เวลาอยู่ข้างเรา? EP.1
“ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่อาจจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”
นี่เป็นประโยคจากนวนิยาย “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ อันถ่ายทอดแนวคิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น และเก็บบันทึกบรรยากาศทางการเมืองในยุค 2490’s ได้อย่างทรงพลัง แนวคิดนี้ได้ถูกส่งต่อผ่านการต่อสู้ทุกยุคสมัย มาจนถึงการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มราษฎรเมื่อช่วงปี 2563 ซึ่งหลายคนเชื่อว่า “เวลาจะอยู่ข้างเราเสมอ”
กลับกัน มันก็สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายเดิม เสมือนวนเวียนอยู่กับการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้น ในทางปรัชญา “เวลา” เป็นคุณสมบัติเหนือสรรพสิ่ง นัยหนึ่ง มันก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันและเที่ยงธรรม แต่อีกนัยหนึ่ง มันก็เอื้อให้ผู้มีอำนาจเท่านั้นหยิบฉวยประโยชน์จากมันได้ หรือจริง ๆ แล้ว วันเวลาไม่ได้อยู่ข้างใครเลย?
The Active ชวนทำความรู้จักหน้าตาของ ‘กาลเวลา’ และตั้งคำถามถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ยังคงเป็นพยานในทุกการต่อสู้ถึงสังคมใหม่ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และซัดทอดจนมาถึง 16 ตุลาคม 2563 ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
‘เวลา’ ในทางปรัชญาหมายถึงอะไร?
นักปรัชญาสนใจเรื่องเวลามายาวนาน มันเป็นส่วนหนึ่งของอภิปรัญญา (Metaphysics) ถ้ามองไปในปรัชญากรีก อย่างเพลโต เขาก็มีทัศนะไปในทำนองว่าสิ่งที่เป็นจริงแท้จะอยู่นอกเหนือกาลเวลา ไม่เปลี่ยนแปลง มันอยู่ของมันอย่างนั้น แล้วเราไม่สามารถบอกได้ว่ามันอยู่ในช่วงเวลาไหน เพราะว่ามันคงที่ตลอด
ส่วนทัศนะของนักปรัชญาที่เป็นชาวคริสต์ เขาก็บอกว่าพระเจ้าอยู่นอกเหนือกาลเวลา ก็เป็นแบบเดียวกัน แล้วก็มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่นอกเหนือกาลเวลาอย่างพระเจ้าหรือสิ่งจริงแท้แบบของเพลโต กับสิ่งที่อยู่ในเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะมีคำเกี่ยวกับเรื่องเวลาอย่างเช่นคำว่า “นิรันดร์” (Eternity) แปลว่าอยู่นอกเหนือกาลเวลา กับอะไรที่ยาวนานมาก ๆ แต่ว่ายังอยู่ในเวลาอยู่ดี อันนี้เป็นสิ่งที่นักปรัชญาสนใจ
พอมาสมัยของ ไลบ์นิทซ์ กับ นิวตัน เป็นยุคสมัยใหม่ เป็นช่วงที่ปรัชญามันจะเหลื่อมซ้อนกับฟิสิกส์กับดาราศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คือนิวตันบอกว่าเวลาเป็นเหมือนกรอบใหญ่ โครงใหญ่ เหมือนถังน้ำ ทุกอย่างอยู่ในถังน้ำ แต่ว่านักปรัชญาหลายคนอย่างไลบ์นิทซ์ซึ่งร่วมสมัยกับนิวตันก็บอกว่า เวลาโดยตัวของมันเอง มันไม่มีจริง มันไม่ใช่กรอบที่ดำรงอยู่แบบที่นิวตันบอก แต่ว่าเวลามันจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งสองสิ่ง ที่อันหนึ่ง เกิดก่อน-เกิดหลัง ถ้าไม่มีสิ่งที่ เกิดก่อน-เกิดหลัง ก็ไม่มีเวลา กล่าวคือ เวลาเป็นสิ่งสัมพัทธ์
ต่อมานักฟิสิกส์อย่างไอน์สไตน์ก็มีคอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเวลา ซึ่งก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ คือเวลามันเปลี่ยนแปลงไปได้ขึ้นอยู่กับความเร็วของสิ่งที่เคลื่อนที่ อันนั้นคือคอนเซ็ปต์เรื่องเวลาในปรัชญากับวิทยาศาสตร์ซึ่งมันเหลื่อมซ้อนกัน แล้วมันก็กลายเป็นเหมือนกับเนื้อเดียวกัน
ทีนี้มันจะมีคอนเซ็ปต์ของเวลาอีกแบบหนึ่งคือเวลาในมิติของความรู้สึกภายในตัวเรา ซึ่งนักปรัชญาก็สนใจ คือเราอาจจะเคยได้ยินคนเขาพูดกันว่า “เวลามีความสุขเวลาผ่านไปเร็ว” อันนี้คือเวลาในอีกมิติหนึ่ง ที่เป็นเหมือนกับในความรู้สึกของเรา ทั้ง ๆ ที่ดูนาฬิกาแล้วมันก็ 10 นาที เท่ากัน แต่เหมือนอย่างเวลาหมอทำฟัน กรอฟัน เราจะรู้สึกว่ามันเวลามันช้าจัง
คอนเซปต์ของ ‘เวลา’ ที่กล่าวมา คล้ายหรือต่างจาก ‘เวลา’ ที่คนรุ่นใหม่อ้างว่าอยู่ข้างพวกเขาอย่างไร?
หลายคนที่สนใจติดตามสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยอยู่ ก็พูดในทำนองว่า เขาเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ บอกว่าเวลาเป็นของคนรุ่นใหม่ ความหมายมันน่าจะเป็นว่า “ยังไง ๆ สภาพการณ์ของสังคมการเมืองมันจะต้องเปลี่ยนไป ในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นไปในทางที่คนรุ่นใหม่เห็นด้วยแน่ ๆไม่ช้าก็เร็ว แต่ว่าคิดว่าคงไม่ช้าเกินไป” อันนี้คือความหมายที่คนรุ่นใหม่เชื่อ ซึ่งทางธรรมชาติมันก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะว่าคนรุ่นใหม่มีเวลาเหลืออีกเยอะ คนรุ่นเก่า 50 ปีขึ้นไป ก็มีเวลาเหลือไม่เยอะ ยังไงโลกหรือประเทศไทยทั้งประเทศก็ต้องเป็นของคนรุ่นใหม่
แต่ที่มันขัดแย้งกัน ก็อาจจะมองได้ในภาพรวมว่า “คนกลุ่มหนึ่ง” ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มันเร็วเกินไป เพราะเขาตามไม่ทัน แล้วเขากลัวว่า สิ่งที่เขาเคยยึดถือมาว่าเป็นสิ่งสูงส่ง สิ่งดี มีคุณค่า มันจะพังไป เขาก็ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ความกลัวมันมีจริงนะ ผมเคยคุยกับพวกเขา เขาคิดในอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากผม เขามองแบบเชิงอนุรักษ์ เขากลัวความเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีคนที่มองว่ายังไงการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นทางปรัชญา เพราะว่า มีความคิดของนักปรัชญาบางคนอย่าง คาร์ล มาร์ก ที่เชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงของสังคมมีเพียงแนวทางเดียว ไม่ว่ายังไง เวลาก็จะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตยื้อยุดอย่างไรก็ตาม สังคมก็จะพัฒนาตัวมันเองไปในทางข้างหน้า”
ซึ่งความคิดนี้จะเป็นจริงไหมก็ต้องรอดู แต่ในทางทฤษฎีก็มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เขามองว่าเราไม่สามารถกำหนดอนาคตได้ อนาคตขึ้นอยู่กับเจตจำนงหรือความตั้งใจของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนตัดสินใจ ณ ปัจจุบันขณะ
กลุ่มขั้วอำนาจเดิมก็มีความพยายามที่จะถ่ายโอนอำนาจมายังยุคสมัยถัดมาอยู่เรื่อย ๆ แล้วเวลาจะอยู่ข้างคนรุ่นใหม่จริงหรือ?
ก็เป็นธรรมดา เวลาผมสอนปรัชญาผมจะพยายามเสนอทัศนะสองข้าง ซึ่งตอนนี้มีขั้วที่มีความคิดอย่างเฮเกล หรือ มาร์ก ที่เชื่อว่าประวัติศาสตร์และเวลามีเส้นทางเดินเดียว ยังไงประเทศไทยก็จะต้องเปลี่ยนไป แต่อีกฝั่งก็ไม่เชื่อแบบนี้ เขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจกำหนดล่วงหน้าได้ มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนมีอำนาจ จึงอาจมีความคิดในทำนองว่า “ประเทศไทยจะเป็นยังไงในอนาคต อาจจะไม่เป็นไปตามความหวังของคนรุ่นใหม่อย่างที่เราพูดกันก็ได้ ถ้าคนที่เขามีอำนาจเขาสามารถรักษากลุ่มอำนาจและสืบทอดต่อไปได้”
ซึ่งทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับประเด็นที่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความยุติธรรม ความแท้จริง ความดีงามที่ถูกต้องชอบธรรมจริง ๆ อยู่ที่ไหน เป็นประเด็นที่นักปรัชญาสนใจ คือการเปลี่ยนแปลงใดใดมันควรจะเป็นไปในทำนองที่เราให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น แทนที่จะเป็นการต่อสู้ทางอำนาจอย่างเดียว
การมองว่า ‘เวลาอยู่ข้างเราเสมอ’ เป็นการให้กำลังใจตัวเองที่ส่งผลเสียหรือไม่?
การเชื่อว่ายังไง ๆ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยนไป ทางหนึ่งมันก็ช่วยสร้างกำลังใจให้คนที่กำลังต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เขาเชื่อว่าการต่อสู้ของพวกเขาที่กำลังต่อสู้จะต้องได้ผลตามที่ตั้งใจแน่นอน เพราะว่าประวัติศาสตร์มันกำหนดไว้แบบนี้ แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ทำให้เหมือนกับว่า อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ เพราะเชื่อว่ายังไงยังไงมันก็ต้องเป็นแบบนี้
“แน่นอน [การเปลี่ยนแปลง] มันก็ไม่เกิดหรอกถ้าเป็นอย่างนั้น”
ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
ทีนี้ เราอาจจะมองตัวเราผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้กระทำ (Agent) ไม่ใช่แค่เพียงผู้เฝ้ามองอย่างเดียว ให้เราเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์มันจะเป็นอย่างที่มาร์กหรือเฮเกลบอก แต่มันไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ จนกว่าจะมีผู้ลงมือกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะเป็นผู้กระทำ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
มีตัวอย่างของ ‘ยุคสมัย’ ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่พึ่งพา ‘ผู้กระทำ’ ด้วยหรือ?
ในวงการวิชาการหรือวิทยาศาสตร์ มีนักประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ชื่อดังชื่อ โทมัส คูห์น เขาบอกว่าในแต่ละช่วงเวลา วิทยาศาสตร์จะทำงานภายใต้กรอบแนวคิดใหญ่กรอบหนึ่ง แล้วเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะเกิดปัญหาขึ้น ทำให้กรอบแนวคิดใหญ่มันตอบโจทย์ไม่ได้ ซึ่งเป็นผลจากการล่วงไปของเวลาหรือเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ เมื่อการคิดตามกรอบใหญ่ไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ก็เลยมีคนคิด “กรอบใหม่” ขึ้นมา
แล้วตอนแรกคนที่คิดกรอบใหม่ส่วนมากก็เป็นคนรุ่นใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ทีนี้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าที่กุมอำนาจอยู่ เกี่ยวข้องกับการวิจัยและตีพิมพ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ พยายามรักษาความคิดกรอบเก่า เพราะเขาเป็นศาสตราจารย์ขึ้นมาได้ภายใต้กรอบความคิดเดิม จึงไม่ค่อยอยากจะให้คนรุ่นใหม่เสนอแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา ปฏิเสธทุน และการตีพิมพ์
แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติมันมากขนาดที่ว่า “กรอบเดิม” มันไม่สามารถอธิบายได้จริง ๆ จำนวนของนักวิทยาศาสตร์ที่เดินตามกรอบใหม่จะมากขึ้น ๆ แล้วพอเวลามันล่วงไปศาสตราจารย์เก่า ๆ เกษียณไปบ้าง ตายบ้าง รุ่นใหม่ก็กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีอำนาจขึ้นมาคือมันเป็นการทดแทนของรุ่น “กรอบเดิม” ก็จะถูกลืมไปกลายเป็นประวัติศาสตร์ไป แล้วกรอบใหม่ก็เอามาใช้แทน
เราอาจจะเปรียบเทียบกับเรื่องการเมืองที่เราคุยกันอยู่ก็ได้ มันสะท้อนคล้ายกัน ในภาวะตอนนี้เราก็เห็นความโรยราของระบอบเก่าที่มันอาจจะสูญเสียกำลังไป
มีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่ไม่ทำลายคุณค่าเก่าที่คนยึดถือ?
“พุทธศาสนา” เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วก็อาจจะเปรียบเทียบกับสถาบันอื่น ๆ ในสังคม คือ ตัวคำสอนของพระพุทธเจ้าเองเป็นสากล คนเราก็มีความทุกข์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน ทีนี้วิธีการที่จะกำจัดทุกข์มันไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นพิธีกรรมที่มีมาแต่โบราณ สรุปก็คือว่าเรารักษาหัวใจของคำสอนอยู่โดยที่ปรับเปลี่ยนไปตามโลกด้วยได้
ก่อนอื่นคือ เราต้องหา “หัวใจของการเมือง” ให้เจอก่อนว่าอยู่ที่ไหน ที่เราพูดถึงเรื่องการปกครองการใช้อำนาจก็เพราะเพื่อ “รักษาความยุติธรรม” อันนี้มีมาตั้งแต่โบราณตั้งแต่สมัยเพลโต “ความยุติธรรม” คือทุกคนพอใจยินดีที่จะยอมรับอำนาจทางการเมืองโดยเต็มใจ ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับ ไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในบ้านหรือประเทศคนอื่น สำคัญคือรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ เราก็อาจจะมองประเทศอื่นเป็นตัวอย่างก็ได้
หรือจริง ๆ แล้วทุกฝ่ายมองเห็นถึง ‘หัวใจของการเมือง’ เหมือนกัน แต่วิธีการในการเข้าถึงหัวใจนั้นแตกต่าง เราจึงขัดแย้งกันมาตลอด?
ก็อาจจะเน้นกันคนละอย่าง เช่น ผู้ใช้แรงงานก็จะเน้นว่าความยุติธรรมของเขาอยู่ที่เรื่องค่าจ้างแรงงาน กลุ่มของนายจ้างก็อาจจะเน้นว่าความยุติธรรมคือการลงทุนแล้วคุ้มทุน ทีนี้ เราต้องมามองกันว่าทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) นายจ้างก็ไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากลูกจ้าง ลูกจ้างก็ไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากนายจ้าง ที่นี้จุดร่วมอยู่ที่ไหน แล้วการเอารัดเอาเปรียบมันมีขึ้นจริงไหม การแบ่งกำไรนายจ้างให้ลูกจ้าง สุดท้ายมันจะเป็นผลดีแก่นายจ้างเองไหม? ลูกจ้างมีเงินมากขึ้นก็สามารถซื้อของได้มากขึ้น การไหลเวียนมีมากขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความยุติธรรมให้ทุกกลุ่มในสังคม
เรามักจะเห็นการขัดแย้งของในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19 จนถึง 16 ตุลา 63 ตัวละครจะเป็นคนรุ่นใหม่และขั้วอำนาจเก่า สิ่งนี้สะท้อนว่า สังคมเราแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยหรือเปล่า?
ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นผมจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดเท่าไหร่นัก แต่ว่ามองในภาพรวม คือ มันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่สังคมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก แล้วก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ทีนี้การกลืนเป็นเนื้อเดียว มันทำให้เกิด “รอยตึง” ระหว่างสิ่งใหม่และสิ่งเก่า ซึ่งเป็นปกติเพราะกลุ่มต่าง ๆ ต้องการเรียกร้องจัดสรรอำนาจใหม่
เราต้องเข้าใจว่า “รอยตึง” มันไม่สามารถทำให้หายสนิทได้ 100% เพราะความขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน การขัดกันของผลประโยชน์ เกิดขึ้นอยู่ตลอด ปัญหาคือเราจะทำยังไงให้ความขัดแย้งนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่เรารับได้ เหมือนกับหม้อต้มน้ำที่เราต้องระวังไม่ให้มันระเบิด วิธีการหนึ่งที่ตำราว่าไว้ คือ “กระบวนการประชาธิปไตย”
ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้คนจะแสดงความต้องการของตัวเอง ผ่านระบบพรรคการเมือง เพื่อเป็นตัวแทนเพื่อไปเจรจาต่อรองซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของกระบวนการทางประชาธิปไตย เป็นหัวใจของการปกครองตามหลัก Rule of Law (รัฐนิติธรรม)
สุดท้ายในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง เราจะฉกฉวยวันเวลาเพื่อเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง หรือต่อข้อเรียกร้องอย่างไรได้บ้าง?
สั้น ๆ ก็คือ “รอ” แต่คือไม่ใช่แค่รออย่างเดียว เพราะมัน passive มันไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่บางคนเขารอไม่ได้แล้ว เราก็จะได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ว่า เมื่อไหร่จะชนะสักที แต่ทีนี้เรารู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่เราจะชนะ ถ้ามองแบบหนึ่งคนรุ่นใหม่เองก็ชนะมาเยอะ ถ้ามองย้อนกลับไปสิบ ยี่สิบปีเทียบกับปัจจุบัน ประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะ แต่บางคนก็จะมองว่ายังมีบางสิ่งที่หลงเหลืออยู่และตนไม่เห็นด้วย
การเปลี่ยนแปลงของสังคมมันไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนไปได้ในวันพรุ่งนี้ มันใช้เวลา บางทีก็หลาย 10 ปี หลายชั่วอายุคน รุ่นพ่อส่งรุ่นลูกส่งรุ่นหลาน อันนี้เป็นเรื่องปกติของหลายประเทศที่เขามีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงทำหน้าที่ของมัน มันยังดำเนินอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ
เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น เพื่อนำเอาเป้าหมายสูงสุดก็คือ “ความยุติธรรม” มาสู่ประเทศให้ได้ แต่ว่าเราอาจจะบอกไม่ได้ว่า ณ บัดนี้ มีความยุติธรรมแบบสมบูรณ์แบบแล้ว แล้วก็ทุกคนนอนไม่ต้องทำอะไร มันไม่ใช่แบบนั้น
ประชาธิปไตย หรือ การแสวงหาความยุติธรรมเป็นกระบวนการที่ “ไม่จบสิ้น” แล้วไม่จบสิ้น ไม่ได้แปลว่าไม่ดี “ไม่จบสิ้น” แปลว่า เราต้องทำต่อไป อย่างน้อยมันก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน คงไม่มีสังคมที่ดีที่สุดมีแต่สังคมที่เราต้องทำให้ดีขึ้น
ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์