เวลาอยู่ข้างเรา? EP.4
หลังจาก ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต หลายคนบอกว่า นี่ถือเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองเลยหรือไม่? และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รัฐใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แค่เฉพาะในเดือนตุลาคมปี 2566 นี้ มีนักกิจกรรมที่ต้องวิ่งผลัดเข้าฟังคำพิพากษาของศาลในคดีทางการเมืองอย่างน้อย 15 ราย
เมื่อคนรุ่นใหม่ยังมีแต้มต่อในเรื่องของวันเวลา แต่จะมีประโยชน์อย่างไร ถ้ากฎหมายยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ พรรณิการ์ ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่าเป็นเส้นชัย ชวนให้ผู้คนสังเกตการเปลี่ยนแปลง ถึงสิ่งที่ล้วนแฝงอยู่ในบทสนทนาของสังคม เมื่อยุคสมัยใหม่พูดถึงการคืนความชอบธรรมให้คนเดือนตุลา จนมาถึงคนเสื้อแดง ความหวังถึงสังคมประชาธิปไตยยังคงเป็นไปได้ ตราบเท่าที่เราไม่หยุดสู้
จริงหรือไม่ ที่วันเวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เสมอ ในเมื่อเหล่า ‘เยาว์วัย’ นั้นห่างไกลจาก ‘วัยเยาว์’ ขึ้นทุกวัน
The Active ชวนผู้อ่านทำความรู้จักหน้าตาของ ‘กาลเวลา’ และตั้งคำถามถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ยังคงเป็นพยานในทุกการต่อสู้ถึงสังคมใหม่ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และซัดทอดจนมาถึง 16 ตุลาคม 2563 ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช
เห็นด้วยกับคำว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” มากน้อยแค่ไหน ?
มันเป็นธรรมชาติของสังคมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า เวลาพูดว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” จริง ๆ ต้องบอกว่าถูกครึ่งเดียว
“ถูก” ในแก่นแท้สาระสำคัญของมันก็คือ มันไม่มีอะไรหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ สังคมมันจะต้องวิวัฒน์ไปข้างหน้า และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ไม่ว่าคุณจะพยายามยึดโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้แค่ไหน มันก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และถ้าไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เกิดการต่อสู้ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกมันเกิดจากสิ่งนี้
ผู้ที่มีอำนาจย่อมไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะว่าภายใต้โครงสร้างแบบเดิมเขาได้ประโยชน์ แต่ว่าประชาชนที่เสียประโยชน์คือผู้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็ต้องพยายาม กด ปราบ คนที่เห็นต่าง มันถึงมีคำหนึ่งว่า “ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” เพราะฉะนั้น เวลาอยู่ข้างเราจึงสื่อความหมายถึง ไม่มีอะไรหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่พูดถูกครึ่งเดียว เพราะว่าถ้าคุณไม่ต่อสู้ ต่อให้เวลาอยู่ข้างคุณ คุณก็ไม่อาจชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
เมื่อคุณต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจ แน่นอนคือ ชื่อก็บอกอยู่แล้วเขาเป็นผู้มีอำนาจ เขาก็มี คุก ตาราง มีปืน มีกฎหมาย อยู่ในมือที่จะใช้ในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลง ส่วนประชาชนมีอย่างเดียวที่เป็นอาวุธคือ “จำนวน” เพราะผู้เสียประโยชน์ คือ ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งพวกเขาไม่มีอะไรเลยนอกจากมวลชน ถึงมีปืน มีคุกไปขังคน เหมือนในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ที่ผ่านมา มันก็จะมีคนใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งมีอยู่มากมายเกินกว่าคุณจะขังหรือฆ่าได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ประชาชนต่อสู้ร่วมกันจึงจะนำไปสู่ชัยชนะ ความเปลี่ยนแปลงที่ได้มาโดยการนั่งรอ ร้องขอ นั้นไม่มี แต่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา
แต่เวลาก็อยู่ข้างชนชั้นนำเองด้วยหรือเปล่า ?
เวลาอยู่ข้างประชาชนเสมอ แต่ว่าทรัพยากรอยู่ข้างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เฉพาะเงิน แต่รวมถึงอำนาจรัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเวลาอยู่ข้างเรา แต่ทรัพยากรอยู่ข้างเขา ซึ่งประชาชนจะเสียเปรียบในเรื่องนี้ แต่มีอยู่อย่างเดียวที่เรามีมากกว่าเขา คือจำนวนเท่านั้นเอง มันจึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยง่าย การลงหลักปักฐาน สถาปนาอำนาจของประชาชนในแต่ละประเทศใช้เวลาเป็นร้อยปี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการ
เราอาจจะมองว่าตั้งแต่ 2745 ก็เป็นเวลา 90 กว่าปีแล้ว ทำไมมันนานจัง ก็ต้องบอกว่ามันนานจริง แต่ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกประเทศเขาก็สู้กันเป็นร้อยปี
แล้วประชาธิปไตยจะสำเร็จได้เมื่อไหร่กัน ?
คำว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ไม่มีอยู่จริง ลองแปลเป็นภาษาอังกฤษจะรู้ว่ามันย้อนแย้ง
“Absolute Democracy” (ประชาธิปไตยสมบูรณ์) มันจะสมบูรณ์แบบได้ยังไง ประชาธิปไตยสมบูรณ์ไม่มีอยู่จริง เพราะประชาธิปไตยคือ “ความไม่สมบูรณ์” มันไม่มีทางหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีความถูกผิดตายตัว”
พรรณิการ์ วานิช
แต่มันอยู่ที่ว่าประชาชนส่วนมากของประเทศนี้มีความต้องการแบบไหน ก็จำเป็นต้องเคารพเสียงส่วนมาก โดยยังคงสงวนรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ และรับฟังเสียงส่วนน้อย นี่ก็คือหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรอก
โดยตัวของมันเองประชาธิปไตย คือกระบวนการ ไม่มีแบบหมุดหมายเส้นชัยที่ไปถึงแล้ว “เย้ ชนะ” แล้วฉลอง แล้วก็จบ มันก็มีแต่ว่าจะทำยังไงให้ประเทศมันมีหมุดหมายที่สำคัญ เช่น เรามีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้ร่าง เรามีการการันตีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ มี สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถึงเรามีสิ่งเหล่านี้แล้วจะบอกว่ามันสมบูรณ์แล้ว จบฉากการต่อสู้ มันก็ไม่ถูก มันก็ยังต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอยู่เสมอ เพราะว่าประชาธิปไตยมันคือมันคือกระบวนการ วันนี้คนต้องการแบบหนึ่ง ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าคนอาจต้องการอีกแบบหนึ่ง กระบวนการเหล่านี้มันเกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้นและต้องอาศัยคนในสังคมมีส่วนร่วม
การถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เหมือนถูกประหารชีวิตทางการเมืองเลยไหม ?
เวลาพูดว่าตัดสิทธิทางการเมือง มันฟังดูน่ากลัว จริง ๆ ต้องพูดว่า เขาตัดได้แค่สิทธิลงเลือกตั้ง และไม่มีใครตัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปจากคนไทยได้ สิทธิที่กฎหมายตัดออกไปจากเราได้คือสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ยังสามารถทำงานทางความคิดและเคลื่อนไหว มีส่วนร่วมทางการเมืองได้
“เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า เวลาของเราจะหมดลงก็ต่อเมื่อเราหยุดสู้เท่านั้น หรือในกรณีของผู้ต้องหาคดี 112 สิ่งที่รัฐทำได้มากที่สุดคือการจับพวกเขาเข้าคุก แต่ถามว่าเวลาของพวกเขาหมดลงไหม ก็ไม่ใช่ การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินอยู่เสมอในรูปแบบที่แตกต่างกันไป”
พรรณิการ์ วานิช
จาก 14 ตุลา – 6 ตุลา จนมาถึง 16 ตุลา 63 สังคมไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
“การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ เพื่อสังคมใหม่ที่ฝันถึงในทุกยุคสมัย” คือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ว่าเวลาอยู่ข้างเรา หลายคนกลัวว่าเวลาอยู่ข้างเราจริงไหม สู้มากี่ปีแล้วก็ไม่ชนะเลย หรือก็จะมีข้อกังวลว่า คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ใช่ว่าจะหัวก้าวหน้ากันหมด คนรุ่นใหม่เป็นอนุรักษ์นิยมก็มาก
แต่ข้อพิสูจน์สำคัญเลยว่าเวลาอยู่ข้างเราจริง เอาง่าย ๆ 5 ปีที่แล้ว มีสื่อกระแสหลักเสนอข่าว 6 ตุลาฯ ไหม ก็ไม่มีนะ ย้อนไป 5 – 7 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลฯ ก็เป็นงานเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ จัดงานเสวนาวิชาการตามมหา’ลัย มีคนไปฟัง 10 คน คนจัดก็ดีใจมากแล้ว แต่ว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา 6 ตุลาฯ กลายเป็นโมเมนต์สำคัญของสื่อมวลชน แม้แต่กระแสหลักทุกคนต้องไปรอทำข่าว ต้องพยายามหาแง่มุมใหม่ ๆ มาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันบ่งบอกแล้วว่าเรื่องที่หลายคนไม่เคยให้ความสนใจและทำให้สื่อหลักเองก็ไม่ให้ความสนใจไปด้วย ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเพราะว่าการถูกกระทำโดยรัฐ การถูกกระทำโดยผู้ที่ยึดอำนาจรัฐ แล้วไม่ฟังเสียงประชาชน มันกลายเป็นความเจ็บปวดร่วมของสังคมคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาโดยรับรู้ถึงความเจ็บปวดแบบนี้
ปัจจุบันกลายเป็นความเจ็บปวดร่วมกันในสังคม ต่อให้คุณไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่คุณก็ได้เห็นข่าวเพื่อนของคุณ ญาติพี่น้อง คนรู้จักของคุณ เคยได้รับผลกระทบหรือว่าตกอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือแม้แต่อย่างน้อยที่สุด คุณเห็นข่าวคนถูกเข้าคุกเพราะมาตรา 112 ต่อให้คุณเป็นฝ่ายอนุรักษ์ที่รู้สึกว่าคุณก็ไม่อยากให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็เชื่อว่าคนจำนวนมากก็รู้สึกไม่สบายใจที่คนรณรงค์ในเรื่องนี้จะต้องเข้าคุกไป
ตอนนี้สังคมได้มาถึงที่วาดฝันไว้หรือยัง ?
ไม่เคยวาดฝันถึงความสำเร็จที่เป็นภาพสมบูรณ์ แต่ว่าพูดในฐานะที่เคยเป็นสื่อ คือเวลาเราเห็นความพยายามของสื่อจำนวนมากที่จะทำเรื่อง 6 ตุลาฯ ในแง่มุมที่แตกต่างไปที่ไม่ซ้ำ มันก็ก็รู้สึกว่า อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นและเชื่อว่าจะเป็นพลังในการในการขับเคลื่อนและสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ต่อไปต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต
จริง ๆ ถามว่ามันสำเร็จขนาดนั้นหรือยัง ก็ยังต้องบอกว่าในวันนี้สำเร็จมาแล้วขั้นหนึ่ง ว่ามีสื่อกระแสหลักให้ความสนใจซึ่งหมายความว่าเรื่องนี้จะไปถึงคนจำนวนมาก แต่ถามว่าคนจำนวนมากได้เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้มากพอหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอ คนยังมองเรื่องของความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองยังเหมือนเป็นอาชญากรรม มันก็ยังมีคนจำนวนมากรู้สึกว่าเธอทำผิดเธอก็ต้องเข้าคุก เธอจะโวยวายอะไร บ้านเมืองมีขื่อมีแป ดังนั้น ยังต้องมีการทำความเข้าใจถึงหลักนิติรัฐอีกมาก
รวมไปถึงเรื่องนิรโทษกรรมก็เหมือนกัน มันเคยเป็นเรื่องใหญ่การเมืองไทยที่ว่า คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรม ในยุคของคุณยิ่งลักษณ์เกิดการประท้วงใหญ่โตและนำไปสู่การรัฐประหาร และในวันนี้มีการหยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมาพูดอีกครั้ง โดยพรรคก้าวไกล เราก็มองด้วยความหวาดเสียวว่า มันจะทำให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในนรอบที่แล้วที่เพื่อไทยเคยเสนอโทษกรรมเหมาเข่งหรือเปล่า แต่ว่าครั้งนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านขัดแย้งเวลาเราพูดถึงว่าต้องมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
คนจำนวนมากเข้าใจเลยว่ามันเป็นความจำเป็น ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยกับคนที่เขาอยู่คุกตอนนี้ แต่เขาไม่ควรเข้าคุก เขาควรจะได้ออกมาแสดงความเห็นที่แตกต่าง แล้วถ้าเขาเองยังรณรงค์ไม่สำเร็จ สังคมมันก็ไม่เปลี่ยนไปไหน เท่านั้นเอง ถ้าคนจำนวนมากยังเห็นต่างจากเขา เขาก็ต้องรณรงค์ต่อไป สังคมมันก็อยู่กันได้ไม่มีใครตายจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ ‘เวลา’ นั้นมีความหมายได้อย่างไร ?
ง่ายมาก คุณเชื่อในเรื่องอะไร แล้วคุณอยากให้มันเปลี่ยนแปลง หรือ คุณเชื่อในสังคมแบบไหน อยากเห็นสังคมเป็นแบบนั้นจริง ๆ คุณก็ต้องทำงานทางความคิดทำให้คนเชื่อแบบคุณให้มากขึ้น การได้รับชัยชนะ การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในทางการเมือง ไม่ได้มีหนทางแค่การชนะเลือกตั้ง มันเป็นแค่วิธีหนึ่งแล้วก็ไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนไปในทีเดียว คุณต้องทำให้ทั้งสังคมเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อให้ได้ ต้องทำงานความคิด เริ่มใกล้ตัวที่สุด คือ การพูดคุยกับคนรอบตัวคุณ ลองอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมคุณเชื่ออีกแบบ คุยกันด้วยเหตุและผล ในวันนี้ก็อาจจะยังไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ถ้าคุณไม่ลดละ คุณพยายามไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งคนจำนวนมากก็จะเข้าใจแล้วก็เห็นด้วยกับคุณมากขึ้น และเมื่อมีคนจำนวนมากพอ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น
รัฐต้องชดเชยทศวรรษที่สาบสูญอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ?
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตแก้ไขไม่ได้ก็จริง แต่คุณชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่เสียชีวิตหรือญาติพี่น้องของเขาได้ โดยเฉพาะการคืนศักดิ์ศรี เช่น กรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมาเกือบทศวรรษ ในวันนี้สังคมเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า จริง ๆ เกิดอะไรขึ้น คำครหาเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ก็มีคนถูกยกฟ้องไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่ยังไม่มีการคืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมให้กับเกียรติยศของคนเสื้อแดงอย่างเป็นทางการจากรัฐ มีก็แค่ความเข้าใจของสังคมที่มันเปลี่ยนไปด้วยการเรียนรู้
สิ่งนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยรัฐ คืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกกระทำโดยรัฐ นอกจากนี้ การเยียวยาในอดีตสำคัญ แต่สำคัญยิ่งกว่าคือมันต้องไม่เกิดซ้ำ การจะไม่เกิดซ้ำคุณต้องหยุดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล
“กี่ครั้งแล้วที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารประชาชน เคยมีใครได้รับผิดชอบหรือยัง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่หยุดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลแบบนี้ รัฐไม่มีทางการันตีให้ประชาชนได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันซ้ำอีกในอนาคต”
พรรณิการ์ วานิช