‘สุคิริน’ หม่องนี่…มีคนอีสาน #บุญบั้งไฟที่ปลายด้ามขวาน

‘บุญบั้งไฟ’ ประเพณีประจำปีของชุมชนคนอีสานที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เริ่มต้นขึ้นแล้ว... ใช่ คุณไม่ได้เข้าใจผิด! นี่คืองานบุญบั้งไฟที่นราธิวาส...

เพราะชุมชนเล็ก ๆ ติดตะเข็บชายแดนมาเลเซีย คือแผ่นดินที่พี่น้องชาวอีสาน ย้ายมาลงหลักปักฐาน ตามนโยบายรัฐ จัดสรรที่ดินให้ทำกิน มากว่า 50 ปีแล้ว นั่นทำให้กว่า 98% ของผู้คนที่นี่ มาจากถิ่นที่ราบสูง โดยหยิบเอาวัฒนธรรม ประเพณี อย่างบุญบั้งไฟ ติดตัวมาด้วย

แม้วิถีหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไป ไม่เหมือนที่บ้านเกิด แต่ชุมชนคนอีสานที่สุคิรินแห่งนี้ ก็พยายามยึดโยง และรักษาประเพณีในแบบฉบับของตัวเองเอาไว้ สืบทอด ส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ได้เข้าใจวิถีดั้งเดิม แม้อยู่ต่างถิ่น จนทำให้วันนี้ บุญบั้งไฟที่สุคิริน คืออีกมนต์เสน่ห์ของพื้นที่ชายแดนใต้ สะท้อนถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว

The Active ชวนทำความรู้จักต้นตำรับ ‘บุญบั้งไฟสุคิริน’ แห่งแรก และแห่งเดียวในพื้นที่ชายแดนใต้
"ค่ายแก้วสุโพธิ์" 1 ในตัวเต็งของงานบุญบั้งไฟ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ปีนี้พวกเขาเตรียมบั้งไฟมาเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 10 ลูก โดยหวังว่าการทำบั้งไฟตามสูตรเฉพาะที่คิดค้นขึ้น จะทำให้สามารถคว้ารางวัลติดมือกลับบ้านได้
แต่ละปีจะมีค่ายบั้งไฟใน ต.ภูเขาทอง มากกว่า 10 ทีม ส่งบั้งไฟเข้าแข่งขัน โดยแต่ละทีมก็จะมีเทคนิค และสูตรลับเฉพาะที่แตกต่างกันไป เป้าหมายเพื่อให้บั้งไฟของพวกเขานั้นทะยานขึ้นอยู่บนท้องฟ้าให้นานที่สุด
ทีมงานของแต่ละค่าย ติดตั้งบั้งไฟเตรียมพร้อมจุดชนวนเริ่มต้นการแข่งขัน ท่ามกลางกองเชียร์ที่รอลุ้นให้กำลังใจ
หลังได้รับสัญญาณให้จุดชนวน เปลวไฟและควันที่พวยพุ่งเป็นแรงผลักให้บั้งไฟทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนผลแพ้ชนะ จะตัดสินโดยดูว่าบั้งไฟลูกไหนสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด
หลังได้รับสัญญาณให้จุดชนวน เปลวไฟและควันที่พวยพุ่งเป็นแรงผลักให้บั้งไฟทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนผลแพ้ชนะ จะตัดสินโดยดูว่าบั้งไฟลูกไหนสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด
หลังได้รับสัญญาณให้จุดชนวน เปลวไฟและควันที่พวยพุ่งเป็นแรงผลักให้บั้งไฟทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนผลแพ้ชนะ จะตัดสินโดยดูว่าบั้งไฟลูกไหนสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด
แต่ถ้าย้อนไปในวันก่อนการแข่งขัน แทบทุกค่ายต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตบั้งไฟด้วยสูตรเฉพาะตัวกันอย่างตั้งใจ... 
ดินประสิว ถ่าน กำมะถัน คือวัตถุดิบหลัก ๆ ที่ “ค่ายบักคำผาน” ตัวแทนจากหมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง สั่งซื้อมาจากพื้นที่ภาคอีสานโดยตรง ทั้งหมดถูกนำมาบดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกัน แบ่งสัดส่วนโดยคำนวนตามสูตรลับเฉพาะ ขั้นตอนนี้สามารถวัดกันได้เลยว่า บั้งไฟของแต่ละค่ายจะมีพลังขับเคลื่อนส่งขึ้นฟ้าได้ไกล ได้นาน ขนาดไหน ซึ่งกว่าจะสมบูรณ์พร้อมอัดดินเข้าสู่ท่อที่เตรียมไว้ ต้องทดสอบพลังการเผาไหม้กันหลายครั้ง จนกว่าจะตรงตามสูตรที่น่าพอใจ
บั้งไฟหลายลูกที่อัดดิน...เข้าไปเรียบร้อยแล้ว จะถูกนำมาพักทิ้งไว้เพื่อให้คายความชื้น ก่อนเข้าสู่กรรมวิธีถัดไป
การเจาะรูบั้งไฟ ถือเป็นอีกขั้นตอนที่ต้องใช้หลักการคำนวณ ถือเป็นสูตรลับของแต่ละค่าย โดยแต่ละแท่นเจาะยังถูกคิดค้นขึ้นมาเฉพาะ ส่งผลต่อความสั้น ความยาวของรูที่เจาะไว้ใส่ชนวน ในขั้นตอนการจุดระเบิดก่อนส่งบั้งไฟขึ้นสู่ฟ้า
เมื่อเตรียมบั้งไฟขนาด “ท่อ 2” ความยาวท่อ 80 เซนติเมตรขึ้นไป เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การติดหางบั้งไฟ ที่ต้องใช้ความพิถีพิถันอย่างมาก ไม่เพียงแค่ต้องคำนวณน้ำหนัก ความยาวของหาง และต้องไม่ให้บิดเบี้ยว เพื่อรักษาสมดุลของบั้งไฟให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับบั้งไฟที่ใช้แข่งขัน การติดห้างต้องทำให้แข็งแรง มั่นคง ไม่ให้หางหลุดเมื่ออยู่บนฟ้า เพราะการให้คะแนนบั้งไฟ นอกจากต้องขึ้นสูง อยู่บนอากาศนาน แต่สิ่งสำคัญคือหางต้องไม่หลุด จะมีผลต่อคะแนนอย่างมาก
“อัมพร ฤทธิ์ชารี” ที่ย้ายรกรากมาจาก จ.บุรีรัมย์ คือหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของ “ค่ายบักคำผาน” ยอมรับว่า ประเพณีบุญบั้งไฟที่นี่แม้ไม่เหมือนที่บ้านเกิดในภาคอีสาน แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเราไม่ลืมรากเหงา วิถีวัฒนธรรมของตัวเอง สิ่งนี้ยังส่งต่อถึงลูกหลาน คนรุ่นใหม่ อีกด้วย
ถ้าเป็นเรื่องบั้งไฟแล้ว “บุญทัน แก้วสุโพธิ์” จาก จ.หนองคาย ก็ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร ประสบการณ์ทำบั้งไฟมาอย่างยาวนาน ทำให้เขาตั้ง “ค่ายแก้วสุโพธิ์” ขึ้น กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน เพื่อให้บั้งไฟของค่ายนี้ สมบูรณ์ที่สุด เขาจึงต้องคอยดูแลขั้นตอนการทำบั้งไฟอย่างใกล้ชิด  บุญทัน ยอมรับว่า “เทียบกันไม่ได้สำหรับบุญบั้งไฟที่อีสาน กับที่ชายแดนใต้ อยู่ที่โน่นสนุกสนาน ทุกหมู่บ้านพร้อมประชันกัน ซึ่งอยู่ที่ใต้เราทำกันแค่ตำบลเดียวแข่งกันเอง แต่ถึงยังไงทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะถือเป็นประเพณีที่พวกเราทำสืบทอดต่อ ๆ กันมา อย่างน้อยก็ช่วยให้หายคิดถึงบ้านเกิดได้ไม่น้อยเลย”
ทีมงาน “ค่ายแก้วสุโพธิ์” เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ แต่บุญทัน ก็การันตีว่าฝีมือไม่ธรรมดา พวกเขาต้องทำบั้งไฟโดยใช้ความละเอียด เพราะหากทำผิดพลาดอาจส่งผลต่อการทะยานขึ้นฟ้าของบั้งไฟ อย่าง “หางบั้งไฟ” ก็ต้องติดประกอบให้แข็งแรง สมดุลทั้งน้ำหนัก ความยาว ซึ่งทุกอย่างมีผลต่อคะแนนการแข่งขันทั้งสิ้น
ทุกขั้นตอนต้องเร่ง แข่งกับเวลา ทำให้แต่ละปี แต่ละค่ายต้องทำบั้งไฟหลายลูก เพื่อไปแข่งขันกันกับหลายหมู่บ้าน ซึ่งที่ ต.ภูเขาทอง ที่ถือเป็นต้นตำรับบั้งไฟที่ชายแดนใต้ ก็มีถึง 8 หมู่บ้าน ที่ต้องมาประชันฝีมือกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น