ทางรอดวิกฤตน้ำไทย ! ออกแบบได้ ก่อนจะสาย

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งนับวันยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในวันที่โน้มการเติบโตของกิจกรรมการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อนาคตหากไม่ปรับตัวและวางแผนจัดการน้ำอย่างสมดุล อาจเผชิญกับความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ นักวิชาการด้านน้ำจึงได้ร่วมกันวางนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ทั้งมุ่งเป้าให้ทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำ พร้อมเพิ่มนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการบริหารจัดการ

จากข้อมูลแนวทางบริหารแผนงานวิจัยเข็มมุ่งปัญหาการบริหารจัดการน้ำ พบว่า ปริมาณความต้องการน้ำมีมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุน โดยความต้องการใช้น้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำต้นทุนอยู่ประมาณ 93,000 ลบ.ม. เมื่อเกิดภาวะฝนน้อยขึ้น สภาพการขาดแคลนน้ำจะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่สภาพปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม ก็มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง ซึ่งอาจโยงกับผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภายหลังปี 2561 ซึ่งเริ่มมี พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดกลไกในการบูรณการการวางแผนเพื่อตั้งงบประมาณให้ตอบโจทย์และคุ้มค่ามากขึ้น แต่ก็ยังต้องการงานวิจัยเพื่อช่วยปรับปรุงเพื่อการวางแผน ดำเนินการ และกำหนดมาตรการสนับสนุน โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี พัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำ ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มปรับนโยบายให้ลงลึกเข้าถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการใช้น้ำทุกภาคส่วน ประเทศไทยจึงจะรอดกับวิกฤตน้ำได้

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ

ภาพรวมการจัดการน้ำไทย

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกประเทศเมื่อมีเจริญเติบโต ความต้องการใช้น้ำก็มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จึงทำให้แนวโน้มการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ในมุมของการจัดหาน้ำเรามีข้อจำกัด โอกาสที่จะสร้างเขื่อนใหม่ก็ยากขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนไม่ตามฤดูกาล ทำให้การจัดการยากขึ้น แนวโน้มการขาดแคลนน้ำในอานคตก็จะมีเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าในอดีต


“การจัดน้ำแต่ละภาคส่วนในแง่ความเสี่ยงเราต้องมองพื้นที่ไหนมีพื้นที่มากที่จะได้รับความเสี่ยง โดยสำหรับประเทศไทย ภาคกลาง และ พื้นที่ Eastern Economic Corridor (EEC) หรือ เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ที่รวมกันแล้ว ก็มี GDP รวมกันกว่า ร้อยละ 60-70  ถ้าจุดนี้มีปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็จะหยุดเลย ในแง่การโฟกัสต้องมองด้านนี้ ซึ่งหากมองแล้วก็มาแยกว่าภาคเกษตรคืออะไร ภาคอุตสาหกรรมคืออะไร ภาคบริหารคืออะไร บ้านเรือนคืออะไร แต่ในตรงนี้เราก็มาแยกแยะอีกว่า ภาคเกษตรเองมีการใช้น้ำมากที่สุดเกือบร้อย 70  เพราะถ้าเราลดภาคเกษตรร้อยละ 10-15 ได้มันก็จะมาใช้ในส่วนภาคอื่นได้ดียิ่งขึ้น หากทุกภาคส่วนยิ่งรวมกันทำก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าได้ดีมาก”

รศ.สุจริต กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย คือส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดตัวช่วยที่ดี อย่างเช่น ภาคเกษตรเองที่มักจะมีปัญหาว่าภูมิอากาศโลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง อาจผลิตข้าวเป็นรายได้หลักอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ควรมีทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อปรับสู่การเปลี่ยนแปลง ส่วนภาคอุสาหกรรมการใช้น้ำ ที่มีตลอดเวลา บางแห่งที่เคยใช้ 24 ชั่วโมง หากมีการหยุดในกระบวนการต่าง ๆ ก็จะเกิดผลกระทบเพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมก็ต้องประเมินความเสี่ยง หาแหล่งน้ำสำรอง หรือไม่ก็อาจต้องใช้น้ำซ้ำ เป็นการประหยัดน้ำไปในตัว เป็นมาตรการเสริม ส่วนในภาคของบริการคงเน้นอาคารใหญ่หรือเน้นการใช้น้ำในช่วงเสาร์ -อาทิตย์ โดยเฉพาะภาคโรงแรมและห้างสรรพสินค้า ตรงนี้ต้องมีมาตรการเสริมทั้งในแหล่งน้ำสำรองและการใช้น้ำซ้ำในตัวมันเอง ขณะที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลักการก็ควรใช้น้ำอย่างประหยัด และเก็บน้ำไว้ในยามจำเป็นในส่วนนี้การจัดการในไทยก็ให้ความสำคัญกับภาคอุปโภคและบริโภคอยู่แล้ว การขาดแคลนอย่างมากมายอาจจะไม่มี แต่ภาพรวมแล้วก็ควรจะมีแหล่งน้ำสำรองตัวเอง

แผนระยะยาวที่ต้องลดการใช้น้ำ

อนาคตประเทศไทยอาจเสี่ยงขาดแคลนน้ำ หากไม่ทำอะไรเลย เพราะแนวโน้มจะมีการเติบโตมาจากการที่เรามีกิจกรรมต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น เช่น ถ้ามีการเติบโต 4-5 % ถ้ามองระยะยาว 10-20 ปี ถ้าเราสามารถประหยัดน้ำได้ 20 % ก็จะสามารถชดเชยในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น อนาคตข้างหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราควรจะมี Buffer 10-20 %  แล้วเราก็หาแหล่งน้ำสำรองอีก 10-20 % มันก็จะได้เกิดเป็นสมดุลใหม่ อย่างการเติบโตใช้น้ำไปมันก็มีวันหมด หรือถ้าเกิดแล้งจริง ๆ เลยมันก็ต้องอยู่ได้ เราต้องมีแผน 2 แผน แผนประหยัดน้ำ และแผนใช้น้ำสำรอง และแผนเผื่อสำหรับยามฉุกเฉินนี้คือภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ต้องเผื่อไว้เลย


ตอนนี้แผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เป็นอย่างไร
แผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี โดยรวม ๆ ในเรื่องของการสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ และสร้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นโดยภาพรวมยังเป็นอยู่ แต่ว่าผ่านไป 5 ปีแล้ว พ.ร.บ.น้ำ ออกมาแล้วเราก็ยังจัดความสมดุลในเรื่องการจัดการ และการจัดหาที่ยังไม่สอดคล้องกัน ขณะที่กรรมการลุ่มน้ำเองที่มีหน้าที่จัดสรรเรื่องนี้ก็ยังเพิ่งเริ่มทำงาน เป็นช่องว่างที่การดำเนินการที่อาจไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างในเรื่องเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเราควรจะมีแผน 1 ปี 2 ปี หรือเปล่าใครจะเป็นคนทำ และทำแล้วฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีกลไกอย่างไรที่จะไปส่งเสริมหรือไปบังคับใช้เป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น ยังมีช่องว่างตรงนี้อยู่มาก

มองอนาคตกับการบริหารจัดการน้ำ
ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติประกาศเข้าสู่เอลนีโญแล้ว เราก็ตั้งสมมติฐานอยู่ 3 ตัวคือถ้ามีเอลนีโญ1 ปี 3 ปี เราควรจะทำอย่างไรบ้าง ตามหลักการวางแผนทุกคนควรจะวางแผนเผื่อเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดก่อนแต่ถ้ามันดีมันก็จะส่งผลอนาคต เพราะจะทำให้มีน้ำเหลือ แต่ถ้าเราทำแบบปีต่อปี ปีที่ 2 ปีที่ 3 อาจจะแย่ แม้ในหน่วยงานราชการจะพยายามทำอยู่บ้างแต่ทุกภาคส่วนต้องกลับมามองตัวเอง เพราะจากงานวิจัย พบว่า ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงบางครั้งก็รอเป็นอาทิตย์ แต่ปัจจุบันวิทยาการในการวิจัย สามารถที่จะทำนายล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง 14 วัน และก็ 3 เดือนแล้ว เราควรเอาข้อมูลในอนาคตมาวางแผนประกอบในปัจจุบัน  

ขณะเดียวกัน ก็ควรใช้ระบบเซนเซอร์  IOT หรือ Internet of Things ก็คือเทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เราจะรับรู้ข้อมูลในจุดที่สำคัญได้ทุก ๆ 15 นาที ในแง่นี้ ทุก ๆ อบต. จะรู้ว่าตัวเองมีน้ำอยู่เท่าไหร่และล่วงหน้าอีก 2 สัปดาห์แนวโน้มจะเป็นอย่างไรเราสามารถจะแจ้งสมาชิกของพวกเราได้และก็สามารถลดการใช้น้ำได้ วันนี้การบริหารน้ำโดยอาศัยข้อเท็จจริงและอาศัยข้อมูลที่ทำนายอนาคตประกอบ ช่วยการวางแผน การบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น

การใช้เทคโนโลยีลดการใช้น้ำและสร้างส่วนร่วมในภาคเกษตรทำอย่างไรได้บ้าง
โครงการชลประทานของประเทศเรามีประมาณร้อยละ 22  และใช้น้ำประมาณเกือบร้อยละ 70 โครงการชลประทานมีความสำคัญที่จะสร้างรายได้ ความมั่นคง อย่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) เป็นโครงการที่ถูกเลือกให้เป็นต้นแบบลดการใช้น้ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเสริม และยังสร้างการมีส่วนร่วมลดขัดแย้งในอดีตได้

“สิ่งที่เราทำคือคนที่มีหน้าที่ส่งน้ำและการใช้น้ำต้องมีข้อมูลเดียวกันว่าความต้องการแบบนี้ เรามีเซนเซอร์ที่แปลงนาว่ามันแห้งมันเปียกแบบนี้ก็ขอน้ำในส่วนที่ต้องการจริง ๆ เพื่อส่งจากที่จัดหาแล้วแล้วได้ โควต้ามา ก็จะสามารถจัดการน้ำและส่งน้ำได้ตามเวลา คลองเดียวกัน แต่การใช้น้ำมีการจัดคิว คนนี้ได้ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ก็สามารถจัดระบบให้คุยกันได้ และการจัดน้ำคือมีคนใช้น้ำที่จัด จริง ๆ และพอใช้เสร็จก็รอส่งใหม่”

เซ็นเซอร์หรือเครื่องวัดความชื้นในดิน

แต่หากเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไทยมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการใช้ข้อมูลสถิติว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไรประกอบ ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามจริง ขณะเดียวกันคือบางครั้งอาจใช้ระบบที่มีคนไปวิ่งเพื่อบอกกล่าว หรือจะมีโทรศัพท์ไปแจ้ง ชาวบ้านก็อาจเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ถ้าผู้ใช้น้ำมีข้อมูลน้ำของเขาเองและสามารถเช็กได้ว่าน้ำมา จริง ๆ เขาก็จะจัดระบบตัวเองให้เข้ากับระบบกลางที่จัดให้ได้ที่เราวิจัยก็พบว่าการมีข้อมูลสื่อสารที่ใกล้เคียงความจริง และเวลาในการสื่อสารก็จะมีการจัดระบบที่ลดการสูญเสียน้ำได้ จริง ๆ

มุมมอง เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ลดการใช้น้ำแบบไหน
สำหรับ EEC ประเมินว่าใช้น้ำอยู่ที่ 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งต่อไปแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,000 ล้านลุกบาศก์เมตร ในระบบ ในปัจจุบันที่สามารถสร้างท่อเชื่อมอย่าง EEC ใช้น้ำจากฉะเชิงเทราและฝั่งจันทบุรีเข้ามาช่วยเพราะฉนั้นการสูบน้ำก็จะสูบน้ำในหน้าฝน ถ้ารู้แนวโน้มน้ำจะดี เราจะได้รู้ว่าควรสูบมากสูบน้อย เป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจ การสูบน้ำเป็นพลังงานค่าไฟฟ้า  ถ้าประหยัดตรงนี้ได้ก็จะประหยัดไฟและจะได้น้ำตามสมควร

“อีกด้านหนึ่งคือผู้ใช้ ที่ตามโรงงานต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้หลักหรือตามโรงแรม ถ้าเรารู้ว่าช่วงนี้น้ำไม่ค่อยดีหลายแห่งก็ต้องช่วยประหยัดน้ำแล้ว เช่นหากประเมินแล้วว่าช่วงนี้น้ำวิกฤตแล้ว อาจต้องใช้น้ำซ้ำจากน้ำที่ระบายทิ้งทะเลเปล่า ๆ ก็คิดเอามาใช้ใหม่ในส่วนที่เป็นสีเขียวที่เรียกหล่อเย็น ส่วนนี้ก็จะช่วยลด demand ขึ้นมาโดยเฉพาะช่วงวิกฤต หากต้องสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้นมาแต่ละปี ในส่วนนี้ก็ต้องหารูปแบบกลไกบนข้อมูลใช้ข้อมูลด้านนวัตกรรมให้ทำให้ทันสมัยมากขึ้นก็จะนำไปสู่การจัดการที่สมดุลที่ตกลงกันได้”


ในแง่ที่มีการตรวจวัดจัดหาในคูคลองต่าง ๆ ตามแม่น้ำ และสูบขึ้น นักวิจัยบอกว่าการทำนายฝน หรืออะไรต่าง ๆ เราพัฒนาได้ดีขึ้นได้ส่วนในโรงงานเองสิ่งที่ติดตั้ง 3R หรือ กระบวนการ 3Rs ลดการใช้ (Reduce) และใช้ซ้ำ (Reuse) หรือแปรรูป ใช้ใหม่ (Recycle) ขณะนี้ยังมีปัญหาก็ คือว่าต้องใช้คนเข้าไปจับตาดู แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีข้อมูลมันก็จะส่งอัตโนมัติ โดย Wi-Fi ในโรงงาน จะสามารถใช้ข้อมูล และถ้าเราใช้น้ำเกินเราก็หล่อน้ำไม่ต้องรอข้ามวัน ไม่ต้องใช้คน ใช้คนเท่าเดิม เราก็ไปทำอยู่ประมาณ 30-40 โรงงานในแต่ละประเภท ซึ่งเรามี ทั้งหมดกว่า 7,000 โรงงาน ใน EEC 3,500 อยู่ในนิคม และ 3,500 อยู่นอกนิคม ซึ่งก็มีการสนับสนุนการใช้น้ำและประหยัดน้ำอยู่แล้ว ส่วนนอกนิคมก็มีสนับสนุนให้โรงงานเอาระบบนี้เข้าไปใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลน้ำของตัวเอง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1.ควรมีการใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพราะเทคโนโลยีราคาถูก 

2.นำระบบเข้าไปติดตั้งในส่วนที่สำคัญก่อนเช่น ใน EEC หรือโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเยอะ เราจะเป็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น

3. ในส่วนของตัวชุมชนในกลุ่มผู้ใช้น้ำปัจจุบันระบบของเซนเซอร์ (Sensor) หรือไลน์ต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้จากเซนเซอร์ สามารถที่จะเข้าผ่านกรมชลประทานและสามารถส่งไปที่ไลน์ชาวบ้าน จะทำให้พวกเขารู้แล้วว่าน้ำมีจริงหรือไม่มีจริง และถ้ามีเท่าไหร่ก็จะได้วางแผนปลูกที่เหมาะสม ที่เหลือก็จะไปลูกพืชเกษตร อื่นที่เป็นทางเลือกเช่นพืชสมุนไพรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเขาก็จะใช้น้ำลดลงแต่มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากกรมต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะไปใช้เครื่องมือเหล่านี้ และก็สอน

ซึ่งปัจจุบันนี้มีการโพรโมต การทำแผนน้ำระดับตำบล โดยระบบสารสนเทศการทำแผนที่ เราต้องมีผังน้ำระดับตำบล ต้องรู้น้ำมีเท่าไหร่น้ำใช้เท่าไหร่ เมื่อเรามาทำสมดุลน้ำเราก็จะรู้ว่าน้ำเราขาดเท่าไหร่และจะมาจากไหนได้บ้างส่วนนี้ ถ้าให้ตำบลเป็นเจ้าภาพดูแลก็จะทำให้ตำบลสามารถรู้บางครั้งไม่พอก็แบ่งน้ำกันได้ไม่พอก็จะไปขอจากกลุ่มอื่นก็จะรู้ว่าจะขอเท่าไหร่ด้วย นี้คือส่วนหนึ่งที่ตัววิทยาการ หรือเครื่องมือสารสนเทศสามารถช่วยได้ทำให้แก้ปัญหาได้ทันเวลาปัจจุบันที่จริงระบบสาระสนเทศมันสามารถจะเชื่อมได้ ถ้ามีเจ้าภาพอาจรวมกันที่ อบต. และ อบจ. อาจจะดูภาพรวมทั้งจังหวัดของตัวเองได้ว่าจะใช้รถน้ำ หรือขุดลอกหรือว่าจะช่วยในจุดที่เขาต้องการจริง ๆ ขึ้นมาได้ซึ่งตอนนี้เราก็ยังทำให้ 3 จังหวัดเป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าทางกระทรวงสนใจก็ขยายผลเพิ่มเติมได้

รศ.สุจริต กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า จากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศน้ำที่ไม่แน่นอน อาจต้องเลือก สิ่งที่เหมาะสมและแก้ปัญหาได้จริง จึงอยากเน้นในเรื่องวิทยาการและเทคโนโลยีกับการจัดการน้ำให้มาก สุดท้ายคือหัวใจสำคัญการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อใช้ข้อมูลระบบที่มีอยู่ให้กฏกติการ่วมกันในการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมตกลงกันได้จะช่วยให้ชุมชนอยู่ด้วยกับระบบได้ดียิ่งขึ้น เราพยายามสื่อสารการใช้น้ำอย่างประหยัดเพิ่มมูลค่าและใช้วิทยาการสมัยใหม่


Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์