‘แพทย์ชนบท’ ในเมืองกรุง ภารกิจวันสุดท้าย

“ไม่หมด ไม่กลับ” ประโยคปลุกใจของทีม 'แพทย์ชนบท' กับภารกิจ "ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3" วันที่ 7 (10 ส.ค. 64) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ที่โรงเรียนโรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม เขตบางขุนเทียน รอยต่อจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ตั้งของโรงงานอาหารแช่แข็ง และมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งยังเคยเป็นคลัสเตอร์ระบาดโควิด-19 ก่อนหน้านี้ จุดนี้ แพทย์ชนบทจากโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน ตั้งเป้าตรวจให้ได้ 3,000 คน โดยปฏิบัติการถูกออกแบบมาเพื่อการควบคุมโรค และการรักษาอย่างครบวงจร นอกจากการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ที่ได้มาตรฐาน ผู้ที่พบผลบวกจะถูกแยกออกมา เพื่อ Swab ด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง รวมทั้งประเมินอาการและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันที พร้อมรับคำแนะนำในการรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation ส่วนใครได้รับการตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ หากเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไปพร้อมกัน ทว่า “แพทย์ชนบท” ไม่สามารถจะปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ตลอดไป โจทย์ใหญ่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ คือ หน่วยงาน และสถาบันการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จะรับช่วงต่อปฏิบัติการเชิงรุกเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ เพราะหากทำอย่างจริงจัง อาจช่วยให้การแพร่ระบาดยุติลงได้ในเร็ววัน ภารกิจของแพทย์ชนบทครั้งนี้ยังสะท้อนถึง ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร​ ที่ปล่อยให้กลุ่มเปราะบาง และชาวชุมชนเมือง ต้องเผชิญยถากรรมอย่างโดดเดี่ยว ต่างจากชนบท ที่มีระบบดูแลพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “การแพทย์ปฐมภูมิ” อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม The Active ชวนติดตามบรรยากาศวันสุดท้ายของภารกิจที่ชื่อว่า "ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3" ที่ชมรมแพทย์ชนบท ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กทม. และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร
“ไม่หมด ไม่กลับ”
ประชาชนในละแวกเขตบางขุนเทียน เดินทางมา เพื่อเข้ารับการตรวจเชื้อเชิงรุกจากทีมแพทย์ชนบทตั้งแต่เช้า
พยาบาลวิชาชีพช่วยกันติดสก็อตเทป ปิดช่องว่างบริเวณรอยต่อข้อมือ และแมสก์ปิดจมูกให้มิดชิด ก่อนเริ่มปฏิบัติการตรวจเชื้อเชิงรุก
เจ้าหน้าที่จิตอาสาใช้ปากกาเคมีเขียนตัวเลขลงบนแขนของเด็กคนหนึ่ง​ที่เข้ารับการตรวจเชื้อ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการระบุข้อมูล และยืนยันตัวตน
เลขที่ปรากฏบนแขนหรือข้อมือผู้ที่เข้ารับการตรวจเชื้อ จะต้องตรงกับเลขที่อยู่ในหลอดที่เก็บตัวอย่าง ที่ผสมน้ำยา และรอผลตรวจภายใน 30 นาที
ครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พาเด็กน้อยวัย 3 ขวบเข้ารับการตรวจเชื้อเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งผลออกมาเป็นลบ ไม่ติดเชื้อ
ผลตรวจของเด็กหญิงคนนี้ออกมาเป็นบวก เจ้าหน้าที่จึงแยกออกมาจากลานกีฬาในร่ม มาอยู่ที่ใต้ถุนอาคารเรียนและทำการตรวจเชื้อซ้ำ Swab ด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งเพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ และส่งต่อเข้าสู่ระบบ Home isolation
'นิมิตร์ เทียนอุดม' ช่วยเป็นอาสาสมัครอธิบายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรักษาตัวที่บ้านอย่างปลอดภัย
ซองยาฟาวิพิราเวียที่จ่ายให้กับผู้ติดเชื้อบรรจุจำนวน 50 เม็ด ระบุวิธีรับประทานยาครั้งแรก 9 เม็ดในเวลา 08.00 น. และครั้งที่ 2 อีกจำนวน 9 เม็ดในเวลา 20.00 น. วันต่อมา ลดปริมาณลง ช่วงเช้า 4 เม็ด และช่วงค่ำอีก 4 เม็ด รับประทานจนครบ 5 วันติดต่อกัน
อีกด้านหนึ่งของจุดตรวจเชื้อเชิงรุก เจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กำลังจัดเตรียมวัคซีนแอสตราเซเนกาลงในหลอดฉีดยา เพื่อฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่พบว่าติดเชื้อ
'นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ' โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เดินฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกให้กับผู้สูงอายุที่นั่งเรียงกันภายในโรงอาหารของโรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม โดยไม่ต้องต่อแถวเพื่อลดความแออัด
ช่วงบ่ายที่อากาศร้อนจัด และมีผู้เข้ารับการตรวจเชื้อจำนวนมาก อาสาสมัครกลุ่มเปลือกส้มคนหนึ่งที่มาช่วยงานทีมแพทย์ชนบท เป็นลม หลังจากที่ต้องใส่ชุดคลุมมิดชิด กลุ่มพยาบาลเร่งปฐมพยาบาลโดยยกเท้าให้สูงขึ้นเพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปที่ศรีษะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์