่านเครื่องแต่งกาย ชนเผ่าพื้นเมือง”

เมื่อเครื่องแต่งกายทุกชิ้นมีความหมายซ่อนอยู่ ทั้งความคิด ความเชื่อ จิตวิญญาณ รวมถึงวิถีชีวิตการดำรงอยู่ของผู้คน เครื่องแต่งกายของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นลักษณะเฉพาะตัว

ด้วยลักษณะที่แตกต่างกันอาจจะดูแปลกตา แต่ล้วนบ่งบอกความหมายและคุณค่า หากได้รู้จัก เข้าใจในความหมายของเครื่องนุ่งห่มเหล่านี้ อาจทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น
เครื่องแต่งกายของชาติพันธุ์ลีซู สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ เสื้อพื้นสีดำ ประดับเงินหลอมเป็นเม็ดกลมปักบนผืนผ้า สื่อความหมายถึงดวงดาวบนฟากฟ้า ดังนั้นชาวลีซูทุกคนไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนบนผืนแผ่นดิน เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นดวงดาวบนฟ้าให้รู้ว่า “เราอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน แผ่นดินเดียวกัน”
::
ชิ้นผ้าปักลายที่เย็บติดด้านข้างกระเป๋า เรียกว่า“หูกระเป๋า”เมื่อสะพายกระเป๋าด้านข้างขนานตัว จะเท่ากับว่ามีทั้งหูที่อยู่ข้างหัว และหูที่อยู่ข้างตัว เตือนใจให้ชาวลีซูระมัดระวัง ความคิด คำพูด และพฤติกรรม เพราะทุกคนมีหูอยู่รอบตัว ดังนั้นจึงต้องพึงมีสติในการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ
::
หูกระเป๋าของลีซู เป็นเหมือนของขวัญที่คนรัก ญาติ หรือครอบครัวจะจัดทำขึ้น และมอบให้แก่กัน ลวดลายที่ออกแบบเฉพาะตัวทำให้หูกระเป๋าของแต่ละคนไม่เหมือนหรือซ้ำของใคร ซึ่งการเย็บหูกระเป๋าต้องใช้สมาธิจดจ่อ ดังนั้นจึงมักจะใช้เป็นแบบฝึกวิชาเย็บผ้าให้กับลีซูรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
เครื่องประดับทรงสูงบนศีรษะ ของพี่น้องผู้หญิงชาวอ่าข่า (อีก้อ) กลุ่มอู่โล้ คือสิ่งสะท้อนสมบัติประจำตัว  ด้านบนสุด ประดับด้วยขนของชะนี ส่วนที่ร้อยประดับลงมาเป็นสายทำจากขนไก่ (หรือสำหรับบางคนทำจากหางม้า) ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ปักเย็บประกอบด้วยลูกปัด (บ้างก็ใช้ลูกเดือย) และใช้เหรียญเงินรูปีเย็บเป็นส่วนล่างสุด 
::
เครื่องประดับของผู้หญิงเป็นสิ่งที่พ่อแม่จะสะสมให้ หากมีมากก็ประดับมาก เพื่อเป็นของขวัญ เป็นมรดกให้กับลูก เนื่องจากผู้หญิงเมื่อแต่งงานก็จะย้ายไปอยู่บ้านผู้ชาย เครื่องประดับจึงเป็นสิ่งเดียวที่เอาไปได้ เป็นเหมือนสมบัติติดตัวของผู้หญิง ส่วนการแต่งการของผู้ชายชาวอ่าข่าไม่มีเครื่องประดับมากนักเนื่องจากมีสมบัติเป็นที่ดินทำกินแทน
::
เสื้อของอ่าข่า กลุ่มอู่โล้ จะมีลายเย็บเป็นเอกลักษณ์ ในแบบด้นถอยหลัง เส้นเล็ก เรียงกันหลายๆ เส้น ส่วนกระโปรงชาวอ่าข่าจะเหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ด้านหน้าเรียบด้านหลังจับจีบ และมีขนับแข้งหรือปอกขาเพื่อกันพืชหญ้าบาดเวลาไปทำไร่ทำสวน
สีขาว-แดง เป็นสีสันประจำเครื่องแต่งกายของชาวมอญ สีขาวสื่อถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ขาวสะอาด สีแดงเป็นสีเลือด สะท้อนถึงการต่อสู้ของบรรพบุรุษเพื่อการดำรงอยู่ของชนชาติมอญ สีแดงจึงเป็นสีที่ระลึกถึงประวัติความเป็นมาและเบื้องหลังของตัวตนคนมอญในวันนี้
::
เสื้อที่ใส่จะเป็นสีขาวสุภาพ ส่วนกระโปรงหรือผ้าถุงเป็นสีแดง  มีลายปักสีดำ คล้ายกากบาทและเครื่องหมายบวก หากเป็นผู้ชายจะเป็นลายตาราง ถอดแบบจากลายผืนนาซึ่งเป็นวิถีทำกินของชาวมอญ
::
ส่วนเครื่องประดับลายหงส์ เป็นสัญลักษณ์ประจำชนชาติมอญ ตามตำนานเรื่องเล่าการพัฒนาบ้านเมืองชาวมอญ ที่ระบุว่า ในสมัยพุทธกาล มีหงส์ตัวผู้และตัวเมียเล่นน้ำเมื่อพระพุทธเจ้าได้มาเห็นก็ทำนายว่าดินแดนหงสาวดีของชาวมอญจะเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ในกาลต่อไป
ชาติพันธุ์กะแย ที่คนมักรู้จักในชื่อ กะเหรี่ยงแดง มีอยู่ในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งเดียวในประเทศไทย ชุดผ้าซิ่นเหนือเขานั่งสบาย กับผ้าพาดขวางแทนเสื้อระบายอากาศได้ดี เน้นใช้สีแดง ลวดลายและการประดับตกแต่งชุดกะเหรี่ยงแดง บ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาของชนเผ่า อย่างการเย็บลวดลายเป็นแนวขวาง ที่กระโปรงหรือซิ่นนุ่ง มีความหมายหากลายขวางติดกันเป็นชั้นถี่ บ่งบอกถึงการอยู่อาศัยแบบรวมกลุ่มกัน แต่หากลายห่างกันสะท้อนถึงการอยู่แบบกระจัดกระจาย
::
ส่วนกำไรข้อมือมีลวดลายของแม่น้ำ และไฟ สะท้อนถึงช่วงของการอพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงสงครามโลก ที่ชาวกะเหรี่ยงแดงหนีจากแนวเขตชายแดนไทยพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่เขตเมืองของไทย เป็นความเดือดร้อนเหมือนไฟไหม้ และต้องเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินลงมาในเมือง ส่วนสร้อยคอที่ตีเงินเป็นลวดลายเครื่องมือทำกินประจำชนเผ่า เป็นเครื่องประดับมรดกตกทอดหลายชั่วอายุคน ซึ่งปัจจุบันไม่มีการผลิตใหม่แล้ว จึงเป็นของหายาก
::
ส่วนที่รัดขา ทำจากฝ้ายผสมด้วยน้ำยางดอกรัก หน้าหนาวช่วยคลายความร้อนให้ความอบอุ่น ส่วนหน้าร้อนจะช่วยทำให้รู้สึกเย็น หากใส่ชุดเต็มรูปแบบจะต้องใส่ที่รัดขาเต็มทั้งขา
ชุดของ อ่าข่า กลุ่ม อ้าหจ้อ ประกอบด้วยเสื้อคลุม ยกทรงเงิน กระโปรง และถุงน่อง ผ้าพื้นเน้นสีเข้ม ดำ กรม สื่อถึงพื้นดิน และสีทั้ง 5 ได้แก่ แดง (สายเลือด) เขียว (ป่าไม้) เหลือง (แสงอาทิตย์) ฟ้า (ท้องฟ้า) ขาว (บริสุทธิ์) ส่วนใหญ่ใช้เครื่องประดับเงิน ลูกปัด หอยเบี้ย หอยเบี้ยใช้แทนเงินในสมัยก่อน และใช้เรียกขวัญในยามป่วยไข้ โดยจะนำด้ายร้อยหอยและผูกข้อมือ
::
ส่วนเครื่องประดับกระเป๋า ทำจากหางม้า ขนไก่ และด้ายสี ลูกตุ้มที่เห็นเป็นลักษณะกลมๆ คล้ายไข่ มีความหมายถึงยุ้งฉาง วิถีชีวิตการเป็นชาวไร่ชาวนา และวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัว ชุมชน ในวงล้อมของด้ายสีแต่ละสี บอกกระบวนการตั้งแต่เตรียมพื้นที่ทำนา การปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต
::
ถุงน่อง เป็นสิ่งบ่งบอกวัยวุฒิ เพราะลวดลายและเส้นด้านจะมากตามอายุ หากอายุน้อยก็จะใช้ด้ายเพียงไม่กี่เส้น เมื่ออายุ 15 จึงจะมีลูกปัด และลายเยอะขึ้นตามช่วงเวลา ดังนั้นการแต่งกายจึงบอกได้ว่าอยู่ในช่วงอายุใด
ลาหู่ญี้ หรือลาหู่แดง จ.เชียงใหม่ โดดเด่นที่กระดุมกลัดเสื้อเม็ดใหญ่ ทำจากเงิน ซึ่งเครื่องประดับอื่นๆ ก็เน้นประดับด้วยเงินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าโพกหัว เสื้อ ประโปรง สร้อยคอ เข็มขัด เนื่องจากเงินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลาหู่แดง เป็นสิ่งปกป้องคุ้มครอง ป้องกันสิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ คาถาอาคมต่างๆ และเชื่อว่าสามารถดูดพิษไข้ได้
::
ชุดประจำชาติพันธุ์ลาหู่แดง เป็นเสื้อกระบอกครึ่งท่อนแขนยาว แต่งสาบเสื้อด้วยสีแดง หมายถึงเลือด ชีวิต ส่วนสีพื้นของเสื้อจะเป็นสีเข้ม เช่น ดำ คราม เทา หมักจากเปลือกไม้ธรรมชาติ ลวดลายปักในแบบฉบับดั้งเดิม จะเป็นลายเกี่ยวกับอุปกรณ์การทำมาหากิน และแสดงถึงการสู้รบ เช่น ลายธนู ลายหอก เพื่อระลึกว่าชุมชนอยู่รอดปลอดภัยได้ในทุกวันนี้จากการที่ได้รับการปกป้องในอดีต
::
แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องแต่งกายในปัจจุบัน ทั้งผ้าและลายแต่งเสื้อ รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายมากขึ้น ทำให้วิถีการทอผ้าหมักสีหายไปจากชาวลาหู่แดงมากกว่า 50 ปีแล้ว
ชุดประจำชาติพันธุ์ อูรักลาโวยจ จ.ภูเก็ต สมัยก่อนจะใส่เป็นเสื้อคอกระเช้า ผ้าถุง ส่วนผู้ชายใส่กางเกงเล ผ้าชุบ (ผ้าเขาม้า) แต่ปัจจุบันมีลวดลายของชุดที่มากขึ้น เรียกว่าชุด บาบ๋าย่าหยา หรือชุดรำรองแง็ง เป็นเสื้อลายฉลุสีสวย หรือชุดแขนตุ๊กกา และผ้าถุงลายปาเต๊ะ เน้นสีสันโดดเด่น ฉูดฉาด ลวดลายสะดุดตา เช่น ดอกไม้ใหญ่ๆ 
::
ส่วนผมถ้าเป็นเด็กปล่อยผมได้ หากโตแล้วต้องมวยผมให้เรียบร้อย ติดดอกไม้สด เช่น ดอกลีลาวดี ดอกชบาสีสด และใส่เครื่องประดับจากทะเล เช่น สร้อยไข่มุก หรือสร้อยเปลือกหอยเล็กๆ สวยงาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์