หยุด! ระเบิดเวลา “ความรุนแรง”

คุยกับ ‘ทิชา ณ นคร’

การเฝ้าระวัง บำบัด เยียวยา ปัญหายาเสพติด ล้มเหลวทั้งระบบ…

การสูญเสียศรัทธาที่มีต่อองค์กร ความอยุติธรรมที่ค่อย ๆ บ่มเพาะความรุนแรง…

นี่คือส่วนหนึ่งของรากปัญหาที่ ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก วิเคราะห์ต้นเหตุกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง อาชญากรในเครื่องแบบ กรณีเหตุฆาตกรรมหมู่ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู หรือ เหตุการณ์ #กราดยิงหนองบัวลำภู จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 37 คน

The Active รวบรวมบทวิเคราะห์ เพื่อชวนสังคมมองไปข้างหน้า หาทางเยียวยา ยุติความรุนแรง การบ่มเพาะอาชญากรในระดับโครงสร้าง

ความรุนแรง

มีมิติไหนบ้างที่สังคมต้องทำความเข้าใจ จากเหตุอดีตตำรวจก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ศูนย์เด็กเล็กฯ

หากพูดอย่างตรงไปตรงมา ระบบการจัดการของตำรวจไทย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่มีความผิดพลาดแบบไม่ใช่มืออาชีพ หรือกำลังเน่าแล้ว ระบบข้างในไม่มีประสิทธิภาพ พอมาเคสนี้ มีการยืนยันว่าชายที่ก่อเหตุใช้ยาเสพติดตั้งแต่อายุยังน้อย แสดงว่าการเข้ามาเป็นตำรวจนั้น หลุดมาได้อย่างไร นี่เป็นการตั้งคำถามเชิงระบบ ปัญหายาเสพติดล้มเหลวตั้งแต่การเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนและผู้ใหญ่เข้าถึง ล้มเหลวทั้งการบำบัดและเยียวยา แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเราใช้เงินงบประมาณมหาศาล ผ่านโครงการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.  โครงการทูบีนัมเบอร์วัน ฯลฯ แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงว่าหน่วยงานเหล่านี้และอีกหลายองค์กร ที่ของบประมาณหรือที่รัฐบาลจัดสรรไม่ประสบผลสำเร็จ ทำไมเราไม่พูด ทำไมถึงปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม 

และการเข้าถึงอาวุธปืนที่ง่าย ถ้าเราอยากฆ่าใครสักคน แล้วเรามีปืนในมือ จะถูกตอบสนองทันที เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ จึงมีการเรียกร้องให้เข้าถึงอาวุธได้ยากขึ้น ถ้าเข้าถึงยาก จะถูกลดทอนพลังไป อาจอยาก แต่ไม่ได้ฆ่าใครได้ แต่ว่าประเทศไทย การถือครองติดอันดับ

กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงของอดีตตำรวจสะท้อนอะไร

การบังคับใช้กฎหมายล้มเหลว เขาเป็นตำรวจ เวลาจับผู้ร้าย ก็เห็นด้านมืด เทา อ่อนแอ ความรู้สึกถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับปัจเจก ไม่ได้ศรัทธาต่อระบบที่ทำงาน ไม่มีความศรัทธาต่อองค์กร เขาเห็น เขารู้ว่าเทาตรงไหน เขาเห็นระบบโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโฆษกฯ ให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุว่าจะถอดบทเรียนเรื่องนี้ เราก็ตั้งคำถามระหว่างฟังข่าวว่าจะถอดบทเรียนอะไร ยังไม่รู้อีกเหรอ ไม่ต้องย้อนหลังไปถึง 100 ปี ย้อนหลังไปแค่ 5-10 ปี ปรากฏว่าตำรวจทำให้เกิดความเสียหายเยอะไปหมด บทเรียนเหล่านั้นมันเพียงพอที่ให้ระบบเซตซีโร่แล้ว

อะไรคือแรงจูงใจ เมื่อคนในเครื่องแบบก่อเหตุรุนแรง

เวลาเราอยู่ในระบบอำนาจนิยม แล้วมีอาวุธปืน สองอย่างสนธิพลังกัน มันแทบจะเหมือนน้ำเหนือทะลักมาเลย ประกอบกับความไม่ศรัทธาองค์กร ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเขาเห็นด้านมืดกันเองที่ไม่น่าเคารพของผู้ใหญ่ในวงการเยอะแยะไปหมด ทั้งหมดนี้ พอมาอยู่ในพิกัดเดียวกัน กลายเป็นระเบิดเวลาลูกหนึ่งของคน ๆ หนึ่ง แต่การที่เราจะไปโฟกัสที่คน ๆ เดียว เพื่อตั้งคำถามกับผู้ชายคนนี้ อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา ต้องไปถึงการปฏิรูปตำรวจที่พูดในรัฐธรรมนูญว่าไปถึงไหนแล้ว

ความรุนแรง

หากเทียบเคียงกรณีแบบนี้กับเยาวชนบ้านกาญจนาฯ

เด็กบ้านกาญจนาไม่ได้ติดยาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ แต่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมที่รุนแรง การฆ่า การปล้น การรุมโทรม ยาเสพติด การก่ออาชญากรรมส่วนหนึ่ง มาจากสังคมไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงบวก เปิดประตูออกจากบ้านเจอแต่ความมืดเทาดำ ปัญหาส่วนตัวไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ใช่พ่อแม่ผลักไปเป็นโจรนะ แต่พ่อแม่เขาก็ต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง ถ้าจะดูแลให้เหมือนกับครอบครัวที่มีทุกอย่างพร้อม ก็ไม่ได้

แรงจูงใจของเด็ก เท่าที่เคยถามว่าผู้ใหญ่พยายามออกแบบเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ผิด เช่น เหล้า บุหรี่ อย่างไร ทำไมพวกเขายังเข้าถึงได้ เขาบอกว่า ผู้ใหญ่บอกว่าบุหรี่มีนิโคติน มีโรคเยอะแยะ อย่าไปใช้มัน แต่คำตอบของเด็กคือ “สำหรับผม เป็นความตายในอนาคต ผมไม่กลัว ผมกลัวการตายในปัจจุบัน คือ การไม่มีเพื่อน การไม่ถูกยอมรับ” วิธีคิดของเยาวชนเราต้องเข้าถึง ถ้าเราต้องการจะเฝ้าระวังจนถึงวัยที่เขาดูแลตัวเองได้ แต่ดูเหมือนผู้ใหญ่ไม่เคยฟังเสียงเหล่านี้ของเด็ก 

ผู้ก่อเหตุอาจเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน? 

ถ้าในเชิงโครงสร้าง ตำรวจยังซื้อขายตำแหน่ง ยังมีใต้โต๊ะ ทำปกติ ก็จะเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาชญากร ที่ทำงานตลอดเวลา เมื่อหมดคนนี้ไปแล้ว เข้าคุกไปแล้ว เดี๋ยวโรงงานก็หมุนคนใหม่มาอีก ต้องถอยกลับไปเลย ปฏิรูปองค์กรตำรวจต้องเกิดขึ้นจริง

สังคมจะเฝ้าระวังเหตุความรุนแรงลักษณะนี้อย่างไร

ไม่ง่าย แต่ครั้งนี้ พบว่าหลายสื่อและผู้คนไม่ได้พูดถึงปัญหาปัจเจกอย่างเดียวแบบร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีการตั้งคำถามกับระบบโครงสร้าง ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี คนที่ออกแบบโครงสร้าง กำหนดนโยบาย จะต้องเอ๊ะ! กับตัวเอง ว่าหลงลืมอะไรหรือเปล่า แต่ในฐานะคนธรรมดา เฝ้าระวังไม่ง่าย แต่พยายามหาเครื่องมือให้เจอ เช่น คนที่ใช้ยาเป็นเวลานาน อาละวาด เราควรทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงการบำบัดรักษา หน่วยงานก็ต้องเปิดกว้าง ลดขั้นตอนบางอย่างที่จุกจิก เพื่อคนที่เข้าถึงยาก อาจต้องออกแบบใหม่เหมือนกัน เมื่อคนที่เข้าไปรักษาได้รับการปล่อยตัว ก็ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่หลุดจากระบบการรักษา แล้วไปไหนก็ได้เลย 

เน้นการทำงานเชิงรุกของหน่วยงาน?

ต้องยิงตรงไปที่ระบบราชการ ซึ่งมักวิ่งตามปัญหาหลายก้าว ไม่เคยเห็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ เขาไม่ล้ำหน้าปัญหา แต่วิ่งตามเสมอ ทั้งหมดนี้ไม่รู้จะพูดอย่างไร พูดยาก แต่บอกง่าย ๆ ว่า รัฐและระบบราชการล้มเหลว ทั้งการเฝ้าระวัง และการบำบัด

หลังก่อเหตุ ผู้กระทำความผิดรู้สึกอย่างไร การกลับตัวกลับใจ ใช้เวลาแค่ไหน

ถ้าใช้เวลาน้อย ไม่พอ เพราะสิ่งที่เข้าไปอยู่ในตัวเขา ใช้เวลานานพอสมควร ใช้เวลาอาทิตย์เดียว เดือนเดียว ไม่พอ การที่บ้านกาญจนาฯ จะเปลี่ยนวิธีคิดพวกเขาได้ ใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งต่อหนึ่งคน สามเดือนไม่พอ ทั่วไป เวลานำคนมาเข้าค่าย มาฟื้นฟู บำบัดยาเสพติด ใช้เวลาเป็นเดือนไม่พอ เพราะมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนพฤติกรรม แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเขาด้วย 

วิธีเยียวยาความรู้สึกของผู้คนในสังคมเวลานี้

ตอบยาก… สำหรับบ้านกาญจนา เราอยู่กับเด็กที่ก่ออาชญากรรม เขารู้สึกว่าเขาเป็นภาระของสังคม ประเด็นร้อนวันนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนมุมมอง บ้านกาญจนาจะพูดถึงน้องที่จากไป พูดถึงคนที่ตกเป็นเหยื่อ พูดถึงความรู้สึก การให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะเป็นพลังหรือภาระ เปลี่ยนให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเศร้ามาเป็นโอกาส เปลี่ยนความรู้สึกที่อยากทำร้ายใครสักคนด้วยความโกรธแค้น เปลี่ยนเป็นพลังทางสังคม เราทำได้ แต่ถ้าปล่อยให้เด็กเฝ้าดูข่าวนี้ เด็กอาจจะเอาด้านมืด ความโกรธแค้นออกมา เราเชื่อว่าเด็กที่อยู่ในพิธีกรรมกับเรา จะรับรู้ได้ถึงความสูญเสียกับสังคม 

กลไกและความหวัง

ไม่ง่าย ถ้าเราไม่จัดการระบบหรือโครงสร้าง เพราะตรงนั้นมันเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจการแก้ปัญหาของประเทศนี้ แต่เราพบว่าการขยับทีละนิดของคนรุ่นหลังยิงถูกเป้า เขาพูดปัญหาเชิงระบบเชิงโครงสร้างซ้ำ ๆ และทั่วถึง สื่อก็ย้ำเรื่องนี้บ่อย แสดงว่าเรามาถูกทาง ถ้าเราส่งสิ่งนี้ไปศูนย์กลางอำนาจ เราไม่ได้พูดแค่ความผิดของปัจเจก เราจะไม่ปล่อยให้คนออกแบบนโยบายลอยนวล เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว แต่เราต้องเพิ่มเวลาอีกนิด เพื่อให้ความรู้ตกผลึก เปลี่ยนเป็นนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ 

ความรุนแรง

ทิชา ณ นคร ยังทิ้งท้ายว่า การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงว่าคนที่เดินสวนกับเราจะเป็นอาชญากรหรือก่ออาชญากรรมหรือไม่ คงตอบได้ยาก แต่สิ่งที่พอทำได้ คือการประเมินและหันมาดูคนในครอบครัว อย่างคนในครอบครัว ช่วยให้เขาเข้าถึงการเยียวยาบำบัด ดูแลลูกของเรา ลูกคนข้างบ้าน ปรับวิธีให้เหมาะสม ส่วนการจัดกิจกรรมแบบไฟไหม้ฟางของรัฐ ควรเลิก หากไม่ไปแตะอะไรที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง 

“อย่ามาบอกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ใต้โต๊ะ ความอยุติธรรมในการโยกย้าย ทั้งหมดนี้เป็นระเบิดเวลาที่อยู่ในคนเล็ก ๆ ของคนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”


  • ชมรายการตรงประเด็น ตอน หยุด! ระเบิดเวลา ‘ความรุนแรง’ ออกอากาศ 7 ต.ค. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์