เส้นเลือดฝอย VS เส้นเลือดใหญ่ : น้ำท่วมกรุงเทพฯ

เส้นเลือดไหนสำคัญในวิกฤตน้ำท่วมกรุง ปี 65

คงไม่มีใครคาดคิดว่าพื้นที่ลาดกระบังจะเกิดน้ำท่วมหนัก เพียงเพราะน้ำฝนที่ตกลงมา เพราะถ้าย้อนกลับไปปี 2554 มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ลาดกระบังยังรอดมาได้

ดูเหมือนว่าน้ำท่วมขังกรุงเทพมหานครจะเป็นเรื่องคุ้นชินมาโดยตลอด ตามวลี “น้ำรอระบาย” ดังนั้น “การระบายน้ำให้ได้อย่างรวดเร็ว” จึงเป็นโจทย์ท้าทายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาทุกยุคทุกสมัย 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่เขตลาดกระบัง

ยิ่ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนมากถึง 1.3 ล้านเสียง เขาจึงมาพร้อมความคาดหวังในการปรับปรุงปัญหาเมืองกรุงหลายเรื่อง รวมไปถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำรอระบายด้วย แต่หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเพียง 3 เดือนฝนก็ตกหนัก โดยมีการคาดการณ์กันว่าหนักสุดในรอบ 20 ปี 

“เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ทำให้เส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย” คือข้อสังเกตของ “สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นักวิศวกรรมโยธา ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ต่อสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ 

สามารถ ราชพลสิทธิ์

อย่าชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

เส้นเลือดใหญ่ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ กทม. วางเพิ่มเติมโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) คลองหลัก และอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนเส้นเลือดฝอยประกอบด้วย ระบบท่อระบายน้ำและระบบรางระบายน้ำจากผิวจราจร และคลองย่อย เป็นต้น

อดีรองผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า เวลานี้น้ำในคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ และคลองเปรมประชากร เป็นต้น มีระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นั่นหมายความว่าในบางพื้นที่ น้ำได้ล้นแนวเขื่อนกั้นน้ำเข้าท่วมแล้ว จนทำให้คนกรุงเทพฯ ในพื้นที่เหล่านั้นพูดว่า “น้ำล้นคลองไม่เกิดมานาน 20 ปีแล้ว เพิ่งมาเกิดอีกปีนี้” สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าเส้นเลือดใหญ่มีปัญหาแล้ว

หาก กทม. ไม่เร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ แต่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยเท่านั้น ก็จะไม่สามารถขนน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เพราะน้ำจากเส้นเลือดฝอยจะต้องไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ย่อมส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม 

แต่ดูเหมือน “ชัชชาติ” จะมีความคิดเห็นแตกต่าง เพราะการทำเส้นเลือดใหญ่ไม่ง่าย เนื่องจากเป็นโครงการระยะยาว มองว่าเส้นเลือดใหญ่คือเมกะโปรเจกต์ การทำอุโมงค์ระบายน้ำต้องใช้เวลา 6 ปี ซึ่งมีการทำเส้นเลือดใหญ่อยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นผลได้ใน 2-3 เดือน เวลานี้สิ่งที่ทำกับเส้นเลือดใหญ่ คือ การดูแลปั๊มน้ำให้ทำงานให้เต็มที่ อย่างอุโมงค์ระบายน้ำพระโขนงก็ทำเต็มที่ 

ปัญหาไม่ใช่ “เส้นเลือดใหญ่” แต่ “เส้นเลือดฝอย” ไปไม่ถึงอุโมงค์ระบายน้ำ

ผู้ว่าฯ กทม. ชี้ให้เห็นด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เวลานี้ หลายพื้นที่น้ำไม่ท่วม เชื่อว่าเพราะเส้นเลือดฝอยทะลวงได้ดีขึ้น เส้นเลือดฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วยให้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังแห้งอยู่ แต่สำหรับเขตประเวศ และเขตลาดกระบังที่อยู่ไกล ประกอบกับมีฝนตกในปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็ทุ่มกับเส้นเลือดใหญ่มาก

สังเกตว่าหลายพื้นที่ไม่ได้ลอกท่อระบายน้ำ เมื่อทะลวงท่อก็ดีขึ้นเยอะ เช่นพื้นที่ประชาสุข ประชาสงเคราะห์ รามคำแหง ที่ก่อนหน้านี้น้ำท่วมเป็นวัน เมื่อลงไปทำเส้นเลือดฝอยให้ดีขึ้น น้ำก็มาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ดีขึ้น ต้องทำเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ให้สมดุลกัน 

อย่างไรก็ตาม “สามารถ” ใช้คำว่า “ติเพื่อก่อ” ทั้งยังชี้ถึงปัญหาภายในว่า ทีมงานบางคนสั่งการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ/หรือไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ อีกทั้งมีการสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานโดยตรง เป็นการสั่งการ “ข้ามหัว” ของหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดการบูรณาการ ที่สำคัญ ไม่รับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

แต่ในช่วงเวลาจำกัดแค่ 2 เดือน หลังเข้ารับหน้าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” ยังยืนยันว่าเส้นเลือดฝอยสามารถทำให้เห็นผลได้ โดยในอนาคตต้องดูเรื่องเส้นเลือดใหญ่ให้ดีขึ้น ด้วยการพิจารณาเพิ่มเส้นเลือดใหญ่ของลาดกระบัง อุโมงค์ระบายน้ำพระโขนง ที่คาดว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่ประตูสูบน้ำพระโขนงที่มีสองฝั่ง เดิมไม่ได้เดินเครื่องเต็มที่เพราะดึงน้ำมาไม่ถึง น้ำไหลมาไม่ทัน เพราะระยะทางที่ไกลมาก จึงต้องใช้เรือมาช่วยผลักดันน้ำด้วย 

สถานีสูบน้ำพระโขนง สูบน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา

กรณีที่น้ำไหลเข้าอุโมงค์ไม่ทัน “สามารถ” แนะว่า ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองเพิ่มเติม เครื่องสูบน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งน้ำเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้าสู่อุโมงค์และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้ำจากเส้นเลือดฝอยไหลมาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ และขอให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากคลองที่อยู่ติดทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำออกจากคลองในเขตกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

“ผมเห็นใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ต้องมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ผู้เพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของ กทม. และของหน่วยงานอื่นได้แบบไร้รอยต่อ ผมจึงไม่ต้องการซ้ำเติมท่าน เพียงแต่อยากให้ท่านนำข้อเสนอของผมไปพิจารณาใช้เท่านั้น” 

สามารถ ราชพลสิทธิ์

นอกจากข้อถกเถียงเรื่องเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ ซึ่งในที่สุดแล้วคงต้องหาจุดสมดุลการพัฒนาไปพร้อมกัน แต่ภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนที่หนักขึ้น กรุงเทพมหานครถูกทำนายบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าจะจมน้ำในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่มากนัก

น้ำท่วมจากฝนตกหนักในครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ ว่าเราอาจไม่เหลือเวลาในการปรับพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราทำได้เพียงวางแผนเพื่อตั้งรับ 

หากกรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของเราเสียกรุงเพราะข้าศึกโจมตี เมื่อ 240 ปีก่อน ขณะที่อีก 30 ปีข้างหน้า คราวนี้ ‘กรุงเทพมหานคร’ อาจต้องเสียกรุง เพราะน้ำท่วมก็ได้! 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS