ต้นตระกูลช้าง

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ใครที่เข้าออกสื่อโซเชียลมีเดียสุดฮิตอย่าง Tiktok หรือ Twitter อาจจะเลื่อนไปเจอกับไลฟ์วิดีโอช้างยืนรับบริจาคค่าผลไม้ผ่านบัญชีธนาคารของควาญช้าง หากเงินเข้า ก็จะป้อนให้ช้างกินทันที แน่นอนสิ่งนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งกลุ่มที่ร่วมสนับสนุน และกลุ่มที่มองว่านี่เป็นการกลับมาของช้างเร่ในรูปแบบออนไลน์ . แต่หากเราเลื่อนหาต่ออีกนิด อาจจะเจอเข้ากับแฮชแท็ก #รวมช้างตกงาน ที่เป็นการรวบรวมควาญและช้างที่ได้รับผลกระทบจากปางช้างปิดตัวนานกว่า 2 ปีเต็ม ตามมาตรการคุมระบาดของรัฐบาล นอกจากเปรียบเสมือนพื้นที่รับฝากร้านของควาญช้างแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการสื่อสารปัญหาจากปากของควาญไปถึงรัฐบาลด้วย . The Active ทำความรู้จักกับควาญช้างส่วนหนึ่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่ร่วมเกาะกระแสนี้ ทั้งมิติความเชื่อ ความสัมพันธ์ การสืบทอดมาจากต้นตระกูล ที่อาจทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง มากกว่าคำถาม คนเลี้ยงช้าง ช้างเลี้ยงคน
“ถูกทักมาในข้อความส่วนตัว ว่าจะแจ้งความจับเราข้อหาทารุณกรรมสัตว์ เรากลัวนะ แต่ถ้าไม่ทำ ช้างเราจะเอาอะไรกิน”  มนปภา สุทธิโส เล่าถึงเหตุการณ์หลังนำยายคำวงศ์ ช้างอายุ 45 ปี ที่ได้รับสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ มาไลฟ์ขายผลไม้ได้ไม่ถึงสัปดาห์ หลังปรึกษากับภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องช้างตกงาน เธอก็ตัดสินใจที่จะไลฟ์ต่อไป เพราะมองไม่เห็นทางออกที่จะหาเงินมาเป็นค่าอาหารให้กับช้างรวมถึงตัวเองในวันที่ปางช้างปิดตัว  “พี่สืบทอดวิถีควาญมาตั้งแต่อายุ 25 เพราะยายคำวงศ์อยู่กับคนอื่นไม่ได้ ต้นตระกูลของพี่ “สุทธิโส” เลี้ยงช้างอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เรามี ศาลปะกำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควาญช้างให้ความเคารพและเซ่นไหว้ก่อนออกคล้องช้างในอดีต แต่หลังประกาศเป็นกฎหมายห้าม เราก็จะขอท่านว่าให้ชีวิตไม่มีอุปสรรคไม่ว่าทำอะไรก็ตาม พ่อพี่สอนไว้เสมอว่าหลักสำคัญในการอยู่กับช้าง เราต้องซื่อสัตย์กับเขา ไม่อย่างนั้นสิ่งไม่ดีก็จะเกิดกับชีวิตเรา ตอนออกมาจากบุรีรัมย์ เพราะรายได้ที่นั่นไม่พอเลี้ยงปากท้อง ทั้งเราทั้งช้าง เราอยู่ที่นี่สบายกว่า ช้างไม่เคยอดอยาก ขนาดสมัยมาอยู่พัทยาใหม่ ๆ ปี 2547 ไข้หวัดนกระบาด ควาญนิยมเอาช้างออกไปเร่ตามถนน พ่อพี่บอกว่าอย่าไปทำแบบนั้น ก็อยู่กินกันอย่างประหยัด ๆ จนผ่านมาได้ แต่โควิด-19 รอบนี้มัน 2 ปีกว่าแล้ว พี่เองก็ลำบากเหมือนกัน”
“พ่อเล่าให้ฟังว่าเคยไปคล้องช้างแถวประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม ไปครั้งหนึ่งก็ประมาณ 6 เดือน ทุกวันนี้ถ้ามีพิธีไหว้บรรพรุษเราก็ยังกลับไปอยู่”  ควาญช้างหลายคนในปางแห่งนี้ ชี้ให้เรามาหาคุณลุงธนา ศาลางาม เพราะนามสกุลของเขา เรียกได้ว่ามีประวัติการคล้องช้างที่แทบจะยาวนานที่สุดใน จ.สุรินทร์ ก็ว่าได้ ตอนนี้อาศัยอยู่กับพังแป้งอายุ 20 ปี แต่การจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วงการไลฟ์สดสำหรับคนในช่วงบั้นปลายนั้น เรียกว่าไม่ง่ายเลย  “แต่ก่อนพ่อก็เป็นหมอปะกำไปคล้องช้าง เล่าให้ฟังว่าเคยไปคล้องช้างแถวประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม ไปครั้งหนึ่งก็ประมาณ 6 เดือน ได้กลับมา 3-6 เชือก แต่ช่วงหลังหลาย ๆ ประเทศก็ออกกฎหมายยกเลิกการคล้องช้าง พ่อก็เลยเลิก พอเริ่มโต ผมก็รับช่วงต่อจากพ่อ จนถึงตอนนี้เลี้ยงมา 10 กว่าเชือกแล้ว เมื่อก่อนคล้องมาเราก็ฝึกเอาไปให้ทางเหนือลากซุง เชือกไหนเหลือ เราก็เลี้ยงไว้แบ่งลูกแบ่งหลาน อย่างพังต่ายมาอยู่กับผมที่พัทยาตั้งแต่อายุ 7 ปี แสนรู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นช้างดารา คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว  ถ้าถามว่าผูกพันแค่ไหน ช้างทุกเชือกผมเลี้ยงจนตายจากกัน ไม่เคยให้อดตาย ทุกวันนี้ที่สุรินทร์ถ้ามีพิธีไหว้บรรพรุษเราก็ยังกลับไปอยู่ ผ่านมาทุกวิกฤตแล้วแต่ก็ไม่คิดนะว่ามันจะเป็นอย่างทุกวันนี้ พอดีเด็ก ๆ เขามาชวนให้ผมลองไลฟ์ขายผลไม้ทางออนไลน์ ผมทำไม่เป็นก็ต้องอาศัยลูกสาวมาช่วยทำให้ตอนค่ำ ๆ”
“ตอนเรกผมก็สงสัยนะ ว่าทำไมเราถึงไม่ได้ไปเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่เศรษฐกิจที่สุรินทร์มันไม่ดี พอโตก็เริ่มออกจากสุรินทร์หาเลี้ยงชีพตัวเองและช้าง มันจึงไม่ใช่แค่อาชีพ แต่คือครอบครัว”  ถ้าจะบอกว่าความเป็นควาญช้างอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด วิฑูลย์ งามนวล ก็อาจจะตอบว่าไม่ เพราะเขาเติบโตมาในยุคที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันมีความฝันที่จะไปเติบโตใช้ชีวิตในเมืองกันหมดแล้ว เขาเองก็อยากที่จะเรียนให้สูงกว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัว เพื่อจะมีชีวิตที่สุขสบาย แต่ยิ่งหนี ก็ยิ่งทำให้เขาผูกพันกับช้างมากขึ้นเท่านั้น  “ตั้งแต่จำความได้ ผมก็ไปเลี้ยงช้างกับคุณตา ฝึกสอนผมตั้งแต่การขึ้นขี่ช้าง โยนโซ่ขึ้นหลัง ดูแลเกี่ยวหญ้าให้ช้าง สอนว่าช้างชอบกินพืชอะไร ไม่ชอบอะไร ถ้าท้องอืดต้องกินข่อย โพธิ์ เปลือกแดง ส่วนเรื่องพิธีกรรมความเชื่อเรานับถือ ครูปะกำ ว่าจะมีในช้างทุกเชือก ครอบครัวของผมถือเป็นครูปะกำใหญ่อยู่ที่บ้านหนองบัว จังหวัดสุรินทร์ ช่วยปกปักรักษาเราให้พ้นภยันอันตราย แต่มีข้อห้ามเวลาจะออกไปข้างนอก ห้ามกินเป็ด ไข่ งู โดยเด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นครูจะคุ้มครองเราไม่ได้  ตอนเรกผมก็สงสัยนะว่าทำไมเราถึงไม่ได้ไปเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่เศรษฐกิจที่สุรินทร์มันไม่ดี แล้วทรัพยากรที่จะใช้เลี้ยงช้างก็ไม่พอ เราเป็นห่วงช้างก็เลยต้องลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.6 มาดูแลเขา เคยมีครั้งหนึ่งที่พ่อไม่ไหว แอบจะเอาน้องแป้งไปขายให้คนอื่น ผมก็ไม่ยอม เพราะเราผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก พอโตก็เริ่มออกจากสุรินทร์หาเลี้ยงชีพตัวเองและช้าง มันจึงไม่ใช่แค่อาชีพแต่คือครอบครัว”
“เราไม่เคยปล่อยให้ช้างอดอยาก หรือตายนะ มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ถ้าเกิดขึ้น ยังคิดอยู่ว่าถ้าในครอบครัวเราไม่มีใครสานต่อแล้ว ก็คงต้องหาขายให้กับคนที่รักจริง ๆ”  วิมลวรรณ แสนดี หนึ่งในควาญช้างที่เริ่มต้นไลฟ์ขายผลไม้ในปางแห่งนี้ เธอยังรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลให้กับภาคประชาชน และนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เพราะปางช้างหลายแห่งอาจทนรับกับวิกฤตนี้ได้อีกไม่นาน ซึ่งนั่นย่อมส่งผลต่อช้างในความดูแลที่ต้องกลับไปสู่วังวนเดิม  “เท่าที่คุยในกลุ่มควาญช้างด้วยกัน ทุกคนสืบต้นตระกูลตั้งแต่รุ่นที่ยังคล้องช้างป่ากันหมด เพราะทุกคนจะรู้เรื่องประเพณี วัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องหลายอย่างกับช้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะกินอยู่กับช้างได้ แต่ก็จะมีหลายคำถามมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น เอาช้างมาเร่ต่อในโลกออนไลน์อีกแล้ว ซึ่งนี่เป็นความคิดที่ผิด เราไม่จับช้างป่า หรือมีช้างเร่ร่อนมาหลายสิบปีแล้ว หรือแม้แต่การบอกว่าเอาช้างมานอนตากฝนกลางคืนได้ยังไง นี่ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะกลางคืนช้างชอบนอนกลางแจ้ง แต่ตอนเช้าเราจะให้ช้างอยู่ในโรงเลี้ยง เพราะช้างไม่ชอบแดด แต่ถามว่าเราเข้าใจคนที่เข้ามาต่อว่าเราไหม เราเข้าใจเขานะ เพราะภาพควาญเอาช้างมาเร่ตามถนนมันยังติดตาเขาอยู่ แต่การมาคอมเมนต์ว่า ช้างเลี้ยงคน ช้างขอทาน น้ำตาเราตกในนะ เพราะเรารักเขาเหมือนคนในครอบครัว  ส่วนตอนนี้เริ่มมีบางคนที่ไม่ชอบอาชีพนี้แล้ว เพราะมันดูลำบากกับวัยรุ่นสมัยใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากเลี้ยงช้างแล้ว อย่างครอบครัวของหนูก็มีแค่หนู กับสามีที่ยังรักในอาชีพนี้อยู่ คนอื่น ๆ ก็ไปค้าขายกัน ถ้าหมดรุ่นหนูไป ก็คงจะต้องหาคนที่รักจริง ๆ ซึ่งหายาก เพราะช้างจะติดควาญมาก ซึ่งถ้าถามว่าลำบากแล้วทำไมไม่พาช้างกลับสุรินทร์ ก็ต้องถามว่า มีการบริหารจัดการให้ทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิดเพียงพอต่อการรองรับช้างให้กลับคืนถิ่นหรือยัง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน