เตรียมรับแรงกระแทก ! The Road to Bangkok Pride 2023
“วันนี้เรามาร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐบาลชุดใหม่กับทางกรุงเทพฯ นำกิจกรรมระดับโลก WorldPride มาจัดที่กรุงเทพมหานครในปี 2028 ให้จงได้”
คำประกาศของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ยืนเคียงข้าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างร่วมกับกลุ่มนฤมิตไพรด์ และเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) แถลงข่าวกิจกรรม “The Road to Bangkok Pride 2023” ขบวนพาเหรดที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.66
เป้าหมายสำคัญนอกจากเป็นการร่วมเฉลิมฉลองให้กับเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในทุก ๆ ปีแล้ว ปีนี้กรุงเทพฯ เครือข่าย LGBTQIAN+ และเอกชน ยังพร้อมใจเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเทศกาลระดับโลกอย่าง WorldPride 2028 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ขึ้นแท่นชาติแรกในเอเชีย โดยพบว่าหลังจัดกิจกรรมนี้ช่วยดันตัวเลข GDP ทั้ง ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเห็นได้ชัด แต่คุณสมบัติที่จะผ่านการคัดเลือกโดยผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นไม่ง่าย อีกทั้งประเทศที่ถูกยกเลิกการจัดงานแม้จะผ่านการคัดเลือกก็เคยมีมาแล้ว
เทศกาล WorldPride นั้นเป็นงานไพรด์นานาชาติ หรืออาจเรียกว่าเป็นโอลิมปิกของกลุ่ม LGBTQIAN+ จัดขึ้นโดยองค์กร Interpride เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2000 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตามด้วย เยรูซาเลม (อิสราเอล 2006) ลอนดอน (อังกฤษ 2012) โตรอนโต (แคนาดา 2014) มาดริด (สเปน 2017) นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา 2019) โคเปนฮาเกน (เดนมาร์ก 2021)
ล่าสุด 5 มี.ค.2023 จัดขึ้นที่ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะโยนไม้ต่อให้ วอชิงตัน ดี.ซี. (สหรัฐอเมริกา 2025) ที่เสนอชื่อเข้าชิงพร้อมกับไต้หวัน ที่ผ่านกฏหมายสมรสเพศเดียวกันเป็นที่แรกในเอเชีย แต่ต้องถูกยกเลิกการจัดงานเนื่องจากคณะกรรมการจาก InterPride แสดงความกังวลด้านการเมืองระหว่างไต้หวันกับจีน แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามติดต่อให้ผู้จัดเปลี่ยนชื่อ เป็น เกาสง มณฑลที่เป็นเจ้าภาพแทน และตามด้วย อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์ 2026) ทำให้ กรุงเทพมหานคร ที่เตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2028 ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ได้จัด WorldPride หากผ่านคุณสมบัติ โดยประเทศสมาชิก InterPride เป็นผู้คัดเลือกตามความเหมาะสม
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง (วาดดาว) ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวว่า การจัด WorldPride ถือเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก ดังนั้นกิจกรรมบางกอกไพรด์ 2023 รวมถึงกิจกรรมของพี่น้อง LGBTQIAN+ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือน มิ.ย. นี้ ถือเป็นสัญลักษณ์และการสร้างความเชื่อมั่นว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก WorldPride ในปี 2028 แต่อีกกลไกลสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการพิจารณา คือการสนับสนุนกรุงเทพมหานครเข้าเป็นสมาชิก Rainbow Cities Network (เมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ) รวมถึงในระดับประเทศ คือ การมีกฎหมาย สิทธิ สวัสดิการ ดูแลพลเมือง LGBTQIAN+ อย่างเท่าเทียม
“คุณสมบัติหนึ่งที่ InterPride จะนำไปใช้ลงความเห็นว่าประเทศนั้น ๆ มีความพร้อมแล้วหรือไม่นั้น คือการที่รัฐบาลออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่สนับสนุนพลเมือง LGBTQIAN+ ในประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การประชาสัมพันธ์เพื่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว”
วาดดาว – ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
ทั้งนี้ เมื่อดูจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำจัดตั้งรัฐบาล มีร่างกฎหมาย 2 ร่างที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทันที ได้แก่ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) และร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในการยื่นเพื่อขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2028 จะเกิดขึ้นใน ต.ค. 2024 หรือในอีก 17 เดือนข้างหน้า ที่เครือข่ายฯ จะเรียบเรียงรายละเอียดเสนอต่อ InterPride โดยเฉพาะการมีสมรสเท่าเทียมได้ทันก่อนหน้านั้นหรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทาย หากต้องการไปให้ถึงประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในการสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนทุกเพศอย่างมีศักดิ์ศรี