กว่า 4 เดือน ที่สมรภูมิรบในอิสราเอล ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่นั่นเปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้แต่ชะตากรรมของแรงงานไทยจำนวนมาก ที่ดั้นด้นไปทำงาน หวังนำเม็ดเงินจากน้ำพักนำ้แรง ต่อยอดความฝันให้กับครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน
แต่ขึ้นชื่อว่าสงคราม ก็ยากที่ใครจะเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ทำให้แรงงานไทยในอิสราเอลบางส่วน ตัดสินใจหนีภัยสงครามกลับบ้าน ‘จิรายุ สุกใส’ หรือ ‘เจมส์’ เด็กหนุ่มวัย 24 ปี ชาว อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ คือหนึ่งในแรงงานกลุ่มแรก ที่ได้เดินทางกลับถึงไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566
แม้รอดชีวิตกลับมา แต่บาดแผลถูกยิงที่ไหล่ขวา ก็ย้ำเตือนให้เขาได้จดจำช่วงเสี้ยววินาทีเฉียดตาย และการต้องกระเสือกกระสนหลบซ่อนตัวในบ้านพักคนงานอีกหลายชั่วโมง จนทำให้เจมส์ตัดสินใจแน่วแน่ว่าเขาจะไม่กลับไปที่นั่นอีก
“ทหารใส่เสื้อดำถือปืน มันเปิดประตูหาพวกผม ผมหมอบอยู่ข้างล่างเห็นมันเข้ามา ถ้ามันยิงมามันก็โดนพวกผมหมดครับ แต่นี่มันไม่ยิง ก็ดีครับที่ไม่ยิงมา ไม่อย่างนั้นก็คงไม่น่าจะได้มาอยู่ตรงนี้ครับ มันน่ากลัวมาก ก็พยายามลืมครับ พยายามลืมให้หมดเริ่มใหม่ เราเพิ่ง 24 เองครับ เราก็ยังต้องเลี้ยงพ่อแม่ต่อ”
เจมส์ ย้อนภาพฝันร้ายที่อิสราเอล
หลังกลับมาถึงบ้าน เจมส์พักฟื้นอยู่เกือบเดือน พอเริ่มหายดีเขาก็ไม่รีรอช่วยครอบครัวทำงาน ปีนี้ที่บ้านของเจมส์ทำนามากถึง 50 ไร่ 30 ไร่เป็นที่นาของตัวเอง อีก 20 ไร่เป็นนาเช่า
เขาบอกว่าเก็บเกี่ยวปีนี้ราคาผลผลิตค่อนข้างดี แต่ผลผลิตที่ได้ไม่มากนัก หักลบต้นทุนแล้วพอมีกำไร 50,000 บาท แต่กว่าจะได้จับเงินก้อนนี้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หากเทียบกับการไปเป็นแรงงานในอิสราเอล เงินก้อนนี้เขาสามารถหาได้ในค่าแรงเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
“นา 30 ไร่ ค่ารถเกี่ยวก็ 30,000 ค่าปุ๋ยก็ 10,000 กว่าบาท ค่ารถไถก็ประมาณ 20,000 หักลบไป ก็เหมือนทำนาไม่ได้อะไรเลย
เจมส์ อธิบาย
ถ้าทำอยู่อิสราเอลมันก็มีรายได้ 2 ทางครับ ผมอยู่อิสราเอลก็ให้แม่ แม่ก็ทำนา ก็ได้อีกทางหนึ่ง ได้ 2 ทาง แต่มาอยู่บ้านก็ได้แค่ทางเดียวครับ “
เจมส์เรียนจบ ปวส.ช่างกล ก่อนเดินทางไปอิสราเอล เขาเคยเป็นลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ใน จ.ระยอง มา 1 ปี ไม่มีสวัสดิการ ได้รับค่าแรงขั้นต่ำรายวัน เงินเดือนที่ได้ พอแค่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เท่านั้น รายได้ในเมืองอุตสาหกรรมสวนทางกับภาระค่าใช้จ่าย
ในฐานะลูกชายคนโต การไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นโอกาสเดียวที่คนหนุ่มวัยแรงงานมองเห็น แม้จะรู้ว่าอิสราเอลเป็นสมรภูมิรบ แต่ไม่เคยคาดคิดว่าจะรุนแรงจนถึงขั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่หากไม่นับความเสี่ยงเรื่องนี้ เจมส์ บอกว่า การเป็นแรงงานภาคเกษตรในอิสราเอล ไม่ได้แย่อย่างที่คิด
นอกจากค่าแรงที่เป็นตัวดึงดูดแล้ว สวัสดิการในฐานะลูกจ้างภาคเกษตรก็ดี ที่สำคัญเด็กหนุ่มได้เรียนรู้กระบวนการผลิตในฟาร์มที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม กลายเป็นความฝันที่อยากจะนำมาต่อยอดในฐานะลูกชาวนา อาชีพที่เขาชอบและฝันจะสานต่อ
ในหมู่บ้านของเจมส์ ล้วนแต่มีคนที่เคยไปทำงานต่างประเทศกันทั้งนั้น ความสำเร็จตอกย้ำผ่านบ้านหลังใหญ่ และชีวิตที่ดีขึ้น นั่นเป็นภาพจำที่เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน รวมถึงเจมส์เห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เช่นเดียวกับความสำเร็จของพ่อ ซึ่งเป็นอดีตแรงงานในอิสราเอล ถือว่ามีอิทธิพลต่อเจมส์อย่างมาก เงินเก็บก้อนโตที่พ่อหามาได้ ใช้สร้างบ้าน ซื้อที่ดิน และวัว เป็นเส้นทางที่เขาเชื่อว่า จะเกิดขึ้นอีกครั้งกับตัวเอง
“คนที่บ้านเขาบอกว่าถ้าอายุยังน้อยให้ไปต่างประเทศเลยครับ ถ้าอายุเยอะมาจะเสียดายครับ เพราะเราอายุเยอะแล้วมันทำงานไม่ได้แล้วก็มันเลือกไม่ได้ด้วยครับ”
เจมส์ ตอกย้ำความคิด
แรงงานในภาคเกษตรกรของไทย ไหลบ่าสู่แรงงานภาคอุตสาหกรรม การบริการ รวมถึงไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ที่ประเทศไทยมีแผนการพัฒนาขยายอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ๆ รายได้เฉลี่ยในภาคเกษตรของไทย สัดส่วนร้อยละ 70 มาจากภาคอื่น ๆ สะท้อนว่าแรงงานในภาคเกษตรปรับตัวมานานแล้ว ปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการพัฒนาประเทศ และวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวแต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การล้มเหลวของอาชีพเกษตรกรไทย
นโยบายให้เปล่า แจกแบบไร้เงื่อนไข หลุมดำยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย
กัมพล ปั้นตะกั่ว นักวิจัย TDRI ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยมีนโยบายส่งเสริม ช่วยเหลือเกษตรกรมาทุกยุคทุกสมัย แต่นโยบายเหล่านี้ไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร หรือไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เพิ่มผลิตภาพ ผลิตผล แต่เป็นการเอาเงินไปแจกจ่ายแบบไร้เงื่อนไขแบบให้เปล่า ซึ่งเป็นเพียงการกระตุ้นการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น เช่น โครงการประกันราคาเกษตรโครงการรับจำนำข้าว โครงการจำนำยุ้งฉาง
“ไม่ใช่แค่นโยบายในยุคนี้เท่านั้น ที่มีการอุดหนุนเงินชาวนาแบบให้เปล่า แบบไม่มีเงื่อนไข แต่หากดูนโยบายในอดีต จะเห็นว่าที่ผ่านมาหลายรัฐบาลใช้วิธีการคล้าย ๆ กัน มาตรการที่เรียกว่าช่วยเหลือชาวนา ล้วนแต่เป็นมาตรการที่เข้าไปแทรกแซงราคาตลาด”
กัมพล ปั้นตะกั่ว ขยายความ
นักวิจัย TDRI ยังวิเคราะห์ว่า สิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อการดำเนินนโยบายในภาคเกษตร คือ ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็คือมติ ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินจ่ายขาดกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป้าหมายข้าว 3 ล้านตัน และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินจ่ายขาดเพื่อชดเชยดอกเบี้ยอีกกว่า 480 ล้านบาท เพื่อชะลอการขายข้าวของเกษตรกร และการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท แบบที่ชาวนาเข้าใจว่า ช่วยค่าเก็บเกี่ยว หรือ ให้เปล่า อย่างที่เคยทำกันมา
แม้ว่าที่ผ่านมาการช่วยเหลือลักษณะนี้จะมีการท้วงติงเสมอว่าการให้เงินแบบให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือชาวนาจริง ๆ แต่กำลังซ้ำเติมให้ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน และการจัดการแหล่งน้ำและดิน
แต่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เคยออกมายืนยัน ว่า จากนี้ไม่ใช่แค่ช่วยค่าต้นทุนการผลิต แต่ว่าคณะกรรมการบริหารและจัดการข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหามาตรการเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับชาวนา เช่น การ บริหารจัดการใหม่ ๆ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วย ลดต้นทุน ให้กับเกษตรกร และเพื่อให้ได้ คุณภาพข้าว ที่ดีขึ้น แต่จนถึงเวลานี้อะไรคือรูปธรรมของนโยบายที่ว่า โดยเฉพาะนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่า จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร มีรายได้ 3 เท่า มีการใช้นวัตกรรมนำตลาด
จนถึงวันนี้ คำถามที่ว่าอาชีพทำนาควรมีต่อไปหรือไม่ นักวิชาการแนะนำว่า หากชาวนาทำแล้วไม่เคยได้กำไร มีแต่ขาดทุน อาจถึงเวลาทบทวน เพราะนี่คือสัญญาณวิกฤติ
หากจะเดินหน้าต่อแต่ไม่ปรับตัว ก็อาจจะอยู่ไม่รอด เพราะเวลานี้โจทย์ใหญ่ของเกษตรที่เป็นภัยคุกคามยากจะควบคุม ไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาที่เคยกล่าวมาเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ และแน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่ความสามารถในการปรับตัวเฉพาะของเกษตรกรเท่านั้น
นโยบายที่มองเห็นโจทย์ท้าทายเหล่านี้ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หากเห็นว่า ชาวนา ยังมีความหมายในเส้นทางการพัฒนาความมั่นคง และยั่งยืนของอาหารโลก
ถ้านโยบายจับต้องได้ ช่วยเหลือเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้จริง การทิ้งบ้านเกิดไปทำงานต่างประเทศ ก็อาจเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่ง ที่ไม่ใช่ความใฝ่ฝัน สำหรับการไปให้ถึงหนทางสู่การหลุดพันวังวนหนี้ และความยากจน