‘นุ่งผ้าถุง สูทไม่ต้อง รองเท้าผ้าใบ’ พกหัวใจเข้าสภาฯ ยกร่าง กม.ชาติพันธุ์

เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยถูกมองอย่างไร้ตัวตน ถูกด้อยค่า และโดนกดทับด้วยอคติ สามารถพลิกบทบาทครั้งสำคัญ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำกฎหมาย ในฐานะ 'กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์'

สิ่งนี้ไม่เพียงยืนยันถึงศักยภาพบนต้นทุนทางวิถีวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งพวกเขาลุกขึ้นมามีส่วนร่วมนำเสนอ และกำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ย้ำเตือนให้สังคมได้รับรู้ว่า “ชาติพันธุ์ไม่ใช่ภาระ แต่คือพลังยิ่งใหญ่ มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ” ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เอ่ยปากให้การยอมรับ

ครั้งแรกของการประชุมกรรมาธิการยกร่างกฎหมายฯ วันนี้ (14 มี.ค.67) คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เป็นอีกภาพประวัติศาสตร์ของการได้เห็นตัวแทนชาติพันธุ์ นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อผ้าชุดพื้นเมือง ไม่มีสูท ใส่รองเท้าผ้าใบ เดินเข้าสู่สภาฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการยกร่างกฎหมายฯ พร้อมประกาศคำมั่นผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ทุกฉบับ ให้สำเร็จ ลุล่วง ตามเจตนารมณ์ และความตั้งใจ

The Active ชวนย้อนดูภาพความประทับใจของตัวแทนชาติพันธุ์ กับบทบาทครั้งสำคัญ ในสภาฯ


เที่ยงตรงวันนี้ (14 มี.ค.67) ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทั้ง กะเหรี่ยง, ม้ง, ลีซู, อิ้วเมี่ยน และชาวเล ใส่ชุดที่สะท้อนอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนชาติพันธุ์ รวมตัวกันหน้าอาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา ในโอกาสวันแรกของการได้เข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนชาติพันธุ์ หลังจากสภาฯ เห็นชอบรับหลักการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวทั้ง 5 ฉบับ ไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
“พวกเรา ชนเผ่าพื้นเมือง จะปฏิบัติหน้าที่ในนามตัวแทนของ พี่น้อง ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้หญิง เด็ก ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ขอให้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ทุกฉบับ สำเร็จ ลุล่วง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และความตั้งใจของทุก ๆ คน”  คำกล่าวจากความตั้งใจของตัวแทนชาติพันธุ์ ระหว่างขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“เราขอสื่อสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ ขอให้การพิจารณาของทุก ๆ ฝ่าย ช่วยให้กฎหมายที่เรามุ่งหมายทััง 5 ฉบับ กลายเป็นกฎหมายหนึ่งเดียว ที่จะมาสร้าง ความยั่งยืนให้กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเทอญ”  พวกเขายังคาดหวังให้การทำหน้าที่ในฐานกรรมาธิการยกร่างกฎหมายฯ นับจากนี้ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
กรรมาธิการฯ สัดส่วนชาติพันธุ์ แบกความคาดหวังกลุ่มชาติพันธุ์ กว่า 60 กลุ่ม เกือบ 7 ล้านคนในประเทศไทย บนหลักการเปลี่ยนมุมมองชาติพันธุ์ที่เคยถูกมอง เป็นภาระ เป็นผู้รอรับการสงเคราะห์ สู่การมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ และผลักดันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ไม่บ่อยนักที่ตัวแทนชาติพันธุ์ชาวเล จะมีโอกาสลงชื่อเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการยกร่างกฎหมายชาติพันธุ์ และได้มีส่วนร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณากฎหมายสำคัญของพวกเขา
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคณะเริ่มต้นประชุมนัดแรก
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคณะเริ่มต้นประชุมนัดแรก
“ถ้าเรามีสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะได้รับการยกเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าสิทธิมนุษยชน และเมื่อนานาชาติเห็นว่าเราให้คุณค่าตรงนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนต่าง ๆ ตามมาจากคุณค่าศักยภาพเหล่านี้”  เกรียงไกร ชีช่วง ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ในฐานะประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ย้ำถึงความสำคัญขอการมีกฎหมายชาติพันธุ์
“ตั้งใจสื่อสาร ยกศักยภาพชาติพันธุ์ เปลี่ยนมุมมองภาระ สู่ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ” เป็นความตั้งใจของ ‘วิทวัส เทพสง’ ชาวเลมอแกลน จ.พังงา กับการทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างกฎหมายชาติพันธุ์ครั้งแรก
'นิตยา เอียการนา' ตัวแทนชาติพันธุ์ม้ง ในฐานะกรรมาธิการสัดส่วนชาติพันธุ์ ระบุถึงบทบาทของผู้หญิงที่ได้มานั่งในกรรมาธิการฯ ย้ำว่า “เราต้องลุกขึ้นมาริเริ่มแก้ปัญหาไขด้วยตนเอง เพราะนานมาก ๆ แล้วที่เราเป็นกลุ่มเป้าหมายให้คนอื่นมาแก้ปัญหา หรือกำหนดการปัญหาให้เรา แต่ไม่ตอบโจทย์ ทั้ง ผู้หญิง เด็ก และชนเผ่าพื้นเมือง วันนี้เราพร้อมขึ้นมาลุกขึ้นร่วมแก้ปัญหา ขับเคลื่อนประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองของเราเอง”
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคณะเริ่มต้นประชุมนัดแรก
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคณะเริ่มต้นประชุมนัดแรก
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคณะเริ่มต้นประชุมนัดแรก
‘อรวรรณ หาญทะเล’ ชาวเลมอแกลน จ.พังงา ในฐานะกรรมาธิการฯ ก็หวังให้กฎหมายชาติพันธุ์ มีผลบังคับใช้จริงโดยเร็ว ในฐานะผู้หญิง อยากให้สังคมเห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์ผู้หญิงมีส่วนร่วมลุกขึ้นมาปกป้องวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมผลักดันกฎหมายสำคัญ และดีใจที่สังคมเริ่มโอบรับความหลากหลายของชาติพันธุ์
‘สนิท แซ่ฉั่ว’ ชาวเลอูรักราโว้ย จ.ภูเก็ต เป็นกรรมาธิการฯ อีกคนที่คาดหวังกับการมีส่วนร่วมในกฎหมายสำคัญ  “ชาวเล ชาวมันนิ คนอยู่กับป่า หรือกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะมีตัวตน มีความความมั่นคงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย มีส่วนร่วม ไม่ถูกมองอย่างด้อยค่า ด้อยพัฒนา แต่มีบทบาท ขอมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ”
‘สุพจน์ หลี่จา’ ตัวแทนชาติพันธุ์ลีซู มองว่า เป็นโอกาสที่สังคมไทยจะได้เข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์มากขึ้น แล้วยอมรับว่า เราไม่ใช่ภาระ เราเป็นคนไทย และมีส่วนร่วมในกระบวนกการพัฒนาต่าง ๆ จึงคาดหวังว่าพรรคการเมืองต่าง ๆจะทำให้ พ.ร.บ.ต่าง ๆ ของเรา ผ่านการพิจารณาในอนาคต นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง  “ขอย้ำว่า เรายืนยันความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในไทย กฎหมายนี้จะเป็นกลไก ขับเคลื่อนองค์กรสภาชนเผ่าฯ ให้พี่น้องชาติพันธุ์เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีส่วนร่วม ทำงานร่วมกับภาครัฐ ได้ทั่งถึงมีส่วนร่วม และสันติสุข”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ