ไขปัญหา ‘ป่าทับลาน’ ที่ ‘รัฐ’ เป็นผู้(กด)ทับทั้งป่าและคน

คน ‘กับ’ ป่า

คน ‘หรือ’ ป่า

รูปประโยคคล้าย แต่ความหมายต่างกัน

เพราะ “คนกับป่า” จะมีประโยคที่ตามมาคือการพึ่งพาและการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลอยู่เสมอ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันที่สังคมกำลังถกเถียงกันอย่างกรณี ป่าทับลาน นี้ กลับต้องเปลี่ยนคำตรงกลางที่เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า เป็นการแบ่งขั้วด้วยสองอุดมการณ์ จนท้ายที่สุดสังคมเกิดคำถามว่า “คนหรือป่า ใครมาก่อน?”

การตามหาคำตอบที่ว่าใครมาก่อนระหว่างคนและป่า แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่สังคมจะนำมาถกเถียงกันในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะแน่นอนว่าปัญหาที่กำลังถูกพูดถึง และไม่ได้รับการแก้ไขมากว่า 40 ปี คงไม่ได้เกิดจาก คน ที่ต้องการพื้นที่ทำกิน หรือ ป่า ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ แต่เกิดจาก รัฐ ที่เป็นผู้สร้างรอยแยกด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อสิทธิ์และความยุติธรรม

The Active ชวนไขปัญหา ‘ป่าและคน’ ผ่านสองขั้วอุดมการณ์ #Saveทับลาน และ #Saveชาวบ้านทับลาน กับ ชมเกตุ งามไกวัล นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ชมเกตุ งามไกวัล นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

“Justice delayed is justice denied”

ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม

นี่คือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ทับลานบางส่วนต้องพบเจอ จากความเห็นของ ชมเกตุ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะความยุติธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการขาดความเท่าเทียมในกระบวนการจัดการที่ดินจากภาครัฐ รวมถึงการเข้าไม่ถึงข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นของชาวบ้านตั้งแต่ต้น และมากกว่านั้นคือปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมและรัฐเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีความพยายามจากชาวบ้านในการส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอดก็ตาม

“ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นี่คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่”

ปัญหาและความไม่ยุติธรรมที่สะสมมาตลอด 40 ปี จากกระบวนการของภาครัฐที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และไม่ชัดเจน เป็นความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมหรือองค์ประกอบทางสังคม ซึ่งขัดขวางและกดทับจนทำให้ประชาชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การทุจริตที่มาในรูปแบบกฎหมายและนโยบายด้วยกระบวนการของภาครัฐ ซึ่งยากที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อใคร จึงส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นไปอีก โดยในทางทฤษฎี ชมเกตุ เรียกการทุจริตนี้ว่า การทุจริตเชิงนโยบาย

‘การทุจริตเชิงนโยบาย’ อธิบายได้ด้วย ‘สมการคอร์รัปชัน’

สมการโดย ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการทุจริตด้วย 3 ตัวแปร คือ (1) การผูกขาด (2) ดุลพินิจของผู้มีอำนาจ และ (3) การตรวจสอบ ซึ่งในกรณีป่าทับลาน ชมเกตุ ได้เพิ่มตัวแปรเข้าไปอีกคือ (4) ความชอบธรรม โดยสามารถอธิบายปรากฏการณ์ผ่านสมการคอร์รัปชันได้ ดังนี้

ในกรณีป่าทับลาน การคอร์รัปชันที่เกิดจาก การผูกขาด (Monopoly) คือป่าหรือที่ดินในประเทศที่ถูกผูกขาดโดยอะไรก็ตาม และมีตัวแปรที่ 2 คือ ดุลพินิจของผู้อำนาจ (Discretion) ซึ่งอาจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ควบคุมนโยบายหรือกฎหมายได้ 

เมื่อ การผูกขาด (Monopoly) และ ดุลพินิจของผู้อำนาจ (Discretion) มารวมกัน ก็ทำให้เกิด ความชอบธรรม (Legitimacy) ขึ้นมา อย่างในกรณีนี้คือ ฝ่ายหนึ่งมีความชอบธรรมที่จะบอกว่า “จะเพิกถอนป่า” ในขณะที่อีกฝ่ายก็มีความชอบธรรมที่จะบอกว่า “หยุดเพิกถอนป่า”

ดังนั้น การสร้างความชอบธรรมจึงสามารถเกิดขึ้นในความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายได้ โดยอาจเอื้อผลประโยชน์ให้ใครสักคน ให้เกิดการคอร์รัปชันได้เช่นกัน ซึ่งหากสามตัวแปรนี้รวมกันหรือเพิ่มขึ้น การคอร์รัปชันก็จะเพิ่มขึ้นตามตัวแปรทั้งสาม

ส่วนตัวแปรสุดท้าย คือ การตรวจสอบ (Accountability) ซึ่งจะไปลบกับสามตัวแปรที่กล่าวมาข้างต้น หมายความว่า หากการตรวจสอบหละหลวม การคอร์รัปชันจะยิ่งมากขึ้น กลับกันหากมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง การคอร์รัปชันก็จะลดลง 

ยกตัวอย่างจากปรากฏการณ์ในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ประชาชน หรือสื่อสามารถตรวจสอบว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมีความทุจริตหรือไม่ ทุจริตมากน้อยแค่ไหน ก็อาจจะทำให้คนที่ต้องการจะทุจริตลดลงก็เป็นได้ ซึ่งในกรณีป่าทับลาน ก็สะท้อนออกมาเป็น #saveทับลาน และตามมาด้วย #saveชาวบ้านทับลาน ทำให้คนที่อาจจะต้องการประโยชน์จากสถานการณ์นี้ หาช่องทางในการทุจริตได้ยากมากขึ้น

#Saveทับลาน VS #Saveชาวบ้านทับลาน : ขั้วความขัดแย้งที่แฝงอะไรไว้ ?

บรรยากาศจากวงล้อมของคนภายนอกที่สะท้อนผ่านกระแส #Saveทับลาน และ#Saveชาวบ้านทับลาน ทำให้เห็นความไม่เชื่อใจของคนในสังคมที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว ทั้งการไม่ไว้วางใจในการทำงานของรัฐที่สังคมยังมีข้อสงสัยว่านี่เป็นการฟอกเขียวหรือไม่ และความไม่เชื่อใจชาวบ้านในเรื่องการรักษาที่ดินไม่ให้หลุดมือไปยังกลุ่มนายทุน

ชมเกตุ ยังได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า นี่เป็นการสะท้อนความคิดของคนภายนอก ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ระหว่างชาวบ้านและป่าหรือรัฐที่ดูเหมือนว่ามีการทุจริตและไม่โปรงใสในกระบวนการจัดการที่ดิน จึงทำให้หลายคนมองว่า กรณีป่าทับลานจะกระทบต่อสิทธิ์ของเขาเหล่านี้ เช่น เรื่องสิทธิ์ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนมากกว่าการมองถึงสิทธิ์สำหรับกลุ่มคนอื่น ๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ

“เหยื่อที่แท้จริงของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ ชาวบ้านทับลาน

เมื่อหลายคนในสังคมยังมองข้ามสิทธิ์ของกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มอย่างชาวบ้านทับลาน ภาพของชาวบ้านที่ไปสู่สายตาของสังคมจึงไม่ใช่ภาพที่ดีมากนัก ซึ่งหากย้อนประวัติศาสตร์จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ คน อย่างชาวบ้าน ต้องมาย้ายมาอยู่ในพื้นที่ ป่า ก็เป็นเพราะรัฐที่โยกย้ายกลุ่มชาวบ้านเข้ามาด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องใช้พื้นที่ ส.ป.ก. เป็นพื้นที่ทำกินสำหรับชาวบ้านที่มีฐานะยากจนโดยที่ชาวบ้านเลือกไม่ได้ ซึ่งในทางอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ชมเกตุ มีคำนิยามให้กับสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยการแบ่งอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ประเภท

  • อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นต้น (Primary green crimes) หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทำที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การปล่อยมลพิษทางอากาศ

  • อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นรอง (Secondary green crimes) หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทำที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการกระทำผิดในกระบวนการทำงานของภาครัฐที่เอื้อให้เกิดอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นต้น อย่างการทุจริตหรือการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่หละหลวม

  • อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นที่ 3 (Tertiary green crimes) ซึ่งเป็นได้ 2 แบบโดยที่ชาวบ้านหรือเหยื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรม คือ (1) การที่เหยื่อออกมาประท้วงหรือใช้ความรุนแรง แม้ว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ของชาวบ้าน แต่การใช้ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด และ (2) การที่เหยื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นต้นและอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นรอง โดยความจำยอมเพราะอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ จึงต้องขายที่ดินให้กับนายทุนหรือทำสิ่งที่ผิด

“การแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ของทางภาครัฐมันยังขาดแนวคิดด้านสันติ”

สถานการณ์ที่ผ่านมาในการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนบางกลุ่มที่ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อส่งเสียงไปยังสังคมและรัฐให้หันมาสนใจและหาความชอบธรรมให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นเช่นเดียวกับ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมชั้นที่ 3 ซึ่ง ชมเกตุ มองว่า รัฐจะต้องหาวิธีในการจัดการโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการพูดคุยร่วมกันอย่างแท้จริงกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงให้พื้นที่ชาวบ้านในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้สารที่ชาวบ้านต้องการเรียกร้องส่งไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ต้องทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกัน”

ปัญหาเรื่องคนและป่าเกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงประเทศไทยเท่านั้น เพราะขณะนี้เราอยู่ในสภาวะที่โลกกำลังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร และความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ เมื่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นนี้ ชมเกตุ จึงมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างการทุจริตหรือความไม่เป็นธรรมต่อคนบางกลุ่มจึงจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีหลายปัจจัยเอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม

หากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ หลายภาคส่วนต้องช่วยกันตรวจสอบทั้งภาครัฐและประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในพื้นที่ป่าทับลาน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อป่าน้อยที่สุด และให้พื้นที่ทำกินกับชาวบ้านได้ด้วย ซึ่งในขณะนี้ถือว่ากำลังเป็นไปในทางที่ดีจากการตื่นตัวของประชาชนภายนอกและสื่อ โดยให้สังคมหันมาสนใจอย่างการมี #Saveทับลาน และ #Saveชาวบ้านทับลาน

“การมีกระแสที่แบ่งเป็นสองขั้วอย่างที่เราเห็นใน 2 แฮชแท็กนี้ มันไม่ได้ทำให้บรรยากาศในสังคมแย่ลง แต่มันกำลังทำให้ทุกคนได้เห็น และช่วยกันแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ของชาวบ้านที่ขาหนึ่งข้างอยู่ในเขตที่สังคมขีดไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันขาอีกหนึ่งข้างก็ยังอยู่ในเขตของผู้เป็นเหยื่อที่หลายคนในสังคมไม่ได้ยินเสียงที่เขาเหล่านี้พยายามเรียกร้องเช่นกัน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาทางแก้ไขและทำความเข้าใจสถานการณ์ ที่เป็นไปตั้งแต่อดีตจนนำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกรณีป่าทับลานนี้ โดยไม่ต้องให้สังคมเลือกว่า “ป่าหรือคน” และให้กลับไปเป็น “คนกับป่า” ที่อยู่กันอย่างพึ่งพาและสมดุลอย่างที่ควรจะเป็น

“เราสามารถ save ทั้งชาวบ้านและ save ทั้งป่าได้ แล้วก็สร้างสังคมที่ดีไปพร้อมกันได้ ด้วยการช่วยกันตรวจสอบรัฐบาล ทั้งป้องกันการทุจริต รักษาสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น”