ผ่านมาครบ 1 เดือนกับเหตุโศกนาฎกรรม #รถบัสไฟไหม้ ที่ผ่านมาการมองหาสาเหตุถูกพุ่งเป้าไปที่การดัดแปลงรถบัส การติดตั้งถังแก๊สเกินกว่าที่จดแจ้ง และสภาพรถ
แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากหน่วยงานตรวจสอบ อนุมัติ อนุญาต ไม่ปล่อยปละละเลย นั่นทำให้ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนน ที่เกิดขึ้นกับรถบัส หรือรถโดยสารสาธารณะ สังคมจึงเพ่งเล็งไปที่ กรมการขนส่งทางบก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และหนึ่งในผู้ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ คือ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยบอกกับ The Active ว่า จากเรื่องร้องเรียนของประชาชน และตามหน้าข่าว เกี่ยวกับความเสี่ยงคอร์รัปชันในกรมการขนส่งทางบก ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สร้างภาระค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการตรวจสอบ อนุมัติ อนุญาต นำไปสู่ต้นเหตุสำคัญของการเกิดความไม่ปลอดภัย ความอันตรายบนท้องถนน โดยจากการรวบรวมข้อมูลขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พบประเด็นที่ถือเป็นช่องโหว่ ในระบบของหน่วยงานด้านขนส่งสาธารณะของไทย หลายประเด็นประกอบด้วย
1. เรียกรับสินบนตามด่านตรวจ เช่น ด่านตรวจควันดำ เสียงดัง สภาพรถ การต่อทะเบียน
2. ความไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนการตรวจประเมิน เพื่อจดทะเบียนรถยนต์นำเข้า และรถยนต์จดประกอบ ทำให้เกิด “คดีรถยนต์หรูเลี่ยงภาษี” นับพันคดี
3. ความไม่โปร่งใส “การอนุญาตให้มีการดัดแปลงแก้ไขสาระสำคัญของรถและการตรวจสอบต่อเนื่อง” ทำให้เกิดอุบัติภัยได้ง่าย เช่น กรณี รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ที่พบการดัดแปลงตัวถังรถ การติดตั้งแก๊ส และยังรวมถึงการอนุญาตเปลี่ยนสี เครื่องยนต์ เปลี่ยนจำนวนโคมไฟ จำนวนที่นั่งโดยสาร ส่วนควบของรถ ในกรณีอื่น ๆ ด้วย
4. จดทะเบียนรถยนต์ใหม่ เช่น รถจักรยานยนต์ใหม่ โดยประเด็นนี้ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ อธิบายว่า จะพบว่า รถใหม่ทุกคันที่ซื้อจากโชว์รูมมีกฎหมายกำหนดว่า ในการจดทะเบียนรถ ผู้ซื้อต้องนำรถไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพทุกคัน มีผู้ซื้อรถส่วนน้อยที่ซื้อเงินสดแล้วนำรถไปดำเนินการเอง หรือให้โชว์รูมดำเนินการให้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ จะให้ไฟแนนซ์ไปจัดการหากซื้อเงินผ่อน โดยมีค่าใช้จ่ายพิเศษ แน่นอนว่า 2 กลุ่มหลังนี้ ไม่มีรถไปให้ตรวจจริง แต่ก็จดทะเบียนได้ โดยจ่ายเงินแบบไม่มีใบเสร็จ ที่เรียกว่า ค่าตรวจสภาพนอกสถานที่ หรือค่าธรรมเนียม ฯลฯ เนื่องจากตัวเลขการจ่ายค่าจดทะเบียนรถใหม่ ไม่ชัดเจนหรือเท่ากันในแต่ละพื้นที่ แต่โดยเฉลี่ยแล้วรถจักรยานยนต์ คันละ 50 – 200 บาท, รถยนต์ 300 – 1,500 บาท เป็นต้น ประเด็นนี้จึงควรศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
“คาดว่าในปี 2566 เงินที่ไม่มีใบเสร็จจากกรณีการจัดทะเบียนรถใหม่ดังกล่าวอาจมากถึง 400 – 1,000 ล้านบาท เมื่อคำนวนจากยอดขายทั้งปีของรถจักรยานยนต์ ประมาณ 1.88 ล้านคัน, รถยนต์นั่ง และกระบะ 7.75 แสนคัน อันที่จริง เราควรตั้งคำถามกรมการขนส่งทางบกด้วยว่า รถใหม่ป้ายแดงจากโรงงานแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ล้วนเหมือนกัน จะไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเลยหรือ ทำไมต้องสร้างภาระให้ประชาชน”
มานะ นิมิตรมงคล
5. การขายลายเซ็น และตรวจสภาพรถทิพย์ สำหรับพวกพ้องคนกันเอง ที่เอาเล่มทะเบียนรถมา นายช่างไม่มีการตรวจสภาพรถจริงสำหรับซื้อขายมือสอง และรถดัดแปลงสภาพ แลกกับเงิน 1,500 – 2,000 บาท (ปี 2566 มีสถิติการโอนรถมือสอง 1.6 ล้านครั้ง)
6. ผลจากข้อ 5 ทำให้มีการสวมทะเบียนรถ ทั้งรถเถื่อน รถหลุดไฟแนนซ์ รถถูกขโมยมา การสวมทับทะเบียนรถชาวบ้านและสวมทะเบียนซากรถที่เกิดอุบัติเหตุ
“เครือข่ายพวกนี้แอบขูดลอกเลขทะเบียนเครื่องยนต์ เลขแชสซี และเลขตัวถังรถ ของลูกค้าเก็บไว้จำนวนมาก การเข้าแก้ไขข้อมูลรถยนต์ในระบบของกรมการขนส่งก็ทำไม่ยาก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งเรื่องการสวมทะเบียนรถ และการลักลอบแก้ไขข้อมูลทะเบียนรถ”
มานะ นิมิตรมงคล
7. ปล่อยให้มีคนนอกทำตัวเป็นนายหน้าเรียกค่าบริการหรือหลอกลวงประชาชนในสถานที่ราชการ
8. การจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด เช่น การจ้างผลิตแผ่นป้ายทะเบียนรถ, การจัดทำใบขับขี่
9. การออกใบขับขี่ ให้แก่บุคคลที่ไม่ผ่านการสอบและอบรมตามขั้นตอน
10. ให้ความเห็นชอบแบบ และผลิตตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงการทดสอบและรับรองผลการทดสอบความปลอดภัยรถ เช่น รถบัสโดยสารสองชั้น, รถเก่ามากนำมาทำใหม่แต่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพอุปกรณ์ อะไหล่ ฝีมือการประกอบติดตั้งได้
11. รับรองมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก เช่น รถพ่วง, รถลากพ่วง, รถขนส่งพิเศษ เช่น รถสองชั้นเพื่อขนส่งรถยนต์, รถห้องเย็น
12. ความโปร่งใสในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางให้แก่เอกชน เช่น รถนำเที่ยว, รถรับจ้างขนส่งคนงาน, รถตู้ขนส่งผู้โดยสาร
13. ความโปร่งใสในการจัดสรรป้ายแดงให้โชว์รูมรถยนต์ การจองเลขทะเบียนรถป้ายธรรมดา
14. จดทะเบียนรถผิดประเภท
15. ประเมินเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจรถยนต์เอกชน (ตรอ.) และการต่อใบอนุญาต
16. การขอใบอนุญาตเป็นผู้ฝึกสอนขับขี่รถยนต์
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ย้ำว่า คนไทยรู้กันดี ภัยบนท้องถนนยังมีอีกมากจากรถยนต์ผิดกฎหมายที่วิ่งอยู่ทั่วไปหมด ขณะที่ประชาชนและคนทำมาค้าขายต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ ทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้นสำหรับค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ได้บริการที่แย่ลงจากระบบที่คอร์รัปชัน จึงจำเป็นแล้วที่สังคมไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม แก้ปัญหาการทำงานของกรมการขนส่งทางบก ยกระดับการตรวจสภาพรถพร้อมบันทึกข้อมูล เพิ่มการบันทึกภาพตามจุดสำคัญ พร้อมเปิดเผยให้โปร่งใส ติดตามตรวจสอบได้ สร้างดิจิตอลฟุตพริ้นท์ให้สังคมตรวจสอบย้อนหลังได้ทุกแง่มุม ที่จำเป็นอีกเรื่องคือ ต้องไม่ละเว้นที่จะตรวจสอบและลงโทษเอกชนทุกรายที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด
“ความปลอดภัยของประชาชน การใช้รถขนส่งสาธารณะ ยังไม่ได้รับการยกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ เหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ผ่านมาเดือนนึงแล้ว เรื่องมาตรการของรัฐก็เห็นว่าคืบหน้า แต่ผิดทิศทาง เราได้เห็นความพยายามไปตรวจจับมาตรฐานรถบัสที่พาเด็กไปทัศนศึกษา การยกเลิกใช้งานรถที่ไม่ได้มาตรฐาน การเอาผิดกับรถ เอาผิดกับเจ้าของรถ แต่ความเป็นจริงเรื่องความปลอดภัยเป็นปัญหาเชิงระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทย หน่วยงานที่ควรขันน็อตตัวเอง คือ กรมการขนส่งฯ เราเห็นกันอยู่ว่าเรื่องการตรวจสภาพรถอ่อนมาก ไม่เข้มงวด การปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาไม่มีอยู่จริง ยังมีการตรวจสภาพรถทิพย์ ที่สังคมรู้กันดี หากไม่แก้ที่ต้นตอ ก็จะมีรถตู้ รถบัส รถบัสสองชั้น ที่ยังคงวิ่งต่อไป รถเหล่านี้ เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่วิ่งอยู่บนถนน”
มานะ นิมิตรมงคล
พร้อมทั้งเสนอให้ รัฐบาล กระทรวงคมนาคม ต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการขนส่งฯ ต้องหามาตรการตรวจสอบเรื่องนี้ให้รัดกุม การหวังแต่องค์กรภายนอก อย่างกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปตรวสอบยังเป็นเรื่องยาก การเข้าไปตรวจสอบโดยกรรมาธิการฯ ก็ยังไม่เห็นประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้ประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น
นอกจากนั้นสิ่งที่ควรทำคู่ขนานคือต้องทำให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อชีวิตประชาชน ชีวิตผู้โดยสารให้มากกว่านี้ อาจมีทั้งการลงโทษ หรือมาตรการการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยน สร้างคุณภาพความปลอดภัยให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน